Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2540
นอร์ธบริดจ์ฯ มองไกล บุกสร้างคอมเพล็กซ์ในกัมพูชา             
โดย สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
 


   
search resources

นอร์ธบริดจ์ คอมมิวนิเคชั่น
โรงเรียนนานาชาติกัมพูชา
สมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์




การที่ธุรกิจจะขยายเข้าไปในพื้นที่ใด ย่อมแสดงว่าพื้นที่นั้นมีศักยภาพต่อการลงทุน ภูมิภาคอินโดจีนดูเหมือนจะถูกพูดถึงในเรื่องนี้มานานแล้ว และในความเป็นจริงกลุ่มทุนต่างๆ ก็เริ่มทยอยเดินพาเหรดเข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ ชนิดว่าใครเข้าไปก่อนก็มีโอกาสก่อน

การเข้าไปในกัมพูชาของบริษัท นอร์ธบริดจ์ คอมมิวนิเคชั่น ก็เช่นเดียวกัน ธุรกิจที่บริษัทคาดว่าจะเติบโตได้ในอนาคต คือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของคอมเพล็กซ์ที่มีทั้งโรงเรียนนานาชาติ ที่พักอาศัย และพื้นที่การพาณิชย์ไว้ในบริเวณเดียวกันอย่างครบวงจร

ด้วยมองเห็นว่าพนมเปญเป็นเมืองหลวงที่กำลังเข้าสู่ช่วงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคมที่รวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนของต่างชาติที่มาพร้อมๆ กับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี

ความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งจากภาคธุรกิจ และกลุ่มปัญญาชนที่จะเข้ามาผลักดันให้สังคมก้าวไปตามความต้องการของภาคธุรกิจได้ ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งที่จะถูกส่งตัวเข้ามาในกัมพูชาโดยบริษัทเอกชน หรือองค์กรนานาชาติ เพื่อเข้ามาทำงานต่างๆ เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว คนกลุ่มนี้ก็คือ พวกที่เรียกว่า expatriate

ขณะที่ปัจจัยต่างๆ ในประเทศยังไม่สอดรับกับความต้องการของผู้ที่เข้ามาทั้งสถานการณ์ทางการเมืองของกัมพูชาเอง การเดินทางที่ไม่สะดวกนักในถนนหนทาง และความปลอดภัย รวมถึงการขาดแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ดีสำหรับครอบครัวในยามค่ำคืน

นอร์ธบริดจ์ฯ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสตรงนี้จึงเข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในพนมเปญ ด้วยการผุดโครงการเพื่อสร้างคอมเพล็กซ์ดังกล่าว ด้วยความมั่นใจจากศักยภาพของพื้นที่และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

ย้อนหลังไปประมาณ 3 ปี บริษัทนอร์ธบริดจ์ฯ ถูกก่อตั้งขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทชัยพัฒน์ กรุ๊ป เจ้าของโครงการ "เมืองประชา" ถือหุ้น 20% กลุ่มฟินันซ่า 50% และกองทุนต่างประเทศอีก 30% เพื่อสร้างแหล่งชุมชนในลักษณะคอมเพล็กซ์ที่มีทั้งโรงเรียนและที่พักอาศัยในบริเวณเดียวกัน

โดยร่วมกับบูรพากอล์ฟคลับและร.ร.นานาชาติกรุงเทพ ก่อตั้งร.ร.นานาชาติอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งดำเนินการไปแล้วในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น เริ่มจากมีนักเรียน 70 คน จนเพิ่มขึ้นเป็น 250 คน และเปิดเทอมเดือนสิงหาคมนี้จะเพิ่มเป็น 350 คน

ส่วนพื้นที่พักอาศัยนั้นสร้างไว้รองรับบุคลากรที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ขยายเพิ่มตามลำดับ ล่าสุดในส่วนของที่พักจะขยายจาก 20 ยูนิตเป็น 100 ยูนิต ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของทำเลที่ตั้งได้เป็นอย่างดี

