แก้วใจ หญิงสาววัย 29 ปี ประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง เธอตัดสินใจทันทีที่รู้ว่าตั้งท้องบุตรคนแรกว่าต้องเข้ารับการดูแลและบริการจากร.พ.เอกชนชั้น
1 เท่านั้น เช่นเดียวกับรัตนา พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งวัย 35 ปี ที่ป่วยด้วยโรคไต
ก็เข้ารับการบำบัดรักษาใน ร.พ.เอกชนชั้นดีที่กรุงเทพฯ ทันที โดยทั้งคู่หวังเพียงการบริการที่ดี
และความสะดวกรวดเร็วเป็นสำคัญ แม้ว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า 2 เท่าของร.พ.รัฐบาลก็ตาม
หากคุณอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้คุณจะเลือกไปทางไหนระหว่างร.พ.เอกชนที่แพงหูฉี่
หรือ ร.พ.ของรัฐที่ต้องใช้ความอดทนสูง?
ข้อจำกัดที่มีมากมายของร.พ.รัฐบาล นับตั้งแต่ผู้ป่วยย่างเท้าก้าวเข้าไป
เพื่อรับการรักษา เริ่มตั้งแต่การทำบัตรผู้ป่วยนอกที่เปิดให้บริการเพียง
3 ชั่วโมงจาก 8.00 น. ปิดรับบัตร 10.00 น. เพื่อจำกัดจำนวนคนไข้ ทำให้ผู้ป่วยต้องแย่งชิงกันไปเข้าคิวรอตั้งแต่เช้ามืดเพื่อที่จะได้เป็นคนแรกในการตรวจรักษา
ซึ่งแพทย์จะลงตรวจก็ต่อเมื่อ 9.00 น. จนถึง 12.00 น. หากไม่ใช่ผู้ที่มีคอนเนกชั่นอยู่ในร.พ.นั้นๆ
อาจต้องใช้เวลาเกือบครึ่งวันอยู่ที่ร.พ.เพื่อรอรับการรักษา ไม่นับถึงระยะเวลาในการเดินทาง
นอกจากนี้ความไม่ปรานีปราศรัยของเจ้าหน้าที่ เมื่อนำมาประกอบกัน ได้เป็นแรงผลักดันให้คนกลุ่มหนึ่งเริ่มมองหาทางเลือกใหม่ที่มีบรรยากาศที่แตกต่าง
แม้ว่าจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการพบแพทย์
หรือ doctor fee ซึ่งร.พ.รัฐจะไม่มีค่าใช้จ่ายตรงนี้
ความไม่เพียงพอของร.พ.รัฐที่จะให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ได้ทำให้ภาครัฐหันมาสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้
โดยให้สิทธิพิเศษที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นระยะเวลา 5 ปี และยกเว้นภาษีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย
เนื่องจากธุรกิจนี้ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมาก ไม่เพียงเฉพาะตัวอาคารเท่านั้น
ยังรวมถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้รักษาโรคยากและซับซ้อนล้วนแต่มีราคาที่แพงมาก
เช่น เครื่องแกมม่า ไนฟ์ (gamma knife) ที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับสมองราคาเครื่องละประมาณ
180 ล้านบาท
นอกเหนือจากเงินลงทุนแล้ว การไปรอดของธุรกิจนี้ยังขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์ที่มีต่อแพทย์ด้วย
เพราะความสำเร็จของธุรกิจนี้อยู่ที่ความเชื่อถือและไว้วางใจในตัวแพทย์มากกว่าสิ่งอื่นใด
ดังนั้น หากขาดซึ่งสายสัมพันธ์แล้ว การสรรหาแพทย์ฝีมือดีที่เป็นที่รู้จักในวงการให้เข้ามาร่วมทำงานด้วยจะทำให้ความสำเร็จของร.พ.ดำเนินไปอย่างยากลำบาก
ขณะเดียวกันการใช้ประโยชน์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่ลงทุนซื้อมาด้วยจำนวนเงินมหาศาล
จะกลายเป็นความสูญเปล่า เพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
'ชื่อเสียง' ซึ่งจะกลายเป็น ค่าความนิยม (good-will) ในทางบัญชี ถือเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของร.พ.ได้เป็นอย่างดี
เพราะชื่อเสียงจะแปรสภาพกลายเป็นเงินที่หลั่งไหลเข้าสู่ร.พ.ในที่สุด เนื่องจากดีมานด์เพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจนักที่จะมีคนกล่าวขานถึงธุรกิจนี้ว่าเป็นเครื่องปั่นเงินที่ดีประเภทหนึ่ง
(moneyspinner) เพราะประมาณ 85% ของคนที่เข้ารับการรักษาจะชำระค่าใช้จ่ายด้วยเงินสด
มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จ่ายเป็นเครดิตการค้า ซึ่งได้แก่ บริษัทเอกชนที่ให้พนักงานไปใช้บริการกับร.พ.นั้นๆ
และบริษัทประกัน หากคิดเป็นสัดส่วนก็ประมาณ 80:20 ดังนั้น ธุรกิจนี้จึงเป็นแหล่งผลิตเม็ดเงินที่ดีที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้ประกอบการอย่างเป็นกอบเป็นกำ
ไม่เพียงเท่านั้นยังแผ่อานิสงส์ไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย
โดยปกติ การบริหารเงินของร.พ.ทั่วๆ ไป จะนำกระแสเงินสดสุทธิที่ตัดค่าใช้จ่ายแล้ว
นำไปฝากธนาคารและนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน
เพื่อให้เกิดดอกผลงอกเงยขึ้นมา ทว่าในระยะหลังนี้ เนื่องจากธุรกิจนี้มีอัตราการเติบโตที่เร็วและสูงมาก
ทำให้เงินทุนที่สั่งสมไว้มีมากพอที่จะนำไปลงทุนในกิจการอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าร.พ.ต่างๆ
มีการ diversify ไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
เช่น กลุ่มพญาไท ก็มีการลงทุนในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่ภูเก็ต โดยร่วมทุนกับสถาบันการศึกษาจากอังกฤษ
Dulwich College ร.พ.กรุงเทพ ลงทุนเปิดบริษัท สหแพทย์เภสัช ดำเนินธุรกิจผลิตยา
ขณะเดียวกันก็ยังมีแผนที่จะเข้าสู่ธุรกิจประกันสุขภาพในลักษณะเดียวกับร.พ.ธนบุรีของน.พ.บุญ
วนาสิน ที่เปิดบริษัทเอเพ็กซ์ประกันสุขภาพ ด้านร.พ.รามคำแหงก็ได้ลงทุนในบริษัทรังษีภัณฑ์
ถึง 30% ผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ป้อนร.พ.ในเครือและจำหน่ายแก่ร.พ.อื่นๆ
เป็นต้น
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่เข้าสู่ธุรกิจนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีฐานเงินทุนที่แน่นหนา
