Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์2 มกราคม 2549
นักการเงินฟันธง’49 ปีทอง SMEs             
 


   
search resources

ชาลอต โทณวณิก
โชติศักดิ์ อาสภวิริยะ
SMEs




ชี้แนวทาง SMEs ปี ’49 บริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ “กรุงศรีฯ-เอสเอ็มอีแบงก์” ฟันธงปีทองเอสเอ็มอี หลายทางเลือกใหม่กับแหล่งทุนจากแบงก์ ย้ำแต่ต้องรอบคอบ “กองทุนวรรณ” แนะเช็คระบบบัญชี ตรวจสภาพคล่อง คุมต้นทุน เน้นสร้างองค์ความรู้มุ่งพัฒนาคนควบคู่มาตรฐานสินค้า “สสว.” ระบุเริ่มที่ความโปร่งใส เตือนอย่าใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

แบงก์กรุงศรี เล็งบริการชัดเจนขึ้น

ชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปี 2549 ว่า เนื่องจากความไม่แน่นอนในปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อธุรกิจมากมาย เป็นปีที่ต้นทุนในการประกอบการอยู่ในภาวะเพิ่มขึ้น เช่น อัตราดอกเบี้ย รวมทั้งไม่แน่ว่าค่าพลังงานว่าอาจจะเพิ่มหรือไม่ ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการดูกำลังของกิจการ ต้องพยายามให้มีเงินสดอยู่ในกิจการ อย่าใช้เงินกู้มากเกินไป หมายถึง การใช้เงินอย่างสมดุล

หากต้องการขยายกิจการหรือการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ต้องทำ Business Model ให้ดี นำปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มาพิจารณาอย่างรอบด้าน ให้ทดลองคิดว่าในกรณีที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร และมีปัจจัยอะไรมากระทบบ้าง เพราะมีปัจจัยหลายตัวที่อยู่นอกเหนือการควบคุม คิดอย่างรอบด้านมากขึ้น เพื่อเตรียมแผนรับมือให้เท่าทัน เพราะเศรษฐกิจก็ยังมีการเติบโต

สำหรับดอกเบี้ยซึ่งมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 1.5-2% แต่ปัจจัยที่คุมไม่ได้ เช่น ราคาน้ำมัน จึงต้องดูว่าธุรกิจนั้นพึ่งพาพลังงานมากแค่ไหน ธุรกิจขนส่งย่อมกระทบมาก หรือบางธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาจมีเรื่องก่อการร้าย โรคระบาด ภัยธรรมชาติ

ในส่วนของแหล่งเงินทุน สำหรับกิจการขนาดเล็กนอกจากใช้เงินทุนจากการรวบรวมมาในแวดวงใกล้ตัว แต่เมื่อต้องการขยายกิจการ จำเป็นต้องใช้เงินกู้จากธนาคาร ต้องพิจารณากิจการของตน ส่วนธุรกิจที่ใหญ่นอกจากกู้จากธนาคารจะต้องมองดูว่ามีแผนระดมทุนจากแหล่งใดได้อีกเพื่อให้ต้นทุนระยาวถูกกว่าเดิม เช่น การเข้าตลาดหลักทรัพย์ การออกหุ้นกู้ เป็นต้น เพราะปีหน้าจะมีเรื่องของการทำตราสารอนุพันธ์เข้ามาด้วย

สิ่งที่สำคัญสำหรับ SMEs คือ การต้องหาความรู้ และคิดว่าผู้ประกอบการควรมีสถาบันการเงินที่ให้คำปรึกษาได้ หรือมีการบริการที่ค่อนข้างครบวงจร เพราะปัจจุบันและอนาคตสถาบันการเงินจะค่อนข้างมีบริการเกือบครบ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเหมาะสมระหว่างสถาบันการเงินกับผู้ประกอบการ เช่น ผู้ส่งออกอาจจะไปใช้บริการ EXIM Bank หรือ ต้องการเงินกู้แบบพิเศษซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์อาจจะให้ความสะดวกมากกว่าการไปใช้ธนาคารอื่น

“อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในปี 2549 จะมีสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น เพราะในปีนี้ใครๆ ก็เริ่มพูดถึง ซึ่งขอบข่ายของเอสเอ็มอีกว้างมาก มีตั้งแต่ผู้ที่จดทะเบียนแล้วไปค้าขายในจตุจักร หรือเอสเอ็มอีตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติก็มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น แต่คิดว่าสถาบันการเงินจะหันมาจับลูกค้าในส่วนนี้มากขึ้น เพราะเป็นโอกาสที่จะขยายได้ ในขณะที่เรื่องของราคาให้บริการหรือค่าธรรมเนียมยังคงไปได้”

“เรียกได้ว่าเป็นปีทองของธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะแต่เดิมมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ถูกละเลย จะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลก็ไม่ใช่เพราะวงเงินน้อยเกินไป พอไปอีกกลุ่มเป็นลูกค้านิติบุคคล ผลประกอบการต้องดี ก็ใหญ่ขึ้นมาหน่อย ส่วนกลุ่มที่อยู่ระหว่างกลางซึ่งเป็นนิติบุคคลแต่อาจจะเล็ก หรือผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาแต่ใหญ่ ไม่มีใครที่ลงมาจับกลุ่มนี้ชัดเจน ธนาคารพาณิชย์คงมองอย่างนี้คล้ายๆ กัน”

“แต่ใครจะลงมาทำชัดเจนแค่ไหนเท่านั้น ตรงนี้จะทำให้มีผลิตภัณฑ์รองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น จะเป็นปีที่เริ่ม เพราะสินเชื่อรายใหญ่ก็เติบโตไปตามปกติ ขณะที่สินเชื่อกู้บ้านก็ฟาดฟันกันเต็มที่แล้ว ในส่วนของแบงก์กรุงศรีฯ จะมีบริการ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ชัดเจนขึ้นและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณา และคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในเดือนมกราคมนี้” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้าย

SME Bank ชี้บริหารต้นทุน

โชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย แนะนำการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแน่นอน ประกอบกับราคาน้ำมันคงอยู่ในระดับที่อาจจะสูง และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ อาจจะขยับขึ้นบ้าง ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องคำนวณต้นทุนอย่างดีมากๆ และต้องกำหนดราคาขายให้เหมาะสมกับต้นทุน เพราะฉะนั้น การบริหารต้นทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญในปีหน้า ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน

นอกจากนี้ เชื่อว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ยังคงเติบโต ดังนั้น การค้าขายยังคงดำเนินไปได้ สิ่งสำคัญ คือการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้มากเท่าไร รวมทั้ง การกำหนดการหมุนเวียนกระแสเงินให้เหมาะสม เพราะต้นทุนบางอย่างสามารถยืดเวลาออกไปได้ จึงไม่จำเป็นต้องกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูง

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งขึ้นอาจจะทำให้ผู้ส่งออกเหนื่อยเล็กน้อย หากได้เงินตราต่างประเทศมาควรจะรีบประกันความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยว่าในแง่ของแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ ในปีหน้าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีเพราะหลายธนาคารตั้งเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีสูงขึ้นมา ทำให้มีโอกาสเลือกและหาแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น ในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์ เน้นการสร้างผู้ประกอบการใหม่ในเชิงยุทธศาสตร์ เน้นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มส่งออกและแปรรูปอาหารตามนโยบายครัวไทยสู่โลก , กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์อยากจะแนะนำเพราะจะมีนักลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมากพยายามเข้ามาแสวงหาผู้ร่วมทุนที่เป็นคนไทยจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ส่วนกลุ่มก่อสร้างต้องระวังมากขึ้น เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น อาจจะทำให้กำลังซื้อลดลงไปบ้าง

“ย้ำว่าเอสเอ็มอีแบงก์ไม่ได้แข่งขันกับแบงก์พาณิชย์ เราพยายามเสริมในจุดที่แบงก์พาณิชย์ไม่ได้เข้าไป ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถมาใช้บริการกับเราหรือแบงก์ออมสินได้อย่างเต็มที่ ส่วนผู้ประกอบการที่แข็งแรงแล้วอาจจะใช้บริการกับแบงก์พาณิชย์ที่มีบริการครบถ้วนกว่า และดอกเบี้ยต่ำกว่า” กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์กล่าว

