|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
- “สถานีเพลงออนไลน์” เครื่องมือเพื่อความอยู่รอด ที่กำลังจะพลิกโฉมวงการเพลงครั้งใหญ่
- อาร์.เอส. นำร่องผุดระบบดาวน์โหลดเพลงรูปแบบ Prepaid สร้างพฤติกรรมผู้บริโภคจ่ายตังก่อนฟังเพลง ขณะที่ค่ายเล็กๆกำลังดูลู่ทางก่อนกระโดดตามเป็นรายต่อไป
“สถานีเพลงออนไลน์ ช่องทางการจำหน่ายเพลงรูปแบบใหม่ จะเป็นทางเลือกที่ทุกค่ายเพลงต้องมีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แม้อาจไม่ใช่เทรนด์ แต่จะเป็นเครื่องมือช่วยสร้างรายได้ ที่ทุกค่ายเพลงจำเป็นต้องมีเพื่อความอยู่รอด นอกจากนี้มันจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะพลิกโฉมวงการเพลงอีกด้วย ซึ่งทั่วโลกก็หันมาใช้วิธีนี้กันหมดแล้ว” วินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรช แอร์ จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการ รายสัปดาห์”
ที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ที่เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงต้องเจอแบบไม่สามารถหลีกเลี่ยง หรือแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาด นั่นคือ การลักลอบขายซีดีเถื่อนในเชิงพาณิชย์ และการกอปปี้โดยผู้บริโภค โดยเฉพาะเพลงดังติดหู หรือขึ้นชาร์ทท็อป 10 ตามคลื่นวิทยุต่างๆ ที่ทำให้ศิลปินหลายรายหมดแรง เมื่อรู้ว่าจำนวนผู้กอปปี้โดยไม่ได้รับอนุญาตพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยอดขายเทปไม่กระเตื้องขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ค่ายเพลง ศิลปินจะร่วมรณรงค์และหาทางปราบปรามอย่างจริงจังก็ตาม
ส่งผลให้หลายค่ายจึงพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการลงทุนติดตั้งระบบป้องกันการดาวน์โหลด หรือการกอปปี้ โดยอนุญาตให้ฟังได้เพียงอย่างเดียว แต่ก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะยังมีเว็บไซต์ใต้ดินจำนวนมากที่ยังเอื้อต่อการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ ดังนั้น หลายค่ายที่เคยต่อต้านจึงปรับแผนหันมาหาทางออกที่สอดคล้องกับสถารณการณ์ดังกล่าว ด้วยการให้บริการสถานีเพลงออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่นับเป็นค่ายแรกที่ริเริ่มหันมาใช้กลยุทธ์ดังกล่าว ภายใต้ชื่อ eotoday.com เมื่อราว 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อเปิดให้บริการซื้อหาเพลง และสร้างอัลบั้มเพลงส่วนตัวตามความชอบ ตามลิขสิทธิ์เพลงของแกรมมี่มากกว่า 1,000 เพลง แต่จากความไม่ต่อเนื่องและพัฒนาอย่างจริงจังของแกรมมี่ ส่งผลให้เว็บไซต์ดังกล่าวต้องปิดตัวลงโดยปริยาย
