* เบื้องหลังการขายหุ้น ชินคอร์ป ของตระกูลชินวัตรครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้คนในสังคมต้องค้นหาคำตอบ
* ขายเพื่ออะไร และเอาเงินไปทำอะไร
* เพราะคนอย่าง "ทักษิณ" ไม่เคยคิดว่า 1บวก1 เป็น 2
* แต่ต้องเป็นมากกว่า 2 หลายเท่าตัว ดังนั้น ดีลครั้งนี้จึงมีค่ามากกว่าการลงทุนในระดับประเทศหรือเอเชีย
* โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ ที่จะทุ่มทุนสร้างต่อไป จะต้องสร้างชื่อเสียงและเงินทองให้กับตระกูลชินวัตรมากกว่าของเก่า...
จุดจบ "ชินคอร์ป" เลือก "สิงเทล"เข้าวินพันธมิตร
ยึด "ชินแซท"สร้างขุมทองใหม่
หมดยุค "เจ้าพ่อมือถือ" สู่ "เจ้าพ่อดาวเทียม" คุมสื่อสารโลก
ยกระดับ "โลคอลคอมพานี" สู่ ยักษ์ใหญ่ระดับอินเตอร์
10 มกราคมที่ผ่านมา เป็นวันที่แหล่งข่าวมองว่า จะเป็นวันที่มีการปิดดีลครั้งสำคัญของธุรกิจชินคอร์ป แต่ในที่สุด บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ปก็ไม่ได้มีแถลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นตามกระแสข่าวที่มีมานับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ก่อนปีใหม่แต่ประการใด
จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ดีลนี้จะเป็นเพียงแค่การปั้นราคาหุ้นธุรกิจในเครือชินคอร์ปหรือเปล่า
หากเป็นเรื่องของการปั้นราคาหุ้นแล้วละก็ ต้องยอมรับว่า นักเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกลายเป็นแมงเม่าในการสร้างราคาให้กับหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปสูงขึ้นมามาก เมื่อดูราคาหุ้นของตัวชินคอร์ปที่ซื้อขายกันในวันที่ 8 ธันวาคม 2548 ในราคา 40.50 บาท ล่าสุดราคาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 ปิดที่ราคา 45 บาท
ราคาดังกล่าวใกล้เคียงกับราคาที่ทางผู้ซื้อเคยเสนอซื้อที่ราคา 46 บาทต่อหุ้น แต่เมื่อราคาขยับมาถึง 45 บาทแล้ว ราคาที่เสนอซื้อคงจะเปลี่ยนไป ซึ่งมีแหล่งข่าวบอกมาว่า ราคาที่เสนอซื้อหุ้นของชินคอร์ปในครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ 55 บาท
ถึงแม้ว่า จะไม่มีการแถลงถึงการเปลี่ยนแปลงหุ้นในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีการปฎิเสธอย่างเป็นทางการออกมาจากชินคอร์ปเหมือนทุกครั้งที่เคยเกิดกระแสข่าวการเข้าซื้อหุ้นชินคอร์ปนับตั้งแต่ต้นๆ เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วแต่ประการใด
ช่วงเวลานั้นบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกมาชี้แจงว่า กลุ่มชินฯ ถือว่ามีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างทางการเงินและเตรียมพร้อมที่จะสร้างหนี้ใหม่เพื่อลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจใหม่ ขณะนี้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นั้นมีหนีสินลดลงเหลือเพียง 1 หมื่นล้านบาท มีผลประกอบการต่อปี 8 หมื่นล้านบาท กำไรอยู่ราวๆ 2 หมื่นล้านบาท ถือว่าแข็งแกร่งมาก หากต้องการเงินเพื่อลงทุนก็สามารถที่จะกู้เงินได้ไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท จึงไม่จำเป็นต้องขายหุ้นแต่อย่างใด
แต่นับจากนั้นมา บุญคลี ปลั่งศิริก็ได้ไม่ได้ออกมาปฏิเสธอย่างแข็งแรงอีก
เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ชินคอร์ปขายหุ้นที่มีอยู่ในมืออย่างแน่นอน เพียงแต่ว่า จะออกมาในรูปแบบใดเท่านั้น จะเป็นการขายหุ้นทิ้งทั้งหมดเหมือนอย่างที่บุญชัย เบญจรงคกุลขายยูคอมให้กับเทเลนอร์? ซึ่งเชื่อว่า ทางชิน คอร์ปคงจะไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัว เพราะธุรกิจนี้ทางพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งปลุกปั้นกลุ่มธุรกิจนี้มากับมือและเป็นธุรกิจที่ทำให้มีหน้ามีตาในสังคมวันนี้ รูปแบบนี้น่าจะตัดทิ้งไปได้
อีกรูปแบบหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก และทางแหล่งข่าววงในได้วิเคราะห์ออกมาว่า น่าจะขายหุ้นบางส่วนให้กับพันธมิตรที่ใกล้ชิดและรู้จักมานาน ด้วยการขายหุ้นที่มีอยู่ในลงเหลือประมาณ 10% แต่มีออปชั่นพิเศษพ่วงท้ายเอาไว้
