|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2549
|
|
2 ปีเต็มๆ แล้วที่คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ตกเป็นเป้าหมายหลักในการโจมตี รวมถึงชาวบ้านธรรมดาที่อาจถูกลูกหลง คำถามที่ตามมาก็คือ ท่ามกลางกระแสข่าวที่มีแต่เหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้ บรรดานักธุรกิจ พ่อค้า นักอุตสาหกรรมในทั้ง 3 จังหวัด เขาจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไร ธุรกรรม การค้าขายมีอันต้องพับฐานไปหมดแล้วหรือ
ทั้งๆ ที่เป็นคนในพื้นที่ ใช้ชีวิตผ่านพ้นสถานการณ์ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วนับสิบๆ ปี แต่สมพงศ์ สิมาพัฒนพงศ์ ยืนยันได้ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เทียบกับสมัยก่อนแล้ว มันเป็นคนละเรื่อง กันโดยสิ้นเชิง!!!
"เหตุการณ์แต่ก่อนมันเป็นโจรทั่วๆ ไป คือ โจรหวังในทรัพย์ โจรหวังผลประโยชน์ คือ ส่งจดหมายไปเรียกค่าคุ้มครอง พอให้เงินก็จบ จับคนไปเรียกค่าไถ่ พอไปไถ่คน ก็จบ แล้วชาวบ้านทั่วไปรู้ไหมว่าใครทำ ก็รู้ ผู้ใหญ่บ้านรู้ไหมว่า ใครเป็นคนจับ ก็รู้หมด แต่เหตุการณ์ 2 ปีที่ผ่านมา เราไม่รู้เลยว่า ใครทำ ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าใครกันแน่ที่อยู่เบื้องหลัง" เขาบอก "ผู้จัดการ"
สมพงศ์เป็นตัวอย่างหนึ่งของนักธุรกิจใน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
เขาเป็นคนนราธิวาสโดยกำเนิด แต่มาทำธุรกิจอยู่ที่ยะลา เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำยางยะลา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ตกอยู่ในภาวะสูญเสียโอกาสไปอย่างมาก เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงที่ราคายางพาราในตลาดพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากความต้องการของอุตสาหกรรมทั่วโลก
"ผมรู้สึกเสียดายว่า 3 จังหวัดภาคใต้ของเรานี่ ถ้าไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น เศรษฐกิจจะดีมาก ชาวบ้านจะมีรายได้ดีกว่านี้มาก เพราะว่ายางราคาแพง ประชาชนร้อยละ 70 ประกอบธุรกิจสวนยางพารา ถ้ายางพาราได้ราคาดี เขาก็อยู่อย่างสุขสบาย ผมยังอิจฉาคนตั้งแต่จังหวัดสงขลาขึ้นไป อย่างที่สุราษฎร์ฯ ชุมพรนี่ ชาวบ้านรวยมากนะ ผมได้ข้อมูลจากลูกสาวของผมที่ทำงานอยู่ที่อำเภอพระแสง เขาบอกว่าเป็นอำเภอเล็กๆ แต่มีร้านทอง 12 ร้าน แล้วชาวบ้านนี่ใส่ทองเส้นใหญ่ๆ แล้วไม่ได้ใส่ข้างในนะ ใส่ออกนอกเสื้อด้วย คือเดินตามท้องตลาด ใส่สร้อยทองออกนอกเสื้อ นั่นแสดงว่าโจรผู้ร้ายไม่มี เศรษฐกิจเขาดี ผมยังนึกเสียดายเลยว่า 3 จังหวัดภาคใต้เรานี่ ถ้าไม่มีเหตุการณ์นี้เกิด ขึ้น เราอยู่กันสบายมาก"
ขณะที่แสงทอง ปรีชาวุฒิเดช ก็เป็นนักธุรกิจในพื้นที่อีกคนหนึ่งที่ยอมรับว่ากำลังรู้สึก "เบื่อ" และ "เซ็ง" กับสิ่งที่เกิดขึ้นใน 2 ปีมานี้
เขาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท พี.เอ็ม.ยู.โฮลดิ้ง เจ้าของโรงแรมมารีน่า ใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส คลุกคลีอยู่กับธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น ทั้งรองประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส และ ประธานชมรมโรงแรมสุไหงโก-ลก อดีตนายก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส และอดีตกรรมการสภาธุรกิจชายแดนใต้ และเขามีความเคยชินกับความรุนแรงในพื้นที่มาตั้งแต่เด็กๆ
"ตั้งแต่ผมเล็กๆ มาก็ได้ยินเสียงปราบ จคม. (โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา) ได้ยินเสียง ปืนใหญ่ เฮลิคอปเตอร์ ของแบบนี้มันผ่านเรา ตั้งแต่เด็ก แล้วหลังจากนั้นก็มีพวก ขจก. (ขบวนการโจรก่อการร้าย) ขึ้นมาแทน จคม. ก็จับครู จับคนเรียกค่าไถ่ เผาโรงเรียนก็มีแต่ต้น พอมาถึงตอนนี้มันก็มีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น มาอีก แต่มันมากขึ้น และเมื่อก่อนมีอะไรมันยังไม่ใกล้ตัว มีการควบคุม อย่างสมัย จคม. มีการควบคุมยุทธปัจจัย จะซื้อถ่านไฟฉาย ข้าวสาร น้ำตาล ต้องมีใบอนุญาต เราก็ยังอยู่ได้ปกติ ยังออกไปไหนต่อไหนได้ แต่ตอนนี้ เรื่องระเบิดที่ทำให้ผลกระทบเกิดกับธุรกิจเรา มันเบื่อที่ระเบิดในเมือง คุณจะเรียกร้องแบ่งแยกอะไร ก็ทำตามวิถีทาง ของคุณ เราก็ไม่ว่ากัน แต่เบื่อที่มีระเบิดนี่ ถ้าไม่มีระเบิดเราอยู่ได้ และไม่ใช่เฉพาะพวกเรา คนมุสลิมจำนวนมากก็ค้าขายกัน เขาก็สะเทือนหมด"
พจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทยะลาไพบูลย์กิจ และบริษัทลิดลวัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมา และค้าวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ ประธานหอการค้าจังหวัดยะลาคนปัจจุบัน ก็คืออีกผู้หนึ่งที่สะท้อนภาพความรู้สึกของผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างแจ่มชัด
"อยู่ในพื้นที่นี้แล้วเป็นอย่างไร พูดตรงๆ เราก็เครียดเพราะว่าทำงานได้ไม่เต็มที่ ต้องคอยระแวดระวัง เดี๋ยวนี้กลางคืนถ้าไม่จำเป็นเราไม่ออกไปไหน มีความเครียดขนาดที่ว่าขับรถ อยู่ก็ไม่รู้ว่าจะถูกยิงใส่เมื่อไร คือหวาดระแวง คนขับมอเตอร์ไซค์มาจอดเทียบข้างๆ เวลาติดสี่แยกก็กลัว เดี๋ยวนี้มีระเบิดใกล้เข้ามาทุกที อย่างผมนี่เวลาไปจอดรถในที่ที่เราไม่คุ้นเคย กลับ ขึ้นรถเราต้องดูว่าใต้ท้องรถมีอะไรหรือเปล่า ผมว่าทุกคนเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาเจอกันก็ได้แต่ปลอบใจกัน ถามข่าวคราวกันว่าเป็นอย่างไร ควรจะพกปืน ควรจะขอใบอนุญาตพกปืนเวลาเดิน ทางดีไหม ตอนนี้ผมว่าคนใน 3 จังหวัดนี้มีโรคเครียดและโรคจิตเกิดขึ้น"
พิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ เจ้าของบริษัทปัตตานีผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โรงงานอุตสาหกรรม แปรรูปสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก 100% ซึ่งมีมูลค่าปีละกว่า 1,100 ล้านบาท ที่ขณะนี้หันมาจับงานการเมืองท้องถิ่น โดยได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี เขาเกิด เติบโต และ สร้างฐานธุรกิจขึ้นในปัตตานี ในฐานะที่มีเลือดนักธุรกิจและนักการเมืองเข้มข้น เขาจึงกล้าที่จะบอกเล่าในสิ่งที่เขาคิดอย่างตรงไปตรงมา
