|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
นิตยสารปีจอพร้อมใจปรับกระบวนยุทธ์สู่ยุครีเฟรชตัวเองเสริมความน่าสนใจเพิ่มเรื่องราวไลฟ์สไตล์ใกล้ตัวมุ่งชัดเป้าหมายหญิงทำงาน หวังช่วงชิงส่วนผู้อ่านพร้อมส่วนแบ่งเม็ดเงินโฆษณามูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท เหตุมีเคสสตั๊ดดี้ให้ได้เห็นจากช่วงที่ผ่านมา
ด้วยจำนวนนิตยสารในปัจจุบันที่วางเรียงรายขายอยู่บนแผงหนังสือซึ่งรวมกันแล้วมีไม่ต่ำกว่า 150 หัว มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อชนิดนี้ราว 6 พันล้านบาทต่อปี มากรองมาจากวิทยุ โดยเฉพาะนิตยสารผู้หญิงซึ่งเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับความบันเทิง แฟชั่น และความสวยงาม ถือเป็นเซ็กเมนต์ที่ใหญ่และมีการแข่งขันกันมากที่สุดในบรรดานิตยสารทุกประเภท
ย้อนไปเมื่อปี 2547 ซึ่งถือเป็นช่วงที่วงการนี้ร้อนแรงที่สุด ทั้งปีมีการเปิดตัวนิตยสารรวมแล้วเกือบ 20 หัว จากผู้เล่นทั้งรายเก่าและรายใหม่ มีทั้งนิตยสารหัวนอกและหัวในประเทศ จนเม็ดเงินผ่านสื่อดังกล่าวทั้งปีขยายตัวเติบโตรวมสูงถึง 30%
ส่งผลถึงปี 2548 ที่มีการแข่งขันอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบการจัดกิจกรรมโปรโมต ส่งเสริมการตลาด รวมถึงชิงโชคแจกของรางวัล เพื่อกระตุ้นและสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะนิตยสารผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงมากและเร็วที่สุด ทำให้ตลาดขยายตัวจากปีก่อนหน้าอีก 8% รวมแล้วเป็นมูลค่า 6,638 ล้านบาท
สำหรับในปี 2549 มีแนวโน้มชี้ให้เห็นแล้วว่ารูปแบบการแข่งขันก็จะเปลี่ยนไปอีกโดยเน้นไปที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรีเฟรชตัวเองให้ดีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับ life style ของผู้อ่านมากขึ้น หลังจากที่ได้อยู่ในตลาดเรียนรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตนเองและคู่แข่งได้ระยะหนึ่งแล้ว
ณรงค์ ตรีสุชน ผู้จัดการทั่วไป โอเอ็มดี บริษัทซื้อสื่อโฆษณา มองว่าปัจจุบันนิตยสารผู้หญิงหลายฉบับมีการเร่งพัฒนารูปแบบขยายฐานผู้อ่านให้ตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผลสำรวจจากโครงการ “WOW, the Wonders of woman”ระบุด้วยว่า 73%ของผู้หญิงไทยเชื่อมั่นว่าโฆษณามีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าโดยสื่อนิตยสารมีความนิยมเป็นอันดับ 2 ในระดับ88%รองจากโทรทัศน์ที่อยู่ในระดับ 97% และกว่า 46% ของผู้หญิงมีรายได้มากกว่าหรือเท่ากับคู่สมรส รวมทั้งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการใช้จ่ายเงินในครอบครัวอีกด้วย ยังผลให้นิตยสารต้องปรับทิศทางตาม คู่ขนานไปกับการดึงดูดโฆษณาเข้ามาให้ได้มากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากรายได้จากค่าโฆษณาถือว่าเป็นช่องทางรายได้หลักของสิงพิมพ์ทุกชนิด กลยุทธ์ที่นำมาใช้ก็คือการเพิ่มหน้าขึ้นมาเพื่อรองรับโฆษณาแทนการขึ้นราคาจากต้นทุนต่างๆที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าเชื้อเพลิง ค่าขนส่ง หรือแม้กระทั่งในส่วนวัตถุดิบกระดาษซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาได้ขึ้นราคาไปแล้วเช่นกัน
เพ็ญประภา วัฒนรัตน์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Women plus ในเครือ GM บอกว่า การพัฒนารูปของ Woman plus จะเน้นไปที่ภาพของความเป็นผู้หญิงทำงาน ให้มีเรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์หรือฮาวทูที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันให้มากขึ้นโดยการเพิ่มเซ็กชั่น Woman @ work ขึ้นมาสำหรับผู้หญิงทำงานโดยเฉพาะ จากเดิมซึ่งอาจมีเรื่องดังกล่าวไม่พอเพียงกับความต้องการของผู้อ่าน
ในขณะที่ มนทกานติ รังสิพราหมกุล บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร madame FIGARO กล่าวว่ารูปแบบการปรับปรุงนั้นจะเน้นให้มีความเป็นไทยมากขึ้นโดยเฉพาะใน 3 ส่วนสำคัญคือ ความสวย, ความงาม และศิลปะ จากเดิมที่อิงกับเนื้อหาของบริษัทแม่ที่ฝรั่งเศสค่อนข้างมาก เพราะคาดการณ์ว่าในปีนี้แนวโน้มของผู้หญิงเก่งและพึ่งพาตัวเองจะมีมากกว่าเดิม
“เนื้อหาจึงต้องปรับให้เข้ากับพฤติกรรมดังกล่าวในรูปแบบที่เข้าใกล้ผู้หญิงไทยยุคใหม่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่หนีห่างไปจากบรรทัดฐานเดิม เทรนด์ต่างๆที่แนะนำไปก็จะไม่เจาะจงชี้เฉพาะแต่จะให้ผู้อ่านได้ตัดสินใจด้วยตนเอง”
ด้าน Cosmopolitan จีรณี จิตตเสวี บรรณาธิการบริหาร ก็บอกเช่นกันว่าจะมีการปรับปรุงนิตยสารโดยจะมีการเพิ่มคอลัมน์ Voice of woman ซึ่งเน้นในเรื่องการพูดถึงสิทธิสตรีและเรื่องราวประสบการณ์อื่นๆเข้าไป โดยจะเป็นเรื่องที่คลอบคลุมในหลายๆกลุ่มอาชีพเพื่อให้รู้สึกถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น
ขณะที่ นิตยสาร Volume กลับวางแนวทางการขยายฐานผู้อ่านไปสู่เพศตรงข้าม เอกชญา สุขศิริ บรรณาธิการบริหาร อธิบายว่า จะมีการนำ Volume, Volume X และ Volume plus ที่เคยแยกเป็น 3 เล่มมารวมกันอยู่ในเล่มเดียวโดยทำในลักษณะรอยปรุกลายเป็นส่วนหนึ่งของเล่มใหญ่ที่สามารถฉีกแยกออกมาได้ ทั้งนี้เพื่อขนาดของเล่มดูหนาคุ้มค่าขึ้นเนื้อหาไม่กระจัดกระจาย ทั้งนี้ยังมีการเพิ่มเซ็กชั่นสำหรับผู้ชายมากขึ้นอีกด้วย
“ดังนั้นแม้กลุ่มเป้าหมายหลักของเราจะเป็นผู้หญิงอายุ 20-40 ปี นักศึกษาถึงวัยทำงานแต่ก็มีเนื้อหาที่เหมาะกับผู้ชายเช่นกัน การปรับปรุงครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการขยายฐานผู้อ่านให้กว้างขึ้น
|
|
 |
|
|