อุตสาหกรรมของฮ่องกง เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเสมอในแง่ของการแข่งขันเสรีที่เติบใหญ่โดยปลอดการค้ำจุนคุ้มครอง
หรือการแทรกแซงจากภาครัฐ เม็ดเงินและใบสั่งซื้อสินค้าจากทั่วโลกที่มุ่งหน้ามายังฮ่องกง
เป็นผลจากการแข่งขันแบบสู้ยิบตาของคนฮ่องกง ซึ่งล้วนแต่มี Global Vision
บรรยากาศของวิถีการผลิตแบบทุนนิยมสุดโต่งเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่มีวันปรับเข้ากับสภาพการณ์ทางการเมืองใหม่ของฮ่องกง
ใต้อำนาจรัฐเผด็จการสังคมนิยมจีนได้เลย
แต่สิ่งที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ กลับเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นและพัฒนามานานกว่า
15 ปีแล้ว โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากฝ่ายจีนเองคือ กระแสความจำเป็นที่จีนต้องเร่งปฏิรูปทางเศรษฐกิจ
ปัจจัยข้อนี้ผลักดันให้จีนรับเอานโยบายเปิดประเทศเฉพาะบางส่วน มาเป็นนโยบายหลักทางเศรษฐกิจและการเมืองตั้งแต่ปลายทศวรรษ
1980
ปรากฏการณ์ที่ประจักษ์แก่สายตาของทุนนิยมโลก คือการหลั่งไหลของทุนฮ่องกงเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ของจีน
กับการรับเอาวิสาหกิจของจีนเข้าร่วมในตลาดทุนของฮ่องกง ราวกับจะไม่นำพากับความเสี่ยงต่อความสูญเสียที่ค่อนข้างสูง
แม้แต่ภายหลังปี 1984 ที่จีนประสบความสำเร็จบีบให้อังกฤษยอมลงนามคืนฮ่องกงสู่อธิปไตยของจีน
อันเป็นตัวกำหนดชะตากรรมว่า ดินแดนทุนนิยมแห่งนี้จะต้องตกอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลสังคมนิยมจีนในปี
1997 ฮ่องกงก็มิได้เปลี่ยนแปลงท่าที จนกระทั่งว่าปัจจุบันนี้เม็ดเงินลงทุนของฮ่องกงกระจายในจีนเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า
60,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงมีบริษัทจดทะเบียนที่เป็นวิสาหกิจจากจีนจำนวนถึง
70 บริษัท ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 10% ของมูลค่าตลาดรวม
แนวโน้มพฤติกรรม "หมูไม่กลัวน้ำร้อน" ของฮ่องกงนี้ สะท้อนให้เห็นวิธีคิดในการมองการปรับตัวที่ยอมรับความจริงที่สุด
คือ "ถ้าเอาชนะเขาไม่ได้ ก็ไปร่วมกับเขาเลย" (Can't beat'em, join'em)
ทั้งนี้ สาเหตุขับเคลื่อนการตัดสินใจดังกล่าว มิใช่สิ่งใดมากไปกว่าเรื่องของการสร้างความได้เปรียบให้แก่การแข่งขันในตลาดโลก
กับการสร้างพื้นที่ยืนใต้เงาจีน
ความเปลี่ยนแปลงในหมวดอุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมหลักทรัพย์น่าจะเป็นรูปธรรมสะท้อนการปรับตัวรับยุคสมัยใหม่ของฮ่องกงอย่างน่าสนใจ
อุตสาหกรรมการผลิต
หมดยุคเร่ขายของถูก
อุตสาหกรรมการผลิตฮ่องกงตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เน้นการสร้างความได้เปรียบในตลาดโลกด้วยการลดต้นทุนการผลิต
แรงงานกับที่ดินราคาถูกในจีนคือ อาวุธลับตัวนั้น กรณีของบริษัท Climax International
เป็นตัวอย่างที่ดี บริษัทแห่งนี้เป็นบริษัทของฮ่องกงที่ผลิตและส่งออกอัลบั้มรูปถ่ายรายใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะนี้ส่งป้อนให้แก่บริษัทอเมริกันหลายราย เช่น Hallmark และ Walmart นับจากปี
1985 มาถึงปัจจุบัน Climax International มีโรงงานอยู่ในจีนถึง 3 โรง จ้างแรงงานจีนมากถึง
5,000 คน ในอัตราค่าจ้างเทียบเท่ากับ 5% ของอัตราที่จ้างกันในฮ่องกง