"ปากบอกอยากให้เกิดความสามัคคี ไปพับนกกระดาษแล้วเอามาปล่อยที่นี่ วุ่นวายกันไปหมด โจรมันนั่งหัวเราะ เดี๋ยวก็เอาลูกปืนเอาระเบิดไปให้อีก มันได้บ้างในเรื่องของจิตวิทยาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เป็นกระแสนิดเดียวเอง มันเหมือนกับของเด็กเล่น ทำแล้วมันไม่จีรังยั่งยืน เรื่องอย่างนี้มันจะต้องเป็นเรื่องที่ทำไปแล้วมันเห็นผลระยะยาวได้ ไม่ใช่โปรยนกวันนี้แล้ว พี่น้องคนไทยมีความห่วงใยพี่น้องชายแดนใต้ รถบรรทุกเครื่องบินไปเป็นสิบๆ ลำ มีรางวัลของท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้คนไปแห่ เก็บกัน ผมปวดหัวมากๆ ต้องเอาเข่งไปตามเก็บกัน ตามหลังคาบ้าน บนต้นไม้ก็มี ต้องไปเขี่ยลงมา"
พิทักษ์มองว่า ความสูญเสียที่เจ้าหน้าที่ และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเกือบทุกวัน อาวุธปืนที่ถูกปล้นไปยังไม่สามารถนำกลับคืน มาได้ โรงเรียนถูกเผา ยางรถชาวบ้านถูกเรือใบ แตก "สิ่งเหล่านี้ไม่รู้ว่าในแง่เศรษฐกิจแล้ว มัน สูญเสียไปปีละเท่าไร"
เสียงสะท้อนต่างๆ ข้างต้น ดังขึ้นใน วงสนทนาที่นิตยสาร "ผู้จัดการ" ร่วมกับศูนย์ ข่าวหาดใหญ่ เดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพบปะพูดคุยกับนักธุรกิจ ในท้องถิ่นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ ความรุนแรงที่เพิ่งจะครบรอบ 2 ปี ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และความรู้สึกที่บรรดานักธุรกิจเหล่านี้กำลังเผชิญอยู่
หากพิจารณาความสูญเสียในด้านเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากไฟใต้ที่ถูกจุดให้คุโชนระลอกใหม่ใน 2 ปีมานี้ และยังไม่มีทีท่าว่าจะหาจุดจบได้นั้น คำตอบที่ได้รับจากทุกวงสนทนา ตรงกันคือ ยากยิ่งจะประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้
แต่ในวงสนทนาก็สามารถฉายภาพความเสียหายในแต่ละประเภทธุรกิจให้เข้าใจได้พอสมควร กล่าวคือ ภายหลังที่เกิดไฟใต้ปะทุระลอกใหม่ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โดยเฉพาะ ร้านอาหาร บริษัททัวร์และโรงแรมได้รับผลกระทบที่ชัดเจนในเวลาเพียงไม่เกิน 3 เดือนนับจาก เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547
"ตอนนี้ถ้าพูดถึงจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว ไม่มีเลย เรียกว่าจากเคยมี 100% ตกไปอยู่ที่ 0% เลยก็ได้"
นี่เป็นเสียงสะท้อนของนิเวศน์ ศิริไชย กรรมการผู้จัดการบริษัท ยะลาแกรนด์พาเลซ (1996) เจ้าของโรงแรมยะลาแกรนด์พาเลซ และยังเป็นเจ้าของธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นห้างซูเปอร์ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ สาขายะลา และสาขาปัตตานี ห้างแฟมิลี่และห้างศรีสมัยในยะลา อดีตเคยเป็นประธานหอการค้าจังหวัดยะลาและกรรมการสภาธุรกิจชายแดนใต้ด้วย