สอดคล้องกับทรรศนะของอนุภาพ ถิรลาภ ผู้อำนวยการสถาบันการบริหารการสื่อสารไทยที่มีต่อหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หากชินคอร์ปขายหุ้นจริงถือเป็นเรื่องปกติ แต่คงไม่ใช่ขายทิ้งทั้งหมด น่าจะเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจาก หนึ่ง ต้องการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่โทรคมนาคม และมีโอกาสทำกำไรมากกว่า สอง ต้องการพันธมิตรหรือพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่ไม่ใช่แค่การนำเงินมาลงทุนเท่านั้น แต่ต้องการมีบริการที่ดีเหมาะสมกับตลาด เช่น การเข้าสู่ธุรกิจบรอดแบนด์หรืออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นต้น
เมื่อรูปแบบของการขายค่อนข้างชัดเจนแล้ว ที่นี่ใครจะเป็นผู้ซื้อที่เข้าป้ายในดีลนี้ รายชื่อที่ถูกเสนอชื่อเข้าช่วงชิงการซื้อหุ้นของชิน คอร์ป ธุรกิจในตระกูลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีอยู่หลายราย ไม่ว่าจะเป็นไซน่า เทเลคอมจากจีน สิงคโปร์ เทเลคอมหรือสิงเทลจากสิงคโปร์ และยังมีชื่อไมโครซอฟท์ที่โผล่ขึ้นมา โดยมีการคาดกันว่า อาจมีการพูดคุยเมื่อครั้งที่บิล เกตส์ บินมาเมืองไทยและได้หารือกับพ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อปีที่แล้ว
สิงเทลแรงคู่ดีลตัวจริง
ถึงแม้ว่า รายชื่อของผู้ซื้อชินคอร์ปมีการคาดการณ์ไปต่างๆ นานา แต่เมื่อดูจากความสัมพันธ์ทั้งทางด้านธุรกิจและความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้ว "สิงเทล" น่าจะเป็นดีลตัวจริงของชินคอร์ปในครั้งนี้ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวล่าสุดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรพาครอบครัวไปฉลองเทศกาลปีใหม่ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะลงตัวเสียเหลือเกิน นั้นทำให้ สิงเทลซึ่งเป็นพันธมิตรมานานในเอไอเอสน่าจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่ชินคอร์ปเลือกมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รับช่วงซื้อหุ้นจากชินคอร์ป ปล่อยให้ชื่อของไชน่า เทเลคอมหรือไมโครซอพท์เป็นเพียงชื่อที่ช่วยสร้างมูลค่าหุ้นให้สูงขึ้นเท่านั้น
ปัจจุบัน สิงเทลถือหุ้นอยู่ในชินคอร์ปอยู่1.08% และมีหุ้นในเอไอเอสอยู่19.26% จริงๆ แล้ว เป้าหมายของสิงเทลในประเทศไทย คือ การเป็นเจ้าของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสหรือเอไอเอสเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการสิงเทลในการเป็นโกบอลโอเปอเรเตอร์ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือเพื่อสร้างเครือข่ายให้บริการครอบคลุมและให้มีฐานลูกค้ามากที่สุด ในขณะที่เอไอเอสเองในวันนี้ไม่มีแผนที่จะรุกไปให้บริการในต่างประเทศ รวมทั้งเอไอเอสอยู่ในช่วงที่ต้องลงทุนจำนวนมากในระดับหลายหมื่นล้านบาทสำหรับเทคโนโลยี 3จี แต่ถ้าหากสิงเทลซื้อแต่เอไอเอสบริษัทเดียว ทางชิน คอร์ปต้องเสียภาษีในการขายหุ้นเอไอเอสค่อนข้างสูงซึ่งเรื่องนี้ทางชินคอร์ปคงไม่ยอมเสียเปรียบในจุดนี้อย่างแน่นอน จึงทำให้รูปแบบการซื้อขายแทนที่จะเป็นการซื้อเอไอเอส สิงเทลจึงต้องหันมาซื้อหุ้นชินคอร์ปแทน
ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีกระแสข่าวจากวงในชินคอร์ปออกมาว่า ทางสิงเทลได้เสนอซื้อหุ้นชินคอร์ปในส่วนที่ถือในเอไอเอสในระดับราคาประมาณ 46.25 บาทต่อหุ้น โดยเชื่อว่าหากสิงเทลซื้อหุ้นชินคอร์ปทั้งหมด อาจไม่ใช่ความต้องการของสิงเทลมากนักเพราะสิงเทลไม่ต้องการแคปปิตอล โอเคหรือแอร์เอเชีย รวมทั้งไอทีวีในขณะที่เชื่อได้ว่าตระกูลชินวัตรก็คงไม่ต้องการทิ้งธุรกิจโทรคมนาคมแบบลาจาก โดยเฉพาะดาวเทียมไอพีสตาร์ที่คาดว่าจะเป็นแหล่งปั๊มเงินชั้นดีในอนาคตอันใกล้ ซึ่งหากดีลนี้จบด้วยการที่สิงเทลซื้อหุ้นชินคอร์ปทั้งหมดก็มีความเป็นไปได้สูงที่ตระกูลชินวัตรจะขอซื้อธุรกิจในส่วนที่สิงเทลไม่ต้องการกลับมา ซึ่งการซื้อแบบนี้มีรายละเอียดและความยุ่งยากพอสมควรเพราะทั้งแอร์เอเชียและแคปปิตอล โอเคต่างก็มีพาร์ตเนอร์ต่างชาติ
