Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์23 มกราคม 2549
"เจริญ" ผ่าทางตัน ปรับยุทธศาสตร์รับสารพัดมรสุม             
 


   
www resources

โฮมเพจ โออิชิ กรุ๊ป
โฮมเพจ ไทยเบฟเวอร์เรจส์ จำกัด (มหาชน)

   
search resources

โออิชิ กรุ๊ป, บมจ.
ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.
เจริญ สิริวัฒนภักดี
วัลลภา ไตรโสรัส
ตัน ภาสกรนที




“ราชันย์น้ำเมา” โดนสารพัดมรสุมกระหน่ำ จนต้องปรับกระบวนรบครั้งใหญ่ ปรับกรอบแนวคิดด้วยการดึงผู้บริหารภายนอกจากทุกวงการ ขยายรูปแบบธุรกิจ ปรับกรอบความคิด ให้ทันการรูปแบบการแข่งขันใหม่ ล่าสุด เทกฯโออิชิ จับ “ตัน” ลุยธุรกิจเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ ควบคู่กับการปรับแนวรบธุรกิจอสังหาฯ จับตาการจัดทัพใหม่ครั้งนี้ จะพาอาณาจักร “เจริญ” เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

************

เทกฯโออิชิ ดึง “ตัน” ลุยเครื่องดื่มสุขภาพ

กลางเดือนธันวาคม 2548 ตัน ภาสกรนที แห่งโออิชิ กรุ๊ป เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับการตัดสินใจขายหุ้นให้กับพันธมิตรต่างชาติรายหนึ่งเป็นจำนวนกว่า 55% ทำให้ตัวเขาและพวกพ้องผองเพื่อนผู้ปลุกปั้นธุรกิจเหลือหุ้นเพียง 10% เท่านั้น

รายละเอียดของดีลใหญ่ปิดท้ายปีครั้งนี้ “ตัน” ไม่ยอมปริปากว่าใครคือ “ไอ้โม่ง” ที่มาซื้อกิจการของเขา คนในวงการสื่อได้แต่คาดการณ์กันไปต่างๆนานา บ้างก็รายงานว่า กลุ่มเสริมสุขเข้ามาซื้อกิจการ เพราะไหนๆก็เป็นดิสทริบิวเตอร์ให้กับเครื่องดื่มโออิชิอยู่แล้ว

และบ้างก็ว่ากลุ่มเจริญเข้ามาซื้อเพื่อตีตั๋วเข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ที่ยังขาดอยู่ และเพื่อให้ภาพลักษณ์ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจที่หลายคนมองว่ามุ่งเน้นแต่ธุรกิจเหล้าดีขึ้นด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังมองไปถึงอีกว่าเหตุผลหลักที่ซื้อโออิชิ กรุ๊ป ครั้งนี้ก็เพื่อให้ไทยเบฟฯได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม ในลักษณะของ backdoor listing ทำให้ เกษมสันต์ วีระกุล ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรของไทยเบฟฯ ต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง และว่าการทำเช่นนั้นไม่มีความสง่างาม

เพื่อความกระจ่าง “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ได้ติดต่อไปยัง “ตัน” ในวันปิดต้นฉบับ (18 มกราคม) เพื่อสอบถามว่าผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้นโออิชิ กรุ๊ป นั้นคือใครกันแน่ ซึ่งซีอีโอผู้ปลุกปั้นแบรนด์โออิชิบอกได้เพียงว่า เป็นบริษัทที่อยู่ในวงการอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่หลายคนรู้จักกันดี และขณะนี้ตนอยู่ระหว่างการดูรายละเอียดของสัญญาซึ่งเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด 40 หน้า พร้อมกล่าวด้วยว่าแม้ขั้นตอนทุกอย่างจะคืบหน้า และลุล่วงไปแล้วกว่า 99.99% แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้จรดปากกาเซ็นสัญญาในวันที่ 20 มกราคมนี้ ตนก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า “ใครเป็นผู้เข้ามาซื้อ”

“เป็นไปไม่ได้ที่ผมขายหุ้น 55% ให้กับคนที่ไม่รู้จัก เพียงแต่เขาไม่ได้มอบหมายให้ผมเป็นคนพูด และต้องเห็นใจคนซื้อด้วยว่า เขายังหาข้อสรุปไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามแหล่งข่าวใกล้ชิดกับตัน “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ได้รับการยืนยันว่าผู้ที่เข้ามาซื้อโออิชิ กรุ๊ป นั้น คือ เจริญ สิริวัฒนภักดี แน่นอน !