ในฐานะผู้ประกอบการโรงแรม เขายังฉายภาพให้เห็นด้วยว่า ในภาวะที่นักท่องเที่ยวหดหายไปอย่างน่าตกใจนี้ ส่งผลให้โรงแรมต่างๆ ในยะลามีอัตราการเข้าพักลดลงเหลือเฉลี่ยประมาณ 20% เท่านั้น แถมบรรดาโรงแรมต่างๆ ก็แข่งขันกันลดราคาห้องพักมาแล้วนานนับปี หากเทียบกับราคาที่ควรจะเป็นเฉลี่ยลดราคาไปถึง 40-50% แต่หากเทียบกับราคาที่เคยขายก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟใต้ระลอกใหม่ก็ลดลงไปจากเดิมอีก 40-50% ทีเดียว
ทั้งนี้ บางโรงแรมถือว่าหรูสุดของเมืองยะลา ราคาตลาดที่ควรขายได้คือ 900-1,000 บาท/ห้อง/คืน แต่กลับขายเป็นปกติที่ 600 บาท หลังต้องรับผลกระทบซ้ำเติมในขณะนี้ขายเฉลี่ยอยู่ที่ 400 บาท บางครั้งก็ถึงกับลดลงเหลือ 300 บาทพร้อมอาหารเช้าอีกด้วยก็มีให้เห็น
เช่นเดียวกับโรงแรมในปัตตานีและนราธิวาสทิศทางของผลกระทบก็เป็นไปในทางเดียวกัน เฉลี่ยอัตราการเข้าพักลดลงเหลือประมาณ 20% ที่น่าจับตาคือ สุไหงโก-ลก จากที่เคยถูกจัดอันดับเมืองท่องเที่ยวที่มีจำนวนห้องพักอันดับ 6 ของประเทศเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ในภาคใต้ เป็นรองแต่เพียงเมืองภูเก็ตและหาดใหญ่ ปัจจุบันอันดับนี้ยิ่งถูกลบเลือนหายไป จากจำนวนโรงแรม 54 โรง และห้องพักที่ประมาณ 2,500 ห้อง ขณะนี้เหลือ 48 โรง และห้องพักไม่เกิน 2,000 ห้อง
สำหรับเมืองท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่พอจะยังอยู่ได้โดยไม่ได้รับผลกระทบมากนั้นคือ อ.เบตง จ.ยะลา ด้วยสภาทางภูมิศาสตร์ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติการของ กลุ่มป่วนใต้ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานีที่อัตราผู้เข้าพักสวนกระแส รวมถึงห้างบิ๊กซีซึ่งก็เพิ่งเปิดให้บริการในปัตตานีหลังจากไฟใต้รอบใหม่ปะทุขึ้นมาแล้ว แต่ 2 กิจการหลังนี้อาจไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจหรือแทนภาพของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ เนื่องจากมีปัจจัยพิเศษเข้าไปเกื้อหนุน อาทิ ได้รับอานิสงส์จากการจัดประชุมสัมมนาของภาครัฐที่แห่กันลงมาเพื่อแก้ปัญหา หรือมาตรการ อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ สร้างกำลัง ซื้อเทียมขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น
แต่ในส่วนของพื้นที่อื่นๆ มีข่าวหนาหูว่าเจ้าของโรงแรมหลายแห่งพร้อมที่จะขายทิ้งกิจการหากมีคนสนใจซื้อ ในนราธิวาสโรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลังจากปิดตัวเองมากว่าปีจากการเป็น NPL กลุ่มโรงแรมอิมพีเรียลได้เทกโอเวอร์และเพิ่งนำมาเปิดบริการใหม่ แต่ก็วิเคราะห์ กันว่าเป็นเหตุผลทางการเมือง โรงแรมเมอร์ลินหรูอันดับต้นๆ ของเมืองสุไหงโก-ลก ปิดตัวเอง ไปแล้วกว่าปี เช่นเดียวกับโรงแรมยะลามายการ์เด้นส์ ระดับกลางของเมืองยะลา ก็เปิดหมวกลาไปนานนับปีเช่นกัน
