|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ลูกบ้าน ธอส.รับโชคปีใหม่ แบงก์ปรับดอกเบี้ยกู้อีก 0.25% สูงกว่าแบงก์พาณิชย์ 0.75% คนวงการแนะให้รอภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นให้นิ่งก่อนตัดสินใจ ชี้ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น 1% จ่ายเงินเพิ่มอีก 7.5% จะรีไฟแนนซ์คุ้มหรือไม่ขึ้นกับวงเงินและระยะเวลากู้ ส่วน "ไชยยศ" ระบุชัดดัน บตท.หนุนคนมีรายได้น้อยมีบ้านแทน ธอส.
เปิดศักราชปี 2549 ผู้ที่เป็นลูกค้าของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) คงต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอีก หลังจากธนาคารที่มีหน้าที่ช่วยเหลือให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ได้มอบขวัญพิเศษให้โดยมีผลตั้งแต่ 4 มกราคม โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าทั่วไปขึ้นอีก 0.25% เป็น 7.25% สูงสุดในบรรดาดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ซื้อบ้าน
ที่ผ่านมา ธอส.ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ 1 กันยายน 2548 จนถึง 4 มกราคม 2549 ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จากดอกเบี้ยลูกค้าทั่วไปที่ 6.25% ขยับเป็น 7.25% หรือปรับเพิ่มขึ้น 1% ภายในระยะเวลา 4 เดือน
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ที่ 6.5% เท่ากับว่าดอกเบี้ยกู้ยืมของ ธอส. สูงกว่าแบงก์พาณิชย์ถึง 0.75% ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินของรัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ด้วยการรับซื้อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จากสถาบันการเงิน ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่ต่ำกว่า ธอส. โดยดอกเบี้ยลอยตัวใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี(MLR) ของธนาคารกรุงไทยเป็นหลักคิดที่ 6.5%
ดอกขึ้น 1% จ่ายเพิ่ม 7.5%
แหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นมา 1% ย่อมทำให้ค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระสูงขึ้น โดยยกตัวอย่างวงเงินกู้ 1 ล้านบาท กำหนดผ่อนชำระ 20 ปี อัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ 6.25% จะผ่อนชำระต่อเดือนที่ 7,309 บาท ครบกำหนดจะต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น 1.75 ล้านบาท หากดอกเบี้ยขยับขึ้นเป็น 7.25% วงเงินกู้ 1 ล้านบาท ระยะเวลา 20 ปี ต้องผ่อนชำระเดือนละ 7,903 บาท ครบกำหนดต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น 1.9 ล้านบาท มีส่วนต่างกันถึง 142,675 บาท หรือต้องจ่ายมากกว่าเดิมคิดเป็น 7.5%
"ตอนนี้ตอบยากว่าควรจะรีไฟแนนซ์บ้านหรือไม่ เพราะถ้าส่วนต่างยังมีแค่ 1% อาจจะไม่คุ้มกับการย้ายสถาบันการเงิน ทั้งนี้ต้องขึ้นกับวงเงินกู้และระยะเวลาที่ผ่อนชำระ ที่สำคัญคือขณะนี้อัตราดอกเบี้ยยังไม่นิ่ง หากมองในแง่ดีมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารพาณิชย์เอกชนอาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ธอส.ในระยะยาว"
เขาแนะนำว่า ลูกค้าของ ธอส.ขณะนี้คงต้องยอมรับสภาพดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าสถาบันการเงินอื่นไปก่อน รอให้ตลาดดอกเบี้ยนิ่งกว่านี้ก่อน คาดว่าดอกเบี้ยในปีนี้คงปรับขึ้นได้อีกไม่มากนัก อาจจะไม่ถึง 1% อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ หลังจากดอกเบี้ยนิ่งแล้วค่อยมาพิจารณากันอีกครั้ง
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นสำหรับผู้กู้ยืม แยกเป็นผู้กู้ยืมที่เลือกผ่อนชำระนานที่สุด กรณีนี้หากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นคงไม่สามารถขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไปได้อีก ดังนั้นธนาคารจะปรับยอดเงินผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ขอกู้ที่เลือกระยะเวลาผ่อนชำระเช่น 20 ปี การผ่อนชำระจริงก็อาจจะเลยกำหนดไปหากผู้กู้ยังผ่อนชำระเท่าเดิม เช่นเป็น 22 หรือ 23 ปีเป็นต้น
คนจนติดภาพ ธอส.
แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่า ลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง บ้านที่เลือกจึงมักเป็นทาวเฮ้าส์เป็นหลัก แม้ว่าเราจะมีสถาบันการเงินอื่นเสนอให้กับลูกค้า แต่เกือบร้อยละ 90 ยังคงเชื่อมั่นใน ธอส. แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าสถาบันการเงินอื่น เขามั่นใจเพราะว่าเป็นธนาคารของรัฐ เราก็ต้องให้สิทธิลูกค้าเป็นผู้เลือกสถาบันการเงินเอง
ลูกค้าที่เลือกผ่อนชำระกับ ธอส. คงเป็นหน้าที่ของลูกค้าเองที่จะต้องคำนวณว่าจะผ่อนชำระกับ ธอส.ต่อไปหรือจะเปลี่ยนสถาบันการเงิน โดยเฉพาะหลังจากเข้าสู่เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยลอยตัวและผู้กู้ไม่มีสวัสดิการมาช่วยลดดอกเบี้ย ถือว่าโชคไม่ดี ทางที่ดีที่สุดคงเป็นการเลือกอัตราดอกเบี้ยคงที่กับ ธอส.อีกครั้ง
ที่ผ่านมาภาพของ ธอส. เป็นธนาคารที่ผู้มีรายได้น้อยเลือกใช้บริการสำหรับการผ่อนชำระบ้านมากที่สุด เช่น บ้านการเคหะแห่งชาติ บ้านมั่นคง บ้านเอื้ออาทร บ้านธนารักษ์ แต่ถึงวันนี้ ธอส.มีภาระกิจที่ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ต้องระดมทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อจึงต้องสูงตามไปด้วย
ปัจจุบันบทบาทของธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ถึงวันนี้ ธอส.อาจจะไม่ใช่ธนาคารที่สนับสนุนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในความหมายนี้คืออัตราดอกเบี้ยต่ำอีกต่อไป เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยที่สูงที่สุดในระบบเวลานี้ อีกทั้งไชยยศ สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าไปแก้ปัญหาในบรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(บตท.) ได้เตรียมหาปรับบทบาทของ บตท. ให้มุ่งเน้นสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
|
|
|
|
|