ยุทธศาสตร์การรุกเข้าช่วงชิงทรัพยากรราคาถูกในจีนเพื่อลดต้นทุนการผลิต น่าจะเป็นตัวแบบสำเร็จรูปให้แก่การปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิตฮ่องกงได้อย่างยั่งยืน
แต่สถานการณ์ตลาดโลกค.ศ.นี้ถึงศตวรรษหน้าบังคับให้ฮ่องกงต้องทบทวนยุทธศาสตร์ของตนเป็นการเร่งด่วน
นับเนื่องแต่ที่ฮ่องกงมีแหล่งผลิตต้นทุนต่ำในจีนเข้าช่วยสถานการณ์การส่งออกของตน
ฮ่องกงแทบจะไม่ได้ลงทุนเพิ่มในด้านเทคโนโลยีการผลิตเลย ยุทธศาสตร์เดียวที่ยึดกุมไว้คือเรื่องราคา
ซึ่งต่อมากลับเป็นเหตุให้ฮ่องกงต้องตกอยู่ในอาการดิ้นรนทบทวี เพราะการถูกบีบรัดให้ต้องหั่นราคาลงแข่งกับซัปพลายเออร์จากประเทศอื่นๆ
ซ้ำแล้วซ้ำอีก การรักษาตลาดอันมหาศาลไว้ได้ หมายถึงการยอมเฉือนกำไรให้บางลงเท่าที่จะพออยู่ได้
ในเวลาเดียวกัน ต้นทุนการผลิตที่เคยถูกเหมือนได้เปล่าในจีนตอนใต้ เริ่มจะไม่ค่อยถูกอย่างที่เคยเป็น
อัตราการเฟ้อของต้นทุนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 15-20% ต่อปี
ยิ่งกว่านั้น คู่แข่งในตลาดโลกที่สามารถเสนอสินค้าราคาถูกไม่แพ้ฮ่องกงหรือกระทั่งถูกกว่า
ดูจะทยอยกันแจ้งเกิดขึ้นมาท้าชิงส่วนแบ่งตลาดโลกของฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ตลาดด้านสิ่งทอกับเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหมวดใหญ่ที่สุด
ปัจจุบันนี้ ตลาดอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักของฮ่องกง มีซัปพลายเออร์อย่างเม็กซิโกเข้ามาบุกหนัก
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลง NAFTA เม็กซิโกได้สิทธิพิเศษด้านภาษีที่เหนือกว่าชาติใดๆ
กล่าวคือ เส้นใยจากสหรัฐอเมริกาที่ถูกส่งไปผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มที่เม็กซิโกและส่งกลับไปยังตลาดในสหรัฐฯ
จะไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใดๆ
ตัวเลขส่วนแบ่งตลาดเครื่องนุ่มห่มปี 1996 ชี้ว่า ดีมานด์เครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ
ไปโป่งอยู่ที่ซัปพลายเออร์เม็กซิกัน ส่งผลให้สินค้าเครื่องนุ่งห่มที่ส่งจากเม็กซิโกไปสหรัฐฯ
ในปีนั้นขยายตัวในระดับ 34.7% ทำให้ยอดมูลค่าการส่งออกหมวดนี้สูงขึ้นเป็น
3,740 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่ผลิตในจีน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการฮ่องกง)
ไปยังสหรัฐฯ ขยายขึ้นในอัตราเพียง 8% ทำยอดเงินได้เพียง 5,000 ล้านดอลลาร์
ส่วนของฮ่องกงเองกลับหดตัว 7.8% ทำยอดเงินได้ 3,940 ล้านดอลลาร์
Upgrade การประกอบการคืออนาคตที่ต้องเลือก
ปัญหาการปรับตัวของฮ่องกงในค.ศ.นี้ จึงล่วงพ้นประเด็นของการกำหนดท่าทีต่อจีนไปเป็นเรื่องของการแสวงหาทิศทางการปรับตัว
เพื่อธำรงความได้เปรียบในตลาดโลก ซึ่งอาจหมายถึงการริเริ่มฉีกตัวออกจาก Paradigm
เดิมไปหาความได้เปรียบแนวใหม่ หรืออาจเป็นการเกาะให้เหนี่ยวแน่นยิ่งขึ้นกับจีนแผ่นดินใหญ่
กระโดดเข้าไปหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะรักษาคุณลักษณ์ต้นทุนราคาถูกไม่ให้หลุดมือ
หรืออาจะเป็นการหันไปยอมรับและแสวงหาการแทรกแซงค้ำจุน ปกป้อง จากรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลปักกิ่ง
แนวทางการฉีกตัวออกจาก Paradigm เดิม (ที่วนเวียนอยู่กับการแข่งขันนำเสนอสินค้าราคาถูกป้อนแก่ตลาดโลก)
