|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2549
|
 |

- ในส่วนของนักธุรกิจ เริ่มตระหนักถึงสถานการณ์นี้ตั้งแต่ช่วงไหน เพราะถ้านับจากวันที่ปล้นปืน 4 มกราคม 2547 ตอนนั้นอาจไม่คิดว่าจะยืดเยื้อยาวนาน หรือรุนแรงขนาดนี้
สมพงศ์ - หลังจากนั้นสัก 3-4 เดือน
- ตั้งแต่เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ
พจน์ - แล้วมีการทำร้ายชาวบ้าน หรือคนงาน ทำให้คนงานหวาดกลัว เริ่มอพยพออกไป ก็เริ่มรู้สึกว่าเหตุการณ์มันไม่ใช่จะจบง่ายๆ อย่างที่รัฐบาลพูดอยู่เสมอ เพราะที่รัฐบาลพูด ก็เข้าใจนะ ที่บอกว่าอีกเดือนหนึ่งจะสงบ อีก 3 เดือนจะสงบ แต่ปัจจุบันพูดตรงๆ ว่า เรามองว่าเหตุการณ์นี้ยังคงอีกนานพอสมควร
- แล้วช่วงที่เริ่มตระหนัก ภาคธุรกิจพยายามดิ้นรน หรือคุยกันอย่างไรบ้างว่าเราจะค้าขายกันยังไง
พจน์ - ที่ผ่านมา เราก็ได้แต่ประคับประคอง ส่วนหนึ่งเราก็ต้องพยายามหามาตรการช่วยเหลือเรา โดยที่เราก็เรียกร้องจากรัฐให้ช่วยเราในเรื่องมาตรการด้านภาษี หรือการกู้ยืม หรือเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งที่ผ่านมากว่าจะได้รับการตอบสนองก็นานพอสมควร ตัวนี้พูดตรงๆ ว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เราต้องประคับประคองอยู่อย่างนี้ เราคงไม่มีการลงทุน เพราะขณะเดียวกันต้นทุนหลายๆ ตัวเราก็เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เพราะว่าการทำกิจการของเรานี่ ช่วงเวลามันน้อยลง แล้วปัญหาเรื่องแรงงานก็ดี ปัญหาเรื่องสินเชื่อก็ดี
เพราะจริงๆ เครดิตที่คนทางภาคกลางที่เรามีการติดต่อซื้อขายนี่ บางธุรกิจเดี๋ยวนี้ต้องใช้เงินสดซื้อ ซึ่งเป็นต้นทุนตัวหนึ่งของเราเหมือนกัน ตัวนี้มันเรียกว่าเป็นการซ้ำเติม แล้วตอนนี้ค่าแรงมันก็เพิ่มขึ้น แล้วการจ้างงานก็หาได้ค่อนข้างจะลำบาก เพราะจากที่รัฐให้มีการจัดจ้างงาน 4 หมื่นกว่าตำแหน่ง มันก็ยิ่งส่งผลกระทบให้เลวร้ายขึ้นไปอีก เรียกว่าตอนนี้ที่เราช่วยกันได้ คือเราจะทำยังไงให้คนของเราอยู่ในพื้นที่ โดยเราเรียกร้องภาครัฐว่าควรจะมาช่วยตรงจุดนี้ก่อน
คือที่ผ่านมา ทั้งสภาอุตสาหกรรม และหอการค้าของทั้ง 3 จังหวัดได้จับมือกันเรียกร้อง เพราะว่าที่ผ่านมาเราต่างคนต่างเรียกร้อง เสียงมันค่อนข้างจะเบา เราเลยคิดว่าถ้าเราจับมือกัน 3 จังหวัด ผลักดันทางรัฐบาลอีกทีหนึ่ง มันน่าจะเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาเลยค่อนข้างจะเป็นผลพอสมควร
- แล้วได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ที่บอกว่าได้ร่วมกัน จนพอเห็นเป็นรูปธรรม
พจน์ - ก็คือเรื่องดอกเบี้ยอัตราพิเศษ 1.5% โดยแบงก์ชาติปล่อยผ่านทางธนาคารพาณิชย์
- อันนี้มีเงินมาจริง
