|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
- กะเทาะร่องหยักความคิดของที่สุด CEO "บุญคลี ปลั่งศิริ"
- การจัดการองค์กรยากที่สุดคือปัญหาเรื่องคน ที่มีผลต่อการชี้เป็นชี้ตายธุรกิจ
- กุศโลบายบริหารคนให้สัมฤทธิ์ผล ตั้งสติก่อนสตาร์ท ย่อยปัญหาให้ง่ายต่อการสังเคราะห์
- วิธีคิดสู่ความสำเร็จ เป็นผู้นำคนต้องบริหารความหลากหลาย ปรับโหมดได้ทั้งบุ๋นและบู๊
สำรวจโลกแห่งการบริหารจัดการของสุดยอด CEO ในแวดวงโทรคมนาคม กับภารกิจบริหารจัดการคนที่มีความหลากหลายไม่น้อยหน้าไปกว่าความสลับซับซ้อนของธุรกิจ
บุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการธุรกิจเครือข่ายโทรคมนาคม กล่าวถึงแนวทางบริหารจัดการองค์กรว่า สาเหตุหลักที่เจ้าของกิจการหรือเถ้าแก่ไม่อยากทำธุรกิจต่อหรือขยายกิจการให้เติบโตต่อไปก็คือ ปัญหาเรื่องคน ซึ่งเป็นปัญหาหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ
ในฐานะมืออาชีพที่ผ่านร้อนหนาวในธุรกิจที่มีความหลากหลาย เขามองว่าการบริหารงานปัจจุบัน สามารถใช้มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถบริหารงานที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปบริษัท แต่เพราะปัญหาการจัดการเรื่องคน บริษัทจึงนับเป็นสถานที่เดียวที่เปิดทางให้คนได้มีโอกาสมาพบปะกัน ได้พบหน้าค่าตาและมองเห็นได้ทุกจุดมากกว่าการใช้เพียงภาษาสนทนา
"มากกว่าครึ่งหนึ่งของทุกองค์กร เป็นปัญหาของคนไม่ใช่ปัญหาของงาน"
คำแนะนำของที่สุด CEO ผู้นี้คือ เวลาแก้ปัญหาเรื่องคนต้องตั้งสติให้ดีๆ ย่อยแต่ละปัญหาให้เป็นภาพเล็กๆ และทำความเข้าใจว่าไม่มีปัญหาใดๆ ในโลกนี้สามารถคิดอ่านแก้ไขได้หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่การขับเคลื่อนธุรกิจต้องมองเป็นภาพใหญ่ และมองให้ไกลๆ
"มากกว่า 70%-80% จะเป็นปัญหาที่มาจากเรื่องการบริหารคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความขัดแย้งระหว่างบุคคล ความคิดหรือสไตล์การทำงานที่แตกต่างกัน บุคลิกภาพของคน การสื่อสารที่ไม่ชันเจน ปัญหาลูกน้องรับเจ้านายไม่ได้ ปัญหาลูกน้องช่างพยศ"
บุญคลียอมรับว่า ปัญหาที่ทำให้เขาเครียดได้มากที่สุดคือ ปัญหาลูกน้องทะเลาะกัน แล้วมีผลโดยตรงทำให้ธุรกิจพังไปด้วย จากสาเหตุของการทำงานที่มากเกินไป ความขัดแย้งระหว่างการปฏิบัติงาน ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของหลายองค์กรที่มาจากตัวบุคคล
ในเมื่อคนประกอบกันเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ความยากง่ายของการบริหารองค์กรก็ควรมองใน 2 เรื่องใหญ่คือ 1. ขนาดขององค์กร และ 2. ปริมาณของคนในองค์กร
เปรียบเทียบง่ายๆ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกรมตำรวจ อย่างแรกเป็นองค์กรวิชาการ มีความเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวสูง ขณะที่อย่างหลังจัดเป็นองค์กรที่มีหลักการสูง ทั้งสององค์กรต่างมีอายุยืนยาวไม่แตกต่างกัน คำถามคือว่าระหว่างสองสถาบันแห่งนี้ อันไหนจะมีความง่ายในการเข้าไปบริหารจัดการมากกว่ากัน? คำตอบคือ กรมตำรวจ เหตุผลเป็นเพราะมีความยึดมั่นในหลักการเดียวกัน ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการจะมีความหลากหลายของปัจเจกบุคคลจากพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกัน
"องค์กรที่อายุยาวมาก สายงานบังคับบัญชามากจะมีปัญหาสูง เครื่องวัดระดับความยากง่ายของการจัดการอยู่ที่ความเป็นองค์กรใหญ่ อายุนาน ฝังติดกับความคิดเดิมๆ การเปลี่ยนแปลงยาก ทุกอย่างถือเป็นต้นทุนการบริหารจัดการ ดังนั้นการบริหารคนก็ต้องมาดูที่ผู้บริหารว่าจะจัดการกับสภาพที่โหลดเกินพอดีนี้ได้อย่างไร?"
จากสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ความเป็นองค์กรใหญ่จำเป็นต้องมีความหลากหลายมาเป็นตัวรองรับ "ผมส่งสัญญาณในชินคอร์ปว่า เรามาจากธุรกิจเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ การเงิน เราต่างก็อยู่ในสไตล์ของคนทำงานที่มีชุดทักษะเน้นแต่เรื่องปริมาณ อย่างเช่นปีหน้าจะโตกี่เปอร์เซ็นต์ ลงทุนไปแล้วจะคืนกลับมาเท่าไหร่? เหมือนอยู่ขอบเขตของสีดำกับสีขาว พอให้ไปอยู่ในโทนสีเทาก็ทำไม่ได้"
ประสบการณ์เดินทางไปต่างประเทศทำให้เขาได้ค้นพบว่า ผู้บริหารต่างประเทศหลายคนจบมาจากสายศิลป์ แต่กลับมาทำงานในบริษัทที่เป็นด้าน Engineer เป็นจำนวนมาก ทำให้เขาพยายามพัฒนาชินคอร์ปด้วยการเพิ่มจำนวนคนจบสายศิลป์ให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่องค์กรแข็งขึ้นทุกวันจนจะกลายเป็นตัวเลข เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของจำนวนไปหมด
สิ่งที่บุญคลีมองก็คือ ความสำเร็จต้องสามารถปรับสไตล์ไปมาได้ระหว่างสายวิทย์กับสายศิลป์ เหมือนกับการเลี้ยงบอลไปมาอยู่กลางสนามไม่ยอมเตะเข้าประตู แต่พอถึงเวลาต้องเตะเข้าประตูก็สามารถทำได้อย่างแม่นยำ
โดยธรรมชาติมนุษย์มักจะเลือกทำงาน หรืออยู่ร่วมกับบุคคล กลุ่มคนที่เหมือนกัน (Comfort Zone) เพราะทำให้ชีวิตมีความสุข แต่ในโลกของความเป็นจริง การอยู่ร่วมในองค์กรหรือสังคมนั้นจะต้องมีกลุ่มคนที่หลากหลาย
ความสำเร็จของผู้บริหารจึงเป็นเรื่องของการบริหารความแตกต่างเหล่านี้ให้ได้ ถือเป็นทักษะที่ผู้บริหารต้องฝึกฝน เพราะไม่อย่างนั้นแล้วองค์กรจะยึดติดอยู่กับรูปแบบเดียว และการเดินวนอยู่ในรูปแบบเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ จำเป็นต้องอาศัยความหลากหลาย
"ถ้าขึ้นมาเป็นผู้บริหารคนแล้ว คนที่อยู่ข้างตัวไม่ควรเหมือนกัน เพราะถึงจะทำให้ผู้บริหารมีความสุข สบายใจ แต่ไม่รู้ว่าธุรกิจจะสบายใจไปด้วยหรือเปล่า? ต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้กับลูกน้องที่มีความแตกต่างกับตัวเอง เป็นสิ่งที่เรียกกันว่าความเครียด ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินเดือนให้แล้วเป็นค่าตอบแทนที่ต้องมาบริหารความเครียด"
โซลูชั่นส์ขจัดความเครียดในมุมมองของที่สุด CEO คือ ต้องนิ่ง บริหาร แล้วไปฝึกจิต ฝึกจิตให้นิ่ง จนความเครียดค่อยๆ ย่อยละลายทำให้ความเครียดลดลง นิ่งมากจนไม่มีใครสามารถจับได้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ ถ้าสามารถทำได้ 60-70% ก็ถือว่าผ่านแล้ว
บุญคลีเล่าว่า โลกทัศน์ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจัดการองค์กรที่มีคนทำงานอยู่รวมกัน 3 ระดับคือ สูง กลาง ล่าง ต้องช่วยกันผนึกกำลังเป็นทีม สร้างสรรค์อะไรแปลกใหม่และเกิดประโยชน์กับหลายหน่วยงาน
ปัญหาที่ผ่านมาของชินคอร์ปคือ พยายามผลักดันให้พนักงานระดับกลาง ล่าง ช่วยกันส่งข้อเสนอแนะโครงการที่มีประโยชน์กับองค์กร แต่สิ่งที่พบคือพนักงานกลุ่มนี้มีโลกทัศน์ในเชิงธุรกิจไม่เพียงพอ เมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานระดับกลางที่ค่อนไปทางบนที่มีมุมมองภาพรวมธุรกิจมากกว่า แต่พอไปศึกษากันดูแล้วพบว่า ทุกวันนี้ผู้บริหารระดับสูงต่างก็ทำงานยุ่งมากล้วนแล้วแต่เป็นงานจำเจประจำวันจนไม่มีเวลาไปคิดอะไรแปลกใหม่ กลายเป็นรูปแบบการทำงานที่ไม่มีจิตวิญญาณ
