*ตลาดคอนโดมิเนียมพักอาศัยระดับกลางยังหอมหวลไม่สร่าง และเป็นที่หมายตาของนักลงทุนหลายค่ายที่พยายามเข้ามากอบโกยยอดขายในช่วงพีค
*ไม่เฉพาะแต่ศุภาลัย เพอร์เฟค หรือแลนด์ฯเท่านั้นที่โดดร่วมวงไพบูลย์ แต่จัดสรรรายอื่นก็จ้องตาเป็นมัน หมายแย่งส่วนแบ่งตลาดจากแชมป์
*"ทิฆัมพร เปล่งศรีสุข"หัวเรือใหญ่แอล.พี.เอ็น. แชมป์คอนโดมิเนียมระดับกลาง ประกาศป้องกันตำแหน่งผู้นำ ด้วยการปรับกระบวนทัพครั้งใหญ่ พร้อมทั้งปรับยุทธ์ศาสตร์การบริหารภายใต้ทีมบริหารรุ่นใหม่
แม้ว่าตลาดคอนโดมิเนียมพักอาศัยระดับกลางจะอยู่ในช่วงขาขึ้นตั้งแต่ปีก่อนจนถึงปีนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เจ้าพ่ออาคารชุด อย่างแอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ไว้วางใจ เพราะผู้ประกอบการหลายค่ายต่างก็ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำตลาดด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเดิมที่ทำอาคารชุดขายอยู่แล้ว และผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่เคยทำอาคารชุดขายเลยต่างก็สนใจโดดเข้ามาลงทุนโครงการจำนวนมาก
จริงอยู่ !! แม้ว่าความต้องการจะยังมีอีกมาก ตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลได้เริ่มลงทุนแล้ว และมีแผนจะขยายต่อออกไปยังชานเมืองมากขึ้นอีก 10 เส้นทาง ราคาน้ำมันที่แสนแพง ดอกเบี้ยที่ทะยานขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ประกอบกับปัญหาการจราจรติดขัดจนถึงขั้นเป็นอัมพาต ทำให้พฤติกรรมการการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป
ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการวิจัยและสำรวจถึงความต้องการที่อยู่อาศัยของเพอร์เฟคซึ่งตรงกับการคาดการณ์ของบริษัท เอเยนซี่ ฟอร์ เรียล เอสเตท แอร์แฟร์ พบว่าความต้องการที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีราว 20,000 ยูนิตในปีนี้ แบ่งเป็นอาคารชุด 10,000 ยูนิต บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์เท่ากันคือประมาณ 5,000 ยูนิต
แห่ทำอาคารชุดราคา 1-2 ลบ.
ทั้งนี้ จากตัวเลขประมาณความต้องการอาคารชุด ระดับปานกลางที่มีอีกมาก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมผู้ประกอบการหลายรายจึงพยายามที่จะเข้ามามีส่วนแบ่งตลาด ไม่ว่าจะเป็นพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ที่ประกาศลงทุนโครงการเมโทร พาร์ค ย่านสาทร ใกล้ส่วนต่อขยายบีทีเอส สายสีเขียว ซึ่งเป็นอาคารชุดพักอาศัย ขนาดใหญ่ จำนวน 4,000 ยูนิต เมื่อเดือนพ.ย.ปีก่อน ส่วนศุภาลัยได้ลงทุนโครงการซิตี้ โอม ศูนย์วัฒนธรรม จำนวนเกือบ 1,000 ยูนิต และกำลังจะทำโครงการที่ศรีนครินทร์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ซิตี้ โฮม ในปีนี้
ขณะที่พฤกษา เรียลเอสเตท ก็ลงทุนโครงการบริเวณสาทรเช่นกัน ฟากพี่เบิ้มวงการอสังหาริมทรัพย์ อย่างแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังทำอาคารชุดบริเวณถนนสุขุมวิท ส่วนนักลงทุนจากภูธรอย่างณุศาศิริก็อยู่ระหว่างการหาที่ดินที่เหมาะสมในย่านรถไฟฟ้า เพื่อลงทุนทำอาคารชุด รวมถึงผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ก็เตรียมตัวโดดเข้าสู่ตลาดนี้ ซึ่งทุกรายล้วนเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง ราคาเฉลี่ยที่ 1-2 ล้านบาททั้งนั้น
บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมระดับกลาง ที่ครองส่วนแบ่งตลาดในปีก่อนถึง 31% ด้วยยอดโอนกรรมสิทธิ์มากถึง 3,420 ยูนิต จากจำนวนทั้งตลาดราว 11,000 ยูนิต จึงจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กำลังซื้อลดลง
ผู้นำปรับตัวหนีคู่แข่ง
ทั้งนี้ ทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ฯกล่าวว่า ในช่วงต้นปีบริษัทได้ปรับโครงสร้างผู้บริหารใหม่ โดยได้แต่งตั้งปกรณ์ ทวีศิลป์ นั่งตำแหน่งประธานกรรมการ แทนศ.โมรา บุณยผล ที่เสียชีวิตลง และโยกตัวเองไปนั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร รวมทั้งผลักดันให้โอภาส ศรีพยัคฆ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจ ขึ้นนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพื่อให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวขึ้น (อ่านข่าวแอล.พี.เอ็น.ปรับทัพสู้ศึก หน้า C2 ประกอบ)
นอกจากนี้ ยังได้โฟกัสการทำตลาดไปที่ตลาดที่มีการแข่งขันต่ำ แต่มีความต้องการสูง(Blue Ocean) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้แอล.พี.เอ็น.ฯเป็นผู้นำตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังใช้กลยุทธ์อื่นผสมผสานอีกด้วย โดยกลยุทธ์ทางการตลาดได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และมุ่งพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าระดับกลางและกลางล่าง ครอบครัวใหม่ หรือผู้ที่ต้องการบ้านหลังที่สองใกล้ทำงาน และสถานศึกษา ในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท
รวมถึงการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ (Cost Leadership) ซึ่งทำให้บริษัทกำหนดราคาขายที่สอดรับกับ ความสามารถในการผ่อนชำระในอนาคตของลูกค้า และการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในรูปแบบของ LPN Design และบริการก่อนและหลังการขาย โดยเฉพาะการบริหารอาคารชุด ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของแอล.พี.เอ็น.ฯ
ชูคอนเซ็ปต์ชุมชนขนาดย่อม
ทิฆัมพร กล่าวอีกว่า ด้านการพัฒนาโครงการ จะพัฒนาอาคารชุดในรูปแบบชุมชนเมืองขนาดย่อม (Small Size Township) ภายใต้คอนเซ็ปต์ LPN X-Place เพื่อตอบสนองความต้องการของการใช้ชีวิตในเมือง โดยมีโครงการลุมพินี วิลล์ ศูนย์วัฒนธรรมเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งปัจจุบันมียอดขายแล้วกว่า 80% รวมถึงการพัฒนาโครงการสู่ทำเลใหม่ ๆ โดยเน้นระบบโครงข่ายคมนาคมเป็นหลัก ซึ่งได้ขยายการลงทุนไปยังปิ่นเกล้า สุทธิสาร และยังมีแผนไปลงทุนโครงการบริเวณงามวงศ์วาน ท่าพระ และจรัญสนิทวงศ์อีกด้วย ในระดับราคาขายเฉลี่ยที่ตารางเมตรละ 30,000-40,000 บาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีนโยบายที่จะขยายการลงทุนไปในอาคารชุดระดับล่างอีกด้วย ในราคายูนิตละต่ำกว่า 500,000 บาท จากที่ปัจจุบันราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 600,000-800,000 บาท เนื่องจากต้องการหนีจากคู่แข่งที่ลงมาทำตลาดราคา 1-2 ล้านบาทกันหลายราย คาดว่าจะสรุปผลการลงทุนและซื้อที่ดินได้ภายในครึ่งปีแรก และจะได้เห็นการลงทุนในราวปลายปีนี้
|