"ฤทธาเหมราช"ปรับนโยบายบริหารครั้งใหญ่ หลังต้องออกมารับงานนอกวัดธรรมกาย เหตุงานในวัดเริ่มน้อยลง เดินหน้าสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้าง กรุยทางรับงานภาครัฐ นำร่องโครงการบ้านเอื้ออาทร และโรงพยาบาลชุมพร ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 2,500 ล้านบาท
ในช่วงก่อนหน้าการสร้างแบรนด์เป็นจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในวงการคอนซูเมอร์ โปรดักส์ ต่อมาได้ขยายเข้าไปในหลายวงการ รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ประกอบการหลายรายเร่งสร้างภาพลักษณ์ สร้างแบรนด์ของตัวเองให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับในวงการมากขึ้น ล่าสุด การสร้างแบรนด์เริ่มกระจายเข้าไปในวงการรับเหมาก่อสร้าง
ล่าสุด บริษัท ฤทธาเหมราช จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเริ่มใช้กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงการบ้างแล้ว โดยก่อนหน้านี้การรับงานจะใช้แค่วิธีการเข้าร่วมประมูลงานเหมือนกับผู้รับเหมาทั่วไป เพราะคิดว่า การสร้างแบรนด์ไม่มีความจำเป็นเหมือนสินค้าประเภทคอนซูเมอร์ โปรดักส์ หรือผู้ประกอบการโครงการบ้านจัดสรร
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ประกอบนโยบายการรับงานก่อสร้างของบริษัทเปลี่ยนแปลง บริษัท ฤทธาเหมราช จึงต้องปรับบทบาทตัวเองใหม่
สมยศ วงษ์ทองสาลี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฤทธาเหมราช จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทก่อตั้งเมื่อปี 2544 เพื่อดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างครบวงจร ทั้งออกแบบและรับปรึกษางานก่อสร้าง ,สถาปัตยกรรม งานโยธา และงานประเมินค่าก่อสร้าง โดยการร่วมมือกันระหว่างบริษัท ฤทธา จำกัด และบริษัท เหมราช จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และ49% ตามลำดับ มีทุนจดทะเบียนครั้งแรก 10 ล้านบาท ปี 2546 เพิ่มเป็น 50 ล้านบาท และในปี 2548 เพิ่มเป็น 80 ล้านบาท แต่ในช่วงต้นปี 2548 บริษัท ฤทธาได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับอดีตผู้บริหาร ฤทธา
การตั้งบริษัท เนื่องจากในราวปี 2540 บริษัท เหมราช ประสบปัญหาเรื่องการหางาน ขณะที่บริษัท ฤทธา มีงานล้นมือ จนถึงขั้นต้องปฏิเสธงานไปหลายงาน ผู้บริหารทั้งสองบริษัทซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จับมือกันจัดตั้งบริษัท ฤทธาเหมราช เพื่อรับงานที่บริษัท ฤทธาไม่อยากทำ
การรับงานในช่วงเริ่มต้น งานเกือบทั้งหมดจะได้จากบริษัท ฤทธาส่งมาให้ ซึ่งเป็นงานที่มีมูลค่าน้อย ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และปัจจุบันงานที่มีมูลค่าต่ำกว่า 200 ล้านบาท บริษัท ฤทธาเริ่มไม่รับและส่งมาให้ โดยในปี 2545 มียอดขาย 200 ล้านบาท ปี 2546 เพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาท ปี 2547 มียอดขาย 1,400 ล้านบาท ปี2548 มียอดขาย 1,550 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ที่ 2,200-2,700 ล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่จะหันมาเร่งสร้างแบรนด์ เนื่องจากในอดีต บริษัทรับงานหลัก ๆ อยู่ในวัดธรรมกาย มากถึง 85% งานนอกวัด 15% แต่ปัจจุบันงานในวัดเริ่มเหลือน้อยลง ทำให้บริษัทต้องออกมารับงานนอกวัดเพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้ได้รับงานนอกวัดมากถึง 85% และยังมีงานในมือที่ต้องก่อสร้างในวัดอีกราว 15% ของมูลค่างานทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้สามารถหางานได้ง่ายขึ้น บริษัทจึงจำเป็นต้องเปิดตัว และสร้างชื่อเสียงให้ติดตลาด เช่นเดียวกับบริษัท ฤทธา ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง จนมีงานเข้ามาจนทำไม่ไหว และในปีนี้ จะรับงานนอกวัดทั้งหมด
"ชื่อฤทธาเหมราช เสมือนใบเบิกทาง เพราะชื่อเสียงของฤทธาเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวาง ดังนั้น บริษัทจึงใช้ชื่อฤทธานำหน้าเหมราช รวมถึงโลโก้ก็มีรูปแบบคล้าย ๆ กัน ซึ่งการตั้งชื่อและใช้โลโก้คล้ายกัน จะทำให้รู้ว่าฤทธาเหมราช เกิดจากบริษัท ฤทธาและเหมราช "
สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานของบริษัท จะเข้าไปรับงานภาครัฐด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้งานมาบ้างแล้ว อาทิ งานก่อสร้างโรงพยาบาลชุมพร และงานก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ปัจจุบันมีงานที่อยู่ในมือประมาณ 12 แห่ง เช่น มหารัตนวิหารคต วัดธรรมกาย มูลค่า 1,300 ล้านบาท, งานก่อสร้างลานธรรม วัดธรรมกาย มูลค่า 1,000 ล้านบาท ,โรงงานอาหารแช่แข็ง บริษัท เค.ซี ฟู้ดส์ มูลค่า 242 ล้านบาท ,โรงงานอาหารพรานทะเล 143 ล้านบาท
โรงงานผลิตแฟ้ม บริษัท DHA สยามวาลา 214 ล้านบาท, อพาร์ตเมนท์ บริษัท ออร่า พร็อพเพอร์ตี้ 246 ล้านบาท ,อพาร์ตเมนท์ บมจ.ปริญสิริ 80 ล้านบาท ,โรงครัวกลาง บริษัท ไทยฮะจิบัง 144 ล้านบาท ,อาคาร บริษัท ซินเน็ค 69 ล้านบาท และอาคารสำนักงาน เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น 52 ล้านบาท เป็นต้น
ด้านการแข่งขันมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะงานก่อสร้างมีไม่มาก ขณะที่ผู้รับเหมามีหลายรายโดยเฉพาะรายที่เน้นมูลค่างานใกล้เคียงกับฤทธาเหมราช ซึ่งส่วนใหญ่ที่ไปประมูลงานจะเจอกับคู่แข่งรายเดิม ๆ เช่น บริษัท เค-เทค ,เนาวรัตน์พัฒนาการ ,ครีสเตียนี่ แอนด์ นีลเส็น ดังนั้น บริษัทจึงต้องหันมาสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เช่นเดียวกับคู่แข่ง ที่สำคัญจากนี้ไป บริษัทจะพยายามหางานด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัท ฤทธาอีก ซึ่งจะใช้กลยุทธ์การก่อสร้างที่ดี มีคุณภาพ ส่งงานก่อนเวลา และไซด์สะอาดเป็นธงนำในการหางาน
|