"ทักษิณ"โบ้ยขายหุ้นชินคอร์ปต้องถามลูก เพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ วงการค้าหุ้นเชื่อลงนาม จะซื้อขายกับสิงเทลเบื้องต้นแล้วที่สิงคโปร์ เผย "ทักษิณ" ไม่ไว้ใจพันธมิตรรายอื่น ขณะที่ยังลือสะพัด ไม่ใช่สิงเทล เหตุปฏิเสธมาแล้ว แย้มเป็น 1 กองทุน ที่ไม่ปรากฏชื่อผู้ถือหน่วย ส่วนโบรกเกอร์ คาดโผพันธมิตรใหม่เป็นไปได้ทั้งหมด แต่ไม่ใช่ 2 รายพร้อมกัน ส่วนถือหุ้นไข้วก็เป็นไปได้หลังขายหุ้นชินคอร์ป ด้านหุ้นกลุ่มชินฯมั่งคั่งเพิ่มกว่า 1.3 หมื่นล้าน หลังตลาดหุ้นร้อนแรง 4 วัน
จากกรณีที่มีกระแสข่าวตระกูลชินวัตรผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ได้ข้อสรุปการเจรจาขายหุ้นชินคอร์ปให้กับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งแม้กลุ่มสิงคโปร์เทเลคอม จากประเทศสิงคโปร์จะถูกระบุว่ามาแรงกว่า ไชน่าเทเลคอม จากประเทศจีนก็ตาม แต่ยังคงไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ จากตระกูลชินวัตร ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
โดยวานนี้ (9 ม.ค.) พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงกระแสข่าวการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ว่าเป็นข่าวลือหรือไม่ โดยนายกฯ กล่าวเพียงว่า "ไม่ทราบ ต้องไปถามลูกผม ไม่ใช่มาถามผม"
เซ็นซื้อ/ขายที่สิงคโปร์
สำหรับกระแสข่าว บมจ.ชินคอร์ป จะเปิดแถลงข่าวกรณีการขายหุ้นของตระกูลชินวัตรในวันนี้(10 ม.ค.)ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการแถลงข่าวหรือไม่ แม้กระแสข่าวในวงการค้าหลักทรัพย์เชื่อมั่นว่าจะมีการแถลงข่าววันนี้ก็ตาม
ทั้งนี้ แหล่งข่าวใกล้ชิดนายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า วันนี้ (10 ม.ค.) ไม่มีการแถลงตามที่มีกระข่าวเกี่ยวกับการขายหุ้นให้บริษัทต่างชาติแต่อย่างใด ทุกอย่างยังเป็นไปตามที่เคยแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปแล้วก่อนหน้านี้
การซื้อขายหุ้นในลักษณะนี้ อย่างกรณีของกลุ่มยูคอม ก็เคยมีการปฏิเสธมาโดยตลอด จนทุกอย่างบรรลุข้อตกลง จึงได้มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงเช้า ก่อนจะมีการแถลงข่าวด่วนในช่วงบ่ายในวันเดียวกัน
แหล่งข่าวในวงการค้าหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า หากไม่มีการแถลงข่าวจาก บมจ.ชินคอร์ปอย่างเป็นทางในวันที่ 10 ม.ค.นี้ คาดว่าการแถลงข่าวจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าวันที่ 16 ม.ค.2549 เนื่องจากมีการยืนยันว่า ตระกูลชินวัตร ได้ลงนามในสัญญาแสดงเจตนาจะซื้อขายหุ้นชินคอร์ปกันที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อครั้งที่นายกฯทักษิณ เดินทางไปพักผ่อนที่สิงคโปร์ และมีคณะผู้บริหาร บมจ.ชินคอร์ป ส่วนหนึ่งเดินทางไปสิงคโปร์พร้อมนายกฯทักษิณ ด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า นายกฯทักษิณ ตัดสินใจขายหุ้นชินคอร์ปให้แกสิงคโปร์เทเลคอมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอาจจะยังไม่ได้เซ็นสัญญาเอ็มโอยู เพราะถ้าเซ็นเอ็มโอยูจริงจะต้องมีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสาเหตุที่นายกฯทักษิณ เลือกสิงเทล เนื่องจากนายกฯทักษิณไม่ไว้ใจใครเท่ากับสิงเทล
ส่วนรูปแบบการขายหุ้นชินคอร์ป จะเป็นอย่างไรนั้น กล่าวกันว่า มีทั้งเป็นการสวอปหุ้นหรือแลกหุ้นกัน และหากจะถือหุ้นไข้วนั้นน่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากการที่ได้ขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ป แล้วจึงจะซื้อหุ้นสิงเทล
