ปี 2549 หรือ ค.ศ.2006 นับเป็นปีแรกของแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 11 ของจีน ความเห็นจากนักวิชาการจีนที่ออกผ่านสื่อจำนวนมากแสดงออกว่า รัฐบาลจีนหวังไว้ว่าระบบเศรษฐกิจและสังคมจีนจะเปลี่ยนผ่านจาก 'ยุคแห่งการลอกเลียน' เข้าสู่ 'ยุคแห่งการสร้างสรรค์'
ปี 2548 เศรษฐกิจจีนในภาพรวม มีปรากฏการณ์น่าสนใจหลายประการเกิดขึ้น ที่ทั้งบ่งชี้ให้เห็นถึงภาวะในปัจจุบัน และทั้งทำนายให้เราเห็นอนาคตของเศรษฐกิจจีนที่กำลังจะมาถึง โดยสื่อมวลชนจีนหลายแขนงเขาทำการสรุปไว้ได้น่าสนใจ และผมขอย่อยมาให้ท่านผู้อ่านเป็นตัวอย่างย่อๆ 3 คำ ดังนี้
การควบรวมกิจการ
ปี 2548 นับว่ามีดีลการควบรวมกิจการ ของบริษัทจีนกับบริษัทต่างชาติใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายดีล โดยสิ่งที่แปลกไปจากปีก่อนๆ ก็คือ การควบรวมกิจการใหญ่ๆ ในปี 2548 นี้ จีนกลับเปลี่ยนสถานะตัวเองจากผู้ถูกซื้อกลายเป็นผู้ซื้อไปเสีย
ดีลแรกที่มิอาจลืมที่จะกล่าวถึงได้เลยก็คือ การเข้าซื้อกิจการของ IBM ในส่วน PC ของบริษัทคอมพิวเตอร์จีนนาม Lenovo ข่าวการซื้อกิจการดังกล่าวแพร่ออกมาตั้งแต่ปลายปี 2547 และก็สร้างความตื่นตะลึงให้ชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก เนื่องจาก IBM นั้นถือเป็นหนึ่งในสุดยอดบริษัทของอเมริกา และที่สำคัญที่สุดก็คือ IBM นั้นถือเป็นผู้ให้กำเนิด PC
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดดีลนี้ก็มีการตกลงกันได้สำเร็จเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2548 และส่งให้ Lenovo กลายเป็นบริษัท PC ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกไปในทันที ด้วยยอดขายรวม 13,000 เหรียญสหรัฐต่อปี
ข่าว Lenovo ฮุบ IBM-PC ยังไม่ทันซา ข่าวที่ช็อกชาวอเมริกันและชาวโลกยิ่งกว่าก็ออกมาคือ การเสนอขอซื้อกิจการของบริษัท UNOCAL ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐฯ โดยบริษัท China National Offshore Oil Corporation (CNOOC) แข่งกับ Chevron แต่แม้ CNOOC นั้นจะเสนอเงินซื้อเป็นจำนวนมากถึง 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เหนือกว่า Chevron แต่ดีลนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีปัจจัยทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวพัน โดยประเด็นหลักๆ ก็คือสหรัฐอเมริกาหวั่นเกรงว่า หากจีนสามารถตะครุบแหล่งพลังงานของโลกเพื่อมาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของจีนได้อย่างราบรื่นแล้ว จีนก็จะกลายเป็นเสือติดปีกและก็จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ในที่สุด
ดีลถัดมาที่ผมเคยกล่าวถึงไปก่อนหน้านี้แล้วในคอลัมน์นี้เมื่อฉบับเดือนตุลาคม 2548 ก็คือ การจับมือระหว่าง Yahoo Inc. กับ Alibaba.com ด้วยมูลค่าสัญญา 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ อันถือเป็นมูลค่าการลงทุนสูงสุดของบริษัทต่างชาติที่ลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตในประเทศจีน โดยยาฮูเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 40 ของ Alibaba.com พร้อมกับยกสิทธิ์ Yahoo China ที่มีมูลค่าราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ Alibaba.com
นอกจาก 3 ดีลดังข้างต้นนี้แล้วก็ยังมีข่าวคราวของการเข้าซื้อบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าดัง Maytag ของสหรัฐฯ โดย Haier บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนที่ในที่สุดทางฝั่ง Haier ก็ถอดใจไปง่ายๆ ข่าวการซื้อบริษัทน้ำมันคาซัคสถานของบริษัทน้ำมันจีน ฯลฯ
ข่าวคราวเหล่านี้ส่งให้ตลอดช่วงปี 2548 ได้รับชื่อว่าเป็น 'ปีที่หนึ่งแห่งการควบรวมกิจการ' ของเศรษฐกิจจีนก็ว่าได้ โดยเหตุการณ์เหล่านี้ในด้านหนึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงว่า จีนได้เริ่มดำเนินยุทธศาสตร์การขยายตัวออกสู่โลกภายนอกแล้ว ซึ่งนั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทจีนส่วนหนึ่งมีความเข้มแข็งและมีรากฐานดีเพียงพอต่อการเริ่มก้าวเข้าเวทีระดับโลกด้วยเช่นกัน
