องค์กรอิสระในพระบรมราชินูปถัมภ์จากประเทศอังกฤษแห่งนี้ ไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาของอังกฤษเท่านั้น
หากในความเป็นจริงองค์กรที่ฝังรากลึกอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 60 ปี ก็คือเครื่องมือหนึ่งของมิติทางการทูตเชิงวัฒนธรรม
ที่มีอิทธิพลต่อความนึกคิดของผู้คนมาอย่างต่อเนื่อง
British Council ถือกำเนิดขึ้นในฐานะที่เป็นองค์กรอาสาสมัครเมื่อปี 1934
โดยระยะเริ่มแรกใช้ชื่อว่า British Committee for Relations with other Countries
ก่อนที่คำว่า Committee จะได้รับการแทนที่ด้วยคำว่า Council พร้อมกับการตัดทอนสร้อยคำอื่นๆ
ออกหมดในปี 1936
แม้ว่า British Council จะมีสถานะเป็นองค์กรอิสระแต่การดำเนินงานของ British
Council ก็มีความสัมพันธ์และมีบทบาทอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ
(The Foreign & Commonwealth Office : FCO) มาอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 1938 British Council ได้เริ่มการขยายตัวออกไปสู่ต่างประเทศ ด้วยการตั้งสำนักงานผู้แทนเป็นแห่งแรกในอียิปต์
และติดตามมาด้วยสำนักงานในโปแลนด์ และโปรตุเกส
ขณะที่ในปี 1938 ซึ่งเป็นปีเดียวกันนั้นเอง British Council ได้เริ่มกิจกรรมในประเทศไทย
โดยใช้พื้นที่ของสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยเป็นที่ทำการ
กระทั่งในปี 1952 จึงได้แยกตัวออกมาตั้งสำนักงานอย่างเป็นเอกเทศ
หากพิจารณาอย่างผิวเผินการปรากฏตัวขึ้นของ British Council ก็คงมิได้มีนัยสำคัญใดๆ
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของโลกในช่วงทศวรรษที่ 1920
ต่อเนื่องถึงทศวรรษที่ 1930 ชาติตะวันตกแต่ละชาติ ไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้หรือผู้กำชัย
ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากสงครามและยิ่งทรุดหนักเมื่อเกิด
วิกฤติเศรษฐกิจโลก (Great Depression) โดยไม่มีข้อยกเว้น ก่อนที่จะนำไปสู่ความพยายาม
ในการแสวงหาตลาดและการแข่งขัน เพื่อแผ่อิทธิพลครั้งใหม่ทั้งในทวีปแอฟริกา
ตะวันออกกลาง และเอเชีย กระทั่งกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่
2 ในช่วงทศวรรษที่ 1940
และตลอดระยะเวลาของสงคราม การโฆษณาชวนเชื่อย่อมเป็นอีกวิถีทางหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ
ในเชิงจิตวิทยาและ รัฐบาลอังกฤษ ก็ตระหนักในเรื่องราวดังกล่าวอย่างเด่นชัด
Ministry of Informa- tion ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินบทบาท เช่นเดียวกับเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่
1 รวมถึงการว่าจ้างผู้กำกับการแสดงและผู้คน ในอุตสาหกรรมบันเทิงเพื่อผลิตภาพยนตร์
ควบคู่กับบทบาทของ British Broadcasting Corporation : BBC ในการเผยแพร่ข่าวสาร
และรายการเพื่อสร้างเสริมกำลังใจ และเป็น เครื่องมือหนึ่งของรัฐบาล ในยามสงคราม
แต่บทบาทของ British Council เป็นไปในทิศทางที่ลุ่มลึกกว่านั้น เป็นบทบาทที่เกี่ยวเนื่องกับการทูตเชิงวัฒนธรรมที่มิได้ก่อให้เห็นผลในระยะสั้น
หากเป็นการฝังรากเข้าไปสู่กระแสสำนึกทั้งโดยทางตรงและโดยอ้อม
ใน website : www.britishcouncil.com ซึ่งเป็นหน้าต่างให้ผู้คนได้สัมผัสกับ
British Council อย่างเป็นทางการระบุถึงวัตถุประสงค์ในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic
Objectives) ขององค์กร แห่งนี้ไว้อย่างชัดเจน ว่าเป็นไปเพื่อ (1) สร้างการยอมรับความเป็นเลิศ
ในเชิงความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ให้เกิดแก่ผู้คนในต่างแดน
และเสริมสร้างให้พวกเขามีความผูกพันกับวัฒนธรรมที่หลากหลายของสหราชอาณาจักร
(2) เพิ่มพูนการยอมรับในระดับนานาชาติทั้งในมิติของลำดับและคุณภาพ ในโอกาสทางการศึกษาที่ได้รับจากการร่ำเรียนในสหราชอาณาจักร