กองทุนวรรณ แนะระวังสภาพคล่อง

มงคล เกษมสันต์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด กล่าวถึง แนวทางบริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ว่า ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องระบบบัญชี ต้นทุน เพราะการเตรียมการสำหรับปีหน้า ถ้าเราไม่ได้ดูเรื่องต้นทุนในการทำการตลาดหรือการทำงบประมาณจะถูกต้องหรือไม่ ส่วนการดูงบประแสเงินสด เพื่อให้รู้ว่ามีสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่ การขายสินค้าในการให้เครดิตเทอมการค้ายาวนานเพียงใด

จากนั้น ควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการปรับตัวขององค์กร ซึ่งที่สำคัญคือการให้ความรู้กับพนักงานมุ่งเน้นการพัฒนาคนในองค์กรซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเพื่อให้การขยายตัวของกิจการที่ทำไปในช่วงก่อนมีความพร้อมด้านบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทไหน โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้ความรู้มากๆ เช่น ซอฟท์แวร์ กับการแข่งขันในอนาคตในยุค Knowledge Base

ส่วนต่อไปคือมาตรฐานสินค้า เพราะการค้าในอนาคตจะมีการค้าเสรีเข้ามาเกี่ยวข้องมาก และมีแนวโน้มว่าจะมีการ Merge & Acquisition คือ การเข้ามาซื้อกิจการระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้เอสเอ็มอีต้องปรับระบบให้เหมาะสมเพื่อเตรียมพร้อมให้ทันกับการแข่งขัน หรือจะได้มีโอกาสเติบโตตามไป

ในการเจาะกลุ่มลูกค้า ต้องเน้นกลุ่มเฉพาะ (niche) ซึ่งรายใหญ่ไม่มาจับ แล้วเน้นการออกแบบ จะทำให้ปลอดภัยกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิม เพราะการหาลูกค้าใหม่ยากกว่าเพราะต้นทุนสูงกว่า โดยใช้การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relation Management ) และการตอกย้ำแบรนด์ ( Brand Awareness) สำคัญเพราะ เมื่อขายสินค้าไปแล้วลูกค้าไม่รู้จักเราการจะซื้อสินค้าซ้ำอาจจะหาเราไม่เจอ จึงต้องสร้างแบรนด์ไปควบคู่กับการสร้างมาตรฐานสินค้านั่นเอง

ส่วนเรื่องข้อมูลทางการเงินต้องย้อนดูการขายว่า เมื่อขายไปแล้วเก็บเงินได้มากน้อยเพียงใด หรือที่ทางการเงินเรียกว่ายอดค้างชำระ (Aging) ค้างนานเกินไปหรือไม่ และมีเหตุผลอะไร และต้องดูสินค้าในสต๊อกหรือคงคลังว่าซื้อมาใช้แล้วเกิดดอกผลหรือไม่ เพื่อให้มีต้นทุนการเงินที่น้อยลง มีสภาพเงินสดที่ดีขึ้น

สำหรับข้อควรระวัง แม้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรจะจำเป็น แต่เงินกู้มีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และเป็นเงินก้อนใหญ่ อาจจะทำให้เราขาดสภาพคล่องได้ แต่ถ้านำเงินนั้นมาเตรียมซื้อวัตถุดิบ หรือในการผลิต เว้นแต่ว่าสินทรัพย์ถาวรนั้นก่อให้เกิดรายได้จริงๆ เช่น อาจจะต้องขยายโรงงาน

การเตรียมเงินทุนสำรองต้องดูหลายๆ แหล่งว่าจะเตรียมเงินสดจากทางใดได้บ้างและให้เพียงพอ เพราะปัจจัยข้างหน้าที่ต้องคำนึง ไม่ว่าจะเป็น ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มขาขึ้น อัตราค่าเงิน ค่าพลังงานหรือน้ำมันอย่าคิดว่าจะลงเร็วนักเพราะจากประสบการณ์เห็นว่าเมื่อขึ้นไปแล้วโอกาสที่จะลดลงมามากและเร็วนั้นเป็นไปยาก

