|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธนาคารไทยพาณิชย์เตรียมปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้อีก 0.25% เผยครึ่งปีแรกดอกเบี้ยทยอยปรับต่อเนื่องถึง 1% ส่วนเงินบาทผันผวน คาดภายใน 3 เดือนแข็งค่าถึง 38.75 บาทต่อดอลลาร์ แนะลูกค้าวางแผนรับมือดอกเบี้ยด้วยการบริหารต้นทุน ระบุโครงการเมกะโปรเจกต์ทำไม่ทันตามกำหนด เผยปัจจัยเสี่ยงปี 2549 ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ เศรษฐกิจสหรัฐฯขาดดุล ราคาน้ำมันแพง ดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้อยังไม่ลดลง ย้ำเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯกระทบระบบแบงก์และอัตราแลกเปลี่ยน
วานนี้ (10 ม.ค.) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "2006 Economics and Financial Markets Overview" เพื่อสร้างมุมมองทางเศรษฐกิจรับศักราชใหม่ให้ลูกค้าเพื่อให้สามารถเตรียมวางแผนกลยุทธ์ให้กับธุรกิจ พร้อมท้าทายสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นรับปี 2549
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารฯได้จัดสัมมนาขึ้นเพื่อเป็นการให้ข้อมูล ทางเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2549 โดยมีผู้บริหารระดับสูงของของธนาคารไทยพาณิชย์เข้าร่วมบรรยายเรื่องทิศทางเศรษฐกิจไทย แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ นายภากร ปิปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน และนายอภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า ผู้จัดการบริหารการเงิน
ปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25%
คุณหญิงชฎากล่าวว่า เร็วๆ นี้ ธนาคารไทยพาณิชย์เตรียมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากประจำทุกประเภทอีก 0.25% และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งแรกของปีนี้ ดอกเบี้ยน่าจะปรับอีกประมาณ 1% หลังจากนั้นจะมีการทรงตัวเพื่อดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีทิศทางอย่างไร
"เฟดมีแนวโน้มว่าจะหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในกลางปีนี้ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายหรืออาร์พี 14 วัน"
คุณหญิงชฎากล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องการที่จะกำหนดต้นทุนตายตัวในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำอยู่ รวมทั้งยังมีการเตรียมพร้อมสำหรับสภาพคล่องในอนาคตที่กำลังลดลงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาคเอกชนจะต้องมีการวางแผนเพื่อเตรียมพร้อมรับกับช่วงดอกเบี้ยขึ้น บริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับที่รับได้
สำหรับทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลัก- ทรัพย์ไทย ซึ่งในระยะสั้นค่าเงินบาทยังคงมีความ ผันผวนอยู่ โดยในระยะยาว จะต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน
"การแข็งค่าขึ้นของเงินบาททางการคงจะเข้ามาดูแลไม่ให้ผิดปกติ เพราะทางการไม่อยากเห็นอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนและเศรษฐกิจไทยก็ยังต้องพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเกินไปก็จะไม่ส่งผลดี" กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าว
ปี 2549 ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยเอ็นพีแอลที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่แก้ไขยาก โดยประมาณ 70% ของเอ็นพีแอล เป็นหนี้ที่แก้ไขไม่ได้ ดังนั้น ในปีนี้ธนาคารจะเน้นเร่งดำเนินการแก้ไขทั้งในเรื่องการตัดหนี้สูญและการปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ เอ็นพีแอลให้เหลือน้อยกว่า 6% จากปี 2548 ที่คาดว่าจะมีอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 10% และในอีก 3 ปีข้างหน้ามีนโยบายที่จะลดเหลือไม่เกิน 3%
อีก 6 เดือนค่าเงิน 39.25 บาทต่อดอลลาร์
นายภากรกล่าวว่า แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักรวมถึงค่าเงินบาทของไทย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯชะลอตัวลง และการไหลออกของเงินทุนจะลดลงจากราคาน้ำมันที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และคาดว่าโครงการ เมกะโปรเจกต์ จะไม่สามารถเริ่มตามกำหนด ซึ่งจะทำให้การขาดดุลการค้าไม่สูงมากนัก ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป คือ ราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขยับสูงขึ้น ส่วนดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะประเภทต่ำกว่า 3 เดือน ประกอบกับสภาพคล่องในระบบ ธนาคารที่ลดลงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นทั้งเงินฝากและสินเชื่อ ขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยไม่เกิน 0.5%
ด้านนายอภิศักดิ์กล่าวว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกใน 1-2 เดือนข้างหน้า โดยเป็นผลจากเงินทุนไหลเข้าเป็นสำคัญ โดยแนวโน้มอีก 1 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะได้เห็นเงินบาท แตะระดับ 39.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และอีก 3 เดือนจะเห็นที่ 38.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า เงินบาทจะปรับมาอยู่ในระดับ 39.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
"ปีนี้ความผันผวนของค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับ 4% ดังนั้น เมื่อรวมค่าความผันผวนและปัจจัยพื้นฐานแล้ว ค่าเงินบาททั้งปีน่าจะเคลื่อน ไหวอยู่ในระดับ 39-40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ" นายอภิศักดิ์กล่าว
ปี 49 ปัจจัยเสี่ยงใน-นอกรุมเร้า
นายวิรไทกล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกปีนี้ จะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ การชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯและยุโรป การทรงตัวในระดับสูงของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของเอกชนขยายตัวได้
สำหรับไทยคาดว่าปีนี้ เศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5-5.5% การส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันเศรษฐกิจ โดยการส่งออกขยายตัวประมาณ 7.5-10% การนำเข้าเติบโตประมาณ 6-8.5% ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลประมาณ 2.5-4.5 พันล้าน เหรียญสหรัฐ ส่วนดอกเบี้ยปีนี้ธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้อีก 1.5-2.0% โดยอัตราเงินฝากประจำ 3 เดือนจะปรับเพิ่มขึ้นอีกราว 1.75% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ MLR จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 1.25-2.25%
ด้านค่าเงินบาทจะมีความผันผวนสูง เนื่องจากตลาดค่อนข้างอ่อนไหว ซึ่งขณะนี้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี
ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยง คือ ทิศทางเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลงมาจากที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในขาขึ้น ฐานะการคลังของประเทศที่ยังมีปัญหาและการทำ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ
ย้ำเอฟทีเอกระทบแบงก์
นายวีรไท ยังกล่าวถึงการทำ FTA ว่า การเปิดเสรีทางการเงินตามกรอบ FTA โดยเฉพาะ FTA ไทย-สหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ และความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท.โดยอาจจะเพิ่มโอกาสการไหลออกของเงินออมไปยังนอกประเทศ ซึ่งจะกระทบกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การเปิดเสรีทางการเงินบางธุรกิจก็อาจได้ประโยชน์ ขณะที่บางธุรกิจก็เสียประโยชน์ เพราะจะมีการแข่งขันมากขึ้น เช่น ในกรณีของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งควรจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม และมองว่าแบงก์เล็กอาจมีช่องทางการปรับตัวที่ดีกว่าแบงก์ใหญ่ โดยเฉพาะการเน้นไปในธุรกิจเช่าซื้อ
|
|
|
|
|