"ทำทุกวันจนจิตวิญญาณหมดไป เพราะจำเจ ไม่มีอารมณ์ร่วมในการสร้างสรรค์ มันแข็งไปหมด เราไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่อยู่ในธุรกิจบริการดังนั้นต้องใช้จิตวิญญาณในการทำงาน"
หากการทำงานใดขาดจิตวิญาณเสียแล้ว ก็ไม่อาจทำให้องค์กรเคลื่อนตัวต่อไปได้ ดังนั้น ในทุกกระบวนการจำต้องมีการฝึกวัฒนธรรมให้คนทำงานรับรู้ว่า สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ของการปฏิบัติงานนั้นคืออะไร? เพื่อสามารถเชื่อมโยงและใส่จิตวิญญาณเข้าไปในงานได้ หากคนทำงานขาดจิตวิญญาณหรือขาดโลกทัศน์ การทำงานจะเป็นไปอย่างซ้ำๆ แคบๆ และวนอยู่ที่เดิม ไม่สามารถเติบโตได้
บุญคลีกล่าวว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องให้เกิดความสมดุลระหว่างกระบวนการต่างๆ และต้องพร้อมรับทุกสถานการณ์ หากขาด IT หรือเทคโนโลยีมีปัญหา ไม่ใช่ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไปพร้อมกัน "สิ่งที่ควรทำคือ เมื่อคิดอะไรได้แล้วควรเขียนด้วยมือลงไปทันทีก่อนที่จะไปเสียเวลากับการพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ เพราะผลลัพธ์ที่ออกมาอาจไม่คุ้มกับการเสียเวลาไปประมวลผล"
วิธีคิดง่ายๆ ของการสร้างจิตวิญญาณในสไตล์ top CEO คือ เขามองว่าถ้ามนุษย์หยุดเขียนหนังสือจะทำให้ขาดจิตวิญญาณในการทำงาน ดังนั้น ผู้บริหารที่เขียนโน้ตด้วยลายมือจะมี Commitment หรือความมุ่งมั่นจริงจังต่อภารกิจมากกว่าตัวพิมพ์
หรือการใช้เทคโนโลยีส่ง E-mail ซึ่งเหมาะสมสำหรับการใช้สื่อสารในลักษณะหนังสือเวียน แต่หากเป็นเรื่องของนโยบาย ถ้าเขียนด้วยลายมือของผู้บริหารเองแล้ว จะทำให้เพิ่มจิตวิญญาณ และสื่อถึงความจริงจังออกมามากกว่า
นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่ผู้บริหารควรทำคือการเดินสำรวจ (Walk) เพื่อดูถึงปัญหา มิใช่นั่งรอจนปัญหาวิ่งเข้ามาชน และในขณะที่เดินไปข้างหน้าควรที่จะเหลียวหลังมามองข้างหลังด้วย รูปแบบการบริหารที่ชาวตะวันตกนิยมใช้คือ "Love and Hate Relationship" เป็นการดำเนินการบริหารแบบตรงๆ ในสิ่งใดที่ทำให้เกิดความรักก็รัก หากสิ่งใดที่ทำให้เกลียดก็ต้องยอมรับให้เกลียด
สรุปได้ว่าการบริหารที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขององค์การนอกจากจะใช้ในเรื่อง Hard Skill แล้ว ยังต้องคำนึงถึงในเรื่อง Soft Skill ด้วย รวมถึงการคำนึงถึงการใช้ Sense of Human สร้างให้เกิดขึ้นเป็นวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการประสานสัมพันธ์ของคนในองค์การ ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และความสุขในการทำงาน
เขาย้ำว่า CEO ควรเป็นผู้ที่รู้กว้าง รู้รอบและลึกในทุกๆ ด้าน หากรู้และลึกเพียงด้านใดด้านหนึ่งจะไม่สามารถเป็นผู้บริหารได้ คงเป็นได้เพียงแค่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นเอง
*********
เรียบเรียงจากงานสัมมนา "Thailand HR Knowledge Sharing Day & Exposition 2005" จัดโดย สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ปลายเดือนพ.ย.2548 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
|
|
|
|
|