จากความสำเร็จในเมืองไทยทำให้นอร์ธบริดจ์ฯ มีความมั่นใจและกล้าที่จะมาขุดทองในกัมพูชาเช่นกัน แต่เนื่องจากกฎหมายใหม่ของกัมพูชาที่ออกมาในปี'37 ประกาศให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศได้นั้นต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวกัมพูชาเกินครึ่งหนึ่ง

นอร์ธบริดจ์-เคซี ดีเวลอปเม้นท์ (NKD) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในกัมพูชาจึงได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวโดยการร่วมลงทุนกับมร.Khaou Chuly นักลงทุนชาวกัมพูชา เพื่อพัฒนาที่ดินในพื้นที่ 518,900 ตร.ม. ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 4 ระหว่างทางไปสนามบิน และห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร

ร.ร. นานาชาติระบบอเมริกันแห่งแรกในกัมพูชา

ร.ร. นานาชาติกัมพูชา (International School Cambodia) ดำเนินงานภายใต้การดูแลของมร.เดวิด ดีตัน นักการศึกษานานาชาติที่มีประสบการณ์ ซึ่งเข้ามาร่วมงานตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ในตำแหน่ง Super-intendent เพื่อดูแลงานบริหารของโรงเรียน ทั้งทางด้านนโยบายบุคลากร และการจัดการภายใน

การเรียนการสอนเป็นระบบอเมริกัน ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในพนมเปญ โดยระบบดังกล่าวจะเน้นให้นักเรียนมีความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยการเรียนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยอิสระ

"สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนนี้แตกต่างจากที่มีอยู่แล้วในพนมเปญคือขนาดของโครงการที่ดูมั่นคงและมีการก่อสร้างอาคารอย่างเป็นสัดส่วน เทียบกับโรงเรียนนานาชาติที่มีอยู่แล้ว ซึ่งคล้ายกับสถานที่รับดูแลเด็กมากกว่าที่จะเป็นโรงเรียน "อัมพร ศิริจินดากุล ผู้จัดการธุรกิจกล่าว

2 ปีก่อนมีโรงเรียนที่เปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษตั้งขึ้นในพนมเปญเช่นกัน โดยใช้ระบบการเรียนของออสเตรเลีย 1 แห่ง และระบบอังกฤษอีก 1 แห่ง แต่โรงเรียนเหล่านี้ไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลกัมพูชา และยังมีนักเรียนไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชาวกัมพูชาทั้งสิ้น การเปิด ร.ร.นานาชาติกัมพูชาจึงถือว่ายังเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจ เพราะนับวันบุตรหลานของชาวต่างชาติที่เข้ามาและครอบครัวชาวกัมพูชาเองก็จะทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

มาตรฐาน WASC ให้ความมั่นใจ

การสร้างโรงเรียนนานาชาตินั้น หลักสำคัญต้องได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติจึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและนักเรียนได้ โรงเรียนนานาชาติกัมพูชาจึงได้ขอการรับรองมาตรฐานจาก The Western Association of Schools and Colleges (WASC) จาก Burlingame, California ซึ่งเป็นองค์กรในสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทในเรื่องนี้

โดยเริ่มตั้งแต่การดำเนินงานปีแรกทาง WASC จะส่งกรรมการ 2 คนมาตรวจเยี่ยม เพื่อดูประสิทธิภาพของการจัดเตรียมอุปกรณ์การสอนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ควบคู่ไปกับคณะครูที่ทำการสอน ซึ่งการเยี่ยมชมครั้งนี้จะมีผลต่อการให้คำรับรองจาก WASC ว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็น "Candidate for Accreditation"

และในปีที่ 3 โรงเรียนต้องพัฒนามาตรฐานให้ได้ตามโปรแกรม Self-Study ซึ่งเป็นแนวทางของ WASC ประกอบด้วยนโยบายการเรียนการสอน การเงิน การจัดการ สิ่งอำนวยความสะดวก โปรแกรมการศึกษา พฤติกรรมนักเรียนและคุณภาพของคณาจารย์