ให้ออกไปสู่ความได้เปรียบด้านอื่นๆ เป็นหัวข้อการถกเถียงที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่า
ฮ่องกงจะต้องลงทุนครั้งใหญ่เพื่อพัฒนา Know-how โดยกำหนดทิศทางไปสู่การทำให้ฮ่องกงเป็นระบบประสาทส่วนกลางของสินค้าทั้งมวลในเอเชีย
ทั้งในแง่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขายผลิตภัณฑ์ และการให้บริการรองรับทุกด้าน
แนวคิดการพัฒนา Know-how นี้ มีสีสันขึ้นมากเมื่อกลุ่มนักวิชาการอเมริกัน
2 สถาบันที่ได้รับทุนวิจัยจากผู้นำทางธุรกิจของฮ่องกงเสนอรายการการศึกษาซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีมากฝ่ายละเล่ม
Michael J. Enright และคณะแห่งสำนัก Harvard Business School ออกรายงานชื่อ
"The Hong Kong Advantage" ขณะที่สำนัก Industrial Performance
Center แห่ง Massachusetts Institute of Technology นำโดย Suzanne Berger
กับ Richard K. Lester ออกรายงาน "Made by Hong Kong"
สำนักแรกชี้ว่า ฮ่องกงนั้นมีข้อได้เปรียบในด้านทำเลและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง
ดังนั้น บริษัทซึ่งยังรักษาฐานไว้ในฮ่องกง ควรยกฐานะของตนเองขึ้นยึดกุมด้านการออกแบบ
การควบคุมคุณภาพ การจัดระบบงานบริหาร และการพัฒนาการขายในระดับโลก
ส่วนสำนักหลังเสนอว่า การมุ่งแต่จะพึ่งพิงอยู่กับข้อได้เปรียบด้านต้นทุนต่ำนั้นหมดพลังไปแล้ว
ฮ่องกงจะต้องยกระดับอุตสาหกรรมของตน ยอมทุ่มทุนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทคและผลิตสินค้าที่มีคุณค่าทางด้านบริการด้วย
เช่น แทนที่จะแค่รับจ้างผลิตกางเกงยีนตามใบสั่งของบริษัทอเมริกัน ฮ่องกงต้องใช้ความชำนาญด้านการออกแบบและด้านการค้ามาผลิตกางเกงยีนยี่ห้อของตนเอง
ซึ่งนั่นหมายถึงการจัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่ให้แก่การวิจัยพัฒนา การคิดค้นทางเทคโนโลยี
และการพัฒนาบุคลากร
ประเด็นการวิจัยและพัฒนาได้รับความสนใจยิ่งจากภาครัฐ ได้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยระดมนำเข้านักวิทยาศาสตร์เชื้อสายจีนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในโลกตะวันตก
อีกทั้งมีการดึงตัวอดีตประธานสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งไต้หวัน
มาเป็นรองประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนา นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอให้ตระเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะจูงใจการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา
เช่นการเปิดนิคมอุตสาหกรรมและนิคมการเคหะที่ราคาไม่แพง
พัฒนาการด้านการคมนาคมขนส่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มาแรง ปัจจุบันนี้โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงจีนแผ่นดินใหญ่
ฮ่องกง และโลกเข้าหากัน กำลังดำเนินการด้วยทุนก่อสร้างมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์
ส่วนใหญ่มีกำหนดแล้วเสร็จประมาณปี 1999
โครงการเหล่านั้นได้แก่ โครงการสนามบินแห่งใหม่ที่เกาลูน โครงการเมืองใหม่ตุงชุงบนเกาะหลานต่าว
โครงการทางด่วนระยะทางรวมกว่า 20 ไมล์ เชื่อมโยงสนามบินปัจจุบันกับสนามบินใหม่
