“ตัน” เจ้าพ่อโออิชิ เล็งนำเม็ดเงินมหาศาล หลังขายหุ้นสร้างอาณาจักรธุรกิจใหม่ พร้อมใช้ความแข็งแกร่งผู้ซื้อหุ้นโออิชิ กรุ๊ปต่อยอดธุรกิจ สิ้นปี 49 โกยรายได้ 2 กลุ่มธุรกิจรวม 6,800 ล้านบาท กลุ่มเครื่องดื่ม 5,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอาหาร 1,800 ล้านบาท ทุ่มงบ 500 ล้านบาทระเบิดศึกชาเขียว เล็งปั้นธุรกิจขาที่สามเสริมทัพ
“ตัน” เจ้าพ่อโออิชิ เล็งนำเม็ดเงินมหาศาล หลังขายหุ้นสร้างอาณาจักรธุรกิจใหม่ พร้อมใช้ความแข็งแกร่งผู้ซื้อหุ้นโออิชิ กรุ๊ปต่อยอดธุรกิจ สิ้นปี 49 โกยรายได้ 2 กลุ่มธุรกิจรวม 6,800 ล้านบาท กลุ่มเครื่องดื่ม 5,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอาหาร 1,800 ล้านบาท ทุ่มงบ 500 ล้านบาทระเบิดศึกชาเขียว เล็งปั้นธุรกิจขาที่สามเสริมทัพ
นายตัน ภาสกรนที ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายชาเขียวพร้อมดื่ม เปิดเผยว่า นโยบายการดำเนินธุรกิจของโออิชิ กรุ๊ป หลังจากในวันที่ 26 มกราคม 2549 ได้มีการเซ็นสัญญาขายหุ้นจำนวน 103.125 ล้านหุ้น คิดเป็น 55% ของทุนจดทะเบียน ในราคาเบื้องต้นหุ้นละ 32.50 บาทนั้น อย่างเป็นทางการที่ บางกอกคลับ ได้ตั้งใจนำเงินที่ได้มาต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ จากปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจของโออิชิ กรุ๊ป แบ่งเป็น 2 ธุรกิจ รายได้หลักมาจากกลุ่มเครื่องดื่มหรือชาเขียวถึง 80% โดยในปีที่ผ่านมามีรายได้ 3,500 ล้านบาท ส่วนกลุ่มอาหาร 20% หรือมีรายได้ 1,500 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจเวดดิ้งมีรายได้ปีละประมาณ 400-500 ล้านบาท
ด้านนางสาวสุนิสา สุขพันธุ์ถาวร กรรมการผู้จัดการฝ่ายการเงิน บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อกรณีการตัดสินใจขายหุ้นโออิชิในครั้งนี้หลังจากตัวแทนของกลุ่มคือนาย MA WAH YAN มาเจรจาซื้อ และมีกระแสข่าวว่ากลุ่มเจริญเข้ามาถือหุ้นอยู่ 35% ว่า เป็นการตัดสินใจฉับพลันและไม่ได้อยู่ในแผนที่วางไว้ เพราะทั้งสองธุรกิจเป็นสิ่งที่ครอบครัวเราสร้างขึ้นมา ภายใต้อาณาจักรโออิชิ อย่างอาหารบริษัทดำเนินธุรกิจ 6 ปี ส่วนชาเขียวดำเนินธุรกิจได้ 2 ปี ที่ผ่านมามีหลายรายพยายามติดต่อซื้อหุ้นเรามาตลอด แต่เหตุผลที่เลือกรายนี้ เป็นเพราะมองว่าเราสามารถใช้ฐานของผู้ที่เราขายหุ้นให้ไป เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ฐานด้านการจัดการ การกระจายสินค้า หรือกระทั่งด้านการจำหน่าย
นายตัน กล่าวต่อถึงนโยบายการดำเนินธุรกิจชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิว่า จากนี้ไปในช่วง 3-5 ปี บริษัทจะเน้นรักษาบัลลังก์ผู้นำตลาดด้วยการครองส่วนแบ่งกว่า 60% ขณะเดียวกันได้วางแนวทางสร้างธุรกิจเครื่องดื่มซึ่งเป็นขาที่สอง นำร่องโดยเครื่องดื่มผสมน้ำผลไม้”อะมิโน โอเค” และขาที่สามซึ่งจะต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อสร้างรายได้ของบริษัทให้มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะสภาพตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม ซึ่งอัตราการขยายตัวในปีนี้ จะไม่ได้โตแบบก้าวกระโดดอีกต่อไป