ผลการพิจารณาตามโปรแกรม Self-Study จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการที่ประกอบขึ้นด้วย นักการศึกษาจากอเมริกาและจากโรงเรียนนานาชาติอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกซึ่งตั้งโดย WASC และคณะกรรมการเหล่านี้จะกลับมาตรวจเยี่ยมที่โรงเรียนอีกครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่ออภิปรายถึงผลการรายงานและพูดคุยกับคณะผู้บริหารโรงเรียน ครู บุคลากรแผนกต่าง ๆ ผู้ปกครองและนักเรียน

หลังจากพิจารณารายงานดังกล่าวและได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ ในโรงเรียนตลอด 1 สัปดาห์ คณะกรรมการชุดนี้จะทำความเห็นเพื่อรับรอง (หรือไม่รับรอง)แล้วส่งไปยังบอร์ดกรรมการบริหารของ WASC จากนั้นบอร์ดซึ่งประชุมกันทุกๆ 3 ครั้ง ในหนึ่งปี จะพิจารณาตามความเห็นนั้นและรับรองโดยกำหนดเป็นเทอม มีระยะเวลา 1 ปี, 3 ปี หรือ เต็มที่ 6 ปี

หลังจากนั้นโรงเรียนจะต้องดำนินงานในแต่ละปีให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ได้มีการแสดงความเห็นของคณะกรรมการตรวจเยี่ยมและรายงานกลับไปยัง WASC ซึ่งทุกครึ่งเทอมของการรับรองทางคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจาก WASC จะมาเยี่ยมชมโรงเรียนเพื่อประเมินผลงานความก้าวหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ และเมื่อครบเทอมการรับรองและโปรแกรม Self-Study เสร็จสมบูรณ์ คณะกรรมการใหญ่ทั้งหมดก็จะมาเยี่ยมชมโรงเรียนอีกครั้ง

เฟ้นหลักสูตร-ระดมครู

ด้านหลักสูตรทุกโปรแกรมจะออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้เหมาะกับสภาพการเรียนที่มีนักเรียนจากหลายชาติภายในหนึ่งห้อง และทางโรงเรียนยืนยันว่า หลักสูตรของที่นี่สามารถนำไปเทียบโอนรายวิชาเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติอื่นได้ในกรณีนักเรียนย้ายที่เรียน

โปรแกรมหนึ่งที่มีความสำคัญค่อนข้างมากคือ โปรแกรมการเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองหรือ English as a Second Language (ESL) ด้วยเข้าใจถึงความแตกต่างของนักเรียนภายในห้องเรียนหนึ่ง ๆ ว่า จะมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม โปรแกรมนี้จะให้นักเรียนได้พัฒนาทางด้านภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับการพัฒนาพฤติกรรม และทักษะการเรียนภายในห้องด้วย ซึ่งจะมีครูรับผิดชอบ 3 คน

ทั้งโรงเรียนจะมีครูทั้งหมดที่รับผิดชอบการสอนประมาณ 15 คน ครูทุกคนจะได้รับการรับรองหรือผ่านการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งครูเหล่านี้มีทั้งมาจากต่างประเทศและครูที่อยู่ในพนมเปญมาก่อนแล้วและแน่นอนอัตราค่าจ้างต้องเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย

แอนดี้ ฮอลโลเวย์ ครูสอนเกรด 5 ชาวออสเตรเลียอยู่พนมเปญมาก่อนที่จะร่วมงานกับนอดร์ธบริดจ์ โดยเป็นครูสอน ESL ในศูนย์ออสเตรเลียเพื่อการศึกษาและมีประสบการณ์สอนในระดับเกรด 4-6 ในออสเตรเลียมาแล้วกล่าวว่า "ค่าตอบแทนสำหรับโรงเรียนนานาชาติอย่างนี้เป็นตัวเลขที่น่าพอใจทีเดียวเมื่อเทียบกับค่าตอบแทนในออสเตรเลีย" ด้วยอัตราที่สูงกว่าถึง 2.5 เท่าเป็นอย่างน้อยจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขามาที่นี่

การรับครูในพื้นที่จะผ่านการสัมภาษณ์จากผู้บริหารของโรงเรียนโดยตรง ส่วนครูจากต่างประเทศจะมีบริษัทตัวแทนรับสมัครทั้งในเอเชียอาคเนย์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ลอนดอน และอีกหลายเมืองในสหรัฐอเมริกา