เพื่อส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษและหนุนนำไปสู่ความร่วมมือทางการศึกษากับนานาประเทศ
และ (3) ยกระดับความตระหนักรู้เกี่ยวกับคุณค่าและกระบวนการประชาธิปไตยของสหราชอาณาจักร
และดำเนินกิจกรรมร่วมกับนานาประเทศเพื่อส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลและการเคารพในสิทธิมนุษยชน
วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวสอดรับกับหลักการพื้นฐานและคุณค่า (Rationale
and Values) ที่องค์กรอิสระแห่งนี้ระบุว่า "การคงสถานะและอิทธิพล ของชาติ
ผูกพันกับการยอมรับในคุณค่า ความสำเร็จ และทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในเชิงความรู้
ทักษะ และความคิด ซึ่งล้วนแต่เป็นมิติความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรม โดย British
Council ที่แม้จะดำเนินการอย่างเป็นเอกเทศแต่ก็สอดประสานกับทิศทางและนโยบายด้าน
การระหว่างประเทศของสหราชอาณา จักร ในการส่งเสริมให้ความพยายาม ทางการทูต
การพัฒนาและการค้าของสหราชอาณาจักรสัมฤทธิผล"
กระนั้นก็ดี ความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรม มิได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจเข้ายึดครองครอบงำในชั่วข้ามคืน
หากแต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นและเกียรติประวัติ และเป็นกระบวนการที่ยาวนาน
ซึ่งการมีสำนักงานของ British Council ในภูมิภาคและประเทศต่างๆ ก็เพื่อให้สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
ท่ามกลางมิติของผลประโยชน์แห่งชาติของสหราชอาณาจักรในระยะยาว
ขณะเดียวกัน คำกล่าวที่ว่า "Health is a sine qua non, but culture
is a raison d"etre" หรือ "สุขภาพเป็นปัจจัยที่จำเป็น แต่วัฒนธรรมเป็นเหตุผลของการดำรง
อยู่" ดูจะบอกกล่าวถึงความสำคัญของวัฒนธรรมที่มีต่อชีวิตผู้คนได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ยิ่งเป็นการเน้น
ย้ำให้เห็นถึงบทบาทของวัฒนธรรมต่อมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และดูเหมือนว่า
British Council ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมเน้นหนักในด้านวัฒนธรรม ได้ตอบสนอง
ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ในเกือบจะทันที พร้อมกับการปรับตัวเข้ารับกับสถานการณ์ใหม่นี้ตลอดช่วงปี
2002 ที่ผ่านมา
ในการปาฐกถาภายใต้หัวข้อ "Cultural Relations in a Changing World
: A Global View" โดย David Green CMG ซึ่งดำรงตำแหน่ง Director-General
ของ British Council ที่เมือง San Antonio มลรัฐ Texas ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2002 เขาได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมและบทบาทของ
British Council ในการเชื่อมโยงผู้คนจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันให้มีความเข้าใจและ
อยู่ร่วมกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน
แต่นั่นมิใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่ David Green ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของ
British Council ได้นำเสนอต่อสาธารณชน เพราะก่อนหน้านั้นในการปาฐกถาเรื่อง
"The Role of the British Council Post-11 September" ที่เขาได้แสดงต่อที่ประชุมของ
The British : Tunisian Society เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2002 ก็ดำเนินไปในลักษณะและท่วงทำนองที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
เป็นการแสดงบทบาทเชิงรุกของ British Council ในระดับสากลที่น่าสนใจอย่างยิ่งและสอดคล้องกับการปรับตัวครั้งใหญ่ในช่วงกลางปี
2002 ที่มีนัยสำคัญสำหรับองค์กรที่มีอายุกว่า 70 ปีแห่งนี้ไม่น้อย
รูปธรรมของปรากฏการณ์ดังกล่าวเริ่ม ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของ
British Council ซึ่งเดิมประกอบด้วยจุด 49 จุดเรียงตัวเป็นลวดลายของธงชาติสหราชอาณาจักร