ทว่า ปัจจุบัน “สถานีเพลงออนไลน์” กลับเป็นช่องทางจำหน่ายเพลงรูปแบบใหม่ ที่เป็นทางเลือกสำคัญที่ทุกค่ายเพลงจะต้องมี คล้ายกับบังคับเลือกเพื่อความอยู่รอดและชดเชยรายได้ที่เสียไป โดยตอนนี้อาร์.เอส.เป็นค่ายที่มีความชัดเจนและคืบหน้ามากสุดในช่องทางดังกล่าว ขณะที่ค่ายเพลงเล็กๆส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะโดดเข้าร่วมด้วยหรือไม่
เป็นไปได้ว่า สถานีเพลงออนไลน์จะเป็นตัวพลิกโฉมวงการเพลงของไทย โดยเฉพาะการผลิตผลงานที่จะมีความอิสระมากขึ้น ศิลปิน เจ้าของลิขสิทธิ์มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากยอดขายเทปเพียงอย่างเดียว รวมทั้งนักร้องหน้าใหม่ก็มีโอกาสนำเสนอผลงานได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องรอค่ายใหญ่เหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดของเทปหรือซีดีอาจจะมีขนาดเล็กลงในช่องทางจำหน่ายเดิมแต่จะเติบโตขึ้นในช่องทางนี้แทน แต่ไม่ได้อยู่ในรูปของอัลบั้มเหมือนที่ผ่านมา
วินิจ กล่าวต่อว่า อันที่จริงวงการเพลงบ้านเราควรจะนำเครื่องมือนี้มาใช้นานแล้ว ตอนนี้ถือว่าเราช้าไปแล้วประมาณ 2 – 3ปี เพราะเทียบกับประเทศอื่นไทยถือว่ามีศักยภาพในการพัฒนาช่องทางสถานีออนไลน์ได้มาก เพราะค่าติดตั้ง หรือการจับมือกับเว็บไซต์ดังๆเป็นพันธมิตรไม่ใช่เรื่องยาก และมีราคาไม่สูงมากนัก รวมทั้งจำนวนผู้บริโภคที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด ซึ่งหากค่ายเพลงหันมาพัฒนาช่องทางนี้อย่างจริงจัง คาดว่าจะช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้มากขึ้น ดังนั้นตอนนี้ทุกคน ทุกค่ายต้องปรับตัวให้เร็วอย่างน้อยไม่เกิน 2 ปีนี้ทุกอย่างต้องมีความชัดเจนเต็มรูปแบบ นั่นคือ ผู้บริโภคต้องยอมรับ เป็นที่แพร่หลาย และมีการเปลี่ยนแปลงต่อยอดพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“ตอนนี้ขึ้นอยู่กับความไวในการตัดสินใจและลงมือทำของค่ายเพลง เหมือนว่าใครทำก่อน ได้ก่อน เพราะเชื่อว่าอนาคตทุกค่ายเพลงต้องมีสถานีเพลงออนไลน์เป็นช่องทางจำหน่ายเพลงเหมือนกัน”
R.S. ชูสถานีเพลงเป็นช่องทางไหลของธุรกิจ
ในบรรดาค่ายเพลงที่พบว่า ถูกสถานีเพลงบนอินเทอร์เน็ต นำผลงานเพลงออกเผยแพร่ให้มวลหมู่นักท่องเน็ตได้ดาวน์โหลดฟังกันมากที่สุด ไม่มีค่ายไหนเกิน อาร์.เอส.โปรโมชั่น เพราะไม่ว่าจะเป็นเพลงอัลบั้มชุดล่าสุด ของศิลปินอย่าง หนุ่มบาวสาวปาน , ไอน้ำ , ดัง-พันกร , โฟร์-มด หรือจะเป็นเพลงรุ่นเก่า อย่าง รวมดาว คีรีบูน อิทธิ พลางกูร เว็บดัง ๆ ที่มีสถานีเพลงเปิดให้บริการ ต่างมีเพลงของอาร์.เอส.ไว้คอยบริการถ้วนหน้า
ประสงค์ รุ่งสมัยทอง รองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งดูแลงานด้าน Asset Management บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น จำกัด(มหาชน) ชี้แจงว่า ถือเป็นการทำธุรกิจขายเพลงบนช่องทางใหม่ ที่อาร์.เอส.มองว่ากระแสของตลาดกำลังมุ่งไปทางนั้น ก็คงไม่ควรต่อต้านกระแส
