แบงก์ชาติเผยเอ็นพีแอลสิ้นไตรมาส 4 ลดเหลือ 8.17% เป็นเงิน 477,208 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3 เหตุ ทีพีไอเคลียปัญหาหนี้เน่าได้หมด รวมทั้งหลัง บบส. ควบรวม บสก.ทำให้เอ็นพีเอที่คั่งค้างอยู่ในระบบลดลง
รายงานข่าวจากสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ของระบบสถาบันการเงิน ล่าสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 477,208 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.17% ของสินเชื่อรวม ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2548 ที่อยูในระดับ 576,894 ล้านบาท หรือ 9.93% จะพบว่าลดลง 99,686 ล้านบาท หรือลดลง 1.76% ของสินเชื่อรวม
ทั้งนี้จำนวนรวมของเดือนธันวาคมดังกล่าว แบ่งเป็นเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทย 461,437 ล้านบาท หรือ 9.05% ลดลง 85,380จากไตรมาสก่อนที่อยู่ในระดับ 546,817 ล้านบาท หรือ 11.06% สาขาธนาคารต่างประเทศ 9,422 ล้านบาท หรือ 1.62% เพิ่มขึ้นเพียง 48 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตมาสก่อนที่มีจำนวน 9,384 ล้านบาท หรือ 1.53%
ขณะที่บริษัทเงินทุน (บง.)มีจำนวน 5,925 ล้านบาท หรือ 3.66% ลดลง 14,341เมื่อเทีบยกับไตรมาสก่อนที่อยู่ในระดับ20,266 ล้านบาท หรือ 8.10% และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) 423 ล้านบาท หรือ 44.44% ลดลงจากไตรมาสก่อน 3 ล้านบาท ซึ่งการที่ปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยรวมในเดือนธันวาคมที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีสาเหตุสำคัญมาจากการแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอลของ บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือทีพีไอ ที่สำเร็จลุล่วงไปได้ในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแยกเป็นแต่ละแห่งจะพบว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีระดับเอ็นพีแอลลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนยกเว้น ธนาคารทหารไทยที่มี 67,404.40ล้านบาทหรือ 12.08% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5,707.61 ล้านบาทหรือ 9.25% ธนาคารธนชาต 3,581.69 ล้านบาทหรือ 2.26% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น959.72 ล้านบาท หรือ 36.60 % ธนาคารไทยธนาคาร7,010.70 ล้านบาท หรือ 5.06% ธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์47.46 ล้านบาท หรือ 0.75% เพิ่มขึ้น 25.43 ล้านบาทหรือ 115% และธนาคารเกียรตินาคิน 8,059.68 ล้านบาท หรือ 17.13% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น1,906.02 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.97%
สำหรับ ธนาคารที่มีปริมาณเอ็นพีแอลลดลง คือ ธนาคารกรุงเทพที่มีจำนวน 100,573.08 ล้านบาท หรือ 10.94 %ของสินเชื่อรวม ลดลง58,102.59 ล้านบาท หรือ 36.61% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 41,736.33 ล้านบาท หรือ 9.28% ลดลง 309.98 ล้านบาทหรือ 0.73% ธนาคารไทยพาณิชย์ 57,121.65 ล้านบาท หรือ 9.33% ลดลง 16,825.56ล้านบาทหรือ 22.75% ธนาคารกรุงไทย 97,635.43 ล้านบาทหรือ 10.32% ลดลง 22,057.33 ล้านบาทหรือ 18.42% ธนาคารนครหลวงไทย7,590.56 ล้านบาทหรือ 2.53% ลดลง 3,397.14 ล้านบาทหรือ 30.91% ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 2,535.57 ล้านบาท หรือ 2.88% ลดลง 135.69 ล้านบาท หรือ 5.07% ธนาคารทิสโก้ 2,493.09 ล้านบาท หรือ 4.31% ลดลง135.06 ล้านบาทหรือ5.13% และธนาคารสินเอเชีย 4,117.01 ล้านบาทหรือ 17.07% ของสินเชื่อรวมลดลง 622.31 ล้านบาทหรือ13.13%
ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ระบุถึงการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) และการดำเนินการซื้อขายสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ) ของระบบธนาคารพาณิชย์ว่า หลังจากที่มีการควบรวมกิจการระหว่างบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน(บบส.) และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์การ (บสก.)จะทำให้การเข้าซื้อเอ็นพีเอออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่งจะช่วยให้เอ็นพีเอที่ค้างอยู่ในระบบลดลงและทำให้หนี้เอ็นพีแอลของระบบลดลงได้ตามเป้าหมาย
รวมทั้งคาดว่าภายในปี 2549 จะสามารถซื้อสินทรัพย์รอการขายที่มีอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ลงได้ครึ่งหนึ่งจากที่มีอยู่ในปัจจุบันและทำให้กระบวนการลดหนี้เอ็นพีแอลของระบบเป็นไปตามเป้าหมายเดิมคือกลางปี 2550 เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ไทยจะลดลงเหลือ 2% ตามที่วางเป้าหมายไว้
|