และเป็นบุคคลที่ high-profile ในแวดวงธุรกิจโดยจับมือกับกลุ่มแพทย์ที่มีอุดมการณ์ต้องการหลุดจากระบบราชการร่วมกันจัดตั้งเป็นร.พ.ขึ้นมา
อาทิ ร.พ.บำรุงราษฎร์ ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเป็นของตระกูลโสภณพนิช เช่นเดียวกับพญาไทที่เป็นของตระกูลอุไรรัตน์
ขณะที่ตระกูลล่ำซำ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสมิติเวช ส่วนร.พ.กรุงเทพ เป็นกลุ่มแพทย์ที่รวมตัวกันก่อตั้งขึ้นโดยดึงเอา
Investment Bank อเมริกัน Banker Trust และสำนักงานตัวแทนของธนาคารมิดแลนด์
เข้ามาร่วมถือหุ้น
ด้านร.พ.รามคำแหง มีกลุ่มแพทย์ที่นำโดยน.พ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ เป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่
สำหรับร.พ.พระราม 9 เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันของกลุ่มแพทย์รามาธิบดีที่จบอเมริกัน
บอร์ด (American Board Certified Medical Specialists) โดยแยกตัวออกมาจากสมิติเวช
10 คน ส่วนหน้าใหม่อย่างร.พ.ศรีสยาม ก็เป็นการรวมกลุ่มกันระหว่าง สมศักดิ์
ลีสวัสดิ์ตระกูล บงล.ศรีมิตร กลุ่มบ้านฉาง กลุ่มลงทุนจากญี่ปุ่น(JAIC) เครือสหพัฒนพิบูล
และกลุ่มบริษัทแพทย์สยาม ผู้ถือหุ้นใหญ่ร.พ.สยาม
"เรามีความคิดที่ตรงกัน ในเมื่อเขามีเงินแต่ไม่มีเทคโนโลยี เราจึงต้องเข้ามาร่วมกันหลายๆ
ฝ่าย คือวิวัฒนาการของการทำร.พ.เอกชน เริ่มตั้งแต่ร.พ.รุ่นเก่าๆ อย่างเช่นสำโรงเป็นร.พ.ที่มีเทคโนโลยีที่ไม่สูงเมื่อทำต่อไปอีกขั้นเขาต้องมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น
มีมาตรฐานสูงขึ้นเมื่อไปเปิดศิครินทร์ แต่การที่จะทำให้ร.พ.ไฮเทคมากขึ้นจำเป็นต้องมีการเรียนรู้มากขึ้น
หรืออย่างสมิติเวช 1 เมื่อทำสมิติเวช 2 ต้องมีไฮเทคมากขึ้น บำรุงราษฎร์ก็เช่นเดียวกัน
ดังนั้นคนที่จะเข้ามาลงทุนโดยไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลย ก็จะได้แค่ภาพของร.พ.ทั่วไประดับหนึ่ง
เช่น นนทเวช เกษมราษฎร์ หรืออย่างร.พ.สยามเมื่อ 26 ปีก่อน แต่เมื่อมีนักธุรกิจเข้ามาร่วม
มีการทำการตลาดที่ดี ร.พ.ก็มีเงินทุนที่จะสามารถขยายร.พ.ให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นเราก็มาสร้างศรีสยาม"
น.พ.จารุรัศม์ วรรณิสสร กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์การแพทย์ไทย จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเป็นหนึ่งของกลุ่มแพทย์สยาม กล่าวถึงที่มาที่ไปของศรีสยาม
อย่างไรก็ตาม จำนวนร.พ.เอกชนที่ผุดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครเป็นเสมือนเครื่องชี้วัดอัตราการเติบโตของธุรกิจนี้เป็นอย่างดี
แม้ในยามเศรษฐกิจช่วงขาลง แต่ร.พ.เอกชนกลับเป็นธุรกิจที่สวนกระแส เพราะยังมีการการขยายตัวกันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ กองกำกับโรคศิลป์ สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข ได้ประมาณการตัวเลขจำนวนของร.พ.เอกชนในปัจจุบันว่าน่าจะมีมากขึ้นถึง
150 แห่ง เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเมื่อปี 2538 ที่มีจำนวน 133 แห่ง
"การทำธุรกิจนี้ต้องใช้ทุนมาก นอกจากการก่อสร้างแล้ว ยังมีเครื่องมือแพทย์
ค่าแพทย์ ฉะนั้นในการทำธุรกิจนี้ต้องมีสายป่านยาวอย่างน้อย 3 ปีขึ้น ไป มิฉะนั้นอาจจะลำบาก"
นี่คือ nature ของธุรกิจนี้ที่กฤช เทพปฏิพัธน์ ผู้อำนวยการบริหาร ร.พ.พญาไท
1 ได้กล่าวพอเป็นสังเขป
ถึงเศรษฐกิจสะดุดก็ฉุดไม่อยู่
ทศวรรษแห่งความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้ช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพของคนไทยให้สูงขึ้น
มีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น ยังผลให้อายุขัยของคนไทยยืนยาวมากขึ้น ในขณะที่ความเจ็บป่วยของคนเริ่มมีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน หากไม่นับรวมภัยจากอุบัติเหตุ อัตราการเสียชีวิตของคนไทยมาจากโรคหัวใจ
มะเร็ง และเอดส์มากที่สุด และโรคเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้
เพราะวิทยาการในสมัยนี้มีความสามารถเพียงแค่รักษาให้อาการที่รักษาไม่ได้
(untreatment) ให้สามารถรักษาได้ (treatment)เท่านั้น
ความซับซ้อนของโรคได้กลายเป็นเงื่อนไขปัจจัยที่ผลักดันให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว
และสูงถึง 2 เท่าของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม คือ ประมาณเฉลี่ยปีละ
15% ขณะที่การเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจประเทศอยู่ที่ระดับ 8% ต่อปี และในความเป็นจริง
ธุรกิจนี้ก็มีส่วนเกี่ยวโยงโดยตรงกับระดับรายได้และการศึกษาของประชาชน เพราะคนที่มีการศึกษาสูง
รายได้จะมาก และคนเหล่านี้ก็จะเรียกร้องหาสถานพยาบาลที่มีความน่าเชื่อถือ
มีการบริการที่ดี และมีความสะดวกสบายให้พร้อมสรรพ
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ในระยะหลังๆ ร.พ.เอกชนหลายแห่งได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบห้องพักผู้ป่วยให้หรูหราประดุจหนึ่งห้องพักตามโรงแรม
5 ดาว เพราะตระหนักดีว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะจ่ายอย่างไม่ลังเล
ซึ่งอัตราเฉลี่ยราคาห้องพักของร.พ.เอกชนตั้งแต่ห้องเดี่ยวจนถึงห้อง Suite
จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2,000-10,000 บาทต่อคืน
