|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"กิตติรัตน์" วอนบอร์ดเบียร์ช้างทบทวนแผนเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ใหม่ ชี้ตลาดรองสูญรายได้ เฉพาะค่าคอมมิชชันผ่านโบรกฯ 500 ล้านบาทต่อปี ส่วนนักลงทุนสูญเสียโอกาสที่จะได้เงินปันผลปีละหลายพันล้านบาท สมาคมโบรกฯถกด่วนประเมินความเสียหายช้างไปสิงคโปร์ไทย เสียโอกาสพัฒนาตลาดหุ้น สูญรายได้ภาษี นำเรื่องเข้าสภาธุรกิจตลาดทุนไทยหารือวันนี้ (10 ม.ค.)
นายกิตติรัตน์ ณ ระนองกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงกรณีที่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ เบียร์ช้าง จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่า ทำให้ตลาดทุนของไทยต้องเสียโอกาส โดยเฉพาะในส่วนของตลาดรองเพราะบมจ.ไทยเบฟเวอเรจนั้น ถือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่
ดังนั้น อาจจะส่งผลทำให้บริษัทหลักทรัพย์จะสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้นปีละประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี และการที่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ถือเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีและเป็นหุ้นขนาดใหญ่มีฟรีโฟลต มาก ทำให้ผู้ลงทุนไทยก็อาจจะสูญเสียไม่ได้รับเงินปันผลอีกหลาย พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ มีความหมายและจะกลับคืนมาในรูปภาษีที่จะนำมาพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ จึงต้องการขอให้คณะกรรมการ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ พิจารณาทบทวนมติการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ใหม่ เพราะยังเชื่อมั่นว่า บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ยังมีเจตนาที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยอยู่ เนื่องจากเป็นบริษัทของคนไทย
"ผมในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่รู้ว่า บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เป็นบริษัทที่มีกำไรสูง และมีมูลค่าตลาด รวมสูงมาก จึงขอให้ทางบอร์ดไทย เบฟเวอเรจได้ทบทวนและให้โอกาส กับตลาดทุนไทย" นายกิตติรัตน์กล่าว
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การที่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ประกาศว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์นั้น ไม่ได้มีเจตนา ที่จะกดดันการทำงานของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเร่ง ให้พิจารณาให้เร็วขึ้นอาจเป็นสาเหตุ จากอุปสรรคและปัญหาที่ติดขัดทำให้ บมจ.ไทยเบฟฯ ยังไม่สามารถ จดทะเบียนใน ตลท.ได้ จึงต้องหาทางออกไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น อื่น
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเชื่อมั่นการทำงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ว่าจะพิจารณาอย่างมีมาตรฐาน และมีเหตุผล
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่าการที่คณะกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจตัดสินใจนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ นั้นถือว่าทำให้ตลาดหลักทรัพย์เสียโอกาส โดยเฉพาะการที่บริษัทนำเข้าจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงก็ยิ่งทำให้เงินลงทุนของต่างประเทศไปสู่ตลาดหุ้นสิงคโปร์มากยิ่งขึ้นเพราะปัจจุบันนี้ถือได้ว่าตลาด หลักทรัพย์สิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ อยู่แล้ว
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ ที่บริษัทหลักทรัพย์ของไทยจะสูญรายได้ 500 ล้านบาทในกรณีที่ บมจ.ไทยเบฟฯไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพราะบมจ.ไทยเบฟฯเป็นบริษัทใหญ่มีมาร์เกตแคปประมาณ 2-3 แสนล้านบาท
ดังนั้น ถ้าหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และถ้ามีการซื้อขายหนึ่งรอบบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อขายในอัตรา 0.25% ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะสูญเสียในระดับดังกล่าว หรืออาจจะสูญเสียถึงระดับ 1 พันล้านบาทได้เช่นกันและจะเป็นหุ้นที่มีมาร์เกตแคปใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ในตลาดหลักทรัพย์ของไทย
นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายในปี 2549 มาร์เกตแคปตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในระยะเวลา 5 ปีซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 2 ที่กำหนดไว้โดยคาดว่าจะมีหุ้น ที่มีขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียน ได้แก่บมจ.กฟผ. และ บมจ.ไทยเบฟฯ ซึ่งถือเป็นบริษัทที่มีมาร์เกต แคปใหญ่
นอกจากนี้ สถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นปัจจัยลบและเกิดขึ้นในช่วงปี 2548 เช่นความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้,ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น, การแพร่ระบาดไข้หวัดนก เริ่มคลี่คลายลง ซึ่งสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมาจากปัจจัยเกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจกต์ที่สามารถ ช่วยเพิ่มการลงทุนและจะช่วยทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวจากโครงการเมกะโปรเจกต์ปีละ 1% ซึ่งอย่างน้อยจะเกิดขึ้นภายใน 4-5 ปีข้างหน้า
ดังนั้น จีดีพีของประเทศน่าจะขยายตัวในระดับปีละประมาณ 5-7% ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในปี 2548 นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพตลาดหุ้นมากนักจะเห็นได้จากความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ที่มีกำไรสุทธิ 4 แสนล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียว กันของปีก่อนประมาณ 13% ด้านมาร์เกตแคปปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นเกินกว่า 5 ล้านล้านบาท
แหล่งข่าวจากฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินบริษัทไทยเบฟฯ กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการ บมจ.ไทยเบฟฯได้มีมติที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลที่จะยื่นขออนุญาตกับสำนักงาน ก.ล.ต.ซึ่งการที่บริษัทตัดสินใจเข้าจดทะเบียนทั้ง 2 ตลาดก็อาจจะทำให้มีการแผน การระดมทุนบ้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันระหว่างบริษัทกับที่ปรึกษาทางการเงิน
นายจงรัก ระรวยทรง กรรมการผู้อำนวยการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารสมาคมได้จัดประชุมวาระพิเศษ ในกรณีที่ บมจ.ไทยเบฟฯจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยจะยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศนั้น คณะกรรมการบริหารเห็นว่าการอนุญาตให้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยไปกระจายหุ้นในตลาดหุ้นต่างประเทศ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ผลกระทบที่จะได้รับประกอบด้วยประเทศไทยจะสูญเสียรายได้จากภาษีอากร, ตลาดทุนไทยจะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดทุนอื่นๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะการไหลเข้าของเงินจากนักลงทุนต่างประเทศ,นักลงทุนไทยจะเสียโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่และตลาดทุนไทยจะเสียโอกาสในการพัฒนาให้เป็นตลาดทุนหลักตลาดหนึ่งในภูมิภาค
นายจงรักกล่าวว่า คณะกรรมการบริหารสมาคมจะได้นำมติในเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การหารือในที่ประชุมสภาธุรกิจตลาดทุนไทยต่อไป
นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัดในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะมีการหารือในวันนี้ (10 ม.ค.) ในช่วงบ่ายที่ตลาดหลักทรัพย์หลังจากที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์มองว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดทุนไทยในกรณีที่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เข้าจดทะเบียนในตลาดสิงคโปร์แล้วก็ต้องการรับฟังความคิดเห็นของสมาคมอีก 4 แห่งที่อยู่ในสภาธุรกิจตลาดทุนไทยว่ามีความคิดเห็นเป็นอย่างไร
ส่วนจะมีการนำเสนอแนวความคิดเห็นจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทยไปยังหน่วยงานของภาครัฐหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม
|
|
|
|
|