January Effect เข้าหุ้นไทย 2 วันดัชนีขึ้นแล้วเกือบ 30 จุด วอลุ่ม 5.1 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี หลังต่างประเทศลุยหุ้นบิ๊กแคป โชว์ยอดซื้อสุทธิวันเดียว 1.5 หมื่นล้านบาท เก็งข่าวผลประกอบการไตรมาส 4 หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์รับอานิสงส์ปรับขึ้นยกแผง "เจพีมอร์แกน" ยาหอมไทยให้น้ำหนักตลาดหุ้นเกิดใหม่ จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และไทย ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปี 49 ที่ 780 จุด รีเทิร์นการลงทุน 10% ขณะที่เศรษฐกิจโลกโต 3-4% ส่วนเศรษฐกิจไทย 4.7% "โสภาวดี" อยากให้หุ้นไทยปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปหวั่นร้อนแรงเกินหมดรอบเร็ว "เคจีไอ"แนะระวังเทขายทำกำไร
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (4 ม.ค.) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า จากแรงซื้อเข้ามาในหุ้นบลูชิปของนักลงทุนต่างประเทศ โดยปิดตลาดที่ 743.20 จุด เพิ่มขึ้น 17.56 จุด หรือเพิ่มขึ้น 2.42% ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดระหว่าง วันที่ 745.32 จุด ต่ำสุดที่ระดับ 732.51 จุด มูลค่าการซื้อขาย 51,478.98 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี โดยวันที่ 15 ม.ค.47 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 56,786.57 ล้านบาท
นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 15,360.27 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 2,835.50 ล้าน บาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 12,524.77 ล้านบาท
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทีเอสอีซีกล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยวานนี้ (4 ม.ค. 49) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำลายสถิติดัชนีสูงสุดของปีที่ผ่านมา ที่อยู่ 741 จุด เนื่องจากเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในหุ้นกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นที่อ่อนไหวตามอัตราดอกเบี้ย เช่น ธนาคารพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ และสื่อสาร พลังงาน ส่วนหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสภาพตลาด ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้ นักลงทุนควรระวังมีแรงขายทำกำไร เนื่องจาก 2 วันที่ผ่านมาดัชนีฯมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมองแนวรับที่ระดับ 725 -732 จุด แนวต้านที่ระดับ 746-750 จุด
นางสาวทัศมน วิทยารักษ์สรรค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นอย่างร้อนแรง ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยจากปริมาณการซื้อขายที่มาก และตัวของหุ้นที่ปรับขึ้นแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มแบงก์, พลังงาน และสื่อสารแล้ว การเข้าซื้อดังกล่าวเป็นผลมาจาก January Effect ที่เกิดขึ้นภายหลังการหยุดยาวของนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค.และปี 48 ที่ต่ำกว่าคาดเล็กน้อยเป็นปัจจัยหนุน ทั้งนี้ เชื่อว่าต่อไปตลาดคงจะลดความแรงลง แต่ก็ยังเป็นเทรนด์ขึ้นและก็จะขึ้นแบบที่มีการแกว่งตัวบ้าง ไม่ขึ้นขาเดียวเหมือน 2 วันที่ผ่านมา
"ตลาดขึ้นแรงๆติดต่อกันมา 2 วัน จะถาม ว่า OVER BOUGHT หรือไม่ ก็มีบ้าง ดังนั้น ช่วงต่อไปก็คงจะเป็นการปรับขึ้นแบบแกว่งตัวบ้าง อาจมีแรง Take Profit ออกมา แล้วนักลงทุนก็จะเริ่มหันมาดูที่ปัจจัยด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ซึ่งวันที่ 19-20 ม.ค.นี้ กลุ่มแบงก์จะประกาศเป็นกลุ่มแรก ซึ่งคาดว่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา"นางสาวทัศมน กล่าว หุ้นโบรกฯทะยาน