และแวะจุดสำคัญอย่างเมืองใหม่ตุงชุง โครงการทางเชื่อมเกาะหลานต่าว ซึ่งจะเป็นสะพานแขวนรองรับรถยนต์และรถไฟ
โครงการรถไฟสายด่วนที่จะขนส่งผู้โดยสารจากเกาะฮ่องกงไปยังสนามบินใหม่ได้ภายในเวลาเพียง
23 นาที เป็นต้น
บนความเสี่ยงกับวุฒิภาวะของปักกิ่ง
ประเด็นการกำหนดอนาคตใหม่ของอุตสาหกรรมการผลิตในฮ่องกงดูจะลดความร้อนแรงไปทันที
เมื่อประเด็นความไม่มั่นใจในวุฒิภาวะของรัฐบาลปักกิ่งถูกหยิบยกขึ้นมา
ความวิตกของฮ่องกงยังติดตรึงอยู่กับประเด็นว่า เหตุการณ์จะเกิดขึ้นหรือไม่ที่ว่ารัฐบาลฮ่องกงใหม่ในกำกับของจีน
จะเข้าแทรกแซงกำกับ หรือมาชี้เป็นแก่อุตสาหกรรมหมวดหนึ่งที่สอดรับกับนโยบายรวม
และมาชี้ตายแก่อุตสาหกรรมอีกหมวดหนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับภาพรวม อย่างที่ปฏิบัติกันโดยรัฐบาลในญี่ปุ่น
มาเลเซีย หรือสิงคโปร์
ปัญหาทำนองนี้ สร้างความหวั่นวิตกต่อผู้ประกอบการฮ่องกงอย่างที่ชาติอื่นในเอเชียยากจะเข้าใจ
ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากการกล่อมเกลาทางสังคมของฮ่องกงในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา
ทำให้คนที่นี่เคยชินกับวัฒนธรรมแบบปลอดรัฐชนิดที่ไม่ค่อยพบเห็นในสังคมอื่นๆ
ของเอเชีย และที่น่าวิตกไปกว่านั้นคือ การแทรกแซงและการเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลปักกิ่งเพื่อคุ้มครองสนับสนุนวิสาหกิจของจีนตลอดจนบริษัทใดๆ
ที่เป็นประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง ซึ่งนั่นจะเป็นปัจจัยทำลายการแข่งขันเสรีที่รังสรรค์ความรุ่งเรืองให้แก่ฮ่องกงมาโดยตลอด
อุตสาหกรรมหลักทรัพย์ : 10% คือหุ้น "เรดชิป"
อุตสาหกรรมหลักทรัพย์เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่โอนเอียงใกล้ชิดกับจีนอย่างยิ่ง
จีนได้ส่งวิสาหกิจจำนวนมากมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง แต่กลุ่มผลประโยชน์ในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นผู้ควบคุมการประกอบการ
หุ้นของวิสาหกิจเหล่านี้ซึ่งเรียกว่าหุ้น "เรดชิป" ได้รับการต้อนรับอย่างคลั่งไคล้จากนักลงทุนในตลาดฮ่องกง
นับเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ หุ้น "เรดชิป" ทำราคาพุ่งสูงขึ้นเฉลี่ย
35%
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความสำเร็จนี้คือ การเก็งว่าหุ้น "เรดชิป"
ทั้งหลายจะแพงขึ้นเรื่อยๆ และจะทำกำไรให้อย่างไม่มีใดเปรียบ เพราะหุ้นเหล่านี้ต่างมีผู้หนุนหลังอย่าง
นครปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง กระทรวงการค้าต่างประเทศ หรือกระทั่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน
ในขณะที่วิสาหกิจหลายรายมีลูกท่านหลานเธอของผู้ทรงอำนาจทางการเมืองของจึนนั่งแป้นเป็นประธาน
นอกจากนั้น วิสาหกิจจากจีนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงยังเป็นช่องทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ในแบบของจีนการถือหุ้นพวกนี้จึงเท่ากับการวางเดิมพันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
อีกประการหนึ่ง หุ้น "เรดชิป" จำนวนไม่น้อยมีส่วนล้ำมูลค่าหุ้นสูงมาก
กล่าวคือหุ้นกลุ่มนี้เข้าสู่ตลาดด้วยวิธีการ Backdoor Listing เมื่อเข้าตลาดได้แล้วจะไปซื้อกิจการที่เป็นวิสาหกิจแม่ของตนนั่นเอง