ในส่วนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างนั้น ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนก็ได้รับผลกระทบ หนักอย่างเท่าเทียมกันถ้วนหน้า ทั่วพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหลือผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ๆ ที่เคยรับงานส่วนใหญ่จากภาครัฐ หรือโครงการบ้านจัดสรรของเอกชนที่ยังคงทำงาน อยู่เพียงไม่กี่ราย ที่ยังจะพอมีให้เห็นอยู่บ้างส่วนใหญ่เป็นรายย่อยที่ก่อร่างขึ้นมาเพื่อรับงาน เฉพาะกิจเป็นชิ้นๆ ไป โดยเฉพาะงานที่เกิดกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่ขนาดไม่ใหญ่นัก
โครงการบ้านจัดสรรของภาคเอกชนที่เคยมีกระจายอยู่ตามมุมเมืองต่างๆ ขณะนี้แทบจะไม่มีเหลือให้เห็น แต่กลับมีการประกาศ ขายบ้านของคนในพื้นที่กระจายอยู่ทั่วไปขึ้นมาแทน มีการยืนยันจากวงสนทนาของทั้ง 3 จังหวัดในทำนองเดียวกันว่า คนต่างถิ่นที่ย้ายมาหากินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เกือบทั้งหมดจะโยกย้ายกลับไปแล้ว จะมีก็แต่ เพียงกลุ่มที่มีธุรกิจอยู่ในพื้นที่เท่านั้นที่ยังไม่สามารถโยกย้ายหนีไปไหนได้
สถานการณ์ที่มีผลต่อความไม่ปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินเช่นปัจจุบันนี้ ผู้รับเหมาที่เคยเข้าไปรับงานจากหน่วยงานของภาครัฐต่างๆ ต่างหนีหายไปจนแทบไม่เหลือ งานใหญ่ๆ ของภาครัฐก็แทบจะไร้ผู้รับเหมาไปรับดำเนินการ ในช่วง 2 ปีที่เกิดไฟใต้หนใหม่ มีผู้รับเหมาทิ้งงานจำนวนมาก หรือหากรายใดยังคงพยายามที่จะทำต่อไปให้แล้วเสร็จ แต่ก็มีปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในห้วงขาดแคลนอย่างหนัก แถมโรงโม่หินก็ถูกควบคุมจนไม่สามารถป้อนวัตถุดิบให้ผู้ประกอบการได้ ด้านราคาก็พุงกระฉูดกว่าเท่าตัว แม้ว่า รัฐบาลพยายามออกมาตรการช่วยเหลือแล้วก็ตาม
"ภาพชัดเจนและถือว่ามีผลกระทบหนักมากก็คือ การก่อสร้างถนน 4 ช่องทางจราจรที่เชื่อมต่อจากสามแยกดอนยาง ในเขต อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ตัดสู่ตัวเมืองยะลา แม้จะมีความคืบหน้าไปมากแล้วก็ตาม แต่ผู้รับเหมาก็ได้ถอดใจไปแล้ว พร้อมกับคำประกาศที่จะขอคืน สัญญาให้กับทางราชการ" พจน์เล่าให้ฟัง
ด้านอุตสาหกรรมซึ่งเป็นอีกขาหยั่งหนึ่งของธุรกิจที่ค่อยค้ำเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดนใต้ ผู้ประกอบการต่างก็ได้รับผลกระทบทั่วหน้า แม้จะไม่หนักหนาสาหัสมากนักก็ตาม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงได้ถูกปัญหาซ้ำซ้อนรุมกระหน่ำมากมาย ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นตลอดเวลา และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ราคาวัตถุดิบแพงขึ้นเนื่องจากเรือประมงที่เข้าเทียบท่าเรือในพื้นที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ความไม่สงบแล้ว ยังถูกต่างประเทศที่ได้รับสัมปทานจับปลา บีบบังคับให้ต้องขึ้นปลาที่ท่าเรือในประเทศเขา นอกจากนี้ความที่ต้นทุนต่างๆ เพิ่มการแข่งขัน ในตลาดจึงสู้เขาไม่ได้ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน เป็นต้น