โดยมูลค่าตลาดปีนี้ประมาณ 8,000 –10,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อน ตลาดชาเขียวโต 100% นับจากปี 2545 มูลค่าตลาด 400 ล้านบาท ปี 2546 มูลค่า 1,600 ล้านบาท ปี 2547 มูลค่าตลาด 4,500 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2548 มูลค่าตลาดขยับเพิ่มเป็น 6,000-7,000 ล้านบาท พลาดเป้าจากเดิมประมาณการณ์ว่าตลาดจะพุ่งถึง 10,000 ล้านบาท เนื่องจากมีปัจจัยลบมากระทบ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ขอให้ลดราคาทำให้ลูกค้าสับสน ไข้หวัดนก สึนามิ น้ำท่วม ปัญหาภาคใต้
สำหรับแผนการตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในปีนี้ บริษัทได้ทุ่มงบตลาด 400-500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งใช้ 300-400 ล้านบาท ประเดิมต้นปีเปิดตัวชาเขียวรสชาติใหม่ คอนเซปต์พลังแห่งความสงบ ”โออิชิ นินจา” รสชาติเมล็ดงาดำ-ถั่วแดงญี่ปุ่น วางงบการตลาด 50 ล้านบาท ในช่วงเวลา 3 เดือน นำร่องแนะนำสินค้าใหม่โดยใช้กลยุทธ์มูฟวี่มาร์เก็ตติ้ง ร่วมกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง”เกอิชา” นำวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ซึ่งแทรกด้วยวิธีการชงชา เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคเข้าใจตราสินค้าแม่นยำและรวดเร็ว สำหรับปีแรกตั้งเป้ามียอดขาย 400-500 ล้านบาท
นอกจากนี้ปีนี้โออิชิยังได้เตรียมเปิดตัวชาเขียวรสชาติใหม่ 2-3 ตัว ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาดื่มชาเขียวเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น อีกทั้งในช่วงหน้าร้อนซึ่งถือว่าเป็นฤดูกาลการขายเครื่องดื่ม ได้เตรียมเปิดแคมเปญโปรโมชันอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อรองรับศึกชาเขียวและน้ำอัดลม ขณะที่ด้านช่องทางจำหน่ายปีนี้ โออิชิใช้หน่วยรถเสริมสุข 600 คัน ขยายช่องทางตู้แช่ 3 ร้านค้าทั่วประเทศ เข้าถึงร้านค้า 3-5 วันต่อครั้ง พร้อมกันนี้ยังตั้งทีมรถโออิชิ 100 คัน เพื่อขยายช่องทางใหม่ๆ เช่น สยามกอล์ฟ ฯลฯ
“ปีนี้บริษัทมีความพร้อมด้านกำลังผลิต โรงงานใหม่จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม สามารถผลิตได้ถึง 45 ล้านขวดต่อเดือนจากเดิม 30ล้านขวดต่อเดือน กำลังผลิตที่เพิ่ม เพื่อรองรับกับตลาดภายในประเทศ และขยายตลาดต่างประเทศซึ่งตั้งเป้า 3 ปีรายได้ส่งออก 10% จากปีที่ผ่านมา 3%ของรายได้รวม”
แนวโน้มการแข่งขันตลาดชาเขียวปีนี้ จะมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลาดจะเริ่มขยายตัวน้อย แต่อัตราการดื่มของคนไทยยังมีน้อย คือ กว่า 100 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศไต้หวัน 300 ลิตรต่อคนต่อปี และญี่ปุ่น 3,000 ลิตรต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตามภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ สภาพตลาดชาเขียวจะเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาด 3-5 รายเท่านั้น โดยผู้นำ1-5 ของตลาดจะสามารถครองส่วนแบ่งได้ถึง 90%
สำหรับผลประกอบการโดยรวมปีนี้ตั้งเป้า 6,800 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มเครื่องดื่ม 4,000-5,000 ล้านบาท และรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดชาเขียวโออิชิ โดยครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 60% ยูนิฟ 18-19% เซนชะ 9% และโมชิ 2% ส่วนธุรกิจกลุ่มอาหารตั้งเป้าเติบโต 20% หรือมีรายได้ 1,800 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 1,500 ล้านบาท
|