หรือ Union Jack Flag มาสู่สัญลักษณ์ใหม่ที่ ประกอบด้วยจุด 4 จุด ภายใต้คำอรรถาธิบาย
ว่า นอกจากจะเป็นนามธรรมสื่อถึง 4 ประเทศ ของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ สกอตแลนด์
เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ) แล้ว สัญลักษณ์ดังกล่าวยังสื่อถึงแนวทางการทำงานของ
British Council ที่ทำให้ผู้คนจากทั้งสี่มุมโลกมารวมตัวกัน ท่ามกลางการให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของทุกคนอย่างเท่าเทียม
ตราสัญลักษณ์ใหม่ของ British Council ได้เริ่มปรากฏตัวออกสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกในช่วงกลางปี
2002 โดยมีสำนักงาน British Council ในกรุงลอนดอนและแมนเชสเตอร์ เป็นสำนักงานแรกๆ
ที่ปรับเปลี่ยนและมีแผนที่จะทยอยเปิดตัวตราสัญลักษณ์ใหม่นี้ในทุกประเทศที่มีสำนักงานของ
British Council ตั้งอยู่รวม 109 ประเทศให้ครบทั้งหมดภายในเดือนมีนาคม 2003
ขณะที่สำนักงาน British Council ในประเทศไทย ได้เปิดตัวตราสัญลักษณ์ ใหม่นี้ไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ภายใต้กิจกรรม New Look, New Welcome ที่ดำเนินไปพร้อมกับการเปิดตัว website
และการปรับปรุงพื้นที่ สำนักงานที่สยามสแควร์ เพื่อรองรับกับบทบาทและการให้บริการแบบใหม่ของ
British Council ในประเทศไทย
การรณรงค์ตามแนว New Look, New Welcome เป็นการเปิดให้เห็นความพยายามของ
British Council ในการทำความเข้าใจกับสังคมไทยถึงบทบาท ที่กว้างขวาง และไปไกลกว่าการเป็นสถาบันสอนภาษาอังกฤษที่เป็นเพียงบริการส่วนหนึ่งของ
British Council
"จุลสารรายสามเดือน Not Only But Also ซึ่งเข้ามาแทน What"s
On และได้เริ่มฉบับปฐมฤกษ์ในช่วงงาน New Look, New Welcome จะเป็นการสื่อถึงบทบาทอันหลากหลายและรอบด้านของ
British Council ทั้งในเชิงวัฒนธรรม การศึกษา ความร่วมมือด้านวิชาชีพ และอื่นๆ
โดยจะเป็นการสะท้อนที่สอดรับกับความสนใจของผู้อ่านแต่ละคนในลักษณะ ที่ "ไม่เพียงเท่านั้น
แต่รวมถึงสิ่งนี้ด้วย" ไปตลอดเวลา" ภาสการ์ จักรวารติ ผู้อำนวยการ
British Council ประเทศไทย ระบุ
กิจกรรมภายใต้แนวความคิดที่เป็น การรุกในเชิงวัฒนธรรมที่ British Council
ในประเทศไทยได้สะท้อนออกมาอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่การมุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเยาวชน
และนิสิตนักศึกษา ด้วยการเปิดเครือข่าย Thai-UK Teen Network สำหรับเยาวชนที่เคยหรือกำลังเรียนอยู่ในระบบการศึกษาแบบอังกฤษ
รวมถึงกลุ่มเยาวชนที่เดินทางไป summer course และนักเรียนของ British Council
ซึ่งอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 13-19 ปี ขึ้นเป็นเครือข่ายเฉพาะอีกเครือข่ายหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ British Council ได้เปิดเครือข่ายในลักษณะใกล้เคียงกันนี้สำหรับกลุ่มคนในช่วงวัยทำงานภายใต้ชื่อ
The Thai-UK Alumni and Professional Network เมื่อปี 2001 เพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับนักเรียนเก่าและกลุ่มวิชาชีพในการสร้างโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพ
โดยมีคำขวัญของเครือข่ายระบุ ว่า "Strengthening old friendship, Creating
new opportunity" ซึ่งดูเหมือนจะสอดรับกับคุณค่าของสังคมไทยที่เน้นเรื่องความเป็นพวกพ้องและระบบอุปถัมภ์ได้เป็นอย่างดี
"สิ่งที่ British Council ต้องการเน้นย้ำอยู่ที่เราเป็นองค์กร อิสระที่มิได้เพียงดำเนินการ
"อยู่ใน" ประเทศไทย หากเรา "ทำงาน ร่วมกับ" ทุกภาคส่วนของสังคมไทย
และเราปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งในความจำเริญเติบโตร่วมกันนี้" ดูจะเป็นคำกล่าวที่
ภาสการ์สะท้อนบทบาทของ British Council ที่ผ่านมาและกำลังดำเนินไปสู่อนาคตได้อย่างชัดเจนยิ่ง