"เราพยายามรับครูให้มีความแตกต่างจากหลายพื้นที่เพื่อความหลากหลาย แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของการสอนแบบอเมริกัน" ผู้บริหารโรงเรียนกล่าว

ด้านบุคลากรสนับสนุนส่วนใหญ่จะจ้างคนในพื้นที่ อาทิ เจ้าหน้าที่ธุรการ เลขา ผู้ช่วยครู พนักงานดูแลความสะอาดและความปลอดภัย ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานให้คนในพื้นที่มากพอสมควร

ปีแรกตั้งเป้าหมายรับนักเรียน 300 คน

ในปีแรกคาดว่าจะสามารถรับนักเรียนได้ประมาณ 250-300 คน และพร้อมสำหรับการขยายไปสู่ระดับ 800-1,000 คน โดยขนาดของห้องเรียนออกแบบให้เหมาะสมกับจำนวนนักเรียนประมาณ 18-28 คน เพื่อให้ครูสามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง

ส่วนค่าเล่าเรียนนั้นแยกอัตราตามระดับเตรียมอนุบาล, อนุบาล - เกรด 5, เกรด 6-8, เกรด 9-12 โดยค่าลงทะเบียนคิดในอัตรา 37,500 บาท เท่ากันทุกระดับชั้นยกเว้นชั้นเตรียมอนุบาลยังไม่ได้กำหนด ส่วนค่าเล่าเรียนระดับเตรียมอนุบาลคิดปีละ 112,500 บาท, อนุบาล-เกรด 5 คิดปีละ 155,000 บาท, ส่วนเกรด 6-12 คิดปีละ 184,000 บาท ทั้งนี้ในส่วนของค่าเล่าเรียนสามารถแยกจ่ายเป็นรายปีหรือเป็นเทอมการศึกษาก็ได้

นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณารวมกับโรงเรียน และจะเป็นบางระดับการเรียนเท่านั้น อาทิการเรียนโปรแกรม ESL จะเปิดสอนเฉพาะเกรด 2-8 เท่านั้น โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับหนึ่งค่าเรียน 45,000 บาท และระดับสองค่าเรียน 30,000 บาท

โรงเรียนเป็นหลักที่พักเป็นรอง

สำหรับพื้นที่โครงการ ตั้งอยู่ไม่ห่างจากสนามบินนานาชาติโปเชนตงนัก (Pouchentong) และห่างจากถนนทางหลวงหมายเลข 3 ไปทางทิศใต้ระยะ 1 กิโลเมตร จะถูกวางแผนผังโดยเน้นให้ร.ร. นานาชาติกัมพูชาเป็นศูนย์กลางหลักของพื้นที่ชุมชน และแวดล้อมด้วยพื้นที่อยู่อาศัย ศูนย์กีฬาและสันทนาการ รวมทั้งศูนย์การแพทย์และพื้นที่การพาณิชย์

สิ่งแรกที่จะเจอเมื่อเข้าไปในพื้นที่โครงการคืออาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ใกล้กับพื้นที่อาคารพาณิชย์จะเป็นที่ตั้งของโรงเรียน

โดยจุดเด่นของโครงการอยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างน้ำและไฟฟ้านั้นทางโครงการจะผลิตขึ้นใช้เองรวมถึงโรงบำบัดน้ำเสีย และการสื่อสารโทรคมนาคมทั้งในพื้นที่และต่างประเทศที่จะให้บริการด้วยระบบไมโครเวฟ เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง

แบบของอาคารสถานที่ทั้งหมดเป็นผลงานของบริษัทสัญชาติอเมริกัน Moission Design Group จากประเทศสิงคโปร์ และมีบริษัท MAEDA Construction Cambodia (MKK) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างที่มีประสบการณ์ในกัมพูชามากที่สุดบริษัทหนึ่ง เป็นผู้ดูแลการก่อสร้างทั้งตัวอาคาร และโครงสร้างภายในของเฟสหนึ่งทั้งหมด