พจน์ - อันนี้มันไม่ใช่เงินที่เข้ามาลงทุน เป็นเงินที่เข้ามาบรรเทาภาวะดอกเบี้ยของเรา ซึ่งเบิกเกินบัญชี เช่นสมมุติว่า นักธุรกิจ ก. มีวงเงิน 10 ล้าน เดิมต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนหนึ่งหลายแสน ตอนนี้มันแค่บรรเทาเฉพาะดอกเบี้ย แต่เรื่องสินเชื่อที่จะปล่อยเพิ่มขึ้นใน 3 จังหวัดนี่ ตอนนี้ยังไม่มี
คือผมก็เข้าใจธนาคารว่าเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งเหมือนกัน เขาลงทุน เขาก็ต้องได้รับผลตอบแทน ไม่ว่าจะในรูปดอกเบี้ย หรือเงินต้น คือใน 3 จังหวัดตอนนี้ สินเชื่อที่จะได้จากธนาคารน้อยมากๆ เพราะว่ารายใหม่ๆ ที่มาขอกู้แบงก์ใหญ่เขาจะพิจารณาเข้มงวดเป็นพิเศษ ก็เรียกกลายๆ คือไม่ปล่อย แต่พูดให้สวยหรูว่ายังปล่อยปกติ ถ้าตอนนี้ถามแบงก์ว่าปล่อยไหม เขาก็ว่ายังปล่อยปกติ แต่การปล่อยปกติของเขาคือ ต้องผ่านขั้นตอนนานขึ้น
คือถ้าย้อนกลับไป ที่เราได้คือตัวนี้เท่านั้น คือผ่อนปรนภาวะดอกเบี้ยของเรา แล้วอีกตัวหนึ่งก็คือมาตรการทางด้านภาษีการจดจำนองที่ดิน รู้สึกว่าเขาจะประกาศเดือนนี้ (มกราคม) ลดภาษีจดจำนอง และภาษีโอนที่ดิน เหลือ 0.1% แล้วอีกตัวหนึ่งที่ช่วยก็คือผู้รับเหมา ขยายระยะสัญญาออกไปอีก 180 วัน และงดเบี้ยปรับ ที่หลักๆ ก็คือได้ 3 ตัวนี้
เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ทั้ง 3 หอการค้าก็ขึ้นไปประชุม คือ ดร.สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) อยากได้ข้อมูลว่า ถ้ามีมาตรการที่จะช่วยคนใน 3 จังหวัดนี้ มีอะไรที่นักธุรกิจต้องการ แล้วคิดว่าอยู่ได้ แล้วสามารถมีการลงทุนใหม่ๆ เราเลยขอไปว่าขอให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจกิจฉุกเฉินพิเศษ เรียกว่าฉุกเฉินนะ ไม่ใช่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่งั้นจะเหมือนกับตอนนี้ที่กำลังมีการร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ อันนี้ไม่เกี่ยว คือตรงนี้ต้องเรียกว่าฉุกเฉินจริงๆ คือคุณจะออก พ.ร.ก.อะไรออกมาก็ได้ อย่างกฎอัยการศึกอะไร คุณยังออกเป็น พ.ร.ก.ได้ แต่อันนี้ คุณควรจะออกได้แล้ว เพราะว่าเป็นมาตรการช่วยกระตุ้นเกี่ยวกับการลงทุนใหม่ๆ คือตอนนี้ใหม่ๆ อาจยังไม่เกิดขึ้น อาจจะขอนักธุรกิจรายเดิม ที่อาจจะได้สิทธิพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี หรือไม่ภาษีก็ดี
ทางด้านไม่ใช่ภาษีเราก็ขอไปด้วย ก็คือให้รัฐจัดตั้งกองทุนการลงทุน อาจจะประมาณ 1 หมื่นล้าน ซึ่ง 1 หมื่นล้านนี่อาจจะไม่พอก็ได้ เพราะว่าจริงๆ ตอนนี้จะบอกว่าแบงก์ไม่ปล่อยกู้เรา มันก็ไม่มี ทีนี้อาจจะมีคนที่มีศักยภาพในพื้นที่ ถ้าเขาต้องการจะขยายที่นี่ ก็สามารถใช้สิทธิตัวนี้ได้ เราขอกันไป 2-3 ข้อ รวมถึงการไม่ให้ประชาชนในพื้นที่โยกย้ายออกไปอย่างไร เราก็ขอสิทธิในเรื่องภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา ซึ่งเรายังยืนยันจุดเดิมของเรา เรายื่นให้นายกฯ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมปีที่ผ่านมา เรายังยืนยันว่า เรายังต้องการตัวนั้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนไม่อพยพออกไปนอกพื้นที่