ทั้งนี้ หลังจากซุ่มวางแผนมานานก็ประกาศชัดเจนว่าจะไม่เก็บลิขสิทธิ์เพลงสำหรับผู้เปิดบริการสถานีเพลงออนไลน์ เพื่อกระชับสัมพันธ์เป็นพันธมิตรช่วยเหลือกันในการดำเนินธุรกิจ โดยอาร์.เอส.เห็นว่า ทิศทางของการบริโภคความบันเทิงด้านเพลงของผู้บริโภคกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่โลกไซเบอร์ การที่ค่ายเพลงจะยึดติดอยู่กับรูปแบบการขายเทป และซีดี และคอยไล่จับการดาวน์โหลดเพลงบนเว็บไซต์ลงบนเครื่องเล่นเอ็มพี 3 ของผู้บริโภค จะคล้ายกับเกมแมวไล่จับหนูที่ไม่มีวันสิ้นสุด คิดได้เช่นนั้น อาร์.เอส.จึงเปิดตลาดขายเพลงบนเว็บไซต์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยเปิดเว็บไซต์ Mixiclub.com
“เรามองการกอปปี้เพลงผิดกฎหมายที่มีอยู่ขณะนี้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกกอปปี้วางขายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งส่วนนี้เราใช้การกวาดจับ ก็คิดว่าสามารถควบคุมได้ แต่อีกกลุ่มเป็นการกอปปี้ของผู้บริโภค จริง ๆ คนกลุ่มนี้ไม่อยากทำผิดกฎหมาย แต่มองว่า การซื้อที่ต้องซื้อ CD เพลงอัลบั้มของศิลปินที่มีเพลงชอบอยู่แค่ 2-3 เพลง เหมือนไม่มีทางเลือก หากมีทางที่จะเลือกซื้ออัลบั้มที่มีแต่เพลงที่ชอบ จากศิลปินหลากหลายได้ก็ยินดีสนับสนุน แต่ที่ผ่านมาไม่มีจึงต้องดาวน์โหลดแบบผิดกฎหมาย ส่วนนี้ไม่รู้จะจับยังไง อาร์.เอส.จึงเห็นว่าเมื่อความต้องการตรงนี้มีก็ทำให้เป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมายไปเลย ประสงค์กล่าว
การซื้อหาเพลงบน Mixiclub.com เริ่มต้นจากหาซื้อบัตรเติมเพลง RTD (Ready to Download) ซึ่งเป็นบัตร Prepaid สินค้าใหม่ที่อาร์.เอส. นำออกทำตลาด วางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ ร้านหนังสือ หรือเว็บขายสินค้าชั้นนำ โดยบัตรมีมูลค่า 90 บาท แล้วเข้าไปดาวน์โหลดเพลงใน www.mixclub.com สามารถดาวโหลดเพลงมาเก็บไว้ได้ 1 อัลบั้ม 10 เพลง หรือหากจะเลือกบางเพลง ก็สามารถดาวน์โหลดได้ในราคาเพลงละ 15 บาท โดย Mixiclub.com จะมีเพลงของอาร์.เอส.ทั้งใหม่และเก่า รวมถึงมีเพลงของค่ายอินดี้พันธมิตรคอยให้บริการ
ส่วนการที่เพลงของอาร์.เอส.ไปเผยแพร่อยู่ตามเว็บไซต์ชั้นนำต่าง ๆ ให้นักท่องเน็ตได้โหลดฟังนั้น ถือเป็นการโฆษณา และโชว์สินค้าตัวอย่างเพื่อเชื้อเชิญให้ใช้บริการดาวน์โหลดเพลง โดยคุณภาพของเพลงจากอาร์.เอส.ที่อยู่ตามเว็บต่าง ๆ จะมีคุณภาพต่ำที่ใช้เพื่อการฟังบนเว็บเพียงอย่างเดียว และไม่สามารถโหลดมาเก็บบนเครื่องเอ็มพี 3 ได้ เพราะอาร์.เอส.ก็มีการลงทุนเพื่อป้องกันการดาวน์โหลดอย่างจริงจัง หากต้องการโหลดเก็บไว้ก็ต้องซื้อหาบัตร RTD (Ready to Download) และเข้าสู่ระบบการซื้อขายเพลงของอาร์.เอส.