ทุ่มชินแซทเต็มที่
เมื่อตระกูลชินวัตรยอมลดบทบาทการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในชินคอร์ปให้กับสิงเทลแล้ว ตระกูลชินวัตรจะนำเม็ดเงินที่ได้จากการขายในครั้งนี้ที่มีการประเมินว่าจะสูงเฉียดแสนล้านบาท ทางกลุ่มชินคอร์ปจะนำเม็ดนี้ไปลงทุนอะไร ซึ่งมีการคาดการณ์ไปต่างๆ นานา บ้างก็มองว่า จะนำเม็ดเงินดังกล่าวไปลงกลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มธุรกิจนอล-เทเลคอมบ้าง
จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือและใกล้ชิดตระกูลชินวัตริเป็นอย่างดีได้เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงกลุ่มธุรกิจที่ตระกูลชินวัตรจะลงทุนจำนวนมากก็คือ ธุรกิจดาวเทียมของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) โดยการซื้อหุ้นในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร คงจะต้องมีออปชั่นที่ทางชินคอร์ปข้อสงวนสิทธิในการขอซื้อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบใดนั้นคงจะต้องติดตามกันต่อไป
ทั้งนี้เมื่อมองธุรกิจที่มีอนาคตในมือชินคอร์ปนอกจาก เอไอเอสที่เป็นธุรกิจทำเงินระดับ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการเข้าซื้อครั้งนี้ของสิงเทลแล้ว ก็มีธุรกิจดาวเทียมที่บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจอยู่ ที่มองว่า กำลังก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งรายได้ในอนาคตของชินคอร์ป โดยมีดาวเทียม "ไอพีสตาร์" เป็นหัวหอกในการสร้างรายได้เข้าสู่บริษัท เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) เชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ ในการให้บริการบนอินเทอร์เน็ตโปรโตคอลหรือไอพี ซึ่งอนาคตของธุรกิจโทรคมนาคมต่างมุ่งไปในเส้นทางนี้ นอกจากนั้นไอพีสตาร์ยังสามารถใช้เป็นระบบสื่อสัญญาณกับสถานีฐานโทรศัพท์มือถือในระบบจีเอสเอ็มได้ด้วย หมายถึงสามารถให้บริการโทรศัพท์มือถือได้เช่นเดียวกับเอไอเอส
ทั้งนี้ เนื่องจากอนาคตธุรกิจของเอไอเอสกำลังจะเผชิญกับความยากลำบากของการแข่งขันราคาที่ดุเดือด กำไรที่ลดลง ในขณะที่ต้องลงทุนจำนวนมากกับเทคโนโลยี 3จี ภายใต้สภาพการทำธุรกิจที่ปราศจากแต้มต่อในอนาคตไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเชื่อมโครงข่ายหรือส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งต่อไปถือเป็นเรื่องปวดหัวของเจ้าของรายใหม่อย่างสิงเทล ในขณะที่ตระกูลชินวัตรก็จะกอบผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากไอพีสตาร์
ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมที่ออกแบบมาให้บริการผู้ใช้บริการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้รับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ถึง 4 ล้านจุดในทุกตารางเมตรของภูมิภาค ในอัตราประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แต่ถ้าเป็นการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะขยายเครือข่ายไปในพื้นที่ที่ห่างไกลได้ในอัตรา 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนต่อผู้ใช้ในกลุ่มโรงเรียน สถานที่ราชการ และบริษัทเอกชนที่มีเครือข่ายของตนเองที่ส่งสัญญาณภาพ เสียงและข้อมูลได้พร้อมกัน ขณะที่สถานีโทรทัศน์จะรับข่าวได้จากทั่วทุกมุมของทวีปภายในเวลาแค่ 30 นาที
"ภายใน 1 ปีน่าจะมีลูกค้าถึง 2 แสน เชื่อว่า จะมีรายได้เข้ามาอีกมากหลังจากนั้น และหากสำเร็จตามเป้าหมายก็มีโอกาสที่จะนำบริการดังกล่าวไปให้บริการในยุโรปตะวันออก และละตินอเมริกา จากที่ให้บริการอยู่แล้วในเอเชีย-แปซิฟิก" ดร.ดำรงค์ เกษมเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชินแซทเทลไลท์เ จำกัด (มหาชน) เคยเล่าให้ฟังถึงบทบาทของไอพีสตาร์เอาไว้เมื่อครั้งที่ยิงดาวเทียวขึ้นสู่วงโคจรค้างฟ้า