เนื่องจากธุรกิจนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ดังนั้น ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจึงมีไม่มากเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ
แม้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดน้อยลง ตรงกันข้ามกลับมีร.พ.หลายแห่งที่มุ่งหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในลักษณะของการเปิดร.พ.แห่งใหม่ขึ้น
หรือเป็นการขยายภายในของร.พ. แต่ดูเหมือนว่าร.พ.พญาไท ของบริษัทประสิทธิ์พัฒนา
(มหาชน) จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการร่วมทุนกันระหว่างประสิทธิ์ อุไรรัตน
์ บิดาของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ และดร.ไพบูลย์ โชติประสิทธิ์
จะเป็นผู้เดียวที่มีการขยายตัวและลงทุนสูงที่สุด
เมื่อปีที่แล้วกลุ่มพญาไทได้เปิดดำเนินการ ร.พ.พญาไท 3 ที่บางไผ่ เขตภาษีเจริญขนาด
500 เตียง แต่ในเริ่มต้นให้บริการเพียง 100 เตียง พร้อมทั้งขยายร.พ.พญาไท
2 จาก 350 เตียงเป็น 550 เตียง โดยซื้อที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมคอนติเนนตัลซึ่งอยู่ข้างเคียง
เนื่องจากไม่พอรองรับผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการในแต่ละวัน
ขณะเดียวกันก็มีการขยายออกไปสู่ต่างจังหวัด ที่เป็นหัวเมืองอย่างมากมาย
ด้วยการเข้าไปร่วมทุนกับนายทุนในท้องถิ่นจัดตั้ง ร.พ.พญาไท ศรีราชา ขนาด
250 เตียง พญาไทภูเก็ต ขนาด 250 เตียง เอกอุดร ขนาด 350 เตียง และพญาไท อุบล
ขนาด 400 เตียง นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปลงทุนโครงการอาคารพี พี ของบริษัทClass-V
จำกัด เป็นมูลค่า 259.5 ล้านบาท โดยถือหุ้นในสัดส่วน 25.2% ซึ่งเป็นโครงการอาคารสำนักงาน
40 ชั้นบนพื้นที่ 4 ไร่เศษ ตั้งอยู่เยื้องกับร.พ.พญาไท 1 จากเดิมที่ตั้งใจจะให้โครงการนี้เป็นร.พ.พญาไท
4 แต่ติดขัดในเรื่องการขออนุญาตจึงต้องคงตามแผนเดิมไว้
หากนับรวมเม็ดเงินงบประมาณที่ต้องจัดสรรไว้เพื่อลงทุนในโครงการด้านการรักษาสุขภาพ
เมื่อปีที่แล้วจะเห็นว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาลจึง 7,620 ล้านบาท โดยโครงการก่อสร้างเพิ่มเติมร.พ.พญาไท
2 ใช้งบประมาณ 720 ล้านบาท โครงการพญาไท 3 ใช้เงินลงทุน 1,600 ล้านบาท โครงการร.พ.พญาไทศรีราชา
800 ล้านบาท โครงการร.พ.พญาไทภูเก็ต 1,500 ล้านบาท โครงการร.พ.พญาไทอุบล
1,800 ล้านบาท และโครงการร.พ.เอกอุดร จำนวน 1,200 ล้านบาท ซึ่งสำหรับโครงการร.พ.เอกอุดรนี้
เป็นการจับมือร่วมกันของพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างร.พ.กรุงเทพ ร.พ.รามคำแหง
และร.พ.พญาไท โดยมีร.พ.กรุงเทพเป็นโต้โผใหญ่ความคิดนี้ โดยเข้าร่วมลงทุนกับนายทุนท้องถิ่นภายใต้ชื่อบริษัท
อุดรพัฒนา(1994) จำกัด ซึ่งทั้ง 3 แห่งถือหุ้นรายละ 10% ส่วนนักลงทุนท้องถิ่นถือหุ้น
30% และที่เหลือ 40% ถือโดยประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กลุ่มพญาไทก็กำลังทำการก่อสร้างร.พ.พญาไท
4 ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ใกล้แยกมักกะสัน และพญาไท 5 ที่จักรวรรดิ
"ที่เราต้องทำทวนกระแสเศรษฐกิจนั้นเป็นเพราะว่าเรามีแรงหนุนที่ดี เพราะเราคิดว่าเมื่อภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้
ถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน ถ้าเรามีกำลัง และการขยายออกไปนั้นก็เพื่อรองรับกับภาวะเศรษฐกิจที่จะต้องกลับเข้าที่ในอีก
2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเราคาดว่าแนวโน้มน่าจะเป็นอย่างนั้น" น.พ.สุรพงศ์
อำพันวงษ์ กรรมการ และผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ บมจ.ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน)
ซึ่งดูแลทางด้านการแพทย์ของร.พ.ในเครือพญาไท ทั้งหมดกล่าวถึงแนวทางในการทำธุรกิจของเครือพญาไท
โดยที่กฤชยืนยันถึงสถานภาพของพญาไทว่า
"ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดี แต่ธุรกิจร.พ.ไปได ้และถึงหุ้นจะตกเราก็ไปได้
เราคิดว่าเราไม่มีปัญหา อันที่จริงแล้วการที่เราจะสร้างอะไรนั้น เราได้วางแผนมาเมื่อ
2-3 ปีที่แล้ว แม้ว่าเราจะสร้างพญาไท 3 แต่พญาไท 1 คนไข้ก็ยังเต็มอยู่ ฉะนั้นเราคิดว่าทำเลที่เราได้นั้นเป็นทำเลที่ดี
โดยพญาไท 4 เราจะสร้างที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่เป็นอาคาร 31 ชั้น ขนาด 400 เตียง
และเราก็จะทำการย้ายพญาไท 1 ไปไว้ที่พญาไท 4 เพราะที่พญาไท 1 สร้างมากว่า
20 ปีแล้ว ดังนั้น facility ที่นี่จึงไม่ค่อยดีนัก คือมีความคล่องตัวน้อย
เพราะเราสร้างทีละตึก ทำให้ต้องมีการโยกย้ายบ่อยทำให้การจัดการภายไม่คล่องตัว
ดังนั้นเราจึงคิดว่าจะสร้างตึกใหม่บนพื้นที่ของพญาไท 1 และให้มีความคล่องตัวมากที่สุด
เราจึงต้องทำการย้ายพญาไท 1 ไปอยู่ที่พญาไท 4 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี
2542 โดยโครงการพญาไท 4 นี้คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนรวมทั้งค่าที่ดินประมาณ
1,800 ล้านบาทส่วนพญาไท 5 ได้ทำการเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ในระยะแรกจะเป็นสัญญาเช่ามีระยะเวลา 3 ปี เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าระยะเวลา
25 ปี
ด้านร.พ.กรุงเทพ ในนามของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มแพทย์และเภสัชกร