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาโออิชิเป็นบริษัทที่เนื้อหอมที่สุดบริษัทหนึ่ง เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ชาเขียวโออิชิที่ครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งด้วยส่วนแบ่งกว่า 60% ของตลาดมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ห่างจากอันดับ 2 ที่มีส่วนแบ่งอยู่เพียงแค่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ไปชนิดไม่เห็นฝุ่น แม้ว่าที่ปัจจุบันชาเขียวจะอยู่ในภาวะขาลงทั้งจากการถูกบีบจากภาครัฐให้หั่นราคาขายให้เหลือเพียง 15 บาท กับทั้งตลาดไม่สามารถเติบโตไปได้มากกว่านี้ หากไม่มีโปรโมชั่นแรงๆมาช่วยเร่งให้คนมาช่วยกันดื่ม จึงต้องหันไปสร้างน้ำดื่มแบรนด์ใหม่ “อะมิโน โอเค” เพื่อเป็นขาที่สองของโออิชิในธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

แม้ภาพรวมของธุรกิจชาเขียวจะไม่ดีนัก แต่ภาพของโออิชิ กรุ๊ป และตัน ไม่ได้ตกตามตลาดชาเขียว

แน่นอนอาจมีอยู่บ้างที่ “ตัน” อาจจะเบื่อ และเหนื่อยกับพายุที่โหมเข้าใส่ลูกแล้วลูกเล่า จึงคิดขายธุรกิจที่ตนสร้างขึ้นมากับมือ ซึ่งในเบื้องแรก คือ ขายให้หุ้นให้กับพันธมิตรที่สนใจในสัดส่วนแค่ 25%

พลันที่ข่าวแพร่ออกไปก็มีนักลงทุนต่างชาติหลายรายแสดงความสนใจซื้อ ทั้งสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น มีการเดินทางเพื่อเข้ามาและออกไปพูดคุยเพื่อตกลง “ดีล” นี้กันหลายครั้งหลายครา แต่เนื่องจากผู้มาตกลงไม่ใช่ผู้มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุด ทำให้ไม่สามารถหาสรุปร่วมกันได้ การเจรจาจึงกินเวลาล่วงไปร่วมปี

แต่แล้วในที่สุด “เจริญ” ก็ติดต่อเข้ามาผ่านคนกลางเพื่อเรียก “ตัน” เข้าไปพบ เพื่อเจรจาการซื้อกิจการนี้ด้วยตนเอง หลังจากปิดประตูคุยกันนานหนึ่งชั่วโมงที่ห้องทำงานของเจริญ การพูดคุยก็สิ้นสุดลงด้วยข้อตกลงที่ว่า 1.เจริญจะเข้ามาซื้อหุ้นโออิชิในสัดส่วน 55% ในราคาหุ้นละ 30-32.50 บาท 2.ยังคงให้ “ตัน” เป็นผู้บริหารต่อไป และ3.ตันยังถือหุ้นในโออิชิอีก 10%

“ผมจะเป็นคนรวบรวมประมาณ 55% ให้กับนักลงทุนคนใหม่ โดยผมยังถือหุ้นอยู่เหมือนเดิม และเป็นสัญญาเลยว่าผมจะต้องบริหารและถือหุ้นอยู่เท่านั้น ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่ยอมเข้ามาถือหุ้น” เป็นคำพูดของ ตัน ในวันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมปีที่ผ่านมา

เมื่อถึงบรรทัดนี้อาจมีคำถามว่า ทำไมเจริญจึงเลือกซื้อโออิชิ ? และทำไมตันจึงยอมร่วมหอลงโลงกับเจริญ ? (อ่านเหตุผลการเลือกเจริญของตันได้ในกรอบ ทำไม “ตัน” ขายโออิชิให้ “เจริญ”)

เชื่อว่าคำถามข้างต้นนี้มีบางคนเคยตอบ หรือเคยวิเคราะห์ไปแล้วว่า เป็นเพราะเจริญต้องการขยายแนวรุกเข้ามายังธุรกิจเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจไม่ให้กระจุกอยู่กับธุรกิจน้ำเมาเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ธุรกิจของโออิชิทั้งที่เป็นอาหาร และเครื่องดื่มยังมีการเติบโตที่ดี และสามารถนำธุรกิจเหล่านี้ไปต่อยอดกับธุรกิจอื่นๆที่เจริญมีอยู่ อีกทั้งการที่ “เจริญ” เป็นจอมเทกโอเวอร์อยู่แล้ว แม้ระยะหลังจะเริ่มหันมาสร้างธุรกิจ และสร้างแบรนด์มากขึ้น แต่เนื่องจากเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์เป็นธุรกิจที่เจริญไม่มีความเชี่ยวชาญ แม้มีเงินมากมายมหาศาลแต่ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าจะสามารถสร้างเครื่องดื่มชาเขียว และเครื่องดื่มอื่นๆได้ประสบความสำเร็จ เพราะอาจกล่าวได้ว่าช่วงระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา “ตัน” ได้ทุ่มเงินเพื่อปั้นแบรนด์โออิชิให้ติดตลาดคิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ทางดีที่สุดก็คือหว่านเงินลงไปร่วม 3,000 ล้านบาทซื้อหุ้นโออิชิ