ดร.ดำรงยังบอกถึงบทบาทของดาวเทียม ไทยคม 1 ไทยคม 2 ไทยคม 3 และ ไทยคม 5 ที่กำลังมีแผนที่จะยิงขึ้นสู่วงโคจรภายในปีหน้าว่า ดาวเทียมดังกล่าวจะโฟกัสที่กลุ่มลูกค้าโทรทัศน์ ที่วันนี้มีความต้องการเข้ามามาก แต่ที่ผ่านมาไทยคมไม่สามารถให้บริการได้อย่างเพียงพอ โดยจะมีการโยกผู้ใช้ที่เป็นบรอดแบนด์ที่มีอยู่ 2 หมื่นรายในไทยคม 3 มาสู่ไอพีสตาร์ทั้งหมด ทำให้มีช่องสัญญาณเพิ่มขึ้นในการให้บริการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ แต่ไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ กลุ่มผู้ใช้จะเป็นกลุ่มใหม่ทั้งหมด จึงเป็นการบุกเบิกตลาดใหม่ และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชินแซทฯ ถ้าเราทำได้ตามเป้าหมายประเทศไทยจะกลายเป็นเบอร์ 1 ของเอเชียในอุตสาหกรรมดาวเทียม
บุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร ชิน คอร์ปอเรชั่นได้บอกถึงผลที่ได้รับจากการลงทุนยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ที่ทางบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนไป 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทว่า บทบาทของไอพีสตาร์ ดาวเทียมสื่อสารดวงที่ 4 ที่ถูกยิงขึ้นจะมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่ครอบคลุมเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตและมัลติมีเดียบรอดแบนด์โดยเฉพาะ โดยมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อีกทั้งยังเป็นเครื่องยืนยันถึงศักยภาพของประเทศไทยในการดำเนินธุรกิจดาวเทียมอีกด้วย เทคโนโลยีดังกล่าวได้มีการจดสิทธิบัตรในนามคนไทยไว้แล้ว
"รายได้ที่จะได้รับนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่รายได้จากการให้บริการเช่าใช้แบนด์วิธของไอพีสตาร์เท่านั้น ยังบ่งบอกอีกว่า ต่อไปเราสามารถขายไลเซนส์เทคโนโลยีนี้ได้อีกด้วย ซึ่งเราได้จดสิทธิบัตรไว้หมดแล้ว บริษัทที่สนใจสามารถที่จะซื้อไลเซนส์ไปทำเอง หรือจะมาลงทุนทำร่วมกันก็ได้"
แหล่งงานผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจดาวเทียม กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่าธุรกิจดาวเทียม ไอพีสตาร์ถือเป็นดาวเทียมที่แตกต่างจากดาวเทียมทั่วไป ซึ่งได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษในลักษณะที่สามารถรองรับแมสโปรดักส์หรือแมสคอนซูเมอร์ ทำให้สามารถรองรับรูปแบบการให้บริการได้อย่างหลากหลายมากมาย
"ธุรกิจดาวเทียมของชินคอร์ปมีมูลค่ามหาศาลมาก"
ไอพีสตาร์มีความสามารถที่จะให้บริการได้มากมาย ไล่ตั้งแต่เรื่องของแอปพลิเคชั่นต่างๆ การเป็นแบ็กโบนอินเทอร์เน็ตที่ไม่ใช่เฉพาะคุมทุกพื้นที่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นแบ็กโบนอินเทอร์เน็ตที่สามารถคุมไปในทุกประเทศที่ดาวเทียมครอบคลุมอยู่ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นดาวเทียมของชินแซทเทิลไลท์ยังสามารถใช้เป็นโครงข่ายสำคัญของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และรองรับเทคโนโลยีอนาคตอย่าง 3จีได้ด้วย รวมทั้งการให้บริการรูปแบบใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งเรื่องของไอพีทีวี และบริการอินเตอร์แอกทีฟต่างๆ
แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวว่าสิ่งที่ไอพีสตาร์ให้บริการในประเทศไทยสามารถที่จะนำไปใช้บริการที่ไหนก็ได้ที่ดาวเทียมดวงนี้ให้บริการไล่ตั้งแต่จีน อินเดีย จนไปสุดที่นิวซีแลนด์ ยกตัวอย่างเช่นการให้บริการบรอดแบนด์ของไอพีสตาร์นั้น ถือเป็นคู่แข่งขันสำคัญกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ให้บริการได้เป็นอย่างดี
ไอพีสตาร์ยังจะมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงวงการโทรทัศน์ของประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิตอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงระบบฟรีทีวีของเมืองไทย ซึ่งเทคโนโลยีดาวเทียมจะมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในครั้งนี้