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกกระแสข่าวหนึ่งระบุว่า การขายหุ้นครั้งนี้จะไม่ใช่สิงเทล และไชน่าเทเลคอม แต่เป็นกองทุน 1 กองทุน กับพันธมิตรอีก 1 ราย ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเทไปที่บริษัทไมโครซอฟท์ เนื่องจาก ที่ผ่านมา บมจ.ชินคอร์ป ปฏิเสธมาข่าวมาโดยตลอดเมื่อสื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่า ตระกูลชินวัตร ขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ป ขายหุ้นให้สิงเทล และไชน่าเทเลคอม พิรุธข่าวรั่วเป็นปี
ทั้งนี้ หากรวบรวมข้อมูลจะพบว่า ที่ผ่านมา บมจ.ชินคอร์ป ได้เริ่มปฏิเสธข่าวการขายหุ้น บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) มาตั้งแต่กลางปี 2548
โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2548 นายบุญคลี ปลั่งศิริ กรรมการบมจ.ชินคอร์ปได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ปฏิเสธข่าวการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน ADVANC ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ว่าไม่เป็นความจริง
จากนั้นทิ้งช่วงห่างจนกระทั่งกระแสข่าวการขายหุ้นเป็นการขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ป โดย เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2548 นางศิริเพ็ญ สีตสุวรรณ กรรมการ บมจ.ชินคอร์ป ได้ปฏิเสธข่าวไชน่าเทเลคอมถือหุ้น บมจ.ชิน คอร์ป ที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน
จากนั้น วันที่ 16 ธ.ค.2548 นายบุญคลี ปฏิเสธข่าวการขายหุ้นบมจ.ชินคอร์ปให้กลุ่มสิงเทลใน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตามด้วยวันที่ 26 ธ.ค. 2548 ปฏิเสธข่าวการขายหุ้นบมจ.ชินคอร์ป ให้กลุ่ม
เทเลนอร์ในหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น
แหล่งข่าวจากการค้าหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ตามปกติดีลซื้อขายหุ้นของกิจการขนาดใหญ่มักจะทำกันค่อนข้างเงียบ แม้จะมีข่าวแต่ก็นับว่าน้อยมาก หรือสามารถทำให้การเจรจาซื้อขายสำเร็จจนกระทั่งมีการลงนามเอ็มโอยู เช่นกรณีของการขายหุ้นของกลุ่มยูคอมที่ผ่านมาก็นับว่าค่อนข้างเงียบมาก จนกระทั่งการเจรจาสำเร็จจึงค่อยประกาศออกมา
ซึ่งแตกต่างจากกรณีของ บมจ.ชินคอร์ป ซึ่งถือได้ว่าเป็นหุ้นบลูชิปเมืองไทย กลับมีกระแสข่าวออกมานับปี เพราะหากว่ากันตามจริงแล้ว มีกระแสข่าวลือในวงการนักลงทุนออกมาตั้งแต่ในเดือนเมษายน ปี 2548 ด้วยซ้ำไป
โบรกฯลุ้นวันนี้แถลง
นายอมฤต ศุขะวณิช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวคาดว่าวันนี้ (10 ม.ค.)บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ SHIN น่าจะมีการชี้แจงในเรื่องพันธมิตร ซึ่งอาจะเป็นการ)ปฏิเสธ หรืออะไรก็ได้ ซึ่งการขายหุ้นให้แกพันธมิตรนั้น ก็มีความเป็นไปได้ ทั้ง ไชน่าเทเลคอม และ สิงคโปร์เทเลคอม (SINTEL)
แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการถือหุ้นร่วมกับทั้ง ไชน่าเทเลคอม และ สิงคโปร์เทเลคอม เพราะ 2 ประเทศจะไม่มีการลงทุนร่วมกัน
บริษัทให้น้ำหนักไปที่ สิงคโปร์เทเลคอม มากว่า เนื่องจากสามารถหารือกันได้ง่ายและขณะนี้ก็ร่วมเป็นคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)แล้ว ซึ่งหากมีการขายให้แก่สิงคโปร์เทเลคอมจริง เชื่อว่า จะถือเพียงแค่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เท่านั้น คงจะไม่มีศักยภาพที่จะถือเป็นโฮลดิ้งเหมือนกับ SHIN และคงจะมีการขายสินทรัพย์อื่น เช่น สายการบิน ธุรกิจสินเชื่อให้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิม การที่ซื้อหุ้นชิน ไม่ซื้อเฉพาะ ADVANC เพราะจะได้รับส่วนลด 20% และจะติดปัญหาเรื่องการถือหุ้นของนักลงทนต่างประเทศ ดังนั้น จึงซื้อ SHIN จะดีกว่า