3 กลุ่มนำโดยน.พ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากรก็ได้มีการลงทุนขยายกิจการมาโดยตลอด เริ่มจากการเพิ่มกำลังความสามารถในการรองรับผู้ป่วยที่ร.พ.ในกรุงเทพฯ
เป็น 550 เตียง ซึ่งจะเริ่มเปิดใช้เต็มที่ในปีหน้า แต่ปัจจุบันเปิดใช้เพียง
350 เตียง รวมทั้งมีการขยายกิจการไปยังจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันมี 8 เครือข่ายด้วยกันคือ
ที่พระประแดง พัทยา จันทบุรี ตราด ภูเก็ต หาดใหญ่ ร้อยเอ็ดและอุดรธานี ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับพญาไทและรามคำแหง
สำหรับในปีนี้ เพื่อความไม่ประมาท เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยทางร.พ.จึงชะลอการลงทุนรอให้สถานการณ์ดีขึ้น
"อย่างปีนี้เราไม่ประมาท จนถึงปลายปีเราคงจะไม่ลงทุนอะไรมาก คือใช้ของเก่าไปก่อน
ส่วนปีหน้าจะลงทุนด้านเครื่องมือไม่เกิน 3% ของทั้งหมด" น.พ.ชาตรี ดวงเนตร
ผู้อำนวยการ ร.พ.กรุงเทพ กล่าวถึงแนวทางการลงทุนของบริษัท ซึ่งมีลักษณะหาผู้ร่วมทุน
และไม่เน้นการลงทุนเต็ม 100% และการลงทุนที่ผ่านมาคืนทุนเกือบทั้งหมดแล้ว
ยกเว้นเพียงที่ภูเก็ต และตราดที่ยังขาดทุน ขณะเดียวกันมีแผนที่จะเปิดร.พ.แห่งใหม่ที่หาดใหญ่
โดยเน้นจับลูกค้าชาวมาเลย์และสิงคโปร์ เป็นสำคัญ
การขยายการลงทุนอย่างหนัก ได้ส่งผลให้บางแห่งประสบปัญหาการขาดทุนเป็นครั้งแรก
เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ยจ่าย แต่หากพิจารณาในแง่ของรายได้จากค่ารักษาพยาบาลในไตรมาส
1 ปีนี้ ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มพญาไท ซึ่งประสบภาวะการขาดทุน
เพราะภาระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นจากโครงการพญาไท 3 แต่อัตราการเติบโตของรายได้จากค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น
16% คิดเป็นเงิน 304.56 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้า 262.36 ล้านบาท
"ในไตรมาส 4 เราเริ่มเปิดร.พ.พญาไท 3 ซึ่งเป็นโครงการค่อนข้างใหญ่ประมาณ
500 เตียง มูลค่าโครงการรวมทั้งที่ดิน 1,800 ล้านบาท พอเปิดแล้วเราได้ใช้วิธีบันทึกบัญชีแบบบัญชีแบบ
conservative คือบันทึกค่าเสื่อมราคาทั้ง 500 เตียงแต่ความจริงเราเปิดแค่
100 เตียง ในส่วนของดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง เราสามารถบันทึกเป็นต้นทุนของสินทรัพย์ถาวรได้
แต่พอเปิดแล้วเราได้ย้ายมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย จะสังเกตว่าในปี 2539 ดอกเบี้ยจ่ายเรามีถึง
90 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2538 มีเพียง 1.7 ล้านบาท และยังมีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ด้วย
แต่เราก็ป้องกันความเสี่ยงในลักษณะ natural basket คือใช้ดอลลาร์กับเยนถ่วงกัน
" รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและบริหารการเงิน บมจ.ประสิทธิ์พัฒนาอธิบายถึงที่มาของการขาดทุน
ขณะที่บำรุงราษฎร์ ที่เพิ่งเปิดใช้อาคารหลังใหม่ซึ่งลงเงินไปเกือบ 3,000
ล้านบาทก็ตกอยู่ในที่นั่งเดียวกันกับพญาไท แต่เมื่อพิจารณารายได้จากค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
12% คิดเป็นเงิน 401.018 ล้านบาท
สำหรับ สมิติเวช ก็ประสบปัญหาขาดทุนเช่นกัน แต่ปรากฎว่ารายได้ค่ารักษาพยาบาลกลับลดลง
4.8% จาก 293.28 ล้านบาท เป็น 279.07 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้น
4.4% คิดเป็นเงิน 166.88 ล้านบาทจาก 159.85 ล้านบาท ทั้งนี้มีสาเหตุจากโครงการสมิติเวช
ศรีนครินทร์ ที่มีการจ้างพนักงานเข้ามาล่วงหน้า และเนื่องจากโครงการนี้มิได้มีการจัดตั้งบริษัทลูกเป็นสาขา
สมิติเวช สุขุมวิทจึงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก
17 ล้านบาท
"ที่เราขาดทุนไตรมาส 1 นั้นรายได้เราไม่ลดลงมาก แต่ว่าค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
เพราะว่าเรามีต้นทุนจากศรีนครินทร์มาก เนื่องจากเราได้รับพนักงานมาครบหมดแล้วตั้งแต่ต้นปี
ดังนั้นค่าใช้จ่ายเราจึงมาก ปีที่แล้วเป็นลงบัญชีแบบ consolidate คือไม่มีการตัดจ่ายค่าใช้จ่ายเลยหักเต็มที่
ขณะที่รายได้ไม่มี แต่เมื่อเปิดแล้วจะมีรายได้เข้ามา ซึ่งก็จะเข้ามาช่วยค่าใช้จ่ายตรงนี้
ดังนั้นถ้าสาขาศรีนครินทร์เปิดแล้วมีคนไข้ 70-80% เราก็สบายแล้ว เราจะมีเงินเข้ามาอีกหลาย
100 ล้านบาท คาดว่าจะมีจุดคุ้มทุน 4-5 ปี" น.พ.ณรงค์ศักดิ์ เกียรติขจรธาดา
กรรมการผู้จัดการ บริษัทสมิติเวช จำกัด(มหาชน) เจ้าของร.พ.สมิติเวช สุขุมวิท
และศรีนครินทร์ขนาด 400 เตียงแต่จะเปิดให้บริการในช่วงแรกเพียง 100 เตียงในเดือนกรกฎาคมนี้
อธิบาย
ส่วนร.พ.กรุงเทพ ยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตของผลประกอบการไว้ได้อย่างต่อเนื่อง
โดยในไตรมาส 1 นี้รายได้จากค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 17% จาก
345.78 ล้านบาทเป็น 404.892 ล้านบาท แม้ต้นทุนขายจะเพิ่มขึ้น 17% แต่เมื่อรวมรายได้และรายจ่ายทั้งหมดแล้วบริษัทยังมีกำไรสุทธิอีก
34 ล้านบาท
"เรามีการตัดรายจ่ายให้น้อยลง ที่ชัดเจนที่สุดคือบุคลากร เราจะไม่รับเข้ามามากมายและเราทำสำเร็จแล้ว
และเราก็มีการตัดค่าใช้จ่ายด้วยการลดค่าใช้จ่าย ค่าล่วงเวลาลงคือตัดชั่วโมงให้ลดน้อยลง
ตอนนี้เรากำลังพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านสินค้าคงคลัง หนี้สินเราก็พยายามที่จะเรียกเก็บให้ได้
ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้มีมูลค่าประมาณ 100 กว่าล้านบาทต่อปีที่เราต้องดอกเบี้ยไป
หากเราทำได้และรายได้เราลดลงเพราะภาวะเศรษฐกิจก็คงจะไม่กระทบมากนัก"
น.พ.ชาตรี ผู้เชียวชาญโรคเด็ก และแขวนเสื้อกาวน์อย่างถาวรเพื่อมานั่งทำงานบริหารอย่างเต็มตัว
กล่าวถึงนโยบายการบริหารของร.พ.กรุงเทพในปีนี้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ซบเซาได้กลายเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผลประกอบการของร.พ.หลายแห่งเริ่มถดถอยลงบ้าง
เพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อถดถอยลง ฉะนั้นทางเลือกของผู้บริโภคก็จะวิ่งไปหาสถานพยาบาลที่มีราคาถูกลงจากเดิมที่เคยเข้าไปใช้บริการ
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระดับความรวยของแต่ละคน และทางเลือกสุดท้ายก็อาจจะถึงขั้นเข้ารับบริการหมอตี๋ตามร้านขายไปพลางๆ
ก่อนในกรณีที่อาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง และปรากฏการณ์นี้ก็เริ่มเกิดขึ้นบ้างแล้ว
และมีทีท่าว่าจะลุกลามต่อไป
"ในปีนี้เป็นปีแรกที่ยอดผู้ป่วยในของเราลดลงอย่างผิดสังเกตประมาณ 20%
จากปีที่แล้วตอนนี้เราเตรียมแผนไว้เพื่อที่จะแก้ปัญหาเป็นอาทิตย์ๆ คือเราแก้ไขในระยะสั้นและระยะกลางก่อน"
ทีมผู้บริหารกลุ่มพญาไทยอมรับอย่างเปิดอก เมื่อเศรษฐกิจทำพิษ แต่ที่นี่คงไม่ใช่ที่เดียว
"พระราม 9 ก็คงจะคล้ายๆ กับที่อื่นที่ยอดผู้ป่วยในลดลงประมาณ 10% ในช่วงไตรมาส
1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว คนไข้ในของเราก็เริ่มตกลงไปบ้างแล้วนิดหน่อย
ส่วนคนไข้นอกของเราในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็ลดลงไปประมาณ 10% เช่นกัน"
น.พ.เติมศักดิ์ กุศลรักษา รองกรรมการผู้จัดการร.พ.พระราม 9 เปิดเผย
เขาขยายความว่า จากการศึกษาสถิติตลอดเวลา 5 ปีที่เปิดดำเนินการมา อัตราการเติบโตของคนไข้ในจะมีลักษณะเป็นฤดูกาล
โดยช่วงที่ถือว่า peak ที่สุดของปีนี้มีคนไข้มากที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.
เพราะช่วงนี้เป็นจังหวะที่คนไข้จะเข้ามา admit ในร.พ. ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะโรงเรียนปิดเทอมและในเดือนเม.ย.-พ.ค.จะเป็นช่วงที่ต่ำสุด
เพราะมีวันหยุดมาก ทว่ารายได้ก็ยังคงเติบโตอยู่ในอัตราเฉลี่ยประมาณปีละ 10%
ด้านสมิติเวช น.พ.ณรงค์ศักดิ์ ได้ให้ความเห็นว่า "จำนวนคนไข้ของเราเพิ่มขึ้นตลอด
โดยเฉพาะผู้ป่วยนอกจะเพิ่มตลอดเวลาแม้ว่าเศรษฐกิจไม่ดีก็ยังเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ป่วยในอาจจะไม่เพิ่มขึ้นเท่าปีก่อนๆ
เพราะปัจจุบันมีการรักษาหลายอย่างโดยไม่ต้องอยู่ร.พ. เช่นการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี
แต่ก่อนต้องนอนอยู่ถึง 10 วันปัจจุบัน 2 วันก็กลับบ้านได้แล้ว เนื่องจากเทคโนโลยีดีขึ้น
ซึ่งมีผลต่อรายได้ แต่ว่าในส่วนของผู้ป่วยนอกรายได้จะสูงขึ้น เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ค่าห้องพัก
แต่ห้องอื่นๆ เช่นห้องผ่าตัดเราก็ยังใช้ แต่จริงๆ แล้วเมื่อเทียบกับการลงทุนมันไม่คุ้ม
สู้เก็บห้องไว้แล้วให้ turnover rate เร็วจะดีกว่าถ้าเรามีคนไข้ ฉะนั้นการเจริญเติบโตของคนไข้ในทุกแห่งจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง"
แต่เพื่อความปลอดภัยทางสมิติเวชก็ได้เริ่มทำการตลาดมากขึ้นจากเดิมที่เน้นการบอกวิธีธรรมชาติปากต่อปาก
โดยเฉพาะในส่วนของลูกค้าต่างประเทศก็เริ่มมีการรุกตลาดคนเกาหลี และไต้หวัน
หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากกลุ่มคนญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 10% ของคนไข้ทั้งหมด
แต่ที่นี่ร.พ.กรุงเทพ ภัยยังลุกลามมาไม่ถึง "ตอนนี้เรายังไม่โดนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
เพราะคนไข้มีทางเลือกมากขึ้น จากที่เขาเคยไปหาร.พ.ที่แพงก็หันมาหาร.พ.ที่ถูกลง
เช่นหันมาหาเรา แต่ถ้าหากยังแย่ต่อไปก็คาดว่าเราคงถูกระทบไปด้วย คือคนต้องหันไปร.พ.ชั้น
2 จากนั้นค่อยไปหาร.พ.รัฐ ท้ายที่สุดก็ซื้อยากินเอง" น.พ.ชาตรี เปิดเผยพร้อมเสริมว่า
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี จำนวนผู้ป่วยนอกได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.5% จำนวน 37,643
คน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนผู้ป่วยใน เพิ่มขึ้น 2.6% จำนวน 7,602 คน
ขณะที่จำนวนบุคลากรเพิ่มขึ้นเพียง 4 คนเท่านั้น
"ผมมองว่าทุกคนคงไปรอดเพราะความต้องการทาการแพทย์มีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร
ถ้าเศรษฐกิจดีคนก็มีจ่าย แต่ถ้าไม่ดีทุกคนต้องประหยัด อย่างในปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจกระทบต่อเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"
ทัศนะของน.พ.จารุรัศม์ที่มีมุมมองที่ใกล้เคียงกัน
เขายังได้ให้ความเห็นถึงอาการหลงทางของร.พ.บางแห่งว่า "ในช่วง 2-3
ปีที่ผ่านมามีการลงทุนสร้าง ร.พ.ขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ไม่มีจุดขายที่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้บริการจริงๆ
เช่นบางแห่งเน้นความหรูหราฟุ่มเฟือย ทำร.พ.เหมือนศูนย์การค้า ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่คนไข้ต้องการ
เราอยู่ในวงการนี้เรารู้ว่าคนไข้ต้องการอยู่ 2 อย่างคือ ต้องการให้หาย และราคาที่เขาสามารถจ่ายได้
