Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2540
บลจ.กสิกรไทยฉวยจังหวะวิกฤต เสนอแนวคิดกองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพ             
โดย กุสุมา พิเสฏฐศลาศัย
 

 
Charts & Figures

ผลประกอบการของกองทุนต่างๆ ที่บลจ.กสิกรไทย บริหารอยู่ ณ วันที่ พ.ค.40


   
www resources

โฮมเพจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด

   
search resources

ธนาคารกสิกรไทย, บมจ.
กสิกรไทย, บลจ.
ดัยนา บุนนาค
Investment




ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน สัจธรรมที่คนในแวดวงตลาดหุ้นซาบซึ้ง เมื่อมืออาชีพและมือสมัครเล่น ณ วันนี้บอบช้ำไม่แพ้กัน บลจ.กสิกรไทยปรับนโยบายการลงทุนดูความเสี่ยงอันดับหนึ่ง ผลตอบแทนค่อยตามมา พร้อมหนุนกองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพให้เกิดขึ้น ท่ามกลางภาวะวิกฤตที่ผู้คนต้องการออมระยะยาวเสริมความมั่นใจใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีปีละ 3 แสนเป็นแรงดึงดูด

ในภาวะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลงมาป้วนเปี้ยนอยู่ในระดับ 460 จนเป็นที่หวาดเสียวหัวใจของบรรดานักลงทุนทั้งหลายแหล่ ทุกคนกำลังขาดความเชื่อมั่นอย่างหนักต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เสียหายเชื่อมโยงต่อกันเป็นลูกโซ่ นับตั้งแต่ปัญหาจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ก่อให้เกิดหนี้เสียในสถาบันการเงินอย่างมโหฬาร ปัญหาการส่งออกตกต่ำ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนทำให้มีการเก็งกำไรค่าเงินบาท และส่งผลทำให้ไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ เมื่อดอกเบี้ยสูง ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนก็พุ่งทะยานขึ้นไปด้วย ประกอบกับยอดขายที่ลดน้อยลง ทำให้ผลประกอบการที่ออกมาไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนได้ การทยอยขายหุ้นจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในสถานการณ์เช่นนี้ ดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการบลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า "นโยบายของเรา ก็คือการปรับพอร์ตเพื่อให้รับกับเศรษฐกิจปัจจุบัน เราจะดูบริษัทที่มีสถานะมั่นคงมากๆ โดยดูจากภาระหนี้สินของบริษัท ความสามารถในการชำระหนี้ ยอดขายจะขยายตัวได้หรือไม่ และได้รับผลจากภาวะเศรษฐกิจอย่างไร ดูบริษัทที่มีการบริหารความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนว่ามีการทำประกันความเสี่ยงหรือไม่ เราเน้นประเด็นเหล่านี้ให้มากขึ้นไปอีก"

ทางด้านตราสารหนี้ บลจ.กสิกรไทยจะระมัดระวังในเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น โดยดูทั้งความมั่นคงของสถาบันที่จะเข้าไปฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ โดยพิจารณาเรื่องความเสี่ยงเป็นอันดับแรก แล้วจึงพิจารณาที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้นั้นๆ

ดัยนา เชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ กำลังมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น แต่กว่าที่จะฟื้นตัวได้นั้นยังต้องอาศัยเวลา และถึงแม้หลายๆ อุตสาหกรรมจะได้รับความเสียหายแต่ก็ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ยังสามารถลงทุนได้

หากพิจารณาจากพอร์ตการลงทุนในหุ้นทุนของ บลจ.กสิกรไทยแล้วจะพบว่า หมวดที่กองทุนรวงข้าวให้น้ำหนักในการลงทุนค่อนข้างสูงคือ หมวดพลังงาน ธนาคาร และสื่อสาร ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงหมวดเงินทุนหลักทรัพย์ เคมีภัณฑ์และพลาสติก กับหมวดอสังหาริมทรัพย์มากเป็นพิเศษ

ปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทย บริหารกองทุนรวมทั้งสิ้น 16 กองทุน แบ่งออกเป็นกองทุนหุ้นทุน 9 กอง กองทุนตราสารหนี้ 4 กอง และกองทุนผสม (Balance Fund) อีก 3 กอง

ขณะนี้กำลังเตรียมการออกขายหน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้อีก 2 กอง ดัยนาเล่าถึงเหตุผลในการเปิดกองทุนเพิ่มในช่วงใกล้ๆ นี้ว่า "เรากำลังจะออกอีก 2 กอง เป็นกองทุนรวงข้าวตราสารหนี้ปันผล และรวงข้าวบริหารเงินปันผล แต่เป็นกองที่ 2 เพราะนักลงทุนได้ขอมาว่า ถ้าเราจ่ายปันผลทุก 6 เดือน จะมีช่วงหนึ่งที่เขาไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพราะเขาต้องซื้อ 3 เดือนก่อนเงินปันผลจ่าย เราจึงจะมี 2 กองนี้ขึ้นมา เพื่อที่จ่ายเงินปันผลได้ทั้ง 4 งวดต่อปี มันจะสลับไตรมาสกันพอดี 2 กองเดิมที่มีอยู่จะปิดงวดปันผลเมื่อสิ้นเมษายนและตุลาคม ส่วน 2 กองใหม่ที่จะจัดตั้งจะปิดสิ้นกรกฎาคมกับมกราคม"

ในขณะที่องค์กรต่างๆ เริ่มสั่นคลอนไปตามภาวะของเศรษฐกิจ ตัวเลขการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.5% เป็น 2.6%เศษ ทั้งยังมีการประมาณการกันอีกว่าในปีนี้จะมีคนตกงานถึง 40,000 คน พนักงานในบริษัทที่ประสบปัญหาการขาดทุนจำนวนมาก ถูกบริษัทเลิกจ้าง โรงงานทอผ้าหลายแห่งปิดกิจการลง สถาบันการเงินบางแห่งเสนอให้พนักงานทำงานแบบเดือนเว้นเดือนเพื่อที่บริษัทจะได้จ่ายเงินเดือนแบบเดือนเว้นเดือนเช่นกัน บางแห่งให้ลดเวลาการทำงานลงพร้อมๆ กับปรับลดเงินเดือนตามสัดส่วนของเวลาที่ลดลงด้วย ขณะที่อีกหลายแห่งก็ขอปรับลดอัตราเงินเดือนพนักงานลงไปโดยที่ยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม นับเป็นการบีบบังคับให้พนักงานลาออกโดยที่บริษัทไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานนั่นเอง

ความไม่มั่นคงเหล่านี้ทำให้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการเก็บออกมากขึ้น ภาครัฐเองก็สนับสนุนในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะต้องการแก้ปัญหาดุลการชำระเงิน โดยจะช่วยลดการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศลงได้ ปัจจุบันเงินออมของไทยส่วนใหญ่มาจากภาครัฐ และกำไรจากภาคธุรกิจ ในขณะที่ภาคครัวเรือนมีการเก็บออมน้อยมาก

การผลักดันให้เกิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจึงเกิดขึ้น พร้อมๆ กับการให้แรงจูงใจแก่ผู้ออมเงินระยะยาวโดยการลดหน่อยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถึง 3 แสนบาทต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก

อย่างไรก็ตามในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น รัฐบาลมีเงื่อนไขสำคัญคือนายจ้างและลูกจ้างจะต้องร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา โดยลูกจ้างสะสมเงินเข้ามาเท่าไหร่ นายจ้างจะต้องสมทบเข้ามาเท่ากับลูกจ้างหรือมากกว่า ลูกจ้างจะสะสมเข้ามามากกว่านายจ้างไม่ได้

ดัยนา อธิบายว่า "ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน นายจ้างอาจจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องและการทำกำไร ดังนั้นการที่จะยอมจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นมีแต่จะลดลง ขณะที่ภาวะอย่างนี้ลูกจ้างอาจจะอยากออมเงินมากขึ้น ฉะนั้นความต้องการมันสวนทางกันอยู่ เราจึงควรจะมีช่องทางใหม่ให้ลูกจ้างได้ออมเอง"