เว็บต่าง ๆ ที่นำเพลงของอาร์.เอส. ไปเป็นคอนเทนท์ให้บริการ เหมือนเป็นการช่วยโปรโมตเพลง คล้าย ๆ กับที่สถานีวิทยุเปิดเพลง เมื่อเพลงเป็นที่รู้จักก็จะช่วยเพิ่มยอดขายอัลบั้มนั้น ๆ แต่ก็จะมีบางเว็บไซต์ที่เป็นการทำสัญญาธุรกิจร่วมกันกับอาร์.เอส. อาทิ sanook.com หรือ kapook.com โดยเว็บเหล่านี้จะทำหน้าที่ขายเพลงเช่นเดียวกับ Mixiclub.com เป็นเหมือนร้านค้าอีกร้านของอาร์.เอส. เมื่อขายได้ก็มีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้กันไป นอกจากนี้ยังจะมีการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างจุดดึงดูดให้มีผู้เข้าใช้บริการเว็บพันธมิตรเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นด้วย อาทิ การนำศิลปินอาร์.เอส.เข้ามาร่วมสนุกกับสมาชิกเว็บนั้น ๆ
ผลตอบรับของ บัตร RTD น่าพอใจ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อผู้บริโภคหันมาซื้อหาเพลงผ่านทางอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบให้เทป และซีดี ซึ่งเคยเป็นเส้นเลือดหลักของธุรกิจเพลงได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนนั้น ประสงค์ ยอมรับว่า ก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะครั้งหนึ่งเทปเพลงก็มียอดขายลดลงเมื่อซีดีเข้ามาแทนที่ เมื่อวันนี้สื่ออินเทอร์เน็ตจะเข้ามาแทนที่ อาร์.เอส.ก็ควรเดินไปกับกระแส เพราะเป็นกระแสที่เชื่อว่าเป็นของจริง ต้นทุนของการซื้อหาเพียง 90 บาท ต่อหนึ่งอัลบั้ม ที่ถูกกว่าการซื้อหาซีดีแผ่นละกว่า 100 บาท เนื่องจากไม่มีต้นทุนปก กล่อง รวมถึงส่วนแบ่งร้านค้า น่าจะทำให้ยอดขายของแต่ละอัลบั้มเพิ่มมากขึ้นด้วย สุดท้ายศิลปินก็ได้รับส่วนแบ่งจากเพลงที่ขายได้เท่ากันไม่ว่าจะขายผ่านช่องทางใด และอาร์.เอส. ก็มีรายได้มากขึ้น
วินิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรช แอร์ ให้ทัศนคติว่า การผุดระบบดาวน์โหลดเพลงแบบ Prepaid หรือ จ่ายก่อนใช้ทีหลัง จะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการเปลี่ยนพฤติกรรมการดาวน์โหลดเพลงของผู้บริโภค ซึ่งคล้ายยุคที่โทรศัพท์เคลื่อนที่มีระบบ Prepaid เป็นครั้งแรก ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกในตอนนั้น แต่สุดท้ายก็เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
สำหรับ การนำระบบ Prepaid มาใช้ในวงการเพลง แม้จะเป็นไปได้ยากแต่หากเป็นที่ยอมรับในหมู่นักฟังเพลงที่นิยมการดาวน์โหลดเพื่อสร้างอัลบั้มส่วนตัว ย่อมถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการเพลงอย่างมาก เพราะจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการเก็บค่าบริการ หรือค่าลิขสิทธ์ได้โดยปริยาย
แกรมมี่เยื้องย่างธุรกรรมออนไลน์
อีกฝากของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลับเลือกที่จะใช้เว็บไซต์ของตนเอง gmember.com สร้างสถานีเพลง และเกือบจะเป็นสถานีเพลงบนอินเทอร์เน็ตสถานีเดียวที่สามารถโหลดเพลงจากค่ายอากู๋มาฟังได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกสินค้าหรือบริการอะไร
ขณะที่อาร์.เอส. เลือกที่จะเดินตามน้ำไหล โดดเข้าสู่กระแสไซเบอร์ทันทีที่พร้อม จีเอ็มเอ็มแกรมมี่กลับตั้งท่าเตรียมพร้อมอยู่นานจนถึงวันนี้ไม่มีความเคลื่อนไหว