ดังนั้น ร.พ.ที่ทำอย่างนี้จึงจะอยู่รอดได้"
One Stop Shop : เป้าหมายเดียวกัน
บรรยากาศการแข่งขันได้กลายเป็นความท้าทายต่ออนาคตของร.พ.ทั้งหลายว่าจะสดใสเพียงใด
ขณะเดียวกันก็ได้กลายเป็นแรงกดดันให้ร.พ.ต่างๆ ต้องพยายามเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ทั้งที่เกิดใหม่ และรายเก่าที่มีอยู่แล้ว ซึ่งหลายแห่งได้ทำการปรับองค์กรการบริหารเสียใหม่
โดยเน้นความเป็นมืออาชีพ มีความคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการฉีกตัวเองออกมาให้โดดเด่นเพื่อให้โดนใจผู้บริโภคมากที่สุด
และการจัดตั้งศูนย์รักษาเฉพาะ ก็กำลังเป็นแนวทางที่ร.พ.ทั้งหลายได้นำขึ้นมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างชื่อให้แก่ร.พ.ซึ่งมีการเน้นทั้งชื่อเสียงของแพทย์และความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี
โดยแต่ละแห่งล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน 'One Stop Shop'
"ที่ผมเข้ามาทำงานที่ศรีสยามก็เพราะเทคโนโลยีของเขาดี เขามี vision
เขาลงทุนค่อนข้างสูงในขณะที่เอกชนอื่นๆ เขาไม่ค่อยยอมลงทุน ขณะที่ภาครัฐเองก็ไม่ยอมลงทุนเลย
การที่ผมรับปากเข้ามาทำงานที่นี่ทั้งๆ ที่ไม่เคยเข้าไปทำงานกับเอกชนมาก่อนก็เพราะว่าเรื่องของการศึกษา
เนื่องจากภาครัฐมีข้อเสียคือเรื่องงบประมาณ และที่นี่เขาก็มีการลงทุนด้านการทำ
Radiosurgery ในเมืองไทยที่นี่เป็นแห่งแรกที่มีครบ" ร.ศ.น.พ.พิทยภูมิ
ภัทรนุธาพร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งจากร.พ.ศิริราชที่ถูกร.พ.ศรีสยามดึงตัวเข้ามาเป็น
consultant และดูแลศูนย์มะเร็งที่ใช้เทคโนโลยี 2-3 DRTP Linear Accelerator
ซึ่งเป็นการรักษาด้วยแสงรังสี โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องให้เขาเป็นผู้กำหนดอัตราค่ารักษาด้วยตนเอง
ขณะที่น.พ.จารุรัศม์ เป็นผู้ดูแลศูนย์สมอง
ทางด้านร.พ.กรุงเทพ เมื่อ 2 ปีที่แล้วได้มีการรีเอ็นจิเนียริ่งองค์กรใหม่
โดยมีการปรับโครงสร้างขององค์กรให้มีความคล่องตัวมากขึ้นจากเดิมที่มีลำดับชั้นตำแหน่งมากจนเกินไป
ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นแรกของน.พ.ชาตรี ดวงเนตร ที่ถูกดึงตัวจากอเมริกา
"การทำงานของเรายังไม่เป็นสากลเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นระบบแบบครอบครัวบวกกับราชการ
ตั้งแต่ที่ผมเข้ามาก็เปลี่ยนใหม่หมด คือเปลี่ยนตั้งแต่ขั้นตอนการทำงานจากระบบที่เป็นแนวตั้งให้เป็นแนวราบ
คือวิธีบริหารแบบทำทุกอย่างให้เข้ามารวมเป็นทีมใหญ่ และจากล่างขึ้นบน ซึ่งถ้าเรายังทำเหมือนเดิมเราไปไม่รอดแน่"
ขณะเดียวกันยังเป็นร.พ.ที่มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะทางมากที่สุด และในปลายปีนี้จะมีการเปิดเพิ่มอีก
3 ศูนย์ คือภูมิแพ้ มะเร็ง และผู้สูงอายุ ซึ่งแต่ละศูนย์จะมีแพทย์ประจำอย่างน้อย
2 คน
เช่นเดียวกัน ทางบำรุงราษฎร์ ก็ได้มืออาชีพทางด้านการบริหารร.พ.โดยเฉพาะเข้ามาร่วมงาน
และได้ดึงตัวน.พ.สิน อนุราษฎร์ เข้ามารับหน้าที่ดูแลการบริหารแพทย์อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ก็เพื่อก้าวไปถึงเป้าหมายสู่ระดับสากล พร้อมกันนั้นก็ได้จัดตั้งศูนย์รักษาโรคหัวใจ
และมะเร็งขึ้นมา เป็นจุดเด่นพร้อมชูชื่อเสียงของแพทย์ซึ่งส่วนใหญ่ได้ดึงตัวกลับมาจากอเมริกา
เพื่อดึงลูกค้าระดับบน
การเข้าสู่ตลาดเฉพาะทาง (Niche) ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับรายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการของธุรกิจมากกว่าผู้ที่อยู่มาก่อน
เพราะร.พ.ที่เปิดมาเป็นระยะเวลายาวนานจะมีรากฐานที่แน่นหนาทั้งในด้านชื่อเสียง
และฐานลูกค้า
"เรามองที่ลูกค้ากลุ่มกลาง คือถ้าร.พ.ทำได้สอดคล้องกับชุมชนและชาวบ้านมีความสามารถในการจ่ายได้
ลูกค้าก็สบายใจ แต่ในเมื่อเราเพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ดังนั้นการที่จะแย่งลูกค้ากับร.พ.ที่เกิดก่อนต้องใช้ความสามารถหรือเงินทุนที่มากกว่า
นอกจากนี้ยังต้องมีอะไรใหม่ๆ ที่ดีกว่า คือ เราต้องหาจุดที่เรามีความแข็งแกร่งที่จะแย่งส่วนแบ่งตลาดได้
และทำได้ดีกว่า ดังนั้นจุดแข็งของเราคือรักษาโรคสมอง มะเร็ง เพราะเราคิดว่าเรามีเทคโนโลยีใหม่
และสามารถทำได้ดีกว่าเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ในเมืองไทย" นี่คือความเห็นส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้ามาใหม่ผ่านทางน.พ.จารุรัศม์
จากศรีสยามที่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2538 ขณะที่พระราม 9 ซึ่งหากจะเรียกว่าน้องใหม่ก็คงจะไม่ผิดนักกลับมีมุมมองว่า
"เราจะเน้นที่หมอเฉพาะทางเราไม่มีหมอ GP (General Practice) หรือหมอฝึกใหม่
คือ คนไข้ที่ป่วยด้วยโรคอะไรมาก็ตรวจด้วยหมอเฉพาะโรคนั้นเลย ดังนั้นจุดขายของเราก็คือ
คนไข้ส่วนมากที่มาที่นี่จะเจาะจงหมอที่มาพบโดยเฉพาะ ไม่ใช่คนไข้ขาจรที่เข้ามาโดยไม่รู้จักแพทย์เลย
ซึ่งจะต่างจากที่อื่นที่รู้จักชื่อของร.พ.ก่อน และคนไข้ที่มาที่นี่จะเป็นคนไข้เก่าๆ
ที่เคยรักษากับเรา หรือไม่ก็เป็นคนไข้ที่ถูกบอกต่อมา" น.พ.วิรุฬ มาวิจักขณ์
ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในโรคไต และยังทำหน้าที่บริหารแพทย์และพยาบาล ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนหนึ่ง
ที่เน้นชื่อของแพทย์สำคัญกว่าชื่อร.พ.
