|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
15 ธ.ค. 48 เวลา 10.00 น. ตัน โออิชิ ได้แถลงข่าวสำคัญยิ่ง ทั้งต่อตัวเขาเอง ต่อบริษัทโออิชิ และต่อวงการธุรกิจไทย
นั่นคือการซื้อขายหุ้นเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีคำสั่งให้ขึ้นป้าย SP กับหุ้น OISHI เนื่องจาก ... บริษัทฯกำลังจะมีสารสนเทศบางประการที่สำคัญจะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอันจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาซื้อขายหุ้น และต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ
ข่าวที่แถลงคือการขายหุ้น 55% ของบริษัทโออิชิ โดยจะเป็นหุ้นในส่วนที่ตันถืออยู่ และเป็นการรวบรวมหุ้นของบริษัทจากผู้ถือหุ้นอื่น เป็นจำนวนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 103,125,000 หุ้น โดยกำหนดราคาซื้อขายเบื้องต้นที่หุ้นละ 32.50 บาท ราคาซื้อขายดังกล่าวอาจมีการปรับลดลงตามผลการตรวจสอบกิจการของบริษัท (due diligence) แต่ทั้งนี้ไม่ว่ากรณีใดจะไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 30 บาท
"ผมจะเป็นคนรวบรวมประมาณ 55% ให้กับนักลงทุนคนใหม่ โดยผมก็ยังถือหุ้นอยู่เหมือนเดิม และก็เป็นสัญญาเลยว่าผมจะต้องบริหารและถือหุ้นอยู่เท่านั้น ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่ยอมเข้ามาถือหุ้น"
ทั้งสองฝ่ายจะลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นภายในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า โดยการลงสัญญา มี Mr. Ma Wah Yan เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้จะซื้อ
"เบื้องต้นผมยังไม่สามารถที่จะบอกรายละเอียดของกลุ่มผู้ที่จะซื้อหุ้นได้ว่าเป็นใคร แต่จะมีทั้งนักลงทุนทั้งคนไทยและต่างประเทศ โดยทั้งหมดจะเปิดเผยในวันที่ 20 ม.ค.ที่จะถึง" ตันกล่าว
มีข่าวหลายกระแสว่ากลุ่มธุรกิจของ "เจริญ สิริวัฒนภักดี" เป็นผู้ซื้อหุ้นตัวจริง
อย่างไรก็ตาม อุดมศักดิ์ ชาครียวนิช กรรมการผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ได้ปฏิเสธที่จะให้คำตอบว่า พันธมิตรรายใหม่ที่จะเข้าถือหุ้นในโออิชิ มีความเกี่ยวข้องกับนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของธุรกิจบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไม่ ระบุเพียงว่าเป็นข่าวลือ
"กลุ่มผู้ลงทุนใหม่นี้เป็นนักลงทุนประเภทกลุ่มการเงิน (Financial Investor) ซึ่งมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศถือหน่วยลงทุน และเคยลงทุนในธุรกิจประเภทอาหารและเครื่องดื่ม
"บริษัทฯ เชื่อว่ากลุ่มผู้จะซื้อเป็นกลุ่มบุคคลที่ลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จึงมีเทคโนโลยีและความรู้ความสามารถ รวมทั้ง Know How ที่จะสามารถนำมาใช้ ในธุรกิจของบริษัทฯได้ ต่อไป"
