|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2549
|
|
นามพระราชทานของโรงเรียนปรินส์ รอยแยลส์ วิทยาลัย ที่ได้รับเมื่อ 100 ปีก่อน มิได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาในหัวเมืองภาคเหนือของราชอาณาจักรสยามในยุคนั้น แต่ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่า โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของลัทธิล่าอาณานิคมจากตะวันตก
"เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาคือการพัฒนาอุปนิสัย ไม่มีเป้าหมายอื่นใด ไม่ว่าจะให้ประโยชน์สักแค่ไหน ไม่ว่าจะแก้ตัวอย่างไร ในระยะยาวการพัฒนาอุปนิสัยจะนำมาซึ่งความพึงพอใจสูงสุด
...การศึกษาที่สมบูรณ์แบบจะต้องเป็นการศึกษาในสิ่งที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง ทุกคนไม่มีความจำเป็นจะต้องมีปีกไว้ใช้บินให้สูงขึ้นไปจนใกล้ดวงอาทิตย์ เหมือนอีคารัส (Ecarus) แต่ควรใช้ขาทั้งสองข้างหยัดยืนบริการรับใช้ผู้คนบนท้องถนนจะดีกว่า ทั้งนี้การได้รับการศึกษาจะทำให้คนแต่ละคนได้ทราบว่าตนเองนั้นเหมาะสมที่จะยืนอยู่ที่ใดในสังคม"
ข้อความเบื้องต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในคำกราบบังคมทูลของศาสนาจารย์วิลเลียม แฮรีส (พ่อครูแฮรีส) ต่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2449 เมื่อครั้งเสด็จทรงวางศิราราก อาคาร Butler อาคารเรียนหลังแรก พร้อมพระราชทานนามโรงเรียนว่า "The Prince Royal's College" และทรงพระราชทานสีประจำพระองค์ น้ำเงิน-ขาว เป็นสีประจำโรงเรียน
เป็นวิสัยทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึงการมองการณ์ไกลอย่างแหลมคมของคน เมื่อ 100 ปีก่อน เพราะเมื่อถึงวันนี้ก็ได้ตระหนักกันแล้วว่า หากผู้คนในสังคมขาดความมี "คุณธรรม" ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นคนฉลาดหลักแหลมเพียงใดก็ตาม
จากเจตนารมณ์ของการก่อตั้งโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ วิทยาลัย กลายเป็นปรัชญาของโรงเรียน "การศึกษาคือการพัฒนาอุปนิสัย" และคำขวัญของการศึกษา "คุณธรรมนำปัญญา พลานามัยสมบูรณ์ เกื้อกูลสังคม"
การถือกำเนิดขึ้นของชื่อโรงเรียนปรินส์ รอยแยลส์ วิทยาลัย มิได้มีความสำคัญเพียงแค่การนำรูปแบบการศึกษาระบบตะวันตกที่ทันสมัยในยุคนั้น มายังหัวเมืองทางภาคเหนือ (มณฑลพายัพ) เท่านั้น แต่ยังสะท้อนความหมายแฝงเร้นถึงนัยทางการเมืองระหว่างประเทศ และพระบรมราโชบายอันชาญฉลาดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมารของพระองค์
การเสด็จประพาสมณฑลพายัพครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ระหว่างปี พ.ศ.2448-2449 หรือแม้กระทั่งการเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ (กำแพงเพชร สุโขทัย สวรรคโลก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก) ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2450 มีจุดที่น่าสนใจอย่างยิ่งประการหนึ่งก็คือ พระราชกรณียกิจระหว่างการเสด็จไปยังหัวเมืองแต่ละแห่งนั้น แสดงให้เห็นถึงความสนพระทัยในกิจการของโรงเรียนที่ล้วนแต่จัดตั้งขึ้นมาใหม่
แทบทุกเมืองที่ไป ทรงมีหมายกำหนดการเสด็จประพาสยังโรงเรียนที่ล้วนแต่ตั้งขึ้นใหม่ในยุคนั้น!
รายละเอียดดังกล่าว นอกจากหาอ่านได้จากจดหมาย เหตุ ร.ศ.124-125 แล้ว ยังแทรกอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" และ "ลิลิตพายัพ" ซึ่งทรงใช้พระนามแฝงว่า "หนานแก้วเมืองบูรพ์"
ความสนพระทัยเรื่องการจัดการระบบการศึกษาแบบใหม่ ยังกระทำต่อเนื่องจนกระทั่งเสวยราชสมบัติ อาทิ มีบัญชาให้กระทรวงธรรมการในการขยายการศึกษาด้วยการจัดตั้งโรงเรียนของรัฐบาลเป็นตัวอย่างเมืองละ 1 แห่ง และวางโครงการศึกษาภาคบังคับทั่วพระราชอาณาจักรและทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา ฯลฯ รวมถึงทรงให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งเป็นรากฐานของวชิราวุธวิทยาลัยในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระหฤทัยเอาใจใส่ในการจัดการศึกษาอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว แต่สิ่งที่ควรพิจารณาประกอบด้วยอย่างยิ่ง ก็คือพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ที่ประสงค์จะให้การศึกษาเล่าเรียนแบบแผนใหม่ เป็นเครื่องมือด้านวัฒนธรรม เพื่อผลสำเร็จในงานการเมือง
เรื่องดังกล่าวมีที่มาที่ไปอันเนื่องมาจากสถานการณ์บ้านเมืองในยุคที่เสด็จประพาสมณฑลพายัพนั้น (2448-2449) กำลังเป็นช่วงรอยต่อของการปฏิรูปการปกครองรวบอำนาจมาสู่ศูนย์กลาง ซึ่งก็ยังไม่เรียบร้อยดีนัก!