อุตสาหกรรมยางพารานับว่าสูญเสียโอกาสอย่างมาก ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและเกษตรกร เนื่องจากที่ผ่านมาราคายางขยับตัวขึ้นต่อเนื่องจนขณะนี้อยู่ที่กว่า 60 บาท/กิโลกรัม แต่ชาวสวนในพื้นที่กลับกรีดยางได้ในปริมาณที่ลดลง อันเป็นผลจากความไม่ปลอดภัยทำให้สวนยางถูกทิ้งร้างจำนวนมาก ส่วนที่ยังกรีดอยู่ได้ก็ต้องปรับเปลี่ยนเวลาจากกลางดึกมาเป็นเช้า ส่งผลให้น้ำยางที่ได้ลดปริมาณลงประมาณ 10% อีกทั้งเมื่อปีที่แล้วมีคำประกาศของกลุ่มผู้ไม่หวังดีให้ชาว 3 จังหวัดชายแดนใต้หยุดทำงานในวันศุกร์ ยิ่งทำให้ปริมาณน้ำยางลดลงไปอีกประมาณ 14-15% รวมแล้วปริมาณน้ำยางในพื้นที่ลดลง 25%
"แต่ทั้งหมดทั้งปวงจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมยางต้องลดลงไปถึงประมาณ 30% ถามว่าเรายังพออยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้ เราต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยสูงสุด ส่วนเรื่องกำไรมากน้อยแค่ไหนเราไม่ค่อยคำนึงสักเท่าไรตอนนี้" สมพงศ์กล่าว
ในเรื่องของพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน พืชผักผลไม้ในหลาย พื้นที่เจ้าของสวนไม่กล้าเข้าไปเก็บผลผลิต เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลของกลุ่มผู้ไม่หวังดี อีกทั้ง ราคาผลผลิตก็ตกต่ำจนไม่คุ้มกับค่าจ้างแรงงานเก็บเกี่ยว สิ่งที่เห็นชัดเจนคือไม่ว่าจะเป็นเงาะ ลองกอง มังคุด เมื่อปีที่แล้วประสบปัญหาหนักหน่วง จนรัฐบาลต้องมีมาตรการพิเศษเข้าช่วยเหลือ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาไฟใต้ที่ถูกโหมกระหน่ำขึ้นมาระลอกใหม่ได้สั่นคลอนเศรษฐกิจ ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสาหัสสากรรจ์พอสมควร ในทุกกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจต่างได้รับส่งผลสะเทือนกันถ้วนหน้า จึงไม่แปลกที่เสียงโอดครวญของนักธุรกิจชายแดนใต้ เมื่อมีโอกาสก็จะดังขึ้นให้ผู้คนได้ยิน และแทบทุกครั้งที่มีเสียงโอดครวญ ก็มักจะมีคำว่า "เครียด", "อึดอัด", "เบื่อ" และ "เซ็ง" ปะปนให้ได้ยินด้วย
"สิ่งแรกที่เราจะต้องแสดงออกถึงการทำธุรกิจที่นี่ก็คือ นักธุรกิจที่อยู่ที่นี่ต้องประคองตัวเองให้อยู่ได้ เพราะเราไม่รู้จะหนีไปไหน รากฐานทางธุรกิจของเราอยู่ที่นี่ เราก็ต้องทำที่นี่ต่อไป ตอนนี้สิ่งที่คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการมากที่สุดคือ กำลังใจ หลายครั้งเราคุยกับคนพื้นที่อื่นเหมือนกับโดนซ้ำเติมทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา รังเกียจคนปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ทั้งที่คนชายแดนใต้ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด คนที่ก่อความไม่สงบมีอยู่แค่หยิบมือเดียว ถ้าทุกคนให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ ให้การเยียวยา รัฐบาลไม่ช่วยก็ช่าง พวกเราช่วยกันเอง ทุกอย่างมันก็ดีขึ้น แทนที่คุณจะพับนกส่งมา ตัวคุณเองเดินทางมาได้ไหม ผิดกันนะ คนละเรื่องเลยถ้าคุณมอง"