ด้านราคาหุ้นกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์วานนี้ปรับตัวคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้ากระทั่งปิดตลาดราคา หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นสูง อาทิ บล.ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) ปิดที่ 7.4 บาท เพิ่มขึ้น 0.6 บาท หรือเพิ่มขึ้น 8.82%, บล.ซีมิโก้ ปิดที่ 5.15 บาท เพิ่มขึ้น 0.39 บาท หรือเพิ่มขึ้น 8.19%, บล.ไซรัส ปิดที่ 5.95 บาท เพิ่มขึ้น 0.4 บาท หรือเพิ่มขึ้น 7.21 บาท, บล.พัฒนสิน ปิดที่ 49.75 บาท เพิ่มขึ้น 3.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น 6.99%, บล.เคจีไอ ปิดที่ 2.48 บาท เพิ่มขึ้น 0.16 บาท หรือเพิ่มขึ้น 6.9%และ บล.ภัทร ปิดที่ 44 บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาท หรือ 5.39%
นางสาววิริยา ลาภพรหมรัตน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน จำกัด เปิดเผยว่า หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นตามสภาพตลาดที่มีมูลค่าการซื้อขายมากขึ้น แต่มีบางบริษัทก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการแนะนำถือ เช่น หุ้น บล.พัฒนสิน หุ้น บล.ซีมิโก้ แต่ช่วง 2 วันที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายก็ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร ส่วน บล.กิมเอ็ง แนะซื้อเก็งกำไร
นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.พัฒนสิน จำกัด กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่ม จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศและเป็นการ ปรับขึ้นตามตลาดหุ้นทั่วโลก โดยหุ้นที่มีการปรับ เพิ่มขึ้นนั้นเป็นหุ้นขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์จากนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรผลประกอบ การไตรมาส 4/48 ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่จะมีการประกาศออกมา และจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จากที่มีข่าวจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย หรืออาจจะไม่มีการปรับขึ้น ดอกเบี้ย กลุ่มน้ำมันจากราคาน้ำมัน ส่วนหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์มีการปรับขึ้นตามมูลค่าการซื้อขาย
สำหรับแนวโน้มภาวะตลาดวันนี้คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก หรืออาจปรับตัวลดลงจาก ที่มีข่าวว่า รัสเซีย และ ยูเครน มีการตกลงเรื่องราคาน้ำมันได้ และจากการที่รัฐบาลจะมีการพูดคุยเรื่อง การเปิดเสรีทางการเงิน กับสหรัฐอเมริกา โดยมองแนวรับที่ 730-733 จุด แนวต้าน 750-753 จุด
ผู้สื่อข่าวรายงานส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ของ บล.ในปี 2548 โดย บล.ที่มีมาร์เกตแชร์สูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ KEST มีมาร์เกตแชร์ที่ 10.19% 2.บล.เอเซีย พลัส หรือ ASP มีมาร์เกตแชร์ที่ 7.15% 3. บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS มีมาร์เกตแชร์ 5.18% 4. บล.ภัทร หรือ PHATRA มีมาร์เกตแชร์ 5.01% 5. บล.ซีมิโก้ หรือ ZMICO มีมาร์เกตแชร์ 4.27% โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่โชว์ยอดขายสุทธิ
ทั้งนี้ ปี 2548 บล.ที่มียอดการซื้อสุทธิมาก ที่สุด คือ บล.เครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ประเทศไทย) จำนวน 31,796.44 ล้านบาท และบล.ที่มียอดการขายสุทธิมากที่สุดคือ บล.ไทยพาณิชย์ จำนวน 27,714.38 ล้านบาท ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ประมาณการมูลค่าการซื้อขายต่อวันปี 2549 ที่ 2 หมื่นล้านบาท จากการที่คาดว่าจะมีหุ้นที่มีขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียนเพิ่มขึ้น อาทิ บมจ.กฟผ. บมจ.ไทยเบฟเวอร์เรจ หรือ เบียร์ช้าง
เจพีมอร์แกนยาหอมหุ้นไทย
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธนาคารเจพีมอร์แกน ประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2549 บล. เจพี มอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 780 จุด ซึ่งแม้ว่าตลาดหุ้นจะมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้นแต่จะไม่ร้อนแรงมาก
