|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คกก.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมบังคับใช้กฎหมาย ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในสื่อทุกแขนง หรืออาจขยับเวลาการอนุญาตโฆษณาจาก 7 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมงในช่วงที่คนนอนแล้ว คาดมีผลใช้กลางปีนี้ ผลวิจัยล่าสุดพบว่าประเทศที่มีการห้ามโฆษณาเหล้า สามารถลดนักดื่มลง 16% ลดอุบัติเหตุได้ 23% พร้อมทั้งจับมือ 29 หน่วยงานราชการ ประกาศเป็นเขตปลอดควันบุหรี่ ห้ามขายบุหรี่ในสถานที่ราชการ
วานนี้(16 ม.ค.) ที่ รร.มิราเคิล แกรนด์ กทม. นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (คบอช.) เพื่อพิจารณามาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายพินิจกล่าวว่า คณะกรรมการควบคุม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้เตรียมวางมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2549 ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น มี 2 แนวทาง คือการเตรียมออกกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทางวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อต่างๆ อย่างเด็ดขาด
หรือแนวทางที่ 2 อาจใช้วิธีจำกัดการโฆษณาเพิ่มเติม โดยลดเวลาอนุญาตให้โฆษณา เหล้าทางวิทยุ โทรทัศน์จากเดิม ตั้งแต่ 22.00 -05.00 น. รวม 7 ชั่วโมง แต่เวลาโฆษณาใหม่นี้จะลดเหลือเพียง 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 02.00 น. - 05.00 น. และจะมีการตัดข้อความโฆษณาแอบแฝงที่บริษัทสุรามักใช้เลี่ยงนำมาโฆษณาแฝงในลักษณะต่างๆ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดการดื่มสุราลงได้อีกทางหนึ่ง
การศึกษาขององค์การอนามัยโลก พบว่า การห้ามโฆษณาเหล้ามีผลต่อนักดื่มหน้าใหม่ โดยปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่มีการห้ามหรือจำกัดการโฆษณา ถึง 16% และที่สำคัญคือ อัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจร ในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำกว่าประเทศที่ไม่มีการห้ามหรือจำกัดการโฆษณาถึง 23%
นายพินิจกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการระยะยาว จะผลักดันพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นร่างกฎหมายอยู่ มี สาระสำคัญทั้งเรื่องการควบคุมผลิต และนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรฐานผลิต-ภัณฑ์อุตสาหกรรม การออกใบอนุญาตขายและการจำกัดพื้นที่ในการดื่มเครื่องดื่ม จะไม่ให้ออกใบอนุญาตขายและดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ 10 ประเภท ได้แก่ วัดและศาสนสถาน สถานพยาบาล ร้านขายยา สโมสรเยาวชน สถานศึกษา ยานพาหนะขนส่งมวลชน ปั๊มน้ำมัน ร้านค้าที่เปิดบริการทั้งวันหรือเกินกว่า 16 ชั่วโมง สวนสาธารณะและทางสาธารณะ โดยเฉพาะห้ามขายในหอพัก และห้ามดื่มในขณะขับขี่ยานพาหนะทุกชนิด
นอกจากนี้ ยังห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี ซึ่งเดิมห้ามขายเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือผู้ที่ยังอยู่ในอาการมึนเมา จนแสดงพฤติกรรมวุ่นวาย ห้ามขายเหล้าเบียร์โดยเครื่องอัตโนมัติ การเร่ขาย การแจกแถม หรือแจกจ่ายรางวัล การควบคุมการโฆษณาทางสื่อต่างๆ
ทั้งนี้ คาดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนก.พ. 2549 และใช้เวลาในการทำประชาพิจารณ์กับประชาชน และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศอีกประมาณ 2 เดือน ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ขณะเดียวกันในการดำเนินการควบคุมลดปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการควบคุม ลด และเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากขณะนี้ขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินการ เช่น อาจใช้ 2% ของภาษีสรรพสามิตสุรา หรือใช้ 5-10% ของงบประมาณสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
วันเดียวกัน นายพินิจยังได้เป็นประธานพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดเขตปลอดบุหรี่ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ 2535 ที่กำหนดให้สถานที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นสถานที่ที่ให้มีการคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยมีปลัดกระทรวงและผู้แทนจาก 29 หน่วยงาน ร่วมลงนาม เพื่อให้สถานที่ทำงานจัดเขตปลอดบุหรี่ โดยเฉพาะสำนักงานส่วนกลาง เป็นแบบอย่างที่ดีของสถานที่สาธารณะอื่นๆในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
|
|
|
|
|