|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
บอร์ด "ไทยเบฟเวอเรจ" ไฟเขียว "ช้าง" เดินหน้าเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ "เกษมสันต์" ฟุ้งถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่มูลค่าติด 1 ใน 5 ด้าน "กิตติรัตน์" บ่นเสียดายก็สายไปแล้ว ยอมรับพลาดท่าสิงคโปร์ แฉเบื้องลึก "เจ้าสัว"เร่งไสช้างไปนอกส่งซิกถึง "แม้ว" เลือกผิดข้าง
นายเกษมสันต์ วีระกุล ผู้อำนวยการสื่อสาร องค์กร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วานนี้( 5 ม.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติอนุมัติการนำหุ้นสามัญของบริษัทเข้าไปจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยจะยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต) ในวันนี้หรือช้าที่สุดในวันจันทร์หน้า
ทั้งนี้ หากสำนักงานก.ล.ต.อนุมัติให้ยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่สิงคโปร์ได้ คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะในการพิจารณาแบบรายการแสดงข้อมูล(ไฟลิ่ง) ซึ่งเท่าที่หารือกับประธานตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ระบุว่า หากเข้าจดทะเบียนได้ทันในปีนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่ไฟลิ่งที่ยื่นต่อสำนักงานก.ล.ต.ของไทยบริษัทจะไม่ถอนที่เคยยื่นไว้ ซึ่งไฟลิ่งหมดอายุบริษัท ก็จะยื่นขอต่ออายุต่อไป
สำหรับข้อมูลไฟลิ่งจะเป็นข้อมูลเดียวกับที่ยื่นต่อก.ล.ต.ของไทย โดยระบุว่าบริษัทมีทุนจดทะเบียน 22,000 ล้านบาท และจะเพิ่มทุนเป็น 29,000 ล้านบาท เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 7,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยจะจัดสรรให้แก่ประชาชนทั่วไปไม่เกิน 6,000 ล้านหุ้น และเพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินอีกไม่เกิน 1,000 ล้านหุ้น
วัตถุประสงค์ของเงินที่ได้จากการระดมทุน บริษัทจะนำไปชำระหนี้เงินกู้ และใช้เป็นเงินหมุนเวียน รวมถึงเป็นเงินทุนในการดำเนินงานทั่วไปเพื่อใช้ในการ ประกอบธุรกิจการลงทุน โดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ
"เราไม่ได้มีความจำเป็นเรื่องเงินที่จะได้จากการระดมทุน ฐานะการเงินของบริษัทถือว่าแข็งแกร่งมาก เราต้องการที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียนและให้มีการตรวจสอบการทำงานจากนักลงทุน เพราะหากบริษัท ต้องการเงินทุนเพิ่มเติม การกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งด้วยขนาดของบริษัทไม่ใช่เรื่องที่ยาก" นายเกษมสันต์กล่าว
ฃนายเกษมสันต์ กล่าวอีกว่า หากบริษัทเข้าจด-ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์จะเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ติด 1 ใน 5 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์และจะเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุดจากจำนวน 4 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบในเรื่องการจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ 2 ประเทศก็ไม่ถือว่าผิดกฎเกณฑ์ แต่อย่างใด ส่วนคุณสมบัติในการเป็นบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ไทย และตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ถือว่ากฎเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดไว้มีความใกล้เคียงกัน
ในส่วนของมูลค่ารวม(มาร์เกตแคป)ของบริษัทจะต้องพิจารณาจากราคาที่มีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นหลัก ถึงจะสามารถคำนวณมาร์ เกตแคปของบริษัทที่แท้จริงได้ โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับ 200,000-300,000 ล้านบาท
"เท่าที่ได้มีการพูดคุยกับประธานตลาดหุ้นสิงคโปร์ เชื่อว่านักลงทุนสิงคโปร์มีความสนใจในหุ้นของบริษัทเป็นอย่างมาก"
นายเกษมสันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาภายหลังหากบริษัทสามารถเข้าจดทะเบียน 2 ประเทศได้(Dual Listing) ทั้งเรื่องการกำหนดราคาในการซื้อขาย รวมถึงเรื่องการชำระราคาซื้อขายที่ยังต่างกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงของทั้ง 2 ประเทศคง จะต้องมีการหารือเพื่อแก้ไขในเรื่องดังกล่าว ซึ่งปัญหา ดังกล่าวเป็นปัญหาทางเทคนิคที่แก้ไขได้ไม่ยาก