ส่วนประเด็นเรื่องการที่ชินแซทไลท์จะลงทุนเพิ่มในการยิงดาวเทียมดวงใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการครอบคลุมทั่วทั้งโลกนั้น แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวว่าหากจะให้บริการดาวเทียมครอบคลุมทั่วทั้งโลก ต้องมีการยิงดาวเทียมอีก 2 ดวง แต่ในความเป็นจริงของธุรกิจทางด้านนี้คงจะไม่มีการลงทุนมหาศาลขนาดนั้น แต่จะใช้วิธีการจับมือเป็นพันธมิตรเพื่อร่วมกันให้บริการมากกว่า
ที่สำคัญการให้บริการของไอพีสตาร์ในปัจจุบันเชื่อว่าเพียงพอและครอบคลุมพื้นที่จำนวนมากอยู่แล้ว ไม่แน่ที่จะมีแผนการลงทุนเพิ่มในดาวเทียมดวงใหม่อีก เพียงแต่ดำเนินธุรกิจในพื้นที่ที่ครอบคลุมอยู่รายได้ในอนาคตก็มหาศาลแล้ว
ดาวเทียมอาณาจักรใหม่ไร้พรมแดน
ธุรกิจดาวเทียมนับเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการแข่งขันที่ไม่รุนแรงแถม ยังอาจมองว่า เป็นธุรกิจกึ่งผูกขาดก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะดาวเทียมที่มีประสิทธิสูงอย่างไอพีสตารืที่ตกประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ประกอบกับข้อจำกัดของตำแหน่งวงโคจรเองที่มีไม่มากนัก โดยเฉพาะตำแหน่งที่สามารถครอบคลุมพื้นที่บริการได้ครอบคลุมทั้งทวีป ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่ถือว่า อยู่ในตำแหน่งได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ยิ่งเมื่อดูจากดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว จะเห็นว่า ครอบคลุมพื้นที่ตอนบนอย่างจีนตอนบนไล่ลงมาจนถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ด้านตระวันตกครอบคลุมถึงทวีปแอฟริกา ตะวันครอบคลุมถึงประเทศญี่ปุ่น
ทำให้พื้นที่ให้บริการของชินคอร์ซีกโลกตะวันออกทั้งหมด เหลือเพียงซีกโลกตะวันตกอย่างทวีปอเมริกาเท่านั้นที่ตระกูลชินวัตรยังไม่มีดาวเทียมให้บริการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับอานิสงส์จากกรอลกสนเจรจาไทย-สหรัฐอเมริกาที่เป็นการเบิกทางไปสู่การเข้าทำธุรกิจดาวเทียมซึ่งอาจจะอยู่ในรูปพันธมิตรร่วมทุนกับบริษัทในท้องถิ่นหรืออาจจะเข้าไปลงทุนเองก็เป็นได้ เพราะวันนี้ตระกูลชินวัตรมีประสบการณ์ทางด้านดาวเทียมในระดับชั้นแนวหน้าของโลกไปแล้ว
หากการเจรจาดังกล่าวผ่านไปด้วยดี การที่จะเห็นอาณาจักรใหม่ของตระกูลชินวัตรที่เป็นอาณาจักรไรพรมแดนโดยมีเรือธง "ดาวเทียม" เป็นใบเบิกทางสานฝันทีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเคยวาดฝันไว้ถึงการขยายธุรกิจมือถือจากโลคอลคอมพานีไปสู่โกลบอลคอมพานีน่าจะเป็นไปได้ในคราวนี้
ต้องจับตามองว่า จิ้กซอร์ "ดาวเทียม" จะนำพาตระกูลชินวัตรสู่ความเป็นโกลบอลได้หรือไม่
*************
ขาย "ชิน คอร์ป" ยิ่งช้ายิ่งราคาดี
แม้การเจรจาขายหุ้นของกลุ่มชิน คอร์ป กับผู้ซื้อรายใหม่ไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ที่หลายฝ่ายรอคอยเมื่อ 10 มกราคมที่ผ่านมา แต่จากอาการปฏิเสธที่ไม่แข็งขันของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้สร้างอาณาจักรชิน คอร์ป ยิ่งถูกตีความกันไปในทางเดียวว่าขายแน่ ส่วนจะขายให้ใคร ขายเท่าไหร่ ขายแบบใด คงต้องตามดูกันต่อไป
ย้อนกลับในช่วงปี 2544 ซึ่งเป็นปีที่พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศไทยในปีแรก ครั้งนั้นมีบริษัทในกลุ่มชินที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อยู่ 3 บริษัท ประกอบด้วย ชิน คอร์ป(SHIN) แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส(ADVANC) และชินแซทเทลไลท์(SATTEL) จนถึง 9 มกราคมมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของทั้ง 3 บริษัท เพิ่มขึ้น 194.63% 173.89% และ 48.61% ตามลำดับ
จากนั้นไอทีวี(ITV) เข้ามาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 13 มีนาคม 2545 หลังจากกลุ่มชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นใหญ่เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2544 ด้วยเม็ดเงินราว 1,132 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดวันสิ้นปี 2545 อยู่ที่ 4,954 ล้านบาท ล่าสุด(9 ม.ค.)มูลค่าของหุ้น ITV อยู่ที่ 13,752 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 177.61%