แต่สำหรับร.พ.เก่าที่หยั่งรากลึกได้แล้วนั้น กลับมีความเห็นที่แตกต่างกันไป
"การแข่งขันในกรุงเทพเข้มข้นขึ้น ทั้งในด้านการบริการและการสร้างความแตกต่างในเรื่องของการรักษาเราเองก็ต้องเจอสภาพแบบนั้นเช่นกัน
แต่เราได้เปรียบที่ฐานของเราแน่นมีชื่อเสียงดี" กฤช ตัวแทนของกลุ่มพญาไทที่
position ตนเองเป็น General Hospital ขวัญใจชนชั้นกลางระดับ C+ ขึ้นไปให้ความเห็น
ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของร.พ.กรุงเทพที่มองว่าต้องสร้างความต่างให้เกิดขึ้น
มิเช่นนั้นธุรกิจอาจจะประสบปัญหาในภาวะที่การแข่งขันสูงเช่นนี้
"จากการสุ่มตัวอย่างลูกค้าอายุระหว่าง 25-39 ปี เขาให้ความสนใจ One
Stop Shop คือมาแล้วไม่ต้องการเปลี่ยนไปที่ไหน ฉะนั้นการที่เราตั้งศูนย์มะเร็งเราไม่ได้ตั้งแข่งกับใคร
เพียงแต่ต้องการให้เขามาแล้วไม่ต้องไปที่อื่นมีทุกอย่างครบ เพราะคนไข้ไม่ผูกติดกับแพทย์แต่ผูกติดกับองค์กร
การที่ที่อื่นเขาชูจุดเด่นนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะร.พ.เอกชนในอนาคตจะมีการแข่งขันกันรุนแรงมาก
ฉะนั้นการเป็นร.พ.ชั้นหนึ่งที่เป็นเวชศาสตร์ทั่วไปจะอายุไม่ยืน" น.พ.ชาตรี
ให้ความเห็น และศูนย์ศัลยกรรมแกมม่าสมอง การผ่าตัดโดยไม่เปิดกระโหลกเป็นตัวที่สร้างรายได้ให้มากถึง
35%
สำหรับสมิติเวช ที่มีสไตล์การทำงานแบบ slow but sure และ low-profile มองว่า
ในความเป็นจริงแล้วร.พ.ที่เป็น general hospital จะมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาอยู่
และดูแลรักษาในทุกๆ โรค เนื่องจากเวลาที่ป่วยจะไม่ได้เป็นเพียงโรคเดียว "เราคิดกันแล้วว่าเราตั้งใจจะทำให้มีทุกศูนย์
และในความเป็นจริงเราก็มีครบเพียงแต่เราไม่เรียกศูนย์ และเราก็ไม่ชูขึ้นมาเป็นศูนย์
เพราะคนไข้จะรู้เอง แต่เราก็มีสิ่งที่เราภูมิใจมากไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง หัวใจ
และไต คือเราเองห่วงไม่อยากใช้ธุรกิจเต็มที่"
ความสำเร็จของร.พ.เกิดจากความเชื่อถือ ซึ่งอาจจะเป็นตัวแพทย์ หรือชื่อของร.พ.ของผู้ป่วย
ดังนั้นในช่วงหลังมานี้ร.พ.เอกชน โดยเฉพาะ ร.พ.ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วได้แข่งขันกันหาพันธมิตรทางธุรกิจ
ด้วยการดึงมหาวิทยาลัยชื่อดังจากต่างประเทศเข้ามาช่วยกระพือ ให้ชื่อเสียงของร.พ.โด่งดังมากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในลักษณะเชิงวิชาการหรือเป็นการร่วมทุนกันทำธุรกิจ
Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล กำลังเป็นเรื่องที่ฮือฮาและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในขณะนี้
โดยร.พ.กรุงเทพที่ร่วมกับ John Hopkins Health System International สถาบันการแพทย์อเมริกันร่วมกันผ่าตัดผ่านดาวเทียม
โดยใช้แขนหุ่นยนต์เข้าช่วยเป็นครั้งแรก ต่อมาบำรุงราษฎร์ก็ได้ร่วมกับโรงพยาบาลเซนต์แมรี่
ของ Imperial College ลอนดอน อังกฤษ กับมหาวิทยาลัย Southern California
จากสหรัฐฯทำการสาธิตการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
และประสบการณ์ทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งปฏิบัติการครั้งนี้เป็นวิทยาทานเพื่อการสาธารณสุขของประเทศ
"ไทยเรามีบริการทางการแพทย์ และเครื่องมือที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
คุณมีเงินมากๆ คุณมาที่นี่ แต่ที่อเมริกาสภาพการณ์เช่นนี้ตายไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วเพราะเขาสู้ต้นทุนไม่ไหว
คือ ร.พ.ที่บอกว่าแน่ที่สุด เก่งที่สุด แพงที่สุดนั้นคิดผิด และร.พ.แบบนี้ในบ้านเราก็จะไปไม่รอดเหมือนกันและอีกไม่นาน
แต่ก่อนโรงพยาบาล top 10 ที่อเมริกาใครมีเงินก็ไปได้ แต่ตอนหลังคนไข้ตก John
Hopkins เป็นตัวอย่างที่ดี และที่ Cliff and Clinic ที่ผ่าตัดหัวใจดีที่สุดในโลก
ตอนหลังก็มีปัญหาขาดทุนและเริ่มหันไปร่วมมือกับฝ่ายบริหารเน้นคุณภาพดี แต่ราคาต้องไม่แพง
ฉะนั้นต้องเริ่มหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ และที่เขามองก็คือเอเชีย เพราะในอนาคตภูมิภาคนี้จะดีที่สุดในโลก"
น.พ.ชาตรี เล่าถึงสาเหตุที่ต่างประเทศเข้ามา join กับ ร.พ.เอกชนไทยมากขึ้นซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกันลงทุนในศูนย์มะเร็งมูลค่า
400 ล้านบาท ซึ่งร.พ.กรุงเทพจะลงทุนเพียง 10 ล้านบาท ส่วน John Hopkins นั้นจะเป็นผู้จัดหาโนว์ฮาวและเครื่องมือ
รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้
นอกจากนี้ ร.พ.ยังได้ร่วมทุนกับโรงพยาบาลเหลียวนิงของจีน มูลค่า 5 ล้านบาท
เพื่อนำวิทยาการฝังเข็มเข้ามาให้บริการในศูนย์สมองในปลายปีนี้ โดยได้ส่งแพทย์ทางสมองไปเรียนรู้
ศึกษา และดูเครื่องมือเกี่ยวกับการฝังเข็มสำหรับรักษาความเจ็บปวด ขณะเดียวกันก็จะมีการนำแพทย์จีนเข้ามาประจำศูนย์ด้วย