โดยชำระเป็นหุ้นของตนบวกกับเงินสดที่ระดมได้จากตลาดในเวลาต่อมา วิสาหกิจแม่จะอัดฉีดทรัพย์สินให้บริษัท
"เรดชิป" โดยคิดมูลค่าต่ำๆ จนนักลงทุนเห็นว่าได้ทรัพย์สินมาในราคาถูกเหลือเกิน
โดยทั่วไปแล้ว บริษัท "เรดชิป" จะซื้อหาทรัพย์สินมาในราคาเพียง
5-10 เท่าของรายได้ แต่หุ้น "เรดชิป" อาจจะขายได้ในราคา 25 เท่าของรายได้ทีเดียว
ในขณะที่อุตสาหกรรมหลักทรัพย์ได้ผสานตนเองเข้าไปแล้วกับจีนอย่างแนบแน่น
จนกระทั่งหลักทรัพย์จดทะเบียนกลุ่ม "เรดชิป" มีมูลค่าถึง 10% ของมูลค่าตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
ความมั่นใจในอนาคตอันสดใสกลับยังหวั่นไหวอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าหุ้น
"เรดชิป" เป็นหุ้นชั้นดีที่เหมาะแก่การลงทุนระยะยาวหรือไม่ เพราะเมื่อวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาแล้ว
วิสาหกิจส่วนใหญ่ที่เข้าตลาดในช่วงปี 1992-1993 ยังทำกำไรให้เห็นแค่ในบางจุดเท่านั้น
ข้อที่น่าวิตกเหนืออื่นใดคือการแทรกแซงจากทางการจีน แม้ทางการฮ่องกงจะยืนยันว่าฝ่ายจีนไม่มีสิทธิ์แทรกแซงว่าตลาดจะต้องรับบริษัทใดเข้าจดทะเบียน
โดยชี้ว่าอำนาจควบคุมของฝ่ายจีนจำกัดแค่การวางหลักเกณฑ์ว่าด้วยการอัดฉีดทรัพย์สินมาให้แก่หุ้น
"เรดชิป" แต่ความวิตกก็ไม่สามารถยกตัวออกไปได้
ปัญหาการแทรกแซงจากจีนยังเป็นที่หวั่นใจในเรื่องอื่นอีก จีนออกจะขึ้นชื่อทางด้านการใช้ข้อมูลวงในแสวงประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น
และในกรณีที่บริษัทที่จีนหนุนหลังเหล่านี้มีผลประกอบการย่ำแย่หรือทำเรื่องเสื่อมเสีย
ทางการจีนหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องของฮ่องกง เช่น ศาลสถิตยุติธรรม จะเข้ามาจัดการอะไรได้เพียงใด
ความมั่นใจของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ฮ่องกงต่ออนาคตที่นับวันแต่จะแนบแน่นเข้ากับจีน
ถูกหล่อเลี้ยงด้วยตรรกะที่ว่า จีนจำต้องถนอมรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงไว้ให้จงดี
เพราะตลาดแห่งนี้ได้พิสูจน์ผลงานการระดมเม็ดเงินจากนักลงทุนทั่วโลกเป็นที่น่าประทับใจมาตลอดครึ่งทศวรรษที่
90 นี้ เฉพาะปีที่แล้วเม็ดเงินที่ระดมได้สูงถึง 2,400 ล้านดอลลาร์
ส่วนในด้านของฮ่องกงเอง สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันย่อมจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
ต้องระมัดระวังรักษาฐานะการเป็นช่องทางให้จีนต่อสายกับอุตสาหกรรมการเงินระดับโลก
อนาคตของอุตสาหกรรมในร่มเงาปักกิ่ง ดูทางลมให้ดี
อนาคตของอุตสาหกรรมฮ่องกงในยุคอธิปไตยจีนได้เริ่มก่อร่างแสดงทิศทางมาก่อนการส่งมอบฮ่องกงอย่างเป็นทางการในวันที่
1 กรกฎาคม 1997 ได้ถูกกำหนดโดยคนฮ่องกงแล้วว่าให้ผูกพันแนบแน่นเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่
พิธีการส่งมอบที่จัดไปอย่างเอิกเกริก เป็นเพียงสัญลักษณ์เพื่อบอกว่า ความร่วมมือกับจีนจะยิ่งสะดวกง่ายดายกว่าเดิม
แต่ฮ่องกงย่อมไม่มีวันจะข่มจิตวางใจกับวุฒิภาวะของรัฐบาลปักกิ่งได้เลย อนาคตฉากต่อไปของฮ่องกงจะเป็นการทบทวนและยกระดับยุทธศาสตร์ปัจจุบันของตน
พร้อมกับการหมั่นจับตาความเคลื่อนไหวของลมฝ่ายเหนือว่า เมื่อใดที่เมฆดำจะตั้งเค้า
และคอยตั้งรับปรับตัวในโมงยามที่พายุร้ายจะฟาดตัวเข้ามาคุกคามเสรีภาพและระบบเศรษฐกิจของตน