งานก่อสร้างเฟสแรกเริ่มแล้ว

สำหรับเฟสแรกลงทุนไปแล้วประมาณ 300 ล้านบาทคิดเป็น 10% ของเงินทุนที่จะใช้ทั้งโครงการ โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ทำการสร้างกำแพงรั้วและปรับถมพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ส่วนงานก่อสร้างอาคารเรียน และเสาเข็มฐานรากของอาคารอพาร์ตเม้นต์ 9 หลังนั้นจะเรียบร้อยภายในเดือนกรกฎาคม

รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งถนนหนทางภายในพื้นที่โครงการจะสร้างขึ้นไว้เลยในช่วงแรก สำหรับอพาร์ตเม้นต์ขนาด 3 ชั้นจำนวน 9 หลัง คิดเป็น 108 ยูนิต และบ้านเดี่ยว 29 หลัง

สำหรับศูนย์สันทนาการของครอบครัวจะจัดให้มีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพสอดคล้องกับชุมชน มีภัตตาคารสำหรับการทานอาหารมื้อค่ำ ห้องสมุดและห้องประชุม อุปกรณ์และสถานที่ในการออกกำลังกายและการใช้สนามและอุปกรณ์กีฬาเทนนิสรวมกับทางโรงเรียน และมีสระน้ำอยู่หน้าภัตตาคารด้วยติดกับแอ่งน้ำ

ส่วนอพาร์ตเม้นต์ขนาด 3 ชั้นหรืออาจจะเป็นบ้านจัดสรรและบ้านเดี่ยวที่จะสร้างในแต่ละเฟสนั้นขึ้นกับความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ ส่วนบ้านเดี่ยวติดแอ่งน้ำจะสร้างในเฟสต่อไป

โรงเรียนเตรียมเปิดเดือนสิงหาคม'40

ส่วนของพื้นที่โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อเดือนตุลาคมปี'38 โดยเจ้านโรดม รณฤทธิ์ มาเป็นประธาน และจะทำการเปิดตัวโครงการที่สร้างเสร็จในเฟสแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 สิงหาคม 2540 โดยสมเด็จ ฮุนเซนจะมาเป็นประธานในพิธี

แบบแปลนจะออกมาให้สะดวกต่อสิ่งก่อสร้างที่มีขึ้นมาก่อนและง่ายต่อการต่อเติมเมื่อมีการขยายงาน เนื่องจากแผนงานก่อสร้างจะแบ่งเป็น 2 เฟส คือเฟสแรกจะสร้างอาคารเรียน 2 หลังขนาด 2 ชั้น และ 3 ชั้น จะมีห้องเรียนทั้งหมด 42 ห้อง ซึ่งรวมถึงห้องเรียนศิลปะ ดนตรี คอมพิวเตอร์ ห้องแล็บ ภาษาต่างประเทศ และห้องสมุด

เฟส 1 จะแบ่งงานย่อยอีกเป็น 2 ส่วน ในส่วนเฟส 1A จะประกอบด้วย อาคารบริหารทั่วไป, อาคาร 3 ชั้น 1 หลัง, โรงอาหาร, โรงยิมเนเซียมพร้อมอุปกรณ์ ส่วนนี้จะสามารถรองรับนักเรียนได้ถึง 420 คน

เมื่อยอดนักเรียนถึง 400 คน จะเริ่มก่อสร้างเฟส 1B เป็นอาคารเรียน 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง ซึ่งจะทำให้โรงเรียนขยายเพิ่มอีก 16 ห้องเรียน รองรับนักเรียนได้อีก 200 คน

ส่วนเฟสสองนั้นจะเป็นอาคารเรียนอีก 3 หลังประกอบด้วย อาคารขนาด 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง และอาคาร 3 ชั้นจำนวน 1 หลัง ซึ่งจะมีห้องเรียนเพิ่มขึ้นมาอีก 58 ห้อง ในจำนวนนี้จะได้ห้องแล็บวิทยาศาสตร์และห้องแล็บคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอีกอย่างละหนึ่งห้อง รวมทั้งโรงภาพยนตร์ โรงยิมเนเซียมในร่ม ห้องศิลปะและห้องดนตรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ (Total Educational Institutional) ตามที่วางเป้าหมายไว้