ส่วนเหตุที่ต้องให้ “ตัน” บริหารโออิชิต่อไปก็เพราะในธุรกิจเครื่องดื่มสุขภาพ ณ เวลานี้ไม่มีใครมองตลาดได้ทะลุเท่ากับ “ตัน” อีกแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งวันนี้ ภาพของ “ตัน” และ “โออิชิ” ยังไม่สามารถแยกกันได้ออก และกว่าจะแยกภาพ “ตันคือโออิชิ-โออิชิคือตัน” ออกจากกันได้คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และเจริญก็เลือกที่จะไม่แยก

ทัพใหม่เครือไทยเบฟ ตั้งแต่พีอาร์ถึงนักการตลาด

นอกจากดึง “ตัน” มาเป็นขุนพลคู่กายคนใหม่เพื่อลุยธุรกิจเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์แล้ว ในฟากฝั่งของเครื่องดื่มน้ำเมา เจริญก็ปรับทัพรับการแข่งขันในยุคการค้าเสรี ด้วยการดึงขุนพลจากภายนอกเข้ามาร่วมด้วย

นับตั้งแต่การระดมนักประชาสัมพันธ์มืออาชีพ มาช่วยลดดีกรีกระแสความร้อนแรงทางสังคมต่อต้านไม่ให้เบียร์ช้างเข้าตลาดหลักทรัพย์

เกษมสันต์ วีรกุล มือฉมังในเรื่องพีอาร์ จากแวดวงน้ำเมาด้วยกัน ให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ โดยประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น เกษมสันต์ เคยนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยู.ดับบลิว.ดี. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด

ส่วนภารกิจสำคัญที่ไทยเบฟฯคือ การสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้ไทยเบฟฯ ทั้งเรื่องการเข้าตลาดหุ้นไทย การสร้างแบรนด์องค์กร เพื่อขยายฐานไปสู่ความเป็นพรีเมียม รวมทั้งการคลี่คลายปัญหาข่าวลือต่างๆเกี่ยวกับไทยเบฟฯ ที่ดูเหมือนว่าช่วงหลังเริ่มมีความถี่มากขึ้นอย่างเช่น ข่าวบริษัทจะเข้าไปซื้อหุ้นบมจ.โออิชิ กรุ๊ป 50% เพื่อนำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม(Backdoor Listing) ซึ่งเกษมสันต์ต้องออกมาอธิบายทันที่ว่าไม่เป็นความจริง

สำหรับเบอร์สองงานด้านประชาสัมพันธ์นั้น ไทยเบฟฯ ได้คนพีอาร์ในแวดวงรถยนต์ ที่พลิกพลันตัวเองอย่างสุดขั้วจากสายรถยนต์ และมาจับงานสร้างภาพลักษณ์องค์กรธุรกิจแอลกฮอล์ (เหล้า-เบียร์)

ก่อนที่ คันธนิธิ์ สุคนธทรัพย์ รองผู้อำนวยการ สำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ จะมานั่งทำงานที่นี่ เขาเคยนั่งกุมบังเหียนฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทรถยนต์ 3 ค่ายคือ เจนเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) ในยุคแรกๆที่เชฟโรเลต์ ซาฟีรากำลังบูม

หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนค่ายมาอยู่ที่ เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) และปิดท้ายในปี 2547 ด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ สำนักสื่อสารองค์กร บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จากนั้นจึงมาลงเอยที่ไทยเบฟฯในปัจจุบัน

ทว่าสิ่งที่สำคัญเป็นข้อดีของคันธนิธิ์ ซึ่งจะทำให้เข้าใจธรรมชาติการทำงานของนักข่าวได้ดีมาก เพราะเคยเป็นคนในวงการน้ำหมึกมาก่อน โดยคลุกคลีงานหนังสือในเครือโพสต์พับลิสซิ่งฯ และเข้าออกอยู่หลายปี ในจุดนี้เองจึงทำให้มีความเจนเวที รู้ทางหนีที ทีไล่กับบรรดานักข่าวเป็นอย่างดี ซึ่งเบียร์ช้างต้องเผชิญกับปัญหากับกระแสสังคมการชุมนุมต่อต้านไม่ให้เข้าตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี

ไม่เพียงเท่านั้นส่วนงานด้านการตลาด ไทยเบฟฯ ก็ได้สรรหาขบวนขุนพลที่เจนสนามรบและกรำศึกในตลาดน้ำเมามาอย่างโชกโชน และเป็นคนกันเองที่อยู่ในแวดวงน้ำเมาด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งก็จะเสริมข้อด้อยและทำให้การบุกตลาดใหม่ตลาดวิสกี้ และเบียร์ระดับบน ซึ่งไทยเบฟฯ ยังอ่อนประสบการณ์อยู่มีอนาคตที่ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น

เหมือนกับว่าทุกอย่างได้มีการเตรียมการณ์ไว้เป็นอย่างดีแล้ว เพราะ อวยชัย ตันทโอภาส แม่ทัพคนใหม่ ได้เข้ามากุมบังเหียนงานด้านการตลาดทั้งหมดให้กับสินค้าในเครือไทยเบฟมากว่า 3 ปี โดยนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำกิจกรรมการตลาดในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

อวยชัย เคยสร้างตำนานอันโด่งดัง ให้ แบล็ก เลเบิ้ล และเหล้าตระกูลจอห์นี่วอล์คเกอร์ ให้เป็นสก๊อตวิสกี้ แบรนด์เดียวที่มีสินค้าออกมาทำตลาดคลอบคลุมสก๊อตวิสกี้ทุกเซกเมนต์ และเป็นดาวค้างฟ้ามาจนวันนี้ ซึ่งผลงานดังกล่าวก็อาจจะสมน้ำสมเนื้อกับภาระกิจที่ อวยชัย จะต้องเผชิญเมื่อเข้ามานั่งทำงานในไทยเบฟฯเพื่อปรับกระบวนทัพใหม่ให้กับไทยเบฟฯ

การขยายอาณาจักรใหม่ ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จากยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จับตลาดรากหญ้าในไทย ที่มีการปรับเป้าหมายใหม่ด้วยการปรับขบวนทัพสู่กลยุทธ์ “Premiumization” ขยายกิ่งก้านสาขาสู่ตลาดบน ผลิตเหล้าและเบียร์ ระดับพรีเมียม ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้าและขึ้นผงาดในวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เบ็ดเสร็จ

ในช่วงที่ผ่านมานั้นมีการเสริมทัพ เตรียมขุนพลใหม่เข้ามา เตรียมบุกอย่างเต็มพิกัดภายใต้ยุทธศาสตร์ของไทยเบฟฯในปี 2549 ที่เน้นกลยุทธ์ Premiumizaion ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ส่วนประกอบด้วย ตัวสินค้า ทีมงานการตลาดและการขาย และระบบการทำตลาด โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าที่มีแผนที่จะรุกทำตลาดสุราราคาระดับพรีเมียม รวมถึงการออกแบรนด์ใหม่และการพัฒนาแบรนด์เก่าเช่น แม่โขง แสงโสม และเบียร์ช้าง มาสู่ความเป็นพรีเมียมและเป็นผู้ผลิตเหล้าครบทุกพอร์ต

จากภาพลักษณ์และการทำตลาดที่ผ่านมาของไทยเบฟฯ ซึ่งจะมุ่งเน้นทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลาดระดับรากหญ้าเช่น เหล้าขาว แม่โขง แสงโสม มังกรทอง และเบียร์ช้าง แต่จากนี้ไปจะต้องมีการทำงานแบ่งแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.การรักษาคุณภาพสินค้า ฐานลูกค้า ช่องทางจำหน่าย ในตลาดระดับรากหญ้าที่ครองเบอร์หนึ่งอยู่ให้แข็งแกร่งมากขึ้น 2. การผลิตสินค้า สร้างพันธมิตรและช่องทางจำหน่ายใหม่ เพื่อขยายตลาดระดับบน

ในส่วนนี้เองเป็นไปตามแนวถนัดของอวยชัย เมื่อตอนทำงานที่ ริชมอนเด้ เนื่องจากในยุคนั้น บริษัทนำเข้าสุราต่างประเทศส่วนใหญ่ จะมุ่งทำการตลาดและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จับตลาดระดับกลาง-บนเท่านั้น