เป็นมุมมองของศิริชัย ปิติเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท พีทีซี. ออโต้ เซลส์ และกรรมการบริหารบริษัทฟาต์ตอนี อินดัสตรีส์ เจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลปัตตานี อีกทั้งยังเป็นประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี และกรรมการสภาธุรกิจชายแดนใต้ ที่ในวันนี้เขามุ่งมั่นเดินหน้า เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เต็มที่
ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามออกมาตรการ มาช่วยเหลือนักธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้บ้างแล้ว แม้จะเป็นไปท่ามกลางเสียงติติงว่าค่อนข้างล่าช้า แถมยังมีน้อยมาก ที่ตรงเป้าประสงค์ของผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน ส่วนมากเป็นที่รับรู้กันว่าไม่ค่อยจะถูกทางนัก หลายครั้งกลับเป็นการซ้ำเติมปัญหาใหม่ให้กับผู้ประกอบการเข้าไปอีก
(รายละเอียดอ่านล้อมกรอบ "ช่วยไม่ถูกทาง แถมยังซ้ำเติม" ประกอบ)
แต่จากการประมวลจากทุกวงสนทนาของทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ทำให้ทราบว่า ความคิดเห็นอันเป็นเหมือนจุดร่วมของบรรดาผู้ประกอบการก็คือ รัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือ มากหรือน้อยอย่างไรก็ตาม ไม่เทียบเท่ากับการกระทำให้เกิดสันติสุขขึ้นในแผ่นดินนี้โดยเร็ว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นได้ก็จะนำไปสู่บทสรุปของทุกปัญหา
"มีคนคุยกับผมเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผมบอกกับทุกคนว่าถ้าตรงนี้สงบสุขเมื่อไหร่ เศรษฐกิจก็จะกลับไปเหมือนเดิม แต่ถ้าระเบิดยังดังสนั่น 2 เดือนครั้ง 3 เดือนครั้ง แล้วอย่างนี้ ใครเขาจะมาเที่ยว มาทำการค้าและมาลงทุน เศรษฐกิจจะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสงบสุข"
สมบูรณ์ บุญธำรงกิจ ประธานกรรมการเครือบริษัทสมบูรณ์พัฒนา ซึ่งถือเป็นเครือธุรกิจ ขนาดใหญ่ครอบคลุมเกือบจะครบสาขาธุรกิจหลักในสุไหงโก-ลก ประกอบไปด้วย บริษัท เอส.บี.พี. มาร์เก็ตติ้ง, บริษัทสุไหงโกลก แค็ปพิทัล, บริษัทเก็นติ้งโฮเต็ล, บริษัทไคฟะ เอ็นเตอร์ไพร์ส (มาเลเซีย) และโรงแรมบังกโลโก-ลก อีกทั้งยังเป็นประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส กล่าวย้ำ ในบทสรุปความคิดของบรรดานักธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วยกัน
ทว่า สำหรับผู้ที่ได้มีโอกาสร่วม วงสนทนาในทั้งปัตตานี ยะลาและนราธิวาสในครั้งนั้นต่างตอบคำถาม "ผู้จัดการ" เกี่ยวกับสันติสุขในแผ่นดิน 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเสียงเดียวกันว่า... ทุกวันนี้
...ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
|
|
|
|
|