นอกจากนี้ กองทุนร่วมลงทุนเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการ หรือการทำแฟคตอริ่ง หรือลิสซิ่ง อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญผู้ประกอบการต้องยอมรับระบบโปร่งใสเพื่อหาแหล่งทุนได้ง่าย

“ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่เป็น Manufacturing Base มักจะนิยมกู้เงินจากแบงก์ สำหรับกองทุนร่วมลงทุนจึงมักเป็นผู้ประกอบการที่ใช้ Knowledge Base เช่น ธุรกิจซอฟท์แวร์ แม่พิมพ์ ออกแบบ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงมาก และผลตอบแทนสูง ในขณะที่การลงทุนแต่ละรายไม่มาก” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ. วรรณ กล่าว

สสว. ย้ำต้องโปร่งใส

มนตรี อรุณ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างยาก คือความโปร่งใสตรงไปตรงมา หมายความว่าต้องไปแก้ปัญหาที่การบริหารจัดการด้านการเงินก่อน เช่น การมีบัญชีที่โปร่งใส มีระบบที่ดี เป็นมืออาชีพ ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งประเด็นที่ธนาคารจะตั้งเงื่อนไขจะลดลง จึงเห็นว่าเมื่อสสว.ไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการแล้วทำให้กู้เงินจากธนาคารได้ง่ายขึ้น เพราะระบบบัญชีจะมีความโปร่งใสนั่นเอง

รวมทั้ง การใช้จ่ายเงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ทำให้การบริหารต้นทุนมีปัญหา เช่น นำเงินกู้ระยะสั้นมาลงทุนระยะยาว ทำให้กว่าจะเกิดรายได้จากกระแสเงินเข้ามาเพื่อนคืนเงินกู้ไม่สอดคล้องกับเงื่อนเวลาในการชำระหนี้คืนให้กับสถาบันการเงิน หรือเมื่อกู้ธนาคารโดยบอกว่าเพื่อนำไปลงทุนเครื่องจักร แต่กลับนำไปซื้อทรัพย์สิน ส่วนเครื่องจักรใช้การขอลิสซิ่ง ทำให้เกิดการก่อหนี้สองทาง ซึ่งอันตราย

ดังนั้น การเข้าถึงแหล่งทุน ผู้ประกอบการต้องแสดงให้เห็นแผนงานที่ชัดเจน มีความเป็นไปได้ สร้างความเชื่อมั่นให้เห็น เพราะธนาคารต่างๆ มองเรื่องนี้เป็นหลัก เพราะหลายครั้งสิ่งที่ผู้ประกอบการนำเสนอหรือคิดฝันจะทำเป็นการคิดขึ้นมาลอยๆ และการที่ธนาคารต้องการหลักทรัพย์ค้ำประกันเพราะระบบที่ไม่มีความโปร่งใสนั่นเอง แต่ต่อไปวิธีคิดของธนาคารจะปรับไปให้ความสำคัญน้อยลงได้เมื่อผู้ประกอบการมีความโปร่งใสมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2549 คิดว่าผู้ประกอบการจะค่อนข้างลำบาก เพราะต้นทุนและการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลกสูงขึ้น สิ่งที่ต้องกระหนัก คือ การใช้จ่ายเงินที่ได้มา ควรคิดอย่างรอบคอบ อย่าลงทุนโดยไม่เห็นความชัดเจน หรือใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ในแง่สินค้าหรือบริการต้องสร้างความแตกต่างให้ชัดเจน

ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุน กล่าวทิ้งท้ายว่า ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต ต้องแข่งขันที่การสร้างมูลค่าเพิ่ม อุตสาหกรรมที่ใช้ภูมิปัญญา หรือสินค้าเกี่ยวกับสมุนไพร อาหารสุขภาพ มีแนวโน้มที่ดี และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถทำได้ ไม่พูดถึงอุตสาหกรรมใหญ่ ทั้งนี้ การแข่งด้วยต้นทุนอย่างเดียวจะนำไปสู่การแข่งขันด้านราคาและย่อมแข่งขันไม่ได้กับประเทศซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us