"ช่วงเดือนก.ย. ในปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ของไทยได้บรรลุข้อตกลงกับนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ที่ผลักดันให้ทั้ง 2 ประเทศมีความร่วมมือกันทางด้านตลาดทุน ซึ่งจะทำให้ทั้ง 2 แห่งสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านกันได้" นายเกษมสันต์กล่าว "โต้ง"ถอดใจพลาดท่าให้ลอดช่อง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวด้วยท่าทางถอด ถอนใจว่า เป็นที่น่าเสียดาย หากปล่อยให้บริษัทจดทะเบียนของไทยที่มีพื้นฐานทางการเงินดี ๆ ตกไปอยู่ในตลาดสิงคโปร์ ทั้งนี้เป็นเพราะปัญหาทางสังคมไทยที่ไม่สามารถยอมรับ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย
"วันนี้ต้องดีใจกับสิงคโปร์ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะปล่อยให้บริษัทดี ๆ ไปอยู่ในตลาดต่างประเทศ แทนที่จะสร้างมูลค่าให้ตลาดไทยมากกว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำอะไรเลย เพราะทุกวันนี้ผมยังไม่เคยละความพยายาม ที่จะดึงให้เขากลับมาอยู่กับเรา แต่ก็เป็นปัญหาทางสังคมที่เราต้องแยกออกจากเรื่องธุรกิจ"
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากปัญหาความขัดแย้งการนำเบียร์ช้างเข้าจดทะเบียนใน ตลท. ยุติได้ ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน รวมทั้งบรรยากาศการลงทุนก็สดใสขึ้น
"เจ้าสัว" ส่งซิก "แม้ว" เลือกข้างผิด
แม้ในทางตรง สาเหตุที่ตัดสินใจนำเบียร์ช้างไป จดทะเบียนในตลาดสิงคโปร์ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จะอธิบายเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ต้องการนำบริษัทไปสู่การค้าสากล เพราะหลังจากได้ไปโฆษณาที่หน้าอกทีมเอฟเวอร์ตัน มีคนทั่วโลกซื้อสินค้าของบริษัทมากขึ้น จึงอยากที่จะนำกำไรของฝรั่งเข้ามาเมืองไทยด้วย และต้องการ ทำให้ทั่วโลกได้เห็นว่า บริษัททำทุกอย่างถูกกฎหมาย ถูกกฎระเบียบ อีกทั้งการค้าเสรีที่เร็วขึ้น จะเห็นการเข้ามาของต่างชาติในเมืองไทยแล้วทำให้บริษัทช้าไม่ได้ แต่โดยทางอ้อมหลายฝ่ายก็เชื่อว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของเจ้าพ่อน้ำเมาเป็นสัญญาณที่ส่งไปถึงพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจนที่สุด
"เจ้าสัวเจริญเคยเข้าพบนายกฯเพื่อเคลียร์เรื่องเข้าตลาด หลังจากกระแสต้านที่มีพล.ต.จำลอง ศรีเมืองเป็นหัวหอกแรงขึ้น แต่นายกฯไม่ยอมตัด สินใจให้เด็ดขาดเพราะเกรงใจพล.ต.จำลอง มิหนำซ้ำ ปล่อยให้ สสส.หนุนม็อบต้านอีก ทำให้เจ้าสัวต้องทำ อย่างใดอย่างหนึ่งให้พ.ต.ท.ทักษิณได้เห็นพลังช้างบ้าง"แหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กล่าว
ขณะเดียวกัน ก็มีข้อสังเกตต่อไปอีกว่า สัญญาณที่นายเจริญส่งถึงนายกฯนั้นจะพัฒนาไปถึงขั้นสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลทักษิณร้ายแรงแค่ไหน เพราะเท่ากับว่า สัญญาใจระหว่างเบียร์ช้างกับพ.ต.ท.ทักษิณถูกสะบั้นไปแล้วเรียบร้อย กระแสรัฐบาลทักษิณขาลงยิ่งเร่งเร็วขึ้น อีกนัยครั้งนี้จึงมีมากกว่าการเดินหนีตลาดไทยเพื่อโกอินเตอร์เท่านั้นหากแต่รัฐบาลมีแต่เสียกับเสียในสายตาต่างชาติ เพราะความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน และ ธุรกิจขนาดใหญ่
นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ช่วงที่เบียร์ช้างยังไม่ตัดสินใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ทำไมรัฐบาลไม่รีบแก้ไข พอเบียร์ช้างประกาศว่าจะไปสิงคโปร์ นายทนง พิทยะ รมว.คลัง ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจกลับออกมาพูด ว่าเข้าตลาดหุ้นไทยได้จะพิจารณา และยังพูดทำนอง ว่ามีสัญญาใจกับเบียร์ช้างอยู่จึงเชื่อว่าเบียร์ช้างไม่ไปสิงคโปร์ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลพลาดไปมองว่าการระดม ทุนของเบียร์ช้างในไทยไม่ดี แต่ซีกตลาดทุนได้ประโยชน์ สิงคโปร์เขาเปิดกว้างก็ได้ไป
"เข้าตลาดไทยไม่ได้ สุดท้ายแล้วเบียร์ช้างก็ระดมทุนจากที่อื่นได้อยู่ดี แล้วที่สำคัญเบียร์ก็ยังมีขายในเมืองไทยเหมือนเดิม"
|
|
 |
|
|