ตันเขียนในจดหมายชี้แจงรายละเอียดของกลุ่มนักลงทุน ต่อตลาด "ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาก็มีข่าวอยู่ว่า มีต่างชาติหรือนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนภายในประเทศ พยายามที่จะมาเป็นจอย เวนเจอร์ กับเรา" ตันให้สัมภาษณ์พิเศษกับรายการวิทยุ Business Connection ทางFM96.5 เป็นรายการแรก หลังสิ้นสุดการแถลงข่าว "เพราะธุรกิจซักวันต้องมีการแข่งขันระดับอินเตอร์ โกอินเตอร์ หรือระดับที่แข็งแกร่งกว่านี้ฮะ สิ่งที่เรายังหาอยู่คือพันธมิตร ก็คาไว้ถึงวันนี้ เราก็เพิ่งตัดสินใจครับ"
หลังจากนี้ โออิชิจะเป็นอย่างไร?"ก็คงมั่นคงขึ้น แข็งแรงขึ้น แล้วก็มีความชัดเจนขึ้น" ตันกล่าว"ผมตันโออิชิ ก็แปลว่า มีตัน ก็มีโออิชิ
... มีโออิชิ ก็มีตัน ผมก็เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นผู้บริหารเหมือนเดิม"
กลุ่มโออิชิ เริ่มต้นการทำธุรกิจจากร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2542 จากนั้นได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขยายสาขา และขยายแบรนด์ออกไปมากมายให้ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นและเบเกอรี่
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อบริษัทตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจชาเขียว จากจุดเริ่มต้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2546 จนถึงไตรมาสสองของปี 2548 โออิชิโค่นยูนิฟ ขึ้นสู่อันดับหนึ่งได้สำเร็จ สร้างอุตสาหกรรมชาเขียวให้เติบโตอย่างไม่น่าเชื่อ
ความสำเร็จดังกล่าวดึงเอาผู้เล่นหน้าใหม่นับสิบ ๆ รายลงสู่ธุรกิจชาเขียว ... แต่มีอยู่น้อยมากเหลือเกินที่พอจะประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ปี 2548 ก็เป็นปีแห่งวิบากของตัน ปัญหาสารพัดเกิดขึ้นกับชาเขียวโออิชิ และแคมเปญ 30 ฝา 30 ล้าน แต่ปัญหาทวีความรุนแรงจริง ๆ หลังจากกระทรวงพาณิชย์ต้องการควบคุมราคาชาเขียว โดยจะให้โออิชิลดลงเหลือขวดละ 15 บาท ตามมาด้วยปัญหา BOI, ภาษีสรรพสามิตร หรือการจะจัดให้ชาเขียวเป็นสินค้าควบคุม
ตันก็ปฏิเสธทุกข้อกล่าวอ้าง "มีคนหลายคนรู้สึกว่าเที่ยวนี้ทำไมผมนิ่งนะฮะ โดยรวมๆ แล้วผมเจอปัญหา ผมมักจะออกมาแก้ไขปัญหาทันที แต่ครั้งนี้จริงๆ แล้วเป็นปัญหาที่ไม่เหมือนกันฮะ..."
"เราจะใช้วิธีเดียวแก้ทุกปัญหาไม่ได้" "ปัญหาเรื่องของข้าราชการหรือว่าการเมืองบางครั้งเราควรจะหยุดนิ่งเพื่อรอเวลาพิสูจน์ตัวเอง"
และในที่สุด ตันก็แก้ปัญหาด้วยการขายหุ้นไป เหตุการณ์ครั้งนี้ให้บทเรียนอะไรบ้าง? ทิศทางของ OISHI ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร? บทบาทของตันจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน?