ถัดมาเป็นบริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น(SC) ดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2546 มูลค่าตลาดลดลงกว่า 70% ตามภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับ ซีเอส ล็อกซอินโฟ(CSL) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้าตลาดวันที่ 8 เมษายน 2547 ที่มูลค่าตลาดลดลงมากกว่า 54%
จะเห็นได้ว่าหุ้นในกลุ่มสื่อสารของค่ายนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเท่าตัว แน่นอนว่าหากจะมีการขายออกไปให้กับผู้สนใจ ราคาที่ขายย่อมต้องเป็นราคาปัจจุบันบวกพรีเมี่ยมอีกส่วนหนึ่ง ขึ้นกับว่าจะเข้ามาซื้อในหุ้นตัวใด
หากเป็นการขาย SHIN ที่มีลักษณะเป็นโฮลดิ้ง ผู้ซื้อก็จะได้ ADVANC, SATTEL และ ITV ไปด้วยเนื่องจาก SHIN ถืออยู่ในทั้ง 3 บริษัทดังนี้ 42.86%,51.38% และ 53% แน่นอนว่าพรีเมี่ยมที่บวกต้องมีอัตราที่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SHIN พอใจ เนื่องจากตระกูลชินวัตรถือหุ้นในบริษัทนี้เฉพาะเท่าที่เปิดเผยชื่อ 38.63%
เป็นที่น่าสังเกตุว่าช่วงเดือนธันวาคม 2548 มีความพยายามส่งสัญญาณจากทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยบอกค่าพีอีตลาดหุ้นไทยยังต่ำกว่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน ทั้งที่ประเทศไทยยังมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ตามมาด้วยคำทำนายของผู้จัดการตลาดหุ้นว่าเดือนธันวาคมน่าจะเกิด December Effect รวมทั้งการเดินทางไปชาร์จแบตของทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในช่วงปีใหม่ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่งผลให้มีแรงซื้อสุทธิเข้ามามากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นสิ่งที่สอดคล้องกันอย่างยิ่งกับความพยายามที่จะผลักดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบราคาหุ้น 3 ตัวหลักอย่าง SHIN, ADVANC และ SATTEL ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึง 9 มกราคม 2549 ราคาปรับเพิ่มขึ้น 16.88% 12.12% และ 10.14% ตามลำดับ หากเทียบเฉพาะมูลค่าตลาดในหุ้น 3 ตัวนี้ เพียงแค่ 5 วันทำการมูลค่าเพิ่มขึ้นมาแล้ว 17,505 ล้านบาท
ทั้งนี้มูลค่าของกลุ่มชิน คอร์ป ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นผลมาจากกำไรของบริษัทลูกของชิน คอร์ป อย่าง ADVANC และ SATTEL รวมถึงบริษัทอื่น ๆ แต่ที่ถือเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มชินคงหนีไม่พ้นธุรกิจโทรศัพท์มือถือในนาม AIS ที่สร้างรายได้เฉียดแสนล้านบาทเมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลไทยรักไทย 1 และนับตั้งแต่ปี 2544 รายได้ของ AIS เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 6 หมื่นล้านบาทขึ้นมาจนถึง 9.7 หมื่นล้านบาท
หลายฝ่ายอาจตั้งข้อสังเกตุในเรื่องจำนวนการใช้โทรศัพท์ของเครือข่ายนี้ที่เพิ่มขึ้น อาจมาจากนโยบายของรัฐบาลทั้งกองทุนหมู่บ้าน หรือโครงการ SML ที่รัฐบาลผันเงินเข้าสู่หมู่บ้านโดยตรง แต่ถึงวันนี้สถานการณ์ทางด้านการให้บริการโทรศัพท์มือถืออาจเปลี่ยนไป รวมถึงภาพลักษณ์ทางการเมืองที่หลายฝ่ายจับตามองว่าอาจมีอำนาจทางการเมืองเอื้อประโยชน์ ประกอบกับคู่แข่งสำคัญอย่างดีแทคก็ปล่อยหุ้นใหญ่ให้กับค่ายเทเลนอร์ไปแล้ว อีกทั้งการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยี 3G ยิ่งทำให้ค่ายชิน คอร์ปต้องเร่งตัดสินใจ
*************
ก้าวต่อไปชินคอร์ป หันจับคนบินส่งโรงพยาบาล
มีคำถามมากมายว่าเงินกว่า 70,000 ล้านบาทที่ชิน คอร์ป ได้รับจากการขายหุ้นให้กับ สิงเทล จะนำไปทำอะไร? และ Strategic Moves ต่อไปของชิน คอร์ปจะก้าวไปยังทิศทางใด?