น้ำ-พลังงาน-น้ำมันแพง และการปรับตัว
ขณะที่ภาวะน้ำมันแพงสั่นคลอนเศรษฐกิจโลกอย่างหนักในปี 2548 คนจีนกลับประสบกับภาวะราคาค่าสาธารณูปโภคแพงขึ้นอย่างรอบด้าน รวมน้ำประปาและไฟฟ้า
ปี 2548 ราคาค่าน้ำประปาใน 20 เมืองใหญ่ของจีนขึ้นราคา ขณะที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 เป็นต้นมา ราคาค่าไฟทั่วประเทศจีนก็มีการปรับขึ้นร้อยละ 2.52 ถึงแม้การขึ้นราคาค่าน้ำประปา-ไฟฟ้า แต่ละยูนิตดูจะน้อยนิดเพียงไม่กี่เหมา (หนึ่งเหมามีมูลค่าราว 50 สตางค์) แต่การขึ้นราคาครั้งนี้ถือว่าส่งผลกระทบกับคนทุกระดับชั้น โดยชนชั้นล่างผู้ใช้แรงงาน แน่นอนว่าย่อมได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
ในส่วนของราคาน้ำมัน ตลอดช่วงปี 2548 ที่ผ่านมาทางการจีนมีการปรับราคาน้ำมันขายปลีกทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยเปรียบเทียบหัวปีกับท้ายปีแล้ว ราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน มีการปรับขึ้นร้อยละ 17.3 ร้อยละ 16.5 และร้อยละ 27.7 ตามลำดับ
วิกฤติน้ำมันในปี 2548 ส่งให้ทางการจีนต้องหันมาดำเนินนโยบายรณรงค์ประหยัดพลังงานอย่างจริงจังกันอีกครั้ง ทั้งนี้นโยบายหนึ่งที่ได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญเป็นอย่างมาก ก็คือ การประกาศลดและยกเลิกนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็ก โดยนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่า เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2548 และด้วยการประกาศดังนี้นี่เองส่งให้บริษัทรถยนต์ต่างๆ ในจีนเริ่มหันมาให้ความสำคัญ กับการพัฒนาและการทำตลาดรถยนต์ประหยัดพลังงานมากขึ้น จากที่แต่ก่อนชาวจีนมีค่านิยมใช้รถยนต์หรูหราเป็นหลัก
ภาษีรายได้ส่วนบุคคล
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 นี้เป็นต้นไป ชาวจีนที่มีรายได้ที่แท้จริงต่อเดือนต่ำกว่า 1,600 หยวน จะไม่ต้องเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคล
นโยบายใหม่นี้เป็นผลมาจากการแก้กฎหมายภาษีรายได้ส่วนบุคคลเมื่อกลางปีในการประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีนเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2548 ที่มีมติให้แก้กฎหมายภาษีรายได้ส่วนบุคคลปรับระดับ จากผู้มีรายได้ที่แท้จริงต่อเดือนต่ำกว่า 800 หยวน (ราว 4,000 บาท) ไม่ต้องเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่ใช้มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี เป็นผู้มีรายได้ที่แท้จริงต่อเดือนต่ำกว่า 1,600 หยวน (ราว 8,000 บาท) ไม่ต้องเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคล
สำหรับการแก้กฎหมายดังกล่าวนี้ถือว่าส่งผลกระทบต่อชาวจีนและสังคมจีนอย่างมหาศาล โดยกรมสรรพากรของจีนประกาศว่า เมื่อกฎหมายนี้ประกาศใช้จีนจะเก็บภาษีได้ลดลงทันที 28,000 ล้านหยวนต่อปี อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องถือว่า การแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว ส่งผลดีต่อชาวจีนส่วนใหญ่ที่มีรายได้ต่ำ ส่วนอีกนัยหนึ่งยังถือว่า เศรษฐกิจจีนได้กระเถิบไกลออกจากระบบสังคมนิยม และก้าวเข้าใกล้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมากขึ้นแล้วอีกก้าวหนึ่ง
นอกจากศัพท์ 3 คำที่ผมกล่าวมาข้างต้นแล้ว สื่อมวลชนจีนยังมีการกล่าวถึงคำศัพท์น่าสนใจที่ชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจของจีนในรอบปี 2548 อีกมากมายหลายคำ อย่างเช่น เงินหยวนแข็งค่า ปัญหาการเจรจาสินค้าสิ่งทอ (ระหว่างจีน-สหรัฐฯ) แบงก์วิสาหกิจจีนบุกตลาดนอก ราคาอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทุกๆ ปีสื่อมวลชนจีนเขาชอบสรุปสภาวะปรากฏการณ์ วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองในรอบปี มาย่อเป็นคำศัพท์จำง่าย แต่กินความลึกซึ้ง ลึกซึ้งตรงที่คำศัพท์เหล่านี้นอกจากจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจแล้ว ยังเป็นคำศัพท์ที่สะท้อนให้เราเห็นถึงภาพใหญ่ และแนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศจีนในอนาคตได้อีกด้วย
|