**********
บทวิเคราะห์
ในฐานะเถ้าแก่ ผู้ก่อตั้งบริษัท สร้างสินค้า ฟันฝ่าจนประสบความสำเร็จ สร้างแบรนด์ติดตลาด และนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กระทั่งมูลค่าตลาดของโออิชิมีมูลค่าหลายพันล้านบาท
ในฐานะนักการตลาด ตันสามารถทำมาร์เก็ตติ้งได้สุดยอด แม้จะเข้าตลาดทีหลังยูนีฟ ทว่าด้วยความโดดเด่นด้านผลิตภัณฑ์ แบรนด์ที่แข็งแกร่งและยุทธวิธีด้านโปรโมชั่นที่ประสบความสำเร็จกระทั่งกลายเป็นปรากฏการณ์ ยอดขายชาเขียวพร้อมดื่มของโออิชิพุ่งกระฉูด มาร์เก็ตแชร์พุ่งไปถึง 70%
ยอดขายเพิ่มมหาศาล กำไรเพิ่มมากมาย กว่าจะมาถึงวันนี้ตันต้องผ่านปัญหาและวิกฤตนานัปการ แต่เขาก็ผ่านมาได้ด้วยการลงไปคลุกกับปัญหาเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทเจริญเติบโตขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่ปัญหาทางการตลาดเท่านั้น หากมีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือปัญหาที่เกิดจากการเมือง
จู่ๆกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือให้ชาเขียวพร้อมดื่มลดราคาเหลือ 15 บาท จากเดิมราคา 20 บาท โดยให้เหตุผลว่าต้นทุนถูก แต่ขายค้ากำไรเกินควร หากตันไม่ยอมลดราคาตามที่ขอความร่วมมือ ชาเขียวพร้อมดื่มอาจถูกบรรจุให้กลายเป็นสินค้าควบคุม ถูกเพิ่มภาษีสรรพสามิต จนไปถึงถูกยกเลิกสิทธิบีโอไอ
"ซวยฟ้าผ่า" คำอธิบายที่ชัดที่สุดในกรณีนี้ เพราะจะไปหาคำอธิบายอะไรกับการไล่บี้ชาเขียวพร้อมดื่มซึ่งก็คือการไล่บี้ตันนั่นเอง นักการตลาดผู้ชาญฉลาดอย่างตันถึงกับอึ้งกิมกี่ ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่เคยพวเคยเห็นปัญหาแบบนี้มาก่อน
ดังนั้น บทเรียนแรกที่ตันได้รับก็คือ ถึงจะทำธุรกิจอย่างสุจริต อีกทั้งธุรกิจที่ทำไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัมปทาน ทว่าเมื่อธุรกิจใหญ่ได้ระดับหนึ่ง การเมืองก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ ปัญหาทางการเมืองนั้นแตกต่างจากปัญหาด้านการตลาด จึงไม่สามารถใช้วิถีทางการตลาดแก้ไขได้ ส่วนจะใช้วิธีทางการเมือง เขาก็ไม่มีเส้นสนกลในทางการเมือง ทำให้ตันจำเป็นต้องเงียบอย่างเดียว
สุดท้ายเขาก็ทำในสิ่งถนัดก็คือแปลงวิกฤตเป็นโอกาส เมื่อทำตัวคนเดียวไม่ไหว ก็ขายหุ้นใหญ่ให้คนอื่นซะเลย เติ้งเสี่ยวผิงบอกว่า "แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ"
สำหรับตันแล้ว " " ดังนั้น การตัดสินใจขายหุ้นใหญ่ ก็เพราะวิกฤตที่เกิดจากการเมือง แต่เป็นโอกาส เพราะเขาขายในจังหวะดีที่สุด และเป็นขายได้ราคาอีกทั้งยังได้บริหารต่อไปอีก 5 ปีหรือไม่มีกำหนด หากเขาทำให้บริษัทเจริญเติบโตยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
พันธมิตรที่ผ่านมานั้น เอาแต่โออิชิ แต่ไม่เอาตัน แต่พันธมิตรรายใหม่ ต้องการทั้งตันและโออิชิ เพราะหากโออิชิ ขาดตัน ก็ไม่ไร้ค่า ทิศทางของโออิชิจะบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นเจตจำนงเดิมของตันอยู่แล้ว เมื่อได้ทุนใหม่และช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ ก็ยิ่งไปได้ง่ายขึ้น
บทบาทของตัน จากเจ้าของจะกลายเป็นมืออาชีพที่ถือหุ้น 12 % ภารกิจของเขายังเหมือนเดิม นั่นคือทำให้บริษัทเติบโตยิ่งขึ้น
|
|
|
|
|