ในพื้นที่เฟสแรก 3,500 ตร.ม.ได้ออกแบบไว้สำหรับอาคารเรียน 5 หลัง, อาคารสำนักงานบริหาร, โรงภาพยนตร์, โรงอาหาร 2 แห่ง และโรงยิมเนเซียม 3 แห่ง โดยแต่ละอาคารจะเว้นพื้นที่เป็นโถงตรงกลางไว้ เพื่อให้แสงส่องลงมาถึงพื้นดินและช่วยระบายอากาศของทางเดินภายในตึก รวมทั้งให้นักเรียนแต่ละชั้นมีกิจกรรมร่วมกัน และมีทางเดินแบบมีหลังคาเชื่อมต่อให้สามารถเดินถึงกันได้ทุกจุด

ด้านการออกกำลังกายทางโรงเรียนได้เตรียมพื้นที่สำหรับลู่วิ่ง, สนามเบสบอลล์-ซอล์ฟบอล์ ในพื้นที่เดียวกัน, สนามซอกเกอร์-ฟุตบอล-รักบี้ในพื้นที่เดียวกัน, คอร์ตเทนนิส 6 คอร์ต, สระว่ายน้ำที่ใช้สำหรับแข่งขัน ขนาด 25 เมตร 6 ลู่ รวมทั้งมีพื้นที่ว่างสำหรับเป็นที่จอดรถของบุคลากรโรงเรียน ผู้ปกครอง และแขกที่มาเยือนด้วย

พื้นที่อาศัยเฟสแรก 14 บ้านเดี่ยว-54 ห้องพัก

ส่วนของที่พักอาศัยจะเป็นพื้นที่หลังโรงเรียนสามารถเดินทะลุถึงกันได้ทางด้านหลังของโรงเรียน ในการพัฒนาจะแยกเป็นเฟสเช่นกัน เฟสแรกหรือเฟส 1A จะประกอบด้วย อพาร์ตเม้นต์ 54 ยูนิต และบ้านเดี่ยว 29 หลัง เฟส 1B จะตามด้วยอพาร์ตเมนต์อีก 54 ยูนิต นอร์ธบริดจ์-เคซีตั้งเป้าว่าจะให้เช่าอพาร์ตเม้นต์ 54 ยูนิตแรก และบ้านเดี่ยว 14 หลัง และขายสำหรับ 15 หลังที่เหลือ

อพาร์ตเม้นต์ขนาด 3 ชั้นแต่ละอาคารจะประกอบด้วย ห้องขนาด 200 ตร.ม. 6 ยูนิต แต่ละยูนิตประกอบด้วย 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร ห้องครัว ห้องพักของแม่บ้าน และพื้นที่จอดรถ 1 คันแบบมีหลังคา พื้นที่ภายในอาร์ตเม้นต์จะได้รับการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องครัว อ่างล้างและเครื่องเป่าลมร้อน เตียงนอน โต๊ะอาหารพร้อมเก้าอี้ โซฟา ม่านหน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่จำเป็นภายในบ้าน

ส่วนในบ้านแบบครอบครัวเดี่ยวจะตกแต่งด้วยเครื่องครัว อ่างล้าง เครื่องเป่าลมร้อน และม่านหน้าต่าง บ้านเดี่ยวจะมีอย่างน้อย 4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ห้องสำหรับครอบครัว ห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร ห้องครัว ห้องพักของแม่บ้าน และที่จอดรถ 2 คัน ในช่วงต้นบริษัทมีบ้าน 3 แบบให้เลือกในขนาด 340, 375, และ 420 ตร.ม.