การเข้ามาปรับโครงสร้างการปกครองแบบเดิมของล้านนาที่มีเจ้าหลวงผู้ครองนครมีอำนาจเด็ดขาดที่ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ พ.ศ.2427 จากเดิมที่มีเพียงข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณค่อยๆ เพิ่มระดับอำนาจรัฐจากส่วนกลางได้เข้ามาปฏิรูปด้านการปกครองเศรษฐกิจ กฎหมาย และค่อยๆ ลดอำนาจของเจ้าหลวงลง
พ.ศ.2442 ข้าหลวงเทศาภิบาลขึ้นมามีอำนาจการปกครองเต็มที่แทนเจ้าหลวง การปฏิรูประบบซึ่งกระทบกับประชาชนโดยตรงจากการนี้ก็คือระบบการจัดเก็บภาษี
พ.ศ.2443 เกิดขบถพญาผาบ (พญาปราบสงคราม) ซึ่งเป็นพ่อแคว่น หรือกำนันหนองจ๊อม ในเขตอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่พอใจการจัดเก็บภาษี ที่เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างใหม่ที่กำหนดโดยข้าหลวงที่มาจากกรุงเทพฯ
พ.ศ.2445 เหตุการณ์กบฏเงี้ยว ที่ลุกลามจากแพร่ มาถึงลำปาง
นอกจากเหตุการณ์ภายในแล้ว ในส่วนของภายนอกก็ยังคงมีภัยจากมหาอำนาจอาณานิคมทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส โดยมีมณฑลพายัพอยู่ตรงกลาง (2449-เสียมณฑลบูรพา คือ เสียมราฐ ศรีโสภณ และพระตะบอง ให้ฝรั่งเศส)
ชาวอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ ได้เข้ามาลงทุนในกิจการป่าไม้ในภาคเหนือ เริ่มจากบริษัทบอร์เนียวได้เข้ามาค้าขายตั้งแต่ปี พ.ศ.2399 และได้เริ่มต้นค้าไม้สักใน พ.ศ. 2432 ต่อจากนั้นในปี พ.ศ.2435 บริษัทบอมเบย์ และบริษัทสยามฟอร์เรสของอังกฤษ เข้ามาทำธุรกิจไม้สักด้วย
เชียงใหม่-ล้านนา ในห้วงของการเสด็จประพาสนั้น ไม่ได้มีเพียงคณะมิชชันนารีอเมริกัน คณะเพรสไบทีเรียน และกิจกรรมด้านศาสนา อาทิ โรงพิมพ์ โรงพยาบาล และโรงเรียน เท่านั้น หากแต่ยังเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของสยาม มีทรัพยากรไม้สัก มีสถานกงสุลต่างประเทศมาตั้ง และเป็นเป้าหมายของลัทธิอาณานิคม
บันทึกพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแผนใหม่ ที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงทางการเมืองของรัชกาลที่ 5 เกิดหลังจากการปราบกบฏเงี้ยวสำเร็จใน พ.ศ.2445 ดังปรากฏในจดหมายเหตุว่า
"เรื่องการเล่าเรียนเมืองเชียงใหม่ ซึ่งได้พูดกันที่ท้องพระโรงวันนั้นเห็นว่าควรจะเขียนลงไว้เป็นหนังสือ จึงได้เขียนลงบัดนี้ ความมุ่งหมายซึ่งจะให้การเล่าเรียนแก่พวกลาวชั้นเด็กนั้น เพื่อจะให้ความรู้เป็นกำลังที่จะทำราชการในบ้านของตัวเอง ฤาทำการติดต่อกับไทยให้รู้ทันกัน จะได้มีคนใช้และมีคนรู้ในมณฑลพายัพมากขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องเอาคนไทยขึ้นไปใช้มาก แต่ความปรารถนาใช่จะให้แต่ความรู้ส่วนอักขระวิธีอย่างเดียว หวังจะสั่งสอนให้รู้จักทางราชการ และให้รู้ความดีของการที่กลมเกลียวกันกับไทย การซึ่งจะเข้ากันได้เช่นนั้น ต้องมีความคิดแลความรู้ถึงกันความมุ่งหมายต้องเป็นอย่างเดียวกัน คือหวังต่อความเจริญของบ้านเมืองซึ่งกันร่วมกัน เพราะฉะนั้น ผู้ซึ่งจะไปเล่าเรียนจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีสันดานหย่อน ยิ่งหมิ่นประมาทพวกลาวว่า เลวทรามกว่าคนไทยด้วยประการทั้งปวง จะต้องมีสติปัญญาที่จะหาทางสั่งสอนชักโยงให้พวกลาวรู้สึกว่า เป็นข้าราชการฤาเป็นชาวเมืองอย่างเดียวกันกับคนไทย ถ้าทำดีการจะได้ดีเหมือนกับคนไทย
