ด้วยสภาพตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนและซบเซาอย่างต่อเนื่อง
การระดมทุนผ่านช่องทางนี้อาจจะมีต้นทุนสูงสำหรับบริษัทบางแห่ง การออกไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งผ่านโปรแกรม
ADRs
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดในอเมริกาเป็นแหล่งระดมทุนใหญ่และมีสภาพคล่องมากที่สุดในโลก
ที่ผ่านมาบริษัทหลายแห่งมีความพร้อมและให้ความสนใจไประดมทุนผ่านตลาดหุ้นนิวยอร์ก
(NYSE) และตลาดหุ้นแนสแดค (Nasdaq) แต่จากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้แผนการดังกล่าวชะงักงันตามไปด้วย
ในที่สุด โอกาสของบริษัทเหล่านั้นก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อธนาคารซิตี้แบงก์ตัดสินใจนำโปรแกรม
American Depo-sitary Receipt หรือ ADRs เข้ามาเสนอให้กับบริษัทไทยที่ต้องการจดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกา
โดยธนาคารจะเป็นตัวกลางให้กับนักลงทุน อาทิ ช่วยเก็บรักษา หุ้นจดทะเบียนของ
Depositary Receipt (DRs), จัดทำ Custodian และโบรกเกอร์, ทำหน้าที่จ่ายเงินปันผลหรือจัดระบบการซื้อขายและขจัดปัญหาด้านเวลาที่แตกต่าง
ADRs คือ ตราสารที่เปลี่ยนมือได้ซึ่งแสดงสิทธิของหุ้นบริษัทที่อยู่นอกตลาดในประเทศของนักลงทุน
โดยโปรแกรมนี้รังสรรค์ขึ้นตั้งแต่ปี 1927 เพื่อช่วยเหลือนักลงทุนชาวอเมริกันที่ต้องการลงทุนในบริษัทต่างชาติ
นับแต่นั้นก็เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่นิยมและมีโครงสร้างยืดหยุ่นให้บริษัทต่างชาติสามารถระดมทุนผ่านตลาดหุ้นในอเมริกาได้อย่างสะดวก
"เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่บริษัทไทยสนใจการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นในอเมริกา"
Adrian Nye ผู้อำนวยการฝ่ายบริการตราสาร DR ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียแห่งซิตี้แบงก์
กล่าวในงานเปิดตัวโปรแกรม ADRs "เชื่อว่าจะทำให้ พวกเขาสามารถขยายตลาดการลงทุน
สร้าง ความรู้จักให้กับบริษัท เพิ่มสภาพคล่องและความต้องการของหุ้นได้"
การเปิดตัว ADRs ในประเทศไทยครั้งนี้ของค่ายซิตี้แบงก์เป็นเรื่องปกติในการดำเนินธุรกิจที่ต้องการขยายฐานลูกค้า
เหมือนกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเสนอต่อลูกค้า
อย่างไรก็ตาม พบว่าไม่มีสถาบันการเงินต่างชาติแห่งใดให้ความสนใจ จาก ความเชื่อว่าไม่มีแรงจูงใจมากนักเพราะความสำเร็จของโปรแกรมดังกล่าวขึ้นอยู่กับลูกค้า
และดูเหมือนว่าบริษัทไทยที่มีศักยภาพในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น NYSE หรือ
Nasdaq มีจำนวนน้อยมาก
"พวกเรามองว่าบริษัทที่มีความพร้อมส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจสื่อสาร
เทคโนโลยี และสถาบันการเงิน แต่ทุกแห่งก่อนจะเข้าโปรแกรม ADRs จะต้องมีการตรวจสอบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโปร่งใสในการดำเนินงานและความมั่นคงทางการเงิน"
Nye บอก
ความมั่นใจของซิตี้แบงก์ที่ว่าจะมีนักลงทุนไทยให้ความสนใจ ส่วนหนึ่งเกิดจากการพยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงประโยชน์ของผู้ออก
ADRs สามารถเข้าถึงฐานนักลงทุนที่กว้างและมีสภาพคล่องมากที่สุด และเป็นการวางแผนการเพิ่มทุนสำหรับบริษัทในอนาคต
"เป็นจุดหนึ่งที่เข้าสู่ตลาดโลกได้" Nye ชี้ "กุญแจสำคัญของการออก
ADRs คือ ผลกำไร"
นอกจากนี้ บริษัทในภูมิภาคเอเชียที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกา ณ สิ้น
เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา พบว่าเข้าจดทะเบียนใน NYSE 74 บริษัท ใน Nasdaq
57 บริษัท แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีบริษัทสัญชาติ ไทยเลย นั่นหมายความว่าตลาดไทยยังมีช่องว่างให้ซิตี้แบงก์ดำเนินงานได้