ขนาดธุรกิจขนาดกลางที่เติบโตจนมีทางเลือกมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกกว่าสินเชื่อเงินกู้ และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้นมาใช้ป้องกันความเสี่ยง จึงกลายเป็นเหตุให้ผู้เสนอสินเชื่อรายใหญ่อันดับ 2 อย่างแบงก์กสิกรไทย ต้องหันมาเน้นการให้บริการตรงนี้เพิ่มขึ้น หากยังต้องการเข้าไปเฉือนส่วนแบ่งตลาดจากแบงก์กรุงเทพซึ่งเป็นผู้ให้บริการหมายเลข 1 มาให้ได้มากที่สุดแล้ว
มีตัวเลขประมาณการว่า มูลค่าตลาดนี้มีสัดส่วนสูงรวมกันถึง 38.1% ของจีดีพี จากผู้ประกอบการร่วมๆ 2 ล้านราย โดยแบงก์กรุงเทพเป็นผู้แชร์ตลาดสูงสุด 27% ส่วนกสิกรไทย 24% และกรุงไทย 19% ที่เหลืออีก 33% กระจัดกระจายไปอยู่ตามแบงก์ต่างๆ
แบงก์กสิกรไทยได้รุกอยู่ในตลาดนี้มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จนถึงปี 2548 จึงได้ริเริ่มจัดตั้งสายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการขึ้นมา เพื่อแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ตามขนาดยอดขาย และเพื่อกำหนดความชัดเจนในการเสนอบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มให้ได้มากที่สุด
การแบ่งกลุ่มนี้ยังช่วยให้ธนาคารเห็นภาพที่ชัดเจนในอีกด้านหนึ่งว่า สินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดกลางที่มียอดส่งออกระหว่าง 50-400 ล้านบาท กำลังเริ่มที่จะลดลง จากที่ผู้ประกอบการจำนวนมากเลือกวิธีระดมทุนในรูปแบบอันหลากหลายมากขึ้น จากเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่ากู้ยืมสินเชื่อจากแบงก์
บุญทักษ์ หวังเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ กสิกรไทย ชี้ให้เห็นถึงตัวเลขระดมทุนดังกล่าวจากลูกค้า SEMs ขนาดกลาง ซึ่งมีทั้งสิ้น 120,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ 40,000 ล้านบาท การปล่อยกู้ร่วม 40,000 ล้านบาท ส่วนอีก 40,000 ล้านบาท เป็นการขอสินเชื่อจากแบงก์ตามปกติ ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวนี้เป็นตัวเลขที่ถูก book รวมอยู่ในยอดสินเชื่อเงินกู้ SMEs ทั้งหมดที่มี
นอกจากนี้ ลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ อย่าง options ซึ่งมีรูปแบบซับซ้อนกว่า forwards มาเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงมากขึ้นด้วย จึงมีแนวโน้มว่ารายได้ ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อในลูกค้ากลุ่มนี้ของแบงก์กสิกรไทย น่าจะค่อยๆ ลดลงในอนาคต แต่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการทางการเงินของแบงก์ ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
"ปีนี้เราตั้งเป้าว่าเราจะช่วยพวกเขาระดมทุน 150,000-200,000 ล้านบาท และให้สินเชื่ออีก 40,000-50,0000 ล้านบาท เพราะเราเองตั้งใจว่าจะแข่งกับแบงก์กรุงเทพ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด จาก 24% เป็น 30% ในอีก 5 ปีข้างหน้า" พิทักษ์กล่าว
สำหรับการให้สินเชื่อรวมของ SMEs ในปี 2548 มีทั้งสิ้น 309,288 บาท เพิ่มจากปีก่อนหน้า 39,779 ล้านบาท หรือโตขึ้นราว 15% โดยปี 2549 ตั้งเป้าการให้สินเชื่อเพิ่ม 16% หรือคิดเป็น 3 เท่าของจีดีพีที่คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 4.5-5% ทั้งนี้สัดส่วนสินเชื่อ SMEs คิดเป็นครึ่งหนึ่งของสินเชื่อรวมทั้งหมดที่มีของธนาคาร
|