- เป็นอย่างไรเขตเศรษฐกิจฉุกเฉินพิเศษ
พจน์ - คือตอนนี้เขตการลงทุนเขต 3 พิเศษของเรากับสงขลานี่ มันไม่ค่อยต่างกัน เงื่อนไขในการให้ มันอาจจะมีพิเศษหน่อย แต่ว่ามันไม่มีแรงจูงใจ วันนั้นมีตัวแทนของธนาคารในสมาคมธนาคาร เขาบอกว่าให้แค่ตัวนี้ ถ้าเขาเป็นนักลงทุนเขาก็ไม่อยากลงมา เขาบอกว่าอยากจะให้รัฐตั้งเป็นนิคมเลย สร้างเป็นอาคารโรงงานให้เขา แล้วเขาเอาเครื่องมือเครื่องจักรลงไป
คือเป็นลักษณะให้เช่า รัฐลงทุนตัวโรงงาน ที่ดิน แล้วนักธุรกิจเอาเครื่องจักรลงไป ตรงนี้นี่มีโอกาสที่น่าจะเกิดขึ้น แต่ว่าถ้าให้นักธุรกิจไปซื้อที่ดิน สร้างโรงงาน แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นมา เครื่องจักรมันยังย้ายได้ แต่ว่าที่ดินถ้าลงไปแล้วมันเคลื่อนย้ายไม่ได้ มันก็น่าจะเวิร์กกว่า
- แล้วจะถึง ดร.สมคิดสักเมื่อไร
พจน์ - ตอนนี้เขากำลังเรียบเรียงคำพูดเป็นเปเปอร์ แล้วจะยื่น ซึ่งก่อนที่จะยื่นเขาคงจะกลับมาให้ทางสภา หรือหอการค้าดูก่อน
- 2 ปีที่ผ่านมา พรรคพวกเพื่อนฝูงนักธุรกิจด้วยกัน มีเสียหาย หรือเจ๊งไปมากไหม
พจน์ - เรียกว่าเจ๊ง คงไม่ถึงกับเจ๊ง แต่มีพรรคพวกบางคนยกตัวอย่างกรณีหนึ่ง เขาเปิดโรงงานทำที่นอนบาติกจากน้ำยาง คืออยู่ในขั้นกำลังจะเปิดโรงงาน แต่ล่าสุดได้ข่าวว่าปิดไปแล้วที่ไม่ได้เปิดนี่ อาจจะมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัย หรือคนงานไม่มี เลยทำการเปิดไม่ได้ น่าสงสารเขาเหมือนกัน เพราะว่าใช้เงินลงทุนเยอะเหมือนกัน นี่ก็ยังติดต่อเขาไม่ได้ เพราะว่าก็อยากจะขอข้อมูล เผื่อที่ว่าเราอาจจะไปขออะไรจากภาครัฐให้เขาได้
จริงๆ พูดตรงๆ วันนี้ที่คุยกัน ก็คือจะทำอย่างไรอยู่ได้ เพราะว่าจะบอกให้ย้ายออกไปนอกพื้นที่มันก็ลำบาก
- แต่พูดกันตรงๆ เช่นกันว่า ถ้าให้อยู่กันอย่างนี้ต่อไปอีกสักระยะ ก็คงไม่ไหว เราจะทำอย่างไร เพราะสถานการณ์มันประคองไปได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่เราจะประคองไปอย่างนี้ได้ตลอดหรือ
สมพงศ์ - คือถ้าหากว่าคนใกล้ตัวเราถูกทำร้าย นั่นแหละเรื่องมันถึงจะจบเร็วขึ้น ถ้าหากว่าคนใกล้ตัวเรายังไม่ถูกทำร้าย เราก็คิดว่ายังไม่เป็นไร ก็ยังอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เราอยู่เหมือนกับกลัวจนกล้า คือกลัวมามากจนเกิดความเคยชิน มันก็กล้าขึ้นมา