โรงเรียนนั้นจะต้องถือว่าตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ราชการเหมือนกับมิชชันนารีเขาตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ศาสนา ผู้ซึ่งจะไปจัดการต้องมีน้ำใจผูกพันมั่นคงอย่างเดียวกัน"
อันที่จริงนโยบายจัดตั้งโรงเรียนตามแผนใหม่ในหัวเมืองหรือมณฑลหลักๆ นั้น มีมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2441-2442 หากแต่ว่าหลังจากเกิดเหตุความไม่สงบในมณฑล พายัพ จึงได้มีพระบรมราโชบายที่ชี้ชัดเพิ่มเติมลงไป
นัยที่สำคัญของการจัดตั้งโรงเรียนในเชียงใหม่หลังปี 2445 ก็คือมุ่งให้ผู้เล่าเรียนรู้ความดีกับการกลมเกลียวกับไทย ซึ่งนั่นก็คือใช้การอบรมสั่งสอนเรียนรู้ที่มีเป้าหมายทางการเมืองซ่อนอยู่ด้วย
การเสด็จประพาสเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.2448 นั้น ได้พระราชดำเนินไปโรงเรียนประจำมณฑลพายัพ หรือโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพายัพ และพระราชทานนามให้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2448 ที่ก่อสร้างใหม่
และคงเป็นที่ทราบกันทั่วไปในบรรดาชนชั้นนำของเมืองเชียงใหม่เวลานั้นว่า โรงเรียนแห่งใหม่ที่รัฐบาลกลางตั้งขึ้นมานี้ มีเป้าหมายในทางวัฒนธรรมและทางการเมืองซ่อนอยู่ด้วย เพราะอย่างน้อยที่สุดความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างระบบการจัดการศึกษาแผนใหม่ กับการเรียนการสอนแบบล้านนาดั้งเดิม ก็คือหลักสูตรใหม่มีการสอนด้านภาษา ทั้งการเขียน/อ่าน ตัวอักษร และสำเนียงแบบไทยกรุงเทพฯ อยู่ในหลักสูตร อย่างเช่นโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยที่ลำปาง ได้ใช้หลักสูตรภาษาไทยล้วน 100% ขณะที่การสอน ในเชียงใหม่ช่วงนั้นยังใช้ภาษาพื้นเมืองผสมกับวิชาการสอนภาษาไทยภาคกลาง
หลังจากนั้นอีก 9 วัน จึงได้เสด็จมาวางศิลารากอาคาร และพระราชทานนามโรงเรียนปรินส์ รอยแยลส์ วิทยาลัยแทนชื่อเรียกว่า Chiangmai Boy School หรือ "โรงเรียนชายวังสิงห์คำ" ที่มีอยู่เดิม
จุดที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ก็คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้แสดงให้เห็นถึงการแสดงความสัมพันธ์อันดีของราชสำนักสยามกับมิชชันนารีอเมริกัน ที่เข้ามาทำงานในเมืองเชียงใหม่ก่อนหน้านี้เกือบ 40 ปี (พ.ศ.2410) ตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ยังมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชสมบูรณ์ อำนาจปกครองเด็ดขาดอยู่ที่เจ้าหลวงผู้ครองนคร
อย่างไรก็ตาม แม้ในเวลานั้น (พ.ศ.2448-2449) รัฐบาล กลางสยามจะพยายามใช้ระบบการศึกษาแผนใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมและทางการเมืองในการปฏิรูปการปกครอง แต่ทว่ารัฐบาลสยามก็ไม่เข้ามาแตะต้องแนวทางการจัดระบบการศึกษาของมิชชันนารีแม้แต่น้อย
ในทางกลับกัน คณะมิชชันนารีผู้ก่อตั้งโรงเรียนปรินส์ รอยแยลส์ วิทยาลัย ได้แสดงจุดยืนย้ำถึงปรัชญาการจัดการศึกษาที่เป็นตัวของตัวเอง แสดงต่อมกุฎราชกุมาร แห่งสยามอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายของการจัดการศึกษาตามแนวทางนี้ไม่ได้มีเป้าหมายอื่นใดเจือปน
ดังที่ปรากฏในคำถวายรายงานของพ่อครูแฮรีสที่ว่า "The ultimate aim of education is the development of character" ที่ได้ยกขึ้นมาข้างต้น
|
|
|
|
|