นอกจากนี้การที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องมีการจัดตั้งร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมไม่สามารถมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ และไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในรูปของเงินออมระยะยาวเพื่อไปลดหย่อนเงินได้บุคคลธรรมดา

นั่นเองคือที่มาของแนวคิดใหม่ในเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนบุคคล (Individual retirement account) ซึ่ง ธีระ ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.บริหารทุนไทย ได้เสนอต่อที่ประชุมร่วมระหว่างสมาคมจัดการลงทุน สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

"เราขอไปว่า หนึ่ง รัฐควรแก้ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ลูกจ้างสามารถสะสมเข้ากองทุนได้มากกว่านายจ้าง และสอง ให้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบขาเดียวได้ ถ้าเขาต้องการออมในระยะยาว ในลักษณะที่เงินออมนั้นต้องมีการผูกพันในระยะยาวว่าต้องอยู่จนครบเกษียณหรือจนไม่มีงานทำ ตกงาน จึงสามารถเอาออกมาใช้ได้" ดัยนากล่าว

อย่างไรก็ตามการแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นจะต้องอาศัยเวลา ดัยนา จึงได้มีการเสนอความคิดให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมในลักษณะพิเศษขึ้นมา โดยที่กองทุนรวมนี้ต้องกำหนดว่าผู้ออมเงินต้องลงนามในข้อผูกพันกับบลจ.ว่าจะจ่ายเงินเข้ามาไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งงวด และเงินนี้มีวัตถุประสงค์เก็บไว้จนไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้แล้ว เช่น เมื่อเกษียณอายุ ซึ่งรัฐอาจจะกำหนดไว้ว่า 55 ปี 60 ปี หรือ 65 ปี เป็นต้น

หากผู้ออมเงินจะถอนออกก่อนกำหนดก็สามารถทำได้ แต่ก็จำเป็นต้องจ่ายภาษีที่รัฐได้ลดหย่อนให้นั้นคืนกลับมาด้วย กล่าวคือคนที่จะได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา 3 แสนบาทต่อคนต่อปีนั้น จะต้องออมเงินระยะยาวจนกว่าจะครบกำหนดตามเงื่อนไขของรัฐบาลเท่านั้น

การจัดตั้งกองทุนรวมในลักษณะพิเศษเช่นนี้ จะทำได้อย่างรวดเร็วโดยมีขั้นตอนคือนำเรื่องเข้าที่ประชุม ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาประกาศกฎเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพขึ้นมา จากนั้นกระทรวงการคลังและสรรพากรก็จะออกกฎกระทรวงมาเพื่อที่จะให้กองทุนรวมนี้นำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้

"ลักษณะสำคัญของกองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพนี้คือ จะไม่มีเงินปันผล ผู้ถือหน่วยจะได้รับครั้งเดียวเป็นเงินก้อนเมื่อเกษียณอายุ และต่อไปคงจะเหมือนกับต่างประเทศที่ยอมให้เอาเงินนี้มากู้เพื่อซื้อบ้าน เพื่อรักษาพยาบาล เพื่อการศึกษาบุตร คล้ายว่ามีเงินฝากอยู่แล้วก็สามารถกู้กลับได้ อันนี้มีแนวโน้มว่าจะทำได้ เพราะมีการประชุมและคิดกันในเรื่องพวกนี้บ้างเหมือนกัน" ดัยนากล่าว

กองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพจัดเป็นกองทุนเปิด เนื่องจากจะมีเงินไหลเข้าอยู่ตลอดเวลา หากผู้ถือหน่วยจะถอนออกก่อนกำหนด ทางบลจ.จะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เพื่อให้สรรพากรทราบว่าเมื่อถึงปลายปี ผู้ถือหน่วยรายนั้นจะต้องไปคืนภาษี