โดยเงินลงทุนสำหรับที่อยู่อาศัยในเฟสแรกนี้ตั้งไว้ประมาณ 325 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาจากทุนของบริษัท 91.25 ล้านบาท (28.03%) เงินของลูกค้า 6.51 ล้านบาท (9.99%) รายได้จากค่าเช่าระหว่างก่อสร้าง 3.53 ล้านบาท (1.08%) และเงินกู้ 198.20 ล้านบาท (60.89%)

เงินกู้จำนวนนี้คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน 2 แห่งคือ IFC ของเวิลด์แบงก์ และ Commondwell Development Corp.(CDC) สถาบันการเงินของอังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะได้เงินกู้ระยะยาว 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 9% หรือ Libor+3.5%

โดยมีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายคืนหนี้เท่ากับ 1.25 เท่า เนื่องจากคาดว่าภายในปี'42 จะมีรายได้จากค่าเช่าอพาร์ตเม้นต์ 54 ยูนิตและบ้านเดี่ยว 14 หลัง (คาดว่าอัตราเข้าพัก90%) รวมแล้วประมาณ 61.475 ล้านบาท เมื่อหักจากค่าใช้จ่ายในส่วนค่าดำเนินงาน ค่านายหน้า ค่าการตลาด ค่าการจัดการ รวมแล้วประมาณ 11.825 ล้านบาท

ทำให้บริษัทมีรายได้สุทธิเพื่อนำไปหักค่าหนี้ 49.65 ล้านบาท เมื่อเทียบกับหนี้ที่ต้องจ่ายคืนปีละ 39.775 ล้านบาทแล้ว บริษัทจะเหลือเงินรายได้จากโครงการที่อยู่อาศัยปีละไม่ต่ำกว่า 9.875 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง

ธุรกิจในอินโดจีนมีแต่ดีวันดีคืน

พนมเปญในวันนี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แม้สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่สงบ แต่สำหรับนักลงทุนต่างชาติแล้วไม่มีผลกระทบถึงแน่นอน แม้ว่าในอดีตชุมชนและความเจริญของพนมเปญจะกระจุกตัวอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประกาศอิสระภาพ รอบถนนนโรดม บุลเลอวาด แต่ปัจจุบันความเจริญเริ่มแผ่ขยายไปสู่ถนนระหว่างเมืองสายอื่น โครงการของนอร์ธบริดจ์เป็นตัวอย่างได้ดี

วันเปิดตัวแนะนำโครงการนอร์ธบริดจ์เมื่อวันที่ 24 พ.ค.นั้นมีผู้ให้ความสนใจเข้ามาชมทั้งในส่วนของโรงเรียนนานาชาติสำหรับบุตรหลานและที่พักอาศัยไม่ต่ำกว่า 50 ราย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่การตลาดที่ดูแลส่วนของที่พักกล่าวว่าแม้จะไม่มีการทำโปรโมชั่นอย่างจริงจังเพียงแต่นำแบบ และรายละเอียดของอพาร์ตเม้นต์และที่พักมาแสดงเท่านั้น ก็มีผู้แสดงความสนใจเข้ามาถึง 15 ราย

นอกจากโครงการในพนมเปญแล้ว นอร์ธบริดจ์ยังมีโครงการต่อในเวียดนาม ซึ่งขณะนี้ได้รับใบอนุญาตให้เริ่มดำเนินงานได้แล้ว ในไม่ช้าก็คงมีให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ก่อนที่จะสยายปีกอันแข็งแกร่งไปจีน ซึ่งเป็นที่หมายต่อไป

การตอบสนองความเจริญของนอร์ธบริดจ์นอกจากเป็นการเติมช่องว่างระหว่างความเป็นท้องถิ่นและความเจริญที่เข้ามาแล้ว ยังเป็นการแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวได้เป็นอย่างดีทีเดียว โดยลงทุนในแถบประเทศเพื่อนบ้านที่มีความคุ้นเคยทางด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่

ใครสนใจไปขุดทองที่อินโดจีนในขณะที่โครงการในไทยยังชะลอตัวก็รีบๆ หน่อย ถ้ามัวแต่กล้าๆ กลัวๆกับสถานการณ์ตามข่าว โดยไม่ไปสัมผัสกับความเป็นจริงอาจตกรถไฟเที่ยวแรกก็ได้ และถ้าจะรอไปเที่ยวใหม่ก็ถือว่าช้าไปแล้วสำหรับโลกธุรกิจทุกวันนี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us