Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2543








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2543
ดรีมเวิลด์ ไม่ใช่แดนเนรมิต 2             
 

   
related stories

ลาก่อน... แดนเนรมิต

   
search resources

เมจิกเวิลด์
อำพล สุทธิเพียร
Amusement Park




ตระกูล "กิติพราภรณ์" ไม่ได้มีสวนสนุกแค่แดนเนรมิตแห่งเดียว เพราะหลัง จากแดนมหัศจรรย์ แห่งนี้เติบใหญ่ภายใต้การบริหารธุรกิจแบบครอบครัว ที่มุ่งตอบสนองความชื่นชอบ วันหนึ่งเกิดปัญหา ไม่สามารถขยายตัวได้อีกต่อไป เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด ทั้งๆ ที่ไอเดียการทำสวนสนุกยังมีอีกมากมาย

เมื่อโอกาสไม่เปิดให้ตระกูล "กิติพราภรณ์" ขยายธุรกิจนี้ต่อไป พวกเขาก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และรายได้จากแดนเนรมิตไปก่อน โดยยึดหลัก "สิบปี ยังไม่สาย" พวกเขารอได้

15 ปีผ่านมา แดนเนรมิตเติบโตอย่างช้าๆ พร้อมกับภาวะเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่ต้นปี 2530 เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ โอกาสขยายธุรกิจสวนสนุกเปิดแล้ว เมื่อบริษัท เมจิกเวิลด์ จำกัด กำเนิดขึ้นเมื่อปี 2534 เพื่อรับออกแบบ และดูแลบริหารสวนสนุกตามห้างสรรพสินค้า ถือเป็น การเติบโตเส้นทางใหม่ของตระกูล "กิติพราภรณ์"

แนวความคิดดังกล่าว เกิดจากช่วงนั้น ห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นราวดอกเห็ดตามกำลังซื้อของคน พวกเขาพบช่องว่าง ที่จะเติบโตไปพร้อมกับห้างสรรพสินค้าประกอบกับห้างสรรพสินค้ากำลังเปลี่ยนรูปแบบการบริการให้ "ครบวงจร" หรือ one stop service อันเป็นแนวคิดใหม่ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับวงการค้าปลีกไทย

ดังนั้น แดนเนรมิตจึงสนองตอบ และ "ตามน้ำ" ด้วยการเปิด "สวนสนุกย่อส่วน" บนห้างสรรพสินค้า เพื่อรับจุดขายบริการชนิดครบวงจรของธุรกิจค้าปลีก

"เมื่อห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น และพวกเขาต้องการทำสวนสนุกขนาดเล็ก ถามว่าจะเลือกใครทำเขาสามารถทำเองได้แต่ต้องศึกษานาน และในเมื่อไม่ใช่มืออาชีพก็ต้องมาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างเรา"

เมื่อโอกาสมาถึงพวกเขาจึงไม่ปฏิเสธ "นี่เป็นเรื่องธุรกิจแล้วเราต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำเขาต้องทำอยู่ดีอีกอย่างเราอยากจะเปิดจินตนาการสวนสนุก ที่ว่าเมื่อคนไปเที่ยวสวนสนุกขนาดเล็กแล้วเขาต้องมาเที่ยวสวนสนุกขนาดใหญ่ เพราะธุรกิจนี้ไม่มี brand loyalty" อำพลเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

การแตกตัวของสวนสนุกในรูปแบบใหม่ "สวนสนุกย่อส่วน" นับว่าเป็นการปรับตัวรับการเกิดใหม่ของห้างสรรพสินค้าได้อย่างลงตัว ประกอบกับราคา ที่ดิน เริ่มถีบตัวสูงเกินความเป็นจริงจึงยาก ที่จะขยายสวนสนุกกลางแจ้ง

การฉีกตัวของตระกูล "กิติพราภรณ์" เหมือนกับการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ทั้งสกัดกั้นคู่แข่ง ที่เริ่มสนใจนำเครื่องเล่นไปบริ การบนห้างสรรพสินค้า และยังสามารถนำความชำนาญนับทศวรรษมาสร้างรายได้เข้ากระเป๋า

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศสวนสนุกย่อส่วนจะไม่เหมือนสวนสนุกกลางแจ้ง เพราะไม่สามารถทำได้เลย แค่เครื่องเล่นก็แตกต่างกันแล้ว เนื่องจากพื้นที่ของห้างสรรพสินค้ามีจำกัด ดังนั้น ความสนุกสนานก็ยังเหมือนสวนสนุกห้องแอร์อยู่ดี แต่ก็ทดแทนได้ในบางอารมณ์

"เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วตามห้างสรรพสินค้ามีสวนสนุก ที่มีเครื่องเล่นขนาดใหญ่ เช่น ซีคอนสแควร์ เดอะมอลล์ เซ็นทรัลพลาซ่า ซึ่งถือเป็นอะไรที่สุดๆ แล้วสำหรับสวนสนุกในร่มขนาดใหญ่" อำพลกล่าว

ที่สำคัญการสรรค์สร้างจินตนาการสวนสนุกห้องแอร ์ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ถ้าพวกเขาไม่เห็นความสำคัญของสวนสนุก โอกาสจะเติบโตได้เต็มที่ดูมืดมน