อย่างวันที่ 4 มกราคม 2547 นี่ พอเกิดเรื่องมาสัก 2-3 เดือน เรามีความกลัวมาก หลังจากนั้นเราก็เริ่มเคยชิน ก็เฉยๆ ไป แต่ตอนหลังพอเริ่มมีการวางระเบิดศาลากลาง แล้วเริ่มมีการวางระเบิดในตัวจังหวัด มีอยู่คืนหนึ่ง รู้สึกว่าจะเป็น 14 กรกฎาคม ก็เกิดความกลัวขึ้นมาอีก ก็อย่างนี้ กล้าๆ กลัวๆ เดี๋ยวกลัว เดี๋ยวก็กลัว เดี๋ยวก็กลัวอีก จนเกิดความเคยชิน
พจน์ - คือถามว่าถ้าจะให้เราไปที่อื่นนี่ คือจริงๆ ตอนนี้แต่ละคนก็ลงไปเต็มที่แล้ว บางทีมันไม่เหมือนกับการถอนเสาเรือนแบบสมัยก่อนที่ว่าแบกบ้านไปได้ด้วย มันไปยาก แล้วอีกอย่างคือถ้าเราไปอยู่ที่อื่นนี่ เราก็ต้องไปนับ 1 ใหม่ ผมว่ามันค่อนข้างจะลำบาก มันก็ต้องทู่ซี้อยู่ในพื้นที่นี้
แล้วพูดตรงๆ ว่าอยู่ในพื้นที่นี้เป็นอย่างไร พูดตรงๆ เราก็เครียด เพราะว่าทำงานก็ได้ไม่เต็มที่ ต้องคอยระแวดระวัง เดี๋ยวนี้กลางคืนถ้าไม่จำเป็นเราก็ไม่ออกไปไหน ความเครียดขนาดที่ว่าขับรถ เราก็ไม่รู้ว่ามันจะมายิงใส่เราเมื่อไร อย่างนี้ ตอนนี้ถามถึงคนใน 3 จังหวัดนี้ ผมว่ามีโรคเครียด และโรคจิตตัวนี้เกิดขึ้น คือหวาดระแวง กลัวว่าคนที่ขับมอเตอร์ไซค์ที่มาจอดเทียบข้างๆ เวลาที่เราติดสี่แยกนี่เป็นใคร ไม่รู้ว่าจะมายิงเราหรือเปล่า เป็นนะครับ ตรงนี้ แล้วเดี๋ยวนี้ยิ่งมีระเบิดใกล้เข้ามา เวลาเราไปจอดรถที่ไหน อย่างผมนี่ ถ้าไปจอดรถในที่ที่เราไม่คุ้นเคย เวลาเรากลับไปขึ้นรถ เราก็ต้องดูว่าใต้ท้องรถเรามันมีอะไรหรือเปล่า ผมว่าทุกคนมันเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาเจอกัน ก็ได้แต่ปลอบใจกัน ถามข่าวคราวกันว่าเป็นยังไง ควรจะพกปืน ควรจะไปขอใบพกปืนเวลาเดินทางดีไหม
- คุณนิเวศน์มองเรื่องนี้อย่างไร
นิเวศน์ - ก็คล้ายๆ กัน แต่จริงๆ พอเราคุยหนักๆ ทางรัฐบาลอยากให้เราช่วยอะไรบ้าง ผมคิดว่าเรื่องทั้งหมดนี่มีอยู่เรื่องเดียว คือช่วยให้มันสงบ ผมว่าช่วยด้านอื่นนั้น เกือบจะไม่ต้องเลย ถ้าทุกอย่างสงบ พวกเราช่วยตัวเองได้ ถูกต้องไหม มันขึ้นอยู่กับเรื่องนี้เรื่องเดียว
- แสดงว่าจริงๆ เราไม่ได้เรียกร้องเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของเรา
นิเวศน์ - จริงๆ ที่เรียกร้องไปนี่ ถึงช่วยมาก็ช่วยอะไรไม่ได้ ถ้ามันไม่สงบ เพราะฉะนั้นผมถึงว่าสุดยอดของมันคือเมื่อไรมันสงบ พอสงบอย่างอื่นไม่ต้องช่วย ถ้าถามทุกคน มีแต่ชาวบ้านที่ปกติจนอยู่แล้วที่อยากได้ ซึ่งเท่าไรก็ไม่พอถึงสงบก็ยังจะขอ แต่ถ้าภาคธุรกิจ แล้วก็ภาคประชาชนทั่วไปนี่ ขอให้มันสงบเถอะ เช่นบอกว่าพรุ่งนี้สงบนะ อย่างอื่นที่เคยช่วยเราอย่าง 1.5% ไม่ต้องเลย
พจน์ - มันไม่ใช่สิ่งที่อยากได้
- แสดงที่รัฐบาลบอกว่าคนในพื้นที่ต้องการการพัฒนา มันต้องทุ่มงบประมาณเข้าไป
นิเวศน์ - อันนั้นมันปลายเหตุ ถูกต้องมั้ย แต่ว่าถ้าสงบแล้วนะ ถามว่าต้องช่วยอีกมั้ย ต้องช่วย แต่นั่นคือพวกปลายเหตุ แต่สุดยอดของมันก็คือเมื่อไรมันจะสงบ
|
|
 |
|
|