ส่วนเบอร์รองของสายงานด้านการตลาดนั้นคือ วิโรจน์ จันทรโมลี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เริ่มตั้งแต่ต้นปีนี้ ที่ค่ายอื่นยังไม่ทันขยับตัว ขุนพลอันดับสองด้านการตลาดของไทยเบฟฯก็ได้ชิงเปิดตัววิสกี้ใหม่แบรนด์ไทย ตัวแรกตามทิศทาง Premiumizaion ภายใต้แบรนด์ บลู ในเซกเมนต์เซกันดารี่ซึ่งเป็นรีลอนซ์"บลูอีเกิ้ล" ใหม่ภายใต้แนวคิด Be Blue Be Your Self

อย่างไรก็ตาม การนำแบรนด์บลูอีเกิ้ล กลับมาปั้นใหม่คงไม่ยากไปนักสำหรับ วิโรจน์ เพราะเค้ามีความคุ้นเคยกับแบรนด์นี้เป็นอย่างดีและมีความชำนาญในการทำตลาดเหล้านอกราคาถูกเป็นอย่างดี โดยก่อนหน้าที่จะย้ายมาอยู่ภายใต้ปีกไทยเบฟฯวิโรจน์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีนิธ ลิเคอร์ จำกัด ผู้จัดจำหน่าย คราวน์ 99 บลูอีเกิ้ล ในตลาดเหล้านอกเซ็กเมนต์อีโคโนมี่ และบรั่นดี ภายใต้แบรนด์คาวาเลียร์

เป็นการปรับกระบวนรบครั้งใหม่ เพื่อรับการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่ไม่เหมือนดังที่เจริญเคยทำมาในอดีต โดยเฉพาะการบีบรัดจากภาครัฐที่ล้วนแล้วแต่สรรหามาตรการสกัดการเจริญเติบโตออกมาไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น การห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณา การปรับขึ้นภาษีสุราของกรมสรรพสามิต และอื่นๆ

จัดทัพ-ปรับแนวคิด รุกอสังหาฯระลอกใหม่

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เจริญ สิริวัฒนภักดี ให้ความสำคัญ นอกเหนือจากธุรกิจน้ำเมา เพราะเห็นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่สร้างดอกผลงดงาม และเป็นกอบเป็นกำ อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่สร้างเศรษฐีหน้าใหม่ระดับแนวหน้าเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในและต่างประเทศ

เจริญ เริ่มเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมื่อไหร่ ตัวเจริญเองก็จำไม่ได้ รู้แต่ว่า เมื่อมีโอกาส และเห็นที่ดินแปลงงาม จะรีบคว้ามาเป็นเจ้าของทันที เพราะเชื่อว่า การสะสมที่ดินเป็นการลงทุนอีกช่องทางหนึ่ง ที่สร้างผลกำไรให้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ยังไม่ได้ลงทุนพัฒนาเลย

การสะสมที่ดินของเจริญในอดีต ไม่มีการวางแผนมากมาย หรือสลับซับซ้อน รู้แต่ว่าที่ดินราคาไม่เคยลด มีแต่เพิ่ม จึงไม่จำเป็นต้องใช้หลักการตลาดมาเกี่ยวข้อง ใช้ความคิดของตัวเองและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ภรรยาเป็นหลักในการเลือกซื้อที่ดิน และทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับว่า ความคิดของเจริญไม่ผิด ที่ดินที่สะสมมานานหลายสิบปี มีมูลค่ามหาศาลเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า บางแปลมากกว่า 1,000 เท่า

เมื่อเจริญเริ่มมีแนวคิดที่จะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจัง นอกเหนือจากการรอให้ราคาขึ้นเองตามธรรมชาติ เจริญเลือกใช้วิธีการลงทุนในธุรกิจที่สร้างรายได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอการพัฒนา แล้วเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ เพราะผลตอบแทนกลับมาช้า ดังนั้น การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเจริญในช่วงแรก จึงเริ่มต้นด้วยการเทกโอเวอร์โรงแรมที่มีผลประกอบการดี ซึ่งปัจจุบันเจริญเป็นเจ้าของโรงแรมหลายแห่ง ทั้งในและต่างประเทศ

การบริหารจัดการในช่วงนั้น ใช้วิธีการให้บุคคลากรที่เคยทำงานในโรงแรมดังกล่าว ทำงานต่อไป ตัวเองจะนั่งเก้าอี้ซีอีโอ หรือบางแห่งจะส่งคนที่ไว้ใจไปนั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งทุกอย่างเดินหน้าไปด้วยดี โรงแรมทุกแห่งที่เป็นเจ้าของมีผลประกอบการดีขึ้น

ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังเดินไปได้ด้วยดี การดำเนินงานอยู่ตัว เจริญ เริ่มมีแนวคิดที่จะลงทุนพัฒนาโครงการของตัวเอง เพราะเชื่อว่า การพัฒนาโครงการเพื่อขาย จะสร้างผลกำไรได้เร็วและมากกว่าการลงทุนในธุรกิจให้เช่า ประกอบกับลูก ๆ เริ่มเรียนจบกลับมา จึงเริ่มให้ลูก ๆ เข้ามาดูแลกิจการ

ทายาทคนที่ 2 รับช่วงธุรอิจอสังหาฯ

วัลลภา ไตรโสรัส (สิริวัฒนภักดี) ลูกสาวคนที่สองและโสมพัฒน์ ไตรโสรัส ลูกเขย เป็นgeneration ใหม่ของตระกูล ถูกวางตัวให้ดูแลทรัพย์สิน มูลค่าแสนล้านของเจริญ เพราะทั้งคู่จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจบโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ดินจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งน่าจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างถ่องแท้กว่าลูกคนอื่น ๆ

หลังจบการศึกษาได้ไปหาประสบการณ์ด้วยการเป็นนักวิเคราะห์การเงิน (Analyse, Corporate Finance) ที่บริษัทเมอร์ริล ลินช์ (เอเชียแปซิฟิก) จำกัด ฮ่องกง เป็นเวลา 2 ปี ปี 2544 กลับมารับหน้าที่กรรมการบริหาร บริษัทที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง ก่อนขึ้นไปรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ที.ซี.ซี.แลนด์

เมื่อวัลลภา ได้รับบทบาทดังกล่าว ประกอบกับ เป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรง จึงเดินหน้าทำงานด้วยแนวคิดของคนรุ่นใหม่ จากเดิมที่ผู้เป็นพ่อจะบริหารจัดการธุรกิจด้วยการใช้บุคคลกรชุดเดิมที่เคยทำงานด้วย ให้ทำงานต่อไป ขณะที่วัลลภา เลือกใช้วิธีการสร้างคนของตัวเองขึ้นมา แต่ยังไม่ลืมที่จะเดินตามรอยพ่อ ผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ที่ยังเลือกใช้คนที่มีประสบการณ์มาช่วยงาน ด้วยการชักชวนมาทำงานร่วมกัน

ช่วงก่อตั้งบริษัทเมื่อ 2 ปีก่อน วัลลภาเริ่มต้นด้วยพนักงานราว 20 กว่าคน เนื่องจากทุกอย่างเพิ่งเริ่ม ประกอบกับ งานยังไม่มาก งานหลายอย่างถูกส่งออกไปให้คนนอกทำ เพราะนอกจากจะไม่มีภาระในเรื่องของการดูแลพนักงานแล้ว ยังได้งานที่ดีด้วย เพราะงานหลายอย่างได้คนนอกที่มีความเชี่ยวชาญกว่าทำ และในช่วงนั้น เรายังได้เรียนรู้งานอีกด้วย

พอธุรกิจเริ่มเติบโต บุคคลากรก็เพิ่มขึ้นด้วย จนปัจจุบันมีพนักงานรวมกว่า 150 ชีวิต แต่การดำเนินงานยังผสมผสานระหว่างแนวคิดเก่าและแนวคิดใหม่ เพราะงานบางอย่างเราจ้างคนนอกทำเช่นเดิม เพราะเรายังไม่พร้อม อาทิ ด้านการตลาดจะส่งต่อให้มืออาชีพ โดยโครงการ"พลาซ่าแอทธินี เพรสซิเด้นท์" ส่งให้บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส(ประเทศไทย) ดูแล เพราะซีบีฯเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ข้ามชาติ มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดมาก โดยเฉพาะ ตลาดต่างประเทศ ซึ่งโครงการพลาซ่า แอทธินีเป็นคอนโดหรูราคาแพง เน้นกลุ่มเป้าหมายนักธุรกิจข้ามชาติ

นอกจากนี้ ด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ว่ามอบให้บริษัท แอมต้า คอยดูแลงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ข่าวสารกระจายไปยังผู้บริโภคไกลขึ้น