ส่วนความร่วมมือกับร.พ.อิวากิ ของญี่ปุ่น สถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุครบวงจร
ได้มีการส่งพยาบาลและนักกายภาพบำบัดเพื่อศึกษาทางด้านการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ
และการดูแลผู้ป่วยระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินทุนประมาณ 5 ล้านบาท โดยจะเน้นลูกค้าญี่ปุ่นโดยเฉพาะ
ขณะที่ความร่วมมือกับ Jameson Health System ในการฝึกอบรมบุคลากรในระดับปฏิบัติงาน
รวมทั้งการดูแลคุณภาพทางการแพทย์ ทางด้าน Home Health Care Service และ Long
Term Care Service เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กร
ทางด้านพญาไท ก็มีการจับมือกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากสหรัฐอเมริกา "ทางด้านโรงพยาบาลเราได้ร่วมมือกับฮาร์วาร์ด
และในเบื้องต้นนี้เรากำลังคุยกันในส่วนขยายที่พญาไท 2 ซึ่งเขาจะเข้ามา promote
ด้านศูนย์หัวใจและมะเร็ง รวมถึงห้องแล็บที่มีเทคโนโลยีสูง ตอนนี้เรากำลังจะเริ่มลงมือปฏิบัติการได้แล้ว
แต่อยู่ระหว่างการประสานงานเรื่องเครื่องมือ การร่วมมือกันครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนบุคลากรกัน"
ความเห็นของ น.พ.สุรพงษ์ ตัวจักรสำคัญคนหนึ่งในการดึงพันธมิตรเข้ามาช่วยเสริมได้สำเร็จ
ส่วนค่ายสมิติเวช การร่วมมือกับต่างชาตินั้นจะเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้และบุคลากรมากกว่าที่จะเข้ามาร่วมทุนกัน
ซึ่งน.พ.ณรงค์ศักดิ์ ได้เปิดเผยว่า "เรื่องนี้เราทำก่อนใครเลย โดยร่วมมือกับ
Virginia Mason Medical Center ของอเมริกาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว คือร่วมมือกันในลักษณะถ้ามีคนไข้ผ่านมาก็จะส่งรายละเอียดให้กันและกันและส่งแพทย์ไปดูงาน
นอกจากนี้ยังมี Phoenix Medical Center ที่มีการส่งกุมารแพทย์ไปเรียนที่นั่น
และเราก็ร่วมกับ Epworth ออสเตรเลียโดยส่งแพทย์ไปเรียนผ่าตัด และล่าสุดปีที่แล้ว
เราก็ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ University of British Columbia ของแคนาดา
เราเป็นหนึ่งใน 2 ร.พ.ที่ได้เซ็นสัญญาในลักษณะของการส่งผู้ป่วยไปรักษาได้และส่งแพทย์ไปดูงาน
และเราก็มีความคิดจะร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนแพทย์อีกด้วย"
อย่างไรก็ตาม จรรยาบรรณแพทย์ของร.พ.เอกชนเป็นสิ่งหนึ่งที่คนจำนวนไม่น้อยยังเคลือบแคลงสงสัย
ตัวแปรหนึ่งที่ก่อให้เกิดกระแสความรู้สึกเช่นนั้นก็คือ ราคา เนื่องจากแพทย์ไม่ได้อยู่ในสถานะลูกจ้างของร.พ.
แม้จะเป็นแพทย์ประจำก็ตาม ดังนั้น การควบคุมดูแลจึงอาจไม่ทั่วถึง ทว่า หลายแห่งก็ได้มีระบบการตรวจสอบภายในของตนเองที่แตกต่างกันออกไป
เพราะไม่มีร.พ.ที่ต้องการให้ผู้ใช้บริการเดินออกจากร.พ.ไปด้วยความรู้สึกติดลบ
ขณะที่อัตราค่าพบแพทย์ (doctor fee) นั้นจะกระทำในลักษณะเดียวกันคือกำหนด
guideline ไว้เป็นบรรทัดฐาน อย่างสมิติเวชเองก็มีคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานการปฏิบัติงานของแพทย์
ร.พ.มีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เป็นต้น
ตามทฤษฎีการแข่งขันเสรี เมื่อ supply มีมากขึ้น ราคาสินค้าย่อมถูกกดดันให้ลดลง
แต่สำหรับธุรกิจนี้กลับไม่เป็นไปตามกฎ ยิ่งการแข่งขันสูงราคาก็จะขยับตามไปติดๆ
เพราะเป็นผลจากต้นทุนที่สูงขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดย่อมเกิดการแย่งตัวตามมา
โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางที่เป็นที่ต้องการของตลาดส่งผลให้ค่าตัวของแพทย์นี้สูงขึ้น
ประกอบกับพัฒนาการเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอยู่ทุกวัน
ยิ่งทันสมัยมากราคายิ่งสูง สุดท้ายก็กลายเป็นต้นทุนที่สูงลิ่ว และภาระเหล่านั้นก็จะกลับเข้าสู่ผู้บริโภค
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ไฉนราคาค่าบริการของร.พ.เอกชนจึงลดลงไม่ได้
"ราคาจะไม่มีลดลงเด็ดขาด สิ่งแรกที่จะเพิ่มคือค่ารักษาพยาบาล แม้จำนวนร.พ.จะเพิ่มขึ้น
ฉะนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือผู้บริโภคจะเรียกร้องสิทธิมากขึ้น เพราะเมื่อจ่ายแพงแล้วสิทธิของเขาได้ดีตามไปด้วยหรือไม่
ดังนั้นร.พ.ต้องเตรียมตัว" น.พ.ชาตรี กล่าวสรุปถึงปรากฏการณ์ที่ร.พ.จะต้องเผชิญในอีกไม่ช้า
ในโลกของธุรกิจ การหากำไรไม่ใช่เรื่องแปลก ราคาที่จ่ายไปไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ
หากผลที่ได้รับคุ้มค่า ซึ่งความคุ้มค่าอยู่ที่ความพอใจของทั้งสองฝ่ายแต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดนั่นคือ
สิทธิพื้นฐานการเข้ารับการรักษาที่ผู้บริโภคทุกคนไม่ควรลืมที่จะทวงคืน เพราะนี่คือมูลค่าที่แท้จริงเมื่อย่างก้าวเข้าสู่ประตูของร.พ.เอกชน