นอกจากธุรกิจดาวเทียมที่เชื่อว่ากลุ่มชินจะยังกอดไว้ไม่ยอมปล่อยให้กับใครหน้าไหนแล้ว ยังมีธุรกิจขนส่ง และธุรกิจโรงพยาบาลที่มีหลายเหตุผลพอเชื่อได้ว่ากลุ่มชินน่าจะยังรักษาเอาไว้ เนื่องจากมีศักยภาพการเติบโต มีมาร์จิ้นค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่แข่งลดราคากันอย่างรุนแรง แถมการเติบโตก็หดลงอีกต่างหาก
เหตุผลที่มองว่ากลุ่มชินยังคงยึดธุรกิจทั้งสองข้างต้นไว้ ก็เนื่องมาจากราวปลายปีที่ผ่านมา บุญคลี ปลั่งศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารชินคอร์ป ได้เคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ในงานสัมมนาว่า ถ้าถามผมว่าเทคโนโลยีอะไรน่าติดตาม และเฝ้ามอง หลายคนอาจจะมองนาโน ไบโอเทค แต่ผมอยากให้มองที่ Transportations ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะเชื่อว่าเทรนด์มีรากฐานมาจากความเชื่อลึกๆ ของผมที่ว่าอุตสาหกรรมจะเติบโต ถ้าคุณเชื่อใน Service Industry คุณต้องเชื่อในเรื่องการย้ายคน
ระบบ Transportations ที่มีเทคโนโลยีแห่งอนาคตเข้ามามีบทบาทต่อรูปแบบการดำรงชีวิตมนุษย์บนโลกนี้เป็นอันมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมบริการจะส่งออกไม่ได้ ต้องเคลื่อนคนมาบริโภค เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถ้าเชื่อเรื่องการเคลื่อนย้ายคน เทรนด์จะเป็นลักษณะที่คนทั้งโลกต่างต้องเดินทางมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเชื่อว่า Transportations น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาให้เคลื่อนคนได้มากขึ้น และเร็วขึ้น
“Transportations จะเป็นตัวจักรหลักที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของอุตสาหกรรมบริการ เพราะสามารถนำพามนุษย์เดินทางข้ามขอบเขตแดนบนโลกนี้ อีกทั้งยังหมายถึงการเคลื่อนย้ายคนมารับบริการ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งออกไม่ได้”
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชินคอร์ปจะหันมารุกทำธุรกิจ Transportations ด้วยการไปจับมือกับแอร์เอเชีย แห่งมาเลเซีย เพื่อทำสายการบินโลว์คอสแอร์ไลน์ ภายใต้ชื่อไทยแอร์เอเชีย เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กระทั่งวันนี้มีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากการซื้อจำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้นอีกหลายลำ ตลอดจนการเพิ่มเส้นทางบินไปอีกเพียบทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเชื่อว่าไทยแอร์เอเชียคงไม่ได้คงแค่จะให้บริการการบินเพียงแค่ภูมิภาคอินโดจีนเท่านั้น แต่ยังมองไกลไปถึงภูมิภาคอื่นๆ เพื่อรับคนจากต่างประเทศเข้ามารับบริการในประเทศไทย เฉพาะอย่างยิ่งเป็นธุรกิจบริการที่ตระกูลชินวัตรถือครองอยู่
และในบรรดาธุรกิจบริการที่ชินคอร์ปถือครองอยู่นอกจากธุรกิจบริการมือถือ บริการทางการเงินที่เชื่อว่าขายให้กับสิงคโปร์ไปแล้ว เห็นจะมีธุรกิจโรงพยาบาลที่ตระกูลนี้ให้ความสนใจอย่างมาก เห็นได้จากในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้ง “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ชินวัตร บรรณพจน์ ดามาพงษ์ หรือแม้แต่วิชัย ทองแตง ทนายความคดีซุกหุ้นนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ลุยกว้านซื้อหุ้นธุรกิจโรงพยาบาลไปทั่ว อย่าง เปาโล กับพญาไท แม้ว่าวิชัยจะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตร แต่อย่างน้อยเฉพาะคุณหญิงอ้อ ก็มีโรงพยาบาลในมือคือ โรงพยาบาลวิภาวดี กับโรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีข่าวลือกันอย่างหนาหูว่าตระกูลนี้กำลังจะรุกเข้าไปซื้อโรงพยาบาลรามคำแหงเพิ่มขึ้นอีกแห่ง รวมถึงข่าวการไปกว้านซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโรงแรมเมืองใหม่ภายใต้เม็ดเงินกว่า 500 ล้านบาท เพื่อทำธุรกิจโรงพยาบาล ส่วนในอนาคตยังไม่แน่ว่าจะเข้าไปซื้ออีกกี่แห่งในเมื่อมีเงินอยู่ในมือเกือบแสนล้านบาทเช่นนี้
ถามว่าทำไมตระกูลชินวัตรจึงให้ความสนใจกับธุรกิจโรงพยาบาล ? ก็เพราะธุรกิจขนส่ง และโรงพยาบาล เพราะเป็นภาคที่มีมาร์จิ้นสูง โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลไทยที่มีความได้เปรียบ ตรงที่หมอไทยฝีมือดี ราคาไม่แพง และเอาใจใส่คนไข้
เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ 2-3 ปีที่ผ่านมา นายกฯทักษิณ ชินวัตร ผลักดันอย่างหนักเพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล หรือ เมดิคัล ฮับ (Medical Hub) แห่งเอเชีย ให้จงได้ ด้วยการอัดฉีดเงินเพื่อทำประชาสัมพันธ์ทั้งผ่านกระทรวงสาธารณสุข และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอย่างหนัก ทำให้อดไม่ได้ที่จะคิดว่าการผลักดันทั้งหลายทั้งปวงโดยภาครัฐล้วนเอื้อให้กับตระกูลชินวัตรไม่ทางตรงก็ทางอ้อม...ไม่มากก็น้อย
ต่อไปเราคงเห็นภาพไทยแอร์เอเชียได้เส้นทางบินไปยังประเทศแถบตะวันออกกลาง หรือประเทศอื่นๆ เพื่อรับคนมารักษาพยาบาล หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์ เช่น ทำฟัน ผ่าตัด ศัลยกรรม เป็นต้น ในโรงพยาบาลที่ตระกูลชินวัตร และวงวานว่านเครือเป็นเจ้าของ
***********
สิ้นยุคโทรคมนาคมไทย