โปรเจกท์นำร่องพลาซ่า แอทธินี

การลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกของเจริญ เกิดขึ้นภายใต้บริษัท ที.ซี.ซี.แคปปิตอลแลนด์ ซึ่งร่วมทุนระหว่าง ที.ซี.ซี.แลนด์ของเจริญกับแคปปิตอลแลนด์ บริษัทพัฒนาที่ดินยักษ์ใหญ่จากประเทศสิงคโปร์ โครงการแรกคือ "พลาซ่าแอทธินี เพรสซิเดนท์" คอนโดราคาแพงบนถนนวิทยุ

ตามด้วยวิลล่า ราชครู และล่าสุดคือโครงการ The Empire Place คอนโดสไตล์ชิคาโคร่วมสมัย ขนาด 43 ชั้น กลางเมือง โฟกัสกลุ่มลูกค้าไปยังคนรุ่นใหม่ และหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มชีวิตครอบครัว ทำงานในเมือง ตัว ทั้ง 3 โครงการมีมูลค่ารวมกันกว่า 1 หมื่นล้านบาท

วัลลภา บอกว่า นอกจาก 3 โครงการดังกล่าว ในปีนื้ ที.ซี.ซีฯฯจะเปิดโครงการใหม่อีกหลายแห่ง เพราะวันนี้เราพร้อมแล้ว ทั้งเรื่องบุคคลกร เงินทุน และความชำนาญที่ได้เรียนรู้จาก 3 โครงการแรก

คงต้องจับตาดูต่อไปว่า แนวคิดของเจริญ ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล แต่เรียนจบ ป.4 กับคลื่นลูกใหม่ ที่มีดีกรีปริญญาโทจากเมืองนอกพ่วง และได้เชื้อความเก่ง ความฉลาด จากเจริญ และคุณหญิงวรรณา จะพาที.ซี.ซี.แคปปิตอล แลนด์ให้ก้าวสู่จุดหมายตามเป้าหมายที่เจริญวางไว้หรือไม่ เพราะเป้าหมายของเจริญคือก้าวเป็นผู้นำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้คือการปรับยุทธศาสตร์ของเจริญในช่วง 1-2 ปีที่สำคัญ เป็นการปรับอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้กลุ่มเจริญแข็งแกร่งต่อไป ในหลายกลุ่มธุรกิจที่กำลังสร้างขึ้น

**************

ทำไม “ตัน” ขายโออิชิให้ “เจริญ”

อาจมีคนสงสัยว่า ตัน ภาสกรนที คิดอย่างไรระหว่างการตัดสินใจขายหุ้นในธุรกิจที่ฟูมฟักมาหลายปี ทั้งที่ความเดิมนั้นต้องการขายเพียงแค่ 25%

แม้ช่วงเวลาการตัดสินใจขายหุ้นจะเกิดขึ้นภายในเวลา 1 ชั่วโมงของการเจรจา และเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่พบหน้าค่าตาซึ่งกันและกัน แต่สิ่งที่ทำให้ “ตัน” ยอมตกลงได้อย่างง่ายดายนั้น เชื่อว่าเป็นเพราะทั้งคู่มีความเหมือนกันประการหนึ่งคือ เป็นคนเชื้อสายจีนที่เริ่มต้นชีวิตธุรกิจจากศูนย์ และต้องทำงานหนักกว่าจะ “มี” ได้อย่างทุกวันนี้

แต่นั่นอาจไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ “เจริญ” กลายเป็นม้ามืดที่วิ่งเข้าเส้นชัย เฉือนบริษัทข้ามชาติหลายรายที่เข้ามารุมจีบ และเพียรจีบเป็นเวลานาน

ตันมองเจริญ เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ด้วยเวลานั้นเครื่องดื่มชาเขียวมีสารพัดปัญหาจากภาครัฐ และยังมองกลุ่มไทยเบฟฯเป็นเหมือนเรือใหญ่ระวางหลายหมื่นตัน พร้อมออกทะเลไปหาปลาในมหาสมุทรอันแสนไกล ไม่หวั่นพายุและคลื่นลมที่พัดเข้าใส่แม้จะแรงขนาดไหน ด้วยตันคิดว่าตลาดชาเขียวเริ่มเต็ม หากจะไปลุยธุรกิจน้ำดื่มเพื่อสุขภาพอื่นๆ ก็ต้องซื้อเครื่องจักรเพิ่ม หากไม่ต้องการซื้อเพิ่มก็ต้องลดกำลังการผลิตชาเขียวลง เพราะวันนี้เครื่องจักรก็เดินเครื่องผลิตชาเขียวเต็มพิกัดอยู่แล้ว เมื่อผลิตน้อยลงอาจเป็นการเปิดโอกาสให้ชาเขียวของยูนิฟที่ครองอันดับสองมีโอกาสเบียด และแซงขึ้นไปโดยง่าย