ย้อนกลับไปราว 4-5 ปีที่ผ่านมา แกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ก่อตั้งเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นในชื่อ eotoday.com มอบหมายให้มือดีในวงการไอที วราวิช กำภู ณ อยุธยา มาเป็นผู้ดูแล พร้อมประกาศเปิดบริการซื้อหา สร้างอัลบั้มเพลงส่วนตัว จากลิขสิทธิ์เพลงของแกรมมี่ที่มีกว่า 1,000 เพลง เปิดรายชื่อเพลงให้ผู้เข้าชมได้เตรียมควักกระเป๋าดาวน์โหลด แต่จนแล้วจนรอด กลายเป็น วราวิช กำภู ณ อยุธยา เก็บข้าวของลาออกไป เว็บไซต์ eotoday.com ปิดตัวลง แปลงโฉมกลายเป็น gmember.com ภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โดเมน ที่ถูกตั้งขึ้นใหม่เพื่อดูแลธุรกิจคอนเทนท์ออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยลงทุนวางระบบไอทีไปกว่า 1,000 ล้านบาท มอบหมายให้ สุวัฒน์ ดำรงชัยธรรม หลานชายมือขวาของอากู๋ มาเป็นผู้กำกับ
สุวัฒน์ เคยกล่าวไว้ว่า โลกของออนไลน์จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกลุ่มคนในสังคมใหญ่ ที่ต้องการความสะดวกสบาย และไลฟ์สไตล์ในชีวิต ดังนั้นเว็บไซต์ gmember.com จะเป็นทำหน้าที่เป็นเหมือนห้างออนไลน์ที่รวมเพลง และคอนเทนต์ต่างๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด”
แต่ถึงวันนี้ gmember.com ก็ทำหน้าที่เหมือนเว็บวัยรุ่นที่มีข่าวสารศิลปิน มีกิจกรรมดึงดูด มีเว็บบอร์ด มีภาพให้ดาวน์โหลด และอาจจะพิเศษที่เป็นไซต์สถานีเพลงเอกซ์คลูซีฟ ที่ผู้ท่องเน็ตทุกคนจะสามารถโหลดเพลงของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่มาฟังได้อย่างถูกกฎหมาย เว็บเดียวในประเทศไทยเท่านั้น
เลิฟอีส - รถไฟดนตรี สนใจแต่คอยตลาดก่อน
ในฟากของค่ายเพลงอย่าง “เลิฟอีส-มิวสิค” เองก็ยอมรับว่า การดาวน์โหลดเพลงผ่านเว็บไซต์ของนักฟังเพลงที่นิยมท่องเว็บไซต์ ก็ส่งผลกระทบต่อค่ายเพลงของตนเช่นกัน ซึ่งเป็นผลกระทบที่ยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ยอมรับว่ามีแน่นอน
เหตุที่ผลกระทบของการดาวน์โหลดเพลงผ่านเวปไซต์ส่งผลกระทบต่อค่ายเพลง “เลิฟอีส-มิวสิค” ไม่มากนัก เป็นเพราะกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพลงของค่ายนี้จัดเข้าประเภท “แฟนพันธุ์แท้” ของเพลงอย่างแท้จริง เพราะกลุ่มลูกค้าของค่ายเพลงนี้ไม่ได้ต้องการฟังแค่เพลงอย่างเดียว แต่ยังมองว่าทั้งเทป ซีดีเพลง เป็นของสะสมอย่างหนึ่งด้วย ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นของกระแสการโหลดเพลงจากเวปไซต์ยังไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก
“แม้ว่าในขณะนี้ทาง “เลิฟอีส-มิวสิค” จะยังไม่มีบริการที่ตอบสนองคนฟังเพลงในลักษณะนี้ มีแค่เพียงการดาวน์โหลดเพลงของศิลปินในค่าย เพื่อเป็นการตอบแทนคนฟังก็ตาม แต่เราก็ให้ความสนใจกับพฤติกรรมการฟังเพลงในรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน” แหล่งข่าวระดับสูงภายใน กล่าวถึงกระแสการฟังเพลงรูปแบบใหม่
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงภายในค่ายเพลง ยังเชื่ออีกว่า พฤติกรรมการดาวน์โหลดเพลงในลักษณะนี้จะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ของการทำตลาดค่ายเพลงในอนาคต เพราะปริมาณของผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีอัตราการก้าวกระโดดที่รวดเร็วมาก ดังนั้นตลาดตรงนี้น่าจะใหญ่เป็นเงาตามตัวด้วย
