|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2549
|
 |

เพิ่งจะผ่านพ้นข่าวคราวการจับมือกับระหว่างเสี่ยตา ปัญญา นิรันดร์กุล แห่งค่ายเวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เพื่อเปิดกิจการร่วมค้าภายใต้ชื่อ "เวิร์คมีเดีย" เพื่อร่วมกันผลิตรายการโทรทัศน์ และได้ดึงเอารายการ "ชิงร้อยชิงล้าน" ร่วมลงจอเงินช่องเจ็ดสีแทนช่องห้าของเดิมได้ไม่ถึงสัปดาห์
หลังจากเข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน) จากการแต่งตั้งของบอร์ดของบริษัท อันเนื่องมาจากโฆษิต ยุวดี บุญครอง ผู้บริหารสูงสุดของมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ตัดสินใจลาออกไปพร้อมผู้บริหารบางส่วน และพนักงานหลายสิบชีวิตเพื่อก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา
ชาลอต โทณวณิก ก็ควงแขนพันธมิตรหน้าใหม่ถึงสองราย เปิดตัวกิจการร่วมค้าภายใต้ชื่อ ไอดี-มีเดีย เพื่อเปิดกิจการร่วมค้าครั้งที่สอง เพื่อร่วมจัดคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ให้กับ "เรน" นักร้องดังสัญชาติเกาหลี ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
"ผู้จัดการ" เคยมีโอกาสได้พูดคุยกับชาลอต เมื่อครั้งที่เธอก้าวเข้าสู่การดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาและผู้บริหารสูงสุดให้กับ 4 องค์กร ภายใต้การทำงานที่แตกต่างกัน เปรียบดังการสวมหมวกให้กับบทบาทของตนเองถึง 4 แบบ ทั้งการทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, บริษัท โปรเฟสชั่นแนล คอลเซ็นเตอร์, CT Asia บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์และให้บริการ call center และนั่งแท่นผู้บริหารของบีทีวี โปรดักชั่น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในนิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2547 เรื่อง ชาลอต โทณวณิก "จาก banker สู่ entertainer" โดย ไพเราะ เลิศวิราม)
ครั้งนี้ถือเป็นอีกบทบาทใหม่ของชาลอต หลังจากที่ตัดสินใจถอดหมวกใบเดิมของการทำงานที่ บีทีวี โปรดักชั่น มารับหมวกใหม่ในฐานะซีอีโอของบริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งจะมีข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ก่อนหน้านี้ไม่นาน
ชาลอตกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของเธออย่างใกล้ชิดในวันงานแถลงข่าวดีลที่สองของการทำงานที่มีเดีย ออฟ มีเดียส์ว่า ทุกวันนี้ยังให้ความสำคัญกับการนั่งทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาแบบเต็มเวลาทำงานตั้งแต่ 8.30-20.00 น. ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ขณะที่มีเดีย ออฟ มีเดียส์ นั้น เธอเลือกที่จะใช้วิธีการสั่งการทางโทรศัพท์ หรือแม้แต่ส่งข้อความสั้นไปให้ทีมงานในยามที่ต้องการดังเช่นที่เคยทำมาก่อนหน้านี้
ชาลอตยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำงานภายใต้ร่มของมีเดีย ออฟ มีเดียส์ว่า ด้วยความที่เคยทำงานที่บีบีทีวีมาก่อน ประกอบกับมีประสบการณ์ทางด้านการเงินการธนาคารมาหลายปี เชื่อว่าจะเป็นผลดีกับบริษัท โดยเฉพาะในแง่ของการมองธุรกิจแบบ bottom line การให้ความสำคัญเรื่องรายได้ที่ควรจะเกิด และรายจ่ายที่ต้องเร่งแก้ไข
ชาลอตเริ่มต้นด้วยโมเดลในการทำธุรกิจของมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ทั้งในกรณีที่แย่ที่สุด, เป็นไปได้ หรือแม้แต่กรณีที่ดีที่สุด อีกทั้งยังเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการทำตลาดของบริษัทเสียใหม่ จากเดิมที่เคยทำเองทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ชาลอตเริ่มแนวความคิดในการเปิดรับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในเรื่องบางเรื่องมากกว่าตนเอง และอาศัยการจับมือเปิดกิจการร่วมค้าเพื่อทำธุรกิจร่วมกันเป็นครั้งๆ ไป แทนการตั้งบริษัทขึ้นมาอย่างถาวร ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในมีเดีย ออฟ มีเดียส์
ทุกวันนี้ เธอบอกว่าเวลาที่ทำงานให้กับธนาคารนั้นยังเต็ม 100 ขณะที่มีเดีย ออฟ มีเดียส์ หมวกใบใหม่ของเธอก็ยังเต็ม 100 ด้วยในเวลาเดียวกัน ชนิดที่ว่าทำงานควบคู่กันทั้งสองบริษัทเธอต้องเพิ่มเวลาในการทำงานเป็น 100 บวก 100
แม้จะงานหนักและท้าทายขึ้น แต่เธอก็ยังไม่พลาดที่จะกล่าวทิ้งท้ายให้กับนักข่าวที่ถามถึงทิศทางของบริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ว่า เธออยากจะให้มีเดีย ออฟ มีเดียส์เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจมีเดียอย่างที่เคยเป็น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเบอร์หนึ่ง แต่อยากให้คนมองเห็นความสามารถของมีเดีย ออฟ มีเดียส์มากกว่า
ก้าวใหม่ของชาลอตกับหมวกใบใหม่ ยังมีเรื่องราวให้น่าติดตามมากมาย ผู้บริหารที่มีพื้นฐานการทำงานธนาคารมาก่อน กับการฝึกปรือในธุรกิจสื่อมาแล้วในบีบีทีวี จะช่วยให้มีเดีย ออฟ มีเดียส์เติบโตและก้าวไปได้อย่างไร ต้องจับตามองกันต่อไป
|
|
 |
|
|