วันนี้โรงงานที่ผลิตเครื่องดื่มชาเขียวโออิชิ และอะมีโน โอเค ตั้งอยู่บนพื้นที่ 18 ไร่ เป็นเครื่องจักรจากไต้หวันผลิตได้ 300 ขวดต่อนาที ขณะที่โรงงานเจริญมีทั่วทุกแห่งหน ทั้งในและต่างประเทศ บางโรงงานตั้งอยู่บนพื้นที่ถึง 6,000 ไร่ ใช้เครื่องจักรเมดอินเยอรมันแทบทั้งหมด ภายในหนึ่งนาทีผลิตได้นับพันขวด

นอกจากนี้เจริญยังมีเครือข่ายการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย เงินทุน และบุคลากรมือดีอีกเป็นจำนวนมากที่พร้อมลุยได้ทุกประเทศทั่วโลก

ณ วันนี้ ตันคงมองไปถึงว่าเขาสามารถนำเครื่องจักรบางส่วนมาผลิตเครื่องดื่มบางตัวที่เขาคิดว่ามีโอกาสเกิดในตลาด โดยที่เขาไม่ต้องลงทุนเพิ่มทั้งซื้อที่ดิน ซื้อเครื่องจักร และสร้างโรงงาน

วันดีคืนดี “ตัน” อาจนำน้ำดื่มตราช้างที่วันนี้มีสถานะเพียงแค่โปรดักส์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแจก หรือเอาไว้เป็นยันต์กันเอาไว้ในวันที่กฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง และทุกสื่อมีผลบังคับใช้ โดยน้ำดื่มช้างจะเป็นตัวที่สะท้อนแบรนด์ช้าง โดยเฉพาะเบียร์ได้อย่างดี ใครจะไปรู้ว่าในอีกไม่นานเราอาจได้เห็นน้ำดื่มเกลือแร่ หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ช้างออกสู่ตลาด เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า หรือเป็นไปได้ว่าเราอาจเห็นเครื่องดื่มใหม่ๆภายใต้อัมเบลล่าโออิชิเข้าสู่ตลาดจนเต็มไปหมดก็ได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องข้างต้นอาจไกลตัวในวันนี้ แต่สิ่งที่ตันและผองเพื่อนได้รับแน่ๆ ณ เวลานี้ คือ เงินสดๆกว่า 3,000 ล้าน กับหุ้นในบมจ.โออิชิอีก 10% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 600-700 ล้านบาท เป็นการกระจายความเสี่ยงด้วยการแบ่งเงินออกเป็น 2 กอง กองแรก เงินจำนวนนี้ตันอาจเก็บไว้เป็นกองทุนเพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตันอาจตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อดูแลเงินก้อนนี้โดยเฉพาะ

สำหรับกองที่สอง แม้จำนวนหุ้นของตันจะลดลงไปเหลือแค่ 10% แต่เป็น 10% ของตลาดมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าวันแรกที่ตันเปิดตัวบริษัทโออิชิใหม่ๆ ในวันนั้นบริษัทมีมูลค่าเพียง 300 ล้านบาท แม้วันนั้นตันและครอบครัวจะถือหุ้นเต็มจำนวน 100% แต่ก็ยังน้อยกว่าวันนี้ที่ถือหุ้นเพียง 10% กว่าสองเท่าตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ตันตัดสินใจขายหุ้น เพราะคิดว่าตันคงมั่นใจในศักยภาพของตนเองเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถดันมูลค่าของบมจ.โออิชิให้ขึ้นมาถึง 1 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า แต่ถ้าบังเอิญหุ้นโออิชิได้รับความปราณีจากฟ้าขนาดหนัก อาจทำให้มูลค่าบริษัทกระโดดขึ้นไปถึง 2-3 หมื่นล้านบาท มูลค่าหุ้นในมือของตันวันนั้นก็จะเท่ากับมูลค่าหุ้นที่ตันขายไปก่อนหน้านี้ คือจะกลายเป็น 3 พันล้านบาทเหมือนเดิม

“วันนี้ผมถือเหลือ 10% เวลาพูด 10% มันดูน้อย แต่อยากให้มองว่าผมถือหุ้นเป็นอันดับสองในโออิชิ เป็นเงินลงทุนถึง 600-700 ล้านบาท ผมยังลงทุนอยู่ในบริษัทนี้มากกว่าวันแรกที่ผมถืออยู่เลย” ตัน บอกกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us