ขณะที่ ค่ายเพลงรถไฟดนตรี ก็ให้ความสนใจช่องทางดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาและศึกษาตลาดอยู่ โดยแหล่งข่าวภายในค่ายเพลง กล่าวกับ “ผู้จัดการ รายสัปดาห์” ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะเข้ามาใช้ช่องทางดังกล่าวด้วย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและมากขึ้น
เพลงออนไลน์ เพิ่มจำนวนเข้าเว็บ
เพลงออนไลน์ เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ได้รับความนิยมและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเว็บไซต์ที่จะขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เพราะหน้าเว็บเพลงออนไลน์จะเป็นส่วนหนึ่งในลิงค์บันเทิง วาไรตี้ ซึ่งถือว่ามีศักยภาพในการดึงดูดให้คนเข้ามาในเว็บไซด์ได้จำนวนมาก
ในทางเดียวกันสิ่งที่เว็บไซต์จะได้รับจากเพลงออนไลน์คือ สามารถนำประโยชน์ของตัวเลขจำนวนครั้งของผู้ที่เข้าท่องในเว็บไซต์ไปนำเสนอให้ลูกค้าได้เห็นถึงปริมาณคนที่เข้ามาในเว็บไซต์ ซึ่งก็จะทำให้ได้รับโอกาสในการลงโฆษณาจากทุกๆแวดวงธุรกิจ
กษมาช นีรปัทมะ รองบริหารฝ่ายการตลาดเอ็มเว็บ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวไว้ว่า “ข้อดีที่เว็บสนุกดอทคอมมีเพลงออนไลน์ไว้บริการ จะมีประโยชน์ทางอ้อม ส่งผลทำให้พนักงานขายโฆษณาของเอ็มเว็บหาสปอนเซอร์ได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้คนมาใช้บริการของเว็บเพิ่มขึ้น”
ส่วนเว็บไซด์ที่ติดอันดับท็อปไฟว์ ความนิยมส่วนหนึ่งจะได้จากการนำเอาเพลงออนไลน์มาใส่ไว้ในเว็บไซด์นั้น โดยข้อมูลจากทรูฮิตดอทเน็ท ซึ่งเป็นศูนย์รวมสถิติเวบไทย ในวันที 10 มกราคม 2549 รายงานว่าแค็ตตาล็อคยอดนิยม 5 อันดับแรกคือธุรกิจ อินเทอร์เน็ต ช๊อปปิ้ง บันเทิงและท่องเที่ยว
สำหรับพฤติกรรมของการเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับความบันเทิงนั้น ส่วนใหญ่จะเข้ามาใช้บริการต่างๆมากมายอาทิเช่น ดูทีวีผ่านอินเตอร์เน็ต ส่ง sms ฟรี ฟังวิทยุผ่านอินเตอร์เน็ต ฟังเพลงออนไลน์ เล่นเกมส์ผ่านอินเตอร์เน็ต เว็บบอร์ด และห้องสนทนาเป็นต้น
นอกจากนั้น ในวันที่ 9 มกราคม 2549 ท็อปไฟว์เว็บไซต์ ที่มีปริมาณจำนวนผู้เยี่ยมชมมากเป็นอันดับ1 และ2 ของประเทศไทยคือ สนุกดอทคอม ผู้เข้าชมเว็บไซต์ 184077 IP เพิ่มขึ้น 14.76 %และกระปุกดอทคอม 123154 IP เพิ่มขึ้น 4.37 %
โดยทั้งสองเว็บไซต์เป็น เว็บบันเทิง วาไรตี้ ที่นักฟังเพลงออนไลน์เปิดเข้าไปใช้บริการมากที่สุด ส่วนอันดับ3คือ เว็บข่าว-สื่อ ผู้จัดการออนไลน์ อันดับ4 เว็บบุคคล สังคม กระดานข่าว เอ็มไทยดอทคอม และอันดับห้า พันทิปดอทคอม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ได้เปิดลิงค์เพลงออนไลน์มาให้บริการในเว็บไซด์ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันถ้าแบ่งตามประเภท 6 กลุ่ม หน้าเว็บไซต์บันเทิงจะเป็นหน้าเวบที่คนนิยมเข้ามาใช้บริการมากที่สุดด้35.29 % หน้าเวบบุคคลและสังคม10.01 % หน้าข่าวและสื่อ 7.60 % อินเทอร์เน็ต 6.58 % ธุรกิจ 6.16 % และชอปปิ้ง 4.84 %
|
|
|
|
|