นายอมฤต กล่าวว่า สำหรับราคาขายหุ้นนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะเป็นราคาที่ 46 บาท เพราะกลุ่ม ผู้ถือหุ้นคงไม่ขายหุ้นในราคาที่ต่ำ โดยการที่ต่างประเทศเข้ามาจะช่วยทำให้บริษัทมีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ เทคโนโลยีที่พันธมิตรจะนำมาสนันสนุน
"กรณีพันธมิตรที่จะเข้ามาของชินฯ มีโอกาสเป็น ไปได้ทั้งสิ้น ซึ่งหากผู้ถือหุ้นใหญ่จะมีการขายหุ้นให้สิงคโปร์เทเลคอม และผู้ถือหุ้นใหญ่ชินฯไปถือหุ้นใน สิงคโปร์เทเลคอม ก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งไม่ติดในเรื่องกฎหมายอะไร แต่จะคุ้มพอหรือไม่ที่จะดำเนินการดังกล่าว ซึ่งหากสิงคโปร์เทเลคอมซื้อหุ้น SHIN เชื่อว่าไม่น่าจะมีการถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะจะไม่ส่งผลดีซึ่งไม่สามารถระดมทุนในตลาด หลักทรัพย์ได้ และหากจะนำเข้ามาจดทะเบียนอีกครั้งก็จะดูไม่ดี" นายอมฤต กล่าว
นายพงศ์พันธุ์ อภิญญากุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. กิมเอ็ง กล่าวว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น คาดการณ์ลำบาก ทั้งนี้ การเจรจาครั้งนี้ โดยหาก SINTEL จะเข้ามาซื้อก็ไม่ได้สร้างมูลค่าให้กับตัว SHIN เท่าใดนัก
ทั้งนี้ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่เมื่อหลังจบดีลครั้งนี้โดยการเลือกเฉพาะ ADVANC เท่านั้น มีโอกาสเป็นไปได้ที่ทาง ADVANC เพิ่มทุนและนำหุ้นส่วนที่เพิ่มทุนไปเทรดในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ก็จะเป็นการสร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้
"เนื่องจากว่าโลกของธุรกิจนี้การเติบโตที่ยากขึ้น ดังนั้นจึงต้องหาทางเพื่อสร้างมูลค่าเงินลงทุนมากกว่าเน้นตัวธุรกิจ"นายพงศ์พันธ์กล่าว
4 วันหุ้นกลุ่มชินฯมั่งคั่งเพิ่มกว่า 1.3 หมื่นล.
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในกลุ่มชินวัตร ซึ่งประกอบไปด้วย บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ฯ บมจ. ชินคอร์ป, บมจ.ชินแซทเทลไลท์(SATTEL), บมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ (CSL), บมจ.ไอทีวี (ITV), บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) ตั้งแต่เปิดศักราชปี 2549 ซึ่งตลาดหุ้นไทยได้ปรับขึ้นร้อนแรงจากเงินทุนต่างประเทศโหมเข้าลงทุน ก็พบว่า หุ้นกลุ่มชินวัตรมูลค่า(มาร์เกตแคป) เพิ่มขึ้นถึง 13,827 ล้านบาท หรือ 2.89% จากมูลค่ารวม 477,022 ล้านบาท เป็น 490,849 ล้านบาท ในเวลาเพียง 4 วันทำการ (วันที่ 3 - 6 ม.ค. 2549)
โดยในจำนวนนี้แอดวานซ์ ปรับเพิ่มขึ้น 8,906 ล้านบาท หรือ 2.84%, ส่วนชินคอร์ป เพิ่มขึ้น 4,522 ล้านบาท หรือ 3.50%,
ส่วนวานนี้(9 ธ.ค.) ราคาหุ้นกลุ่มชินวัตรยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อไปอีก โดยแอดวานซ์ ปิดที่ 111 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท, ชินคอร์ป ปิดที่ 45.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท, SATTEL ปิดที่ 15.20 บาท ลดลง 0.10 บาท, ITV ปิดที่ 11.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท, CSL ปิดที่ 3.58 บาท เพิ่มขึ้น 0.08 บาท, SC ปิดที่ 10.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท
|