“บสท.”โชว์ผลดำเนินงาน 4 ปี เจรจาได้ข้อยุติ100% ลูกหนี้ยอมเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ 73% ไถ่ถอนตั๋วอาวัล ลดหนี้สาธารณะแล้ว 7.3 หมื่นล้านบาท พร้อมกันเงินชำระดอกเบี้ยตั๋วอาวัลอีก 2,000 ล้านบาทในเดือน มี.ค.นี้ ขณะที่เดินหน้าฟ้องร้องดำเนินคดี-นำทรัพย์ดีกลับเข้าระบบอีก 4-5 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าปีนี้จำหน่ายเอ็นพีเออีกหมื่นล้านบาท
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ บสท.เปิดดำเนินงานเป็นเวลา 4 ปีเศษ ได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ โดย ณ สิ้นปี 2548 ได้บริหารจัดการหนี้ที่ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินจนมีข้อยุติแล้ว 15,279 ราย มูลค่าทางบัญชี 772,260 ล้านบาท คิดเป็น 99.37%ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้รับโอนมาทั้งหมด จำนวน 15,285 ราย มูลหนี้ทางบัญชี 777,179 ล้านบาท
โดยเป็นการยุติด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 8,013 ราย มูลค่าทางบัญชีกว่า 560,056 ล้านบาท หรือคิดเป็น 72.52% ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีข้อยุติ ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการจัดการของสถาบันการเงิน ซึ่งในจำนวนลูกหนี้ดังกล่าว มี 1,363 ราย คิดเป็นมูลค่าทางบัญชีประมาณ 46,409 ล้านบาท สามารถหาแหล่งเงินจากสถาบันการเงินและจากแหล่งเงินอื่นมาชำระหนี้เพื่อปิดบัญชีกับ บสท.เรียบร้อย สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ซึ่งส่งผลให้มีการลงทุนและจ้างงานเพิ่ม เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม
ขณะที่ ยังมีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้อีก 6 ราย คือ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTS) มูลหนี้กว่า 3,920 ล้านบาท ส่วนอีก 5 รายที่เหลือเป็นลูกหนี้รายย่อย ซึ่งโอนเข้ามาระหว่างปี 2548 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส1 ปี 2549
สำหรับที่เหลือเป็นการบังคับหลักประกัน จำนวน 7,266 ราย ซึ่งในส่วนนี้ บสท.ได้พยายามติดต่อให้มาชำระหนี้มาโดยตลอด แต่เมื่อลูกหนี้เหล่านี้ไม่ให้ความร่วมมือ บสท.ก็ต้องดำเนินการบังคับหลักประกันเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ได้ข้อยุติ ซึ่งมีสินทรัพย์หลักประกันประมาณ 40,000 -50,000 ล้านบาทที่ บสท.ต้องดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดี และนำมาขายให้กับผู้ที่ต้องการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีลูกหนี้บางส่วนที่ขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
นายสมเจตน์ กล่าวว่า นอกจากการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว บสท. ยังได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องการหาสินเชื่อใหม่ จากสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่ง บสท.จะเป็นผู้ประสานระหว่างลูกหนี้และสถาบันการเงินเกือบทุกราย โดยเฉพาะธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงก์) โดยให้สถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อใหม่จดจำนองหลักประกันเป็นลำดับที่ 1 ในการขอสินเชื่อ กล่าวคือ สถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อใหม่ จะได้รับการชำระคืนหนี้เป็นอันดับแรก หากลูกหนี้ประสบปัญหาจนต้องบังคับขายหลักประกัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บสท. ได้ประสานกับสถาบันการเงินเพื่อหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนให้กับลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้วจำนวน 30 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อใหม่ประมาณ 1,495 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มี 8 ราย ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินแล้วประมาณ 377 ล้านบาท ที่เหลือยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนี้ ในการปฏิบัติตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ บสท.ได้รับชำระหนี้เป็นเงินสดจำนวน 80,374 ล้านบาท และเงินรับจากการบริหารและขายทรัพย์สินรอการขายจำนวน 12,786 ล้านบาท โดย บสท.ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งไปไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินจากการที่ บสท.รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ 777,179 ล้านบาท ด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินไป 264,967 ล้านบาท
โดยจนถึงขณะนี้ บสท.ได้ดำเนินการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินในส่วนของเงินต้น 72,629 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 27.41% ของตั๋วสัญญาใช้เงินในส่วนของเงินต้นทั้งหมดที่ บสท.ออกให้สถาบันการเงินผู้โอน และชำระดอกเบี้ย 10,959 ล้านบาท ซึ่งการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จะเป็นการลดภาระหนี้สินและดอกเบี้ยของ บสท. และ ช่วยลดภาระหนี้สาธารณะที่เกิดจากการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินด้วย
“ตอนนี้เรากันเงินสำรองอีกกว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับไว้ไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินสำหรับดอกเบี้ยค้างจ่ายในปี 2548 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งต้องรอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศอัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยเงินฝากของ 5 ธนาคารพาณิชย์ คาดว่าสิ้นเดือนมีนาคม จะได้ตัวเลขที่ชัดเจน”
นายสมเจตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการปรับโครงสร้างหนี้ บสท.และสถาบันการเงินผู้โอนหนี้ จะแบ่งผลประโยชน์กันดังนี้ กำไร 20% แรกจะแบ่งกันคนละครึ่ง แต่หากขาดทุน 20% แรกสถาบันการเงินจะเป็นผู้รับ 20% ถัดมา แบ่งกันรับคนละครึ่ง และที่เหลือรัฐบาลรับทั้งหมด ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราส่วนผลตอบแทนที่ได้กลับมาจากการปรับโครงสร้างหนี้(recovery rate) ประมาณ 47-48% จากต้นทุนประมาณ 34% ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่น่าจะขาดทุนหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว
ในส่วนของทรัพย์สินรอการขาย(เอ็นพีเอ)ที่ได้จากการปรับโครงสร้างหนี้ ประมาณ 53,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 บสท.ได้จำหน่ายไปแล้ว จำนวน 12,300 ล้านบาท โดยจากการสอบถามข้อมูลจากนักลงทุนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจาก บสท.ไปจำนวน 342 ราย เบื้องต้นพบว่า ใน 2-3 ปี ข้างหน้า ผู้ลงทุน 88 ราย มีแผนการลงทุนเพิ่มเพื่อก่อสร้างโครงการต่างๆ คิดเป็นเม็ดเงินรวมไม่ต่ำกว่า 9,300 ล้านบาท
ประกอบด้วยโครงการจัดสรรเพื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 5,700 ล้านบาท โครงการเพื่ออุตสาหกรรมประมาณ 1,300 ล้านบาท โครงการที่จะพัฒนาเป็นสำนักงานประมาณ 1,200 ล้านบาท และโครงการพาริชย์ขนาดย่อมประมาณ 1,100 ล้านบาท นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ทำให้ทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและได้นำไปใช้ประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจ
“ที่ผ่านมาเราใช้วิธีแบ่งประเภทของสินทรัพย์เป็นกลุ่มๆ แล้วเดินสายโรดโชว์ ส่วนในปีนี้ เราก็จะมีกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้มีผู้ซื้อเอ็นพีเอไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งภายใน 1-3 เดือน ข้างหน้า จะมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนออกมา คาดว่าภายในปีนี้ น่าจะจำหน่ายได้อีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท”
|