ทั้งนี้ คาดว่าในส่วนของผลตอบแทนจากการลงทุนจะอยู่ในระดับประมาณ 10% ซึ่งสูงกว่าระดับที่บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ คาดการณ์ไว้โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4-5%
สำหรับหุ้นในกลุ่มที่ยังคงมีอิทธิพลต่อการลงทุนยังคงเป็นหุ้นในกลุ่มขนาดใหญ่ เช่น พลังงาน สื่อสาร วัสดุก่อสร้าง ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น โดยในกลุ่มพลังงานจะเป็นกลุ่มที่น่าจะได้รับผลดี เนื่องจากราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม เจพี มอร์แกน ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนสำหรับตลาดหุ้นเกิดใหม่ โดยตลาดหุ้นไทยติดอันดับ 1 ใน 4 ตลาดหุ้นที่ยังคงน่าลงทุน โดยทั้งหมดประกอบด้วย ตลาดหุ้น จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย
สำหรับปัญหาเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากในปีนี้จะต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบและอุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อเข้ามาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ เรื่องดังกล่าวยังไม่น่า เป็นห่วงเนื่องจากเพราะจะมีเม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
ขณะที่ในส่วนของหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าในระดับดังกล่าวยังไม่สูงมาก โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้สกุลดอลลาร์ไม่มาก ด้านนโยบายการเงินการคลังของประเทศก็ยังถือว่ารัฐบาลมีมีวินัยการเงินที่ดี
ด้านเศรษฐกิจโลกในปี 2549 คาดว่าการขยายตัวจะอยู่ในระดับ 3-4% ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 4.7% โดยปัจจัยหลักที่เป็นแรงกระตุ้นภาคเศรษฐกิจไทยคือ โครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งจะส่งผลทำให้ภาคเอกชนมีการ ลงทุนมากขึ้น โดยกำลังการผลิตของภาคเอกชน สูงถึง 80% ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนเพิ่ม
ทั้งนี้ ภาคการส่งออกเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยจะเติบโตในมากกว่าที่มีการคาดการณ์หากภาคการส่งออกเติบโตได้ถึง 17%
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 2549 คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าตลาดซื้อคืนพันธบัตร หรืออาร์พี ระยะ14 วัน จะอยู่ที่ 4.25% ในช่วงไตรมาส 3/49 หลังจากนั้นคาดว่าจะเริ่มมีการลดลงตามทิศทาง ของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ
ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะ 10 ปี จะปรับขึ้นไปสูงสุดในระดับ 6.5% ในช่วงไตรมาส 3/49 และจะปรับลดลงเหลือ 6% ในช่วงสิ้นปีด้านอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเงินบาทจะแตะระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ 39.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปี ตลท.ห่วงร้อนเกินอาจขึ้นสั้น
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ปรับขึ้นมากในวานนี้น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยและสถานการณ์ในเชิงลบหลายเรื่องเริ่มคลี่คลายจึงส่งผลทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น
ทั้งนี้ โดยส่วนตัวอยากให้การปรับขึ้นของดัชนีเป็นไปในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งจะทำให้หุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ หากดัชนีมีการปรับขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงใดช่วงหนึ่งจะส่งผลทำให้ช่วงเวลาของขาขึ้นในตลาดหุ้นไทยสั้นลง
สำหรับปัจจัยในการลงทุนในนักลงทุนไม่ควรพิจารณาการลงทุนเพียงแค่ปัจจัยเรื่องการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจและบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะการพิจารณาลงทุนควรที่จะพิจารณาปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย
|