พลันที่กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นจะประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการขายหุ้นของตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ ที่ถือหุ้นรวมกันในชินคอร์ปกว่า 37.96% เวลานี้จึงอาจกล่าวได้ว่าภาพของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยได้เข้าไปอยู่ใต้เงาของกลุ่มทุนต่างชาติที่มีศักยภาพทั้งด้านธุรกิจและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว
ดีลที่กำลังจะเกิดขึ้นของกลุ่มชินคอร์ป ถือเป็นดีลที่ตอกย้ำถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไม่เฉพาะแต่กับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกระแสการเปลี่ยนในระดับโลก ที่กลุ่มทุนจากบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่กำลังเข้าซื้อกิจการโทรคมนาคมในประเทศต่างๆ อยู่ในขณะนี้
และนี่อาจจะกล่าวได้ว่า "สิ้นยุคโทรคมนาคมไทย"
ดีลต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีทั้งดีลขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเล็ก แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นดีลที่ใช้วงเงินสูงถึง 31,000 ล้านปอนด์หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท โดยฟรานซ์ เทเลคอม เข้าซื้อกิจการออเร้นจ์ ดีลของเทเลโฟนิก้า ของประเทศสเปน กำลังอยู่ในกระบวนการเข้าซื้อกิจการโอทู ด้วยวงเงิน 17,700 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1.2 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีดีลที่เกิดขึ้นอีกมากมาย ล่าสุดในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างฟิลิปปินส์ บริษัทสื่อสารญี่ปุ่น เอ็นทีที โดโคโม ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐในบริษัทฟิลิปปินส์ ลอง ดิสเท้นท์ เทเลโฟน หลังจากมีความชัดเจนเรื่องการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในยุค 3G และนี่คือเทรนด์การควบรวมกิจการหรือเข้าซื้อกิจการโทรคมนาคม กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก อันเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และการปรับเปลี่ยนกฎกติกาในแต่ละประเทศ
การทำธุรกิจโทรคมนาคมเวลานี้จึงอยู่ที่ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของผู้เล่นระดับโลก ที่มีศักยภาพเหนือกว่า ที่สำคัญบริษัทเหล่านี้มีเงินจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะเทเข้ามาแข่งขันบีบกับผู้ให้บริการในแต่ละประเทศ
ดีแทคคือตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับดีลที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2548 ที่ผ่านมา ตระกูลเบญจรงคกุล ตัดสินใจขายหุ้นจำนวน 173.3 ล้านหุ้น ให้แก่ เทเลนอร์ ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจากนอร์เวย์ ด้วยมูลค่ารวม 9,200 ล้านบาท ทำให้เทเลนอร์ถือหุ้นทั้งทางตรงทางอ้อมในบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเคชั่น หรือยูคอม ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของดีแทคกว่า 75%
เทเลนอร์พร้อมที่จะเทเงินลงทุนเข้ามาในประเทศไทยอีกมาก คาดว่าเฉพาะในปีนี้ดีแทคจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 12,000 ล้านบาท และหากมีการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ 3G ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลระดับแสนล้านบาท เทเลนอร์ไม่แน่ที่จะมีปัญหาในการลงทุนแต่อย่างไร
การลงทุนใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี่เอง ถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่น่าจะทำให้ชินคอร์ปตัดสินใจขายหุ้นในครั้งนี้ เพราะเงินจำนวนมหาศาลที่ต้องลงทุนเป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นจะต้องคิดอย่างหนักถึงความคุ้มค่าที่จะได้กลับมาจากการลงทุน หรือว่าจะหลีกเปิดทางให้คนที่มีศักยภาพระดับโลกเข้ามาเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจนี้ต่อไปแทนที่
อีกหนึ่งดีลที่ตอกย้ำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงวงการโทรคมนาคมไทยสู่มือกลุ่มทุนต่างชาติ คือกรณีบริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น ตัดสินใจขายหุ้นจำนวน 49% ที่ถืออยู่ในบริษัทคาซ่าคอม ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในกัมพูชาให้กับเทเลคอมมาเลเซียในมูลค่า 1,190 ล้านบาท และยังขายหุ้นในบริษัทสามารถอินโฟ มีเดียให้เทเลคอมมาเลเซียอีกกว่า 24% ด้วยมูลค่า 1,310 ล้านบาท
ธวัชชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ สามารถ คอร์ป กล่าวว่าการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเพิ่ม และเป็นบริษัทที่มีเงินทุนทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรง และเมื่อบริษัทสามารถไม่มีความพร้อมทางด้านการเงิน ก็ต้องถอนตัวและนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปลงทุนในกิจการที่จะสร้างผลกำไรได้มากกว่า
เมื่อสถานการณ์ได้เดินตามเทรนด์ที่เกิดขึ้นของตลาดโลก เมื่อยักษ์ใหญ่ข้ามชาติพาเหรดกันกระจายธุรกิจไปทั่วโลก ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งแห่งที่บริษัทเหล่านี้จะเข้ามาดูแลกิจการโทรคมนาคมไทยในยุคเสรี โดยเจ้าของกิจการสื่อสารโทรคมนาคมไทยพร้อมที่จะถอยให้กับกลุ่มทุนต่างชาติเหล่านี้ เพื่อรับกับกระแสการเปลี่ยนของโลกธุรกิจโทรคมนาคมที่เกิดขึ้น
|