ในอนาคตคาดว่าสวนสนุกย่อส่วนจะไม่เหลือร่องรอยเหมือนอดีตอีกต่อไป เนื่องจากการลงทุนต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลกับพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า ที่เน้นขายสินค้า ซึ่งเมื่อเทียบกับสิ่งที่ห้างสรรพสินค้าดำเนินการแล้ว สวนสนุกติดแอร์เป็นเพียง "ส่วนประกอบ" เท่านั้น ดังนั้น ความหวังของรายได้ย่อมเป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกัน ขอเพียงให้ยืนอยู่ได้ด้วยขาตัวเองเป็นพอ

"เขาเปิดสวนสนุกขึ้นมา เพื่อทำให้ห้างสรรพสินค้าครบวงจร และดึงคนเข้าไป ฉะนั้น จากนี้ไปสวนสนุกจะไม่เติบโตตามห้างสรรพสินค้าอีกต่อไป"

ปัจจุบันแดนเนรมิตเข้าไปบริหารสวนสนุกย่อส่วนในเดอะมอลล์ เกือบทุกสาขา, อิมพีเรียล บางนา-สำโรง, แฟชั่น ไอร์แลนด์, โลตัส, จัสโก้ และ แม็คโคร และกำลังจะเปิดอีก ที่ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต, โลตัส และเดอะมอลล์ จ.นครราชสีมา ในเดือนสิงหาคม ที่จะถึงนี้

เมื่อจุดมุ่งหมายจริงๆ ของตระกูล "กิติพราภรณ์" ในการดำเนินธุรกิจสวนสนุก คือ สวนสนุกกลางแจ้ง ดังนั้น ถัดมาอีก 2 ปี หลังเมจิกเวิลด์ได้เขย่าวงการธุรกิจสวนสนุก เมื่อ "ดรีม เวิลด์" สวนสนุกครบวงจร 160 ไร่เกิดขึ้น เป็นการสร้างสีสันเพิ่มขึ้นในรูป แบบความแตกต่างของสวนสนุก ที่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับสินค้า และการสร้างความพอใจให้กับนักท่องเที่ยว

การสร้างดรีมเวิลด์เป็นการสร้างโปรดักส์ขึ้นมาอีกตัว ที่มีความแปลกไปจากสิ่งที่มีอยู่ในประเทศ คงจะหมายถึงคอนเซ็ปต์ของดรีมเวิลด์ คือ สวนสนุกเครื่องเล่น สวนสยาม คือ สวนสนุกทางน้ำ และซาฟารีเวิลด์ ที่เน้นสวนสัตว์

"เราอยากทำกลางแจ้งเลยเลือกตรงนี้ ดรีมเวิลด์เน้นให้เป็นที่ท่องเที่ยว สำหรับครอบครัวมากกว่าแดนเนรมิต ที่เป็นของเด็ก และวัยรุ่น" อำพลกล่าว อีกทั้งระยะเวลาเที่ยวยังแตกต่างกัน แดนเนรมิตใช้เวลา 6-7 ชั่วโมงก็สามารถเล่นได้ครบทุกชนิด แต่ดรีมเวิลด์ต้องใช้เวลาทั้งวัน

นอกจากนี้ ดรีมเวิลด์ยังเป็นตัวอุดช่องโหว่ของตลาด เมื่อได้มุ่งเน้นขยายไปสู่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ พวกเขาวางแผนทำให้ตลาดโตขึ้นในประเทศ ปัจจุบันประมาณ 30% ของผู้มาเที่ยวดรีมเวิลด์เป็นชาวต่างชาติ

ว่ากันว่าสาเหตุที่เกิดดรีมเวิลด์ เป็นเพราะสัญญาเช่าที่ดินของแดนเนรมิตกำลังหมดลง เรื่องนี้อำพลยืนยันว่า "ไม่ใช่ " "ถ้าเป็นความจริงทำไม เราต้องซื้อเครื่องเล่นซ้ำๆ กัน"

ความคิดจะสร้างแดนเนรมิตแห่ง ที่ 2 นั้น มีจริง และตั้งใจย้ายไปก่อน ที่แดนเนรมิตจะปิดตัวลงเมื่อ 2 ปีก่อน "ความตั้งใจเดิม คือ จะทำสวนสนุก 2 ส่วน คือ ดรีมเวิลด์ และแดนเนรมิต ที่มีลูกค้าแบบพื้นๆ และเราจะย้ายไปแถวบางนา หรือไม่ก็พุทธมณฑล" ซึ่งสวนสนุกแห่งใหม่ดังกล่าว มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่

โชคร้ายเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นงบประมาณ ที่วางไว้เพิ่มเป็นเท่าตัว โครงการแดนเนรมิต 2 จึงหยุดชะงักไป "เราคอยดู สถานการณ์ และขณะนี้ยังมีคนเสนอ ที่ดินให้ทำ แต่ก็ไม่สามารถลงทุนได้เพราะมีเงินไม่พอ"

แม้ทุกวันนี้ค่าเงินบาท จะดูดีขึ้นมาบ้าง แต่ในสายตาพวกเขาแล้ว ไม่ใช่โอกาสการลงทุน "เราไม่รอโครงการแดนเนรมิต 2 อีกต่อไป และไม่คิดจะทำสวนสนุกแห่งใหม่เพราะเศรษฐกิจคงฟื้นยาก และค่าเงินบาท กระโดดไปไกลกว่า ที่เราจะรับได้" อำพลบอกกับ "ผู้จัดการ"

เมื่อเป็นเช่นนี้ "กิติพราภรณ์" จึงเหลือเพียง สวนสนุกดรีมเวิลด์ กับ รับบริหารสวนสนุกย่อส่วนเท่านั้น ส่วนชื่อ "แดนเนรมิต" คงเป็นตำนานเล่าขานไปอีกนาน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us