ความฝันสูงสุดของคนทำหนังสือ คือความสำเร็จและตำแหน่งบรรณาธิการ
แพร กวิตานนท์ แทบไม่เชื่อหูตนเอง เมื่อผู้บริหารมีเดีย ทรานส์เอเชีย ไทยแลนด์
เรียกเข้าห้องประชุมแล้วบอกว่าคณะกรรมการ บริษัทตัดสินใจเลือกเธอเป็นบรรณาธิการนิตยสาร
Seventeen ฉบับภาษาไทย
"แพรจะรับข้อเสนอนี้หรือไม่"
เมื่อได้ยินคำถาม แพรคิดว่าเป็นไปได้ อย่างไร "ความรู้สึกตอนนั้นคิดว่าผู้ใหญ่พูดหยอกล้อ
เพราะนี่คือหน้าที่สำคัญ" เธอเล่า
จนกระทั่งผู้บริหาร Seventeen เจ้า ของลิขสิทธิ์ฉบับภาษาไทยบินตรงมาจากนคร
นิวยอร์กยืนยันว่าแพรได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่บรรณาธิการ เธอจึงเชื่อว่านี่ไม่ใช่ความฝัน
และตัดสินใจยอมรับภารกิจดังกล่าว "นับตั้งแต่วันนั้นมีความรู้สึกว่าจากนี้ไปเราจะทำอย่างไร
ต้องกลับมาลำดับการดำเนินชีวิต และตั้งสติตัวเองใหม่"
ว่ากันว่า ตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร Seventeen ฉบับภาษาไทย ผู้บริหารของมีเดีย
ทรานส์เอเชีย พิถีพิถันในการหาผู้ที่มีความเหมาะสมมาก สังเกตจากที่มีบรรณาธิการจากนิตยสารฉบับอื่นๆ
ให้ความสนใจเข้ามาสัมภาษณ์อย่างต่อเนื่อง แม้แต่แพรยังแนะนำคนที่รู้จักเข้ามาทดสอบ
แต่ในที่สุดเธอได้ก็รับความไว้วางใจ
"ผู้ใหญ่คงเห็นอะไรบางอย่างจากตัวเราว่าเหมาะสมกับ Seventeen"
แพรกล่าว "อีกทั้งเราทำงานในองค์กรนี้มานานพอสมควร จึงเข้าใจธรรมชาติ
และเห็นทิศทางการปรับตัวไม่มีปัญหา"
แม้ว่าแพรจะตื่นเต้น ดีใจ และต้อง การทำงานให้ดีที่สุดในฐานะหัวหน้าทีม
ซึ่งเธอไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้นำ และยังมีแรงกดดันในการทำงานเพราะชื่อ
Seventeen ที่ต้องสืบทอดความเป็นอันดับ 1 ด้านยอดขายในอเมริกามาไว้ในตลาดเมืองไทย
เรียกว่า นำมาสร้างตลาดใหม่โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นเด็กผู้หญิงวัยรุ่นอายุ
17-21 ปี
อย่างไรก็ตาม ด้วยบุคลิกที่กระตือรือร้น และความเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงในวัย
28 ปี ผสมผสานกับแรงสนับสนุนทำให้แพรมีความมั่นใจ "เราน่าจะลองดู กล้าทำในสิ่งแปลกใหม่
ฉกฉวยเมื่อโอกาสมาถึง ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นเป็นเรื่องอนาคต แต่สิ่งที่จะได้รับ
คือ บทเรียน" เธอบอก
นอกเหนือจากความปรารถนาที่มีเต็มเปี่ยม ดูเหมือนจุดเริ่มต้นในเส้นทางการทำงานของแพรโชคเข้าข้าง
โดยเฉพาะกองบรรณาธิการที่ตั้งอยู่บนชั้นที่ 17 มีพนักงาน 17 คน และแคมปัสโรดโชว์
17 แห่ง ดังนั้น เธอจึงมองว่าเลข 17 เป็นเลขนำโชค
แพรเป็นบุตรสาวของสถาพร และนารี กวิตานนท์ หลังจากเรียนจบระดับมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ระดับปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสาขาที่เธอใฝ่ฝันอยากเรียนมาตั้งแต่เด็ก
ประกอบกับช่วงที่เป็นนักศึกษาเป็นจังหวะที่วงการสื่อสาร โฆษณา มีความโดดเด่นอย่างมากยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้แพรสนใจเพิ่มมากขึ้น
เมื่อเรียนจบในปี 2539 แพรเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้าน Graphic
Communication Management and Technology ที่ New York University ซึ่งขณะนั้นเป็นหลักสูตรใหม่และในเมืองไทยไม่มีสอน
เรียนจบในปี 2541 เธอกลับมาทำงานที่เปรียว พริ้นติ้ง ในฐานะ Graphic Director
จากนั้นย้ายไปเป็น Editorial Staff and Graphic Designer นิตยสารเปรียว
เดือนตุลาคมปีถัดมาเธอลาออกไปรับตำแหน่ง Account Executive ที่ FCB Worldwide
(Thailand) และ 7 เดือนถัดมาก็ลาออกไปสร้างความคึกคักและดูแลงานด้าน Fashion
and Style ให้กับนิตยสาร Living in Thailand ของค่ายมีเดีย ทรานส์เอเชีย
หลังจากที่หนังสือเล่มนี้เงียบเหงาและไร้สีสันมานาน
วันนี้ แพร กวิตานนท์ กำลังพิสูจน์ตนเอง ในเส้นทางชีวิตที่เธอเลือก