สำหรับวิธีการลงทุนในกองทุนนี้ ผู้ลงทุนจะสามารถเลือกได้ว่าต้องการให้บลจ.นำเงินออมเหล่านั้นไปลงทุนในกองทุนประเภทใด เช่น ลงทุนในหุ้นทุน 60% ในตราสารการเงินและตราสารหนี้ 40% โดยสัดส่วนเหล่านี้จะสามารถเปลี่ยนเปลงได้โดยการมาเปลี่ยนข้อผูกพันใหม่กับทาง บลจ. เช่น เปลี่ยนเป็นลงทุนในหุ้นทุน 50% ตราสารการเงินและตราสารหนี้ 50% เป็นต้น

นอกจากนี้จำนวนเงินที่นำมาออมในแต่ละงวดก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน เช่นในปีแรกๆ ผู้ลงทุนผูกพันไว้ว่าจะออมเงินปีละ 10,000 บาท ต่อมาเมื่อฐานะดีขึ้นก็สามารถเปลี่ยนข้อผูกพันโดยออมเงินเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 20,000 บาท หรือต้องการลดลงเหลือปีละ 5,000 บาทก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ลงทุนเอง โดยทางบลจ.อาจจะให้คำแนะนำในเรื่องการลงทุนให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนแต่ละคนได้

ดัยนายกตัวอย่างว่า "ในต่างประเทศเขาจะให้ผู้ลงทุนเลือกเอง เช่น คนที่อายุน้อย เพิ่งเริ่มทำงาน ยังสามารถเสี่ยงได้มาก คนเหล่านี้อาจจะต้องการลงทุนในหุ้นทุนมากๆ อาจจะสัก 70% ขณะที่คนในวัยใกล้เกษียณเสี่ยงไม่ได้แล้ว เงินก้อนนี้ต้องนำไปใช้หลังเกษียณ เขาก็อาจจะเน้นลงทุนในตราสารการเงินและตราสารหนี้มากกว่า ข้อผูกพันต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้และผู้ลงทุนคือคนเลือกเอง"

อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวยังมิได้ออกมาเป็นรูปธรรม หลังจากได้มีการเสนอในที่ประชุมแล้ว ทุกฝ่ายค่อนข้างเห็นด้วย ยังเหลือในเรื่องรายละเอียดคือ ทาง ก.ล.ต. ต้องไปหารือกับทางสรรพากร ถ้าสรรพากรเห็นด้วยและลดหย่อนภาษีให้ตามที่เสนอไป กองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพก็จะสามารถเกิดขึ้นได้เร็ว

ในภาวการณ์ที่เศรษฐกิจซบเซาอย่างนี้ ธุรกิจจัดการกองทุนรวมนับเป็นธุรกิจที่ยังไปได้ดี มีใบอนุญาตใหม่ๆ หรือสินค้าใหม่ๆ ออกมาให้ลูกค้าได้เลือกลงทุนอย่างสม่ำเสมอ สำหรับบลจ.กสิกรไทยเอง ได้เตรียมความพร้อมที่จะทำกองทุนเพิ่มขึ้นอีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ระดมเงินจากนักลงทุนต่างประเทศล้วนๆ (Country Fund) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ซึ่งทั้งหมดนี้มีกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมารองรับหมดแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดตั้งทั้งสิ้น

ธุรกรรมใหม่ๆ ที่ออกมาแล้ว และกำลังจะออกมาได้กลายเป็นขนมหวานที่ดึงดูดผู้ประกอบการจำนวนมากให้เข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้ ผู้ประกอบการใหม่ๆ หลายรายได้เปิดตัวขึ้น บ้างเริ่มรุกตลาดแล้ว บ้างยังอยู่ระหว่างเตรียมการ และบ้างยังรอใบอนุญาตจากทางการ อย่างไรก็ดีแนวโน้มเช่นนี้ส่อแววถึงการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งผลดีจะตกอยู่ที่ผู้บริโภคโดยตรงในแง่ที่ว่าจะมีสินค้าคุณภาพดี ราคาย่อมเยามาให้เลือกลงทุนได้มากขึ้นนั่นเอง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us