|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2549
|
|
ท่ามกลางไฟใต้ที่ระอุเดือดระลอกใหม่ ต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปีมานี้ จากการตระเวนสนทนากับนักธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของ "ผู้จัดการ" พร้อมๆ กับได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจความต้องการของทั้งภาครัฐและเอกชนบางส่วน สามารถประมวลเป็น "ภาพฝัน" แห่งการพัฒนาร่วมกันได้ดังนี้
ภาพฝันร่วมกันของผู้ประกอบการทั้ง 3 จังหวัดที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ และเป็นรูปเป็นร่างชัดขึ้นช่วงต้นเดือนมกราคม 2549 นี้เองก็คือ ต้องการให้รัฐบาลประกาศให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็น "เขตเศรษฐกิจฉุกเฉินพิเศษ" มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยออกเป็น พ.ร.ก.รองรับ เช่นเดียวกับที่เพิ่งประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการฉุกเฉินที่เน้นทางด้านความมั่นคงเป็นหลัก
นี่คืออีกช่องทางดิ้นรนของผู้ประกอบการในพื้นที่ เพราะก่อนหน้านี้ ครม.รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เคยประกาศให้ 5 จังหวัดชายแดนใต้เป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" มาแล้ว อีกทั้งที่ผ่านๆ มาก็มีเสียงเรียกร้องความเป็นพื้นที่พัฒนาทางเศรษฐกิจแบบ "พิเศษ" มาโดยตลอด
จังหวัดปัตตานี ทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นควรกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันว่า ให้เป็น "ศูนย์กลางอาหารฮาลาล" ที่จะได้รับการเกื้อหนุนด้วยความเป็น "ศูนย์กลางอิสลามศึกษา" จึงมีการผลักดันโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ขึ้นมารองรับอย่างเป็นรูปธรรมในเวลานี้
จังหวัดยะลา ยุทธศาสตร์การพัฒนาถูกกำหนดให้เป็น "ศูนย์กลางการคมนาคม" ซึ่งจะรองรับการส่งออกสินค้าจากทั้ง 3 จังหวัด ชายแดนใต้ผ่านทางเบตงสู่ท่าเรือปีนัง ขณะที่เกื้อหนุนด้วยความเป็น "ศูนย์การค้าชายแดน" "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการเกษตร" รวมถึงหนุนส่งด้วย "ศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ" ซึ่งในอย่างหลังนี้เน้นใช้เบตงเป็นฐาน
จังหวัดนราธิวาส ยุทธศาสตร์การพัฒนาถูกกำหนดให้เป็น "ศูนย์กลางคมนาคม" เช่นกัน แต่มุ่งการส่งออกทางด้านแว้งสู่ท่าเรือปีนัง โดยปั้น "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการเกษตร" ขึ้นรองรับพร้อมๆ กับดันตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่ในสุไหงโก-ลก อีกทั้งให้เป็น "ศูนย์การค้าชายแดน" ที่ใช้สุไหงโก-ลกและตากใบเป็นฐาน ตามด้วย "ศูนย์กลางการศึกษา" ที่มุ่งเน้นในวิชาชีพด้วยการผลักดันตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ขึ้นมาใหม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจบริวารของจังหวัดสงขลา โดยดูได้จากการเกิดขึ้นของโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) แม้กระทั่งแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ถูกกำหนดขึ้นมาภายใต้กรอบคิดนี้ ด้วยผู้นำภาครัฐสมัยนั้นต้องการใช้สงขลาฉุดรั้งการพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ก้าวพ้นวังวนแห่งปัญหาไฟใต้ให้ได้ในที่สุด
ทว่าภายหลังเกิดเหตุไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุขึ้นมาในช่วงกว่า 2 ปีมานี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพลพรรคไทยรักไทยกลับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยปลดแอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปให้พ้นจากจังหวัดสงขลา ส่วนหนึ่งเพราะต้องการสกัดไฟใต้ไม่ให้ลุกลามเข้าสู่เมืองหลวงของภาคใต้ตอนล่างอย่างหาดใหญ่-สงขลา และอีกประเด็นคือต้องการจำกัดวงไฟใต้ให้มีขอบเขตที่ชัดเจนเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
ณ วันนี้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มจังหวัดภายใต้กรอบคิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นเอกภาพ จึงไม่แปลกที่ภาพฝันของผู้ประกอบการทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นภาพฝันเดียวกันและแนบแน่นเชื่อมโยงกันในวันนี้
|
|
|
|
|