|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
*ทัพนักลงทุนกลุ่มอสังหาฯจากอินโดนิเซีย เข้าศึกษาตลาดในไทย หลังกลุ่มทุนสิงค์โปร์ ฮ่องกง จีน และญี่ปุ่นบุกไทย
*ผู้ประกอบการระบุโอกาสนักลงทุนอินโดฯ ขยายการลงทุนในไทยมีสูง เหตุศักยภาพเอื้อ ทั้งภาวะเศรษฐกิจเสถียรภาพการเมืองสูง กำลังซื้อเพียบ
*เจ้าพ่อน้ำมัน"เจริญ สิริวัฒนภักดี" แกนนำร้องรัฐแก้กฎหมายขยายสัญญาต่างชาติเช่าที่ดินเป็น 90 ปี หวังประโยชน์ด้านการลงทุน และเพิ่มค่าให้ธุรกิจ
ด้วยศักยภาพความพร้อมในทุกด้านของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมือง การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเป็นศูนย์กลางทางการบินของเอเชียในอนาคตภายหลังจากสนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ในภูมิเอเชียที่มีศักยภาพมากเพียงพอในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน มองหาโอกาสขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง กลุ่มทุนสิงคโปร์เป็นนักลงทุนกลุ่มแรกๆ ที่ขยายการลงทุนสู่ไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่อันดับต้นๆ อย่าง กลุ่มแคปปิตอล แลนด์ กลุ่มเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ และ เดอะ เมท
ที่เข้ามาแสวงหารายได้จากตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่นับรวมกลุ่มนักลงทุนจากอินโดนีเซียที่เริ่มเข้ามาดูสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย เพื่อหาโอกาสขยายการลงทุนมาสู่ไทย
กลุ่มทุนอินโดฯเล็งบุกไทย
ประทักษ์ สิมะพิชัยเชษฐ ประธานมูลนิธิสถาบันที่ดิน เปิดเผย "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า ที่ผ่านมากลุ่มนักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากอินโดนีเซีย ภายใต้องค์กร จาการ์ต้า พร็อพเพอร์ตี้ คลับ ได้เดินทางมาดูสภาพตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยหลายครั้ง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของทั้ง 2 ประเทศให้มีการพัฒนาในแนวทางที่ดี เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่เป็นสมาชิกขององค์กร AACH ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อความร่วมมือในด้านอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มประเทศในแถบอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นเชื่อว่าการเข้ามาดูงานของกลุ่มนักลงทุนอินโดนีเซียเป็นการนำรูปแบบอสังหาริมทรัพย์ในไทยไปเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอินโดนีเซียด้วย เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้ง 2 ประเทศมีความคล้ายคลึงกัน แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยมีรูปแบบที่ทันสมัย และมีรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่ โดยอิงแนวระบบรางเป็นหลัก ซึ่งเป็นรูปแบบที่อินโดนีเซียยังไม่มี
นอกจากนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยยังมีราคาสูงกว่าอินโดนีเซียในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในไทยอยู่ในระดับต่ำเพียง 5% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยอินโดนีเซียที่อยู่ในระดับ 18% ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำ
อย่างไรก็ตาม จากการเข้ามาศึกษาสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนอินโดนีเซียในครั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีโอกาสขยายการลงทุนมายังประเทศไทยหรือไม่ แต่น่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะอินโดนีเซียมีกลุ่มทุนรายใหญ่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2-3 รายที่มีความพร้อมสำหรับขยายการลงทุนในต่างประเทศ
ผู้ประกอบการชี้โอกาสเป็นไปได้
แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผย "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงความเป็นไปได้ในการขยายการลงทุนของกลุ่มทุนอินโดนิเซียเข้ามาในไทยว่า โอกาสขยายการลงทุนของกลุ่มทุนอินโดนีเซียมายังประเทศไทยมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก เมื่อพิจารณาจากศักยภาพของประเทศไทยที่เหมาะสมกับการลงทุนมากกว่าอินโดนีเซีย
ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเป็นศูนย์กลางทางการบินซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวขึ้น ตลอดจนเสถียรภาพความมั่นคงด้านการเมืองและความสงบในประเทศ รวมทั้งความยืดหยุ่นด้านกฎหมายที่ผ่อนปรนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจขยายการลงทุนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤติฟองสบู่เกิดขึ้น พบว่า กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับนักลงทุนไทยเป็นจำนวนมาก และจากการขยายการลงทุนของกลุ่มทุนสิงคโปร์ ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทยเข้าสู่ยุคสากลมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มนักลงทุนจากสิงคโปร์เจรจาร่วมทุนกับบริษัท แต่บริษัทปฏิเสธการร่วมทุนดังกล่าว เนื่องจากมีเม็ดเงินลงทุนที่เพียงพอ และมีความมั่นใจในความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ซึ่งเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคมากกว่านักลงทุนข้ามชาติ
ดิ แอสคอทท์ รุกเซอร์วิสอพาร์เมนท์
หลังจากกลุ่มแคปปิตอล แลนด์ จากสิงคโปร์ ตัดสินใจเลือกกลุ่ม ที.ซี.ซี.แลนด์ ของเจ้าพ่อน้ำเมา เจริญ สิริวัฒนะภักดี เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยในไทยแล้ว
กลุ่มแคปปิตอลแลนด์ ยังคงไม่หยุดนิ่งในการหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ในไทย โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ และศูนย์การค้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่กลุ่มแคปปิตอลแลนด์มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่พร้อมเสมอสำหรับขยายการลงทุนใหม่ๆ ในไทย และด้วยศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศไทย ทำให้กลุ่มแคปปิตอล แลนด์ มองหาช่องทางลงทุนในธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญอย่างไม่หยุดนิ่ง
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของกลุ่มแคปปิตอล แลนด์เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ ดิ แอสคอทท์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจในเครือของกลุ่มแคปปิตอล แลนด์ ขยายการลงทุนธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ในไทย โดยจัดตั้งบริษัท บูติค แลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ซิทาดินส์ กรุงเทพฯ จากสิงคโปร์ ในเครือแอสคอทท์ กรุ๊ปและกลุ่มบูติค กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย ของตระกูลทักราล โดยมี ปรับชะรัน ซิงห์ ทักราล ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ภายใต้สัดส่วนการถือครองหุ้นของแอสคอทท์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ 49% ที่เหลือเป็นของบูติค แลนด์ 51%สำหรับแบรนด์ ซิทาดินส์ เป็นเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์อีกแบรนด์หนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ดิ แอสคอทท์ กรุ๊ป นอกเหนือจากแบรนด์แอสคอทท์ และซัมเมอร์เซท ซึ่งให้บริการเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ที่มีเครือข่ายการให้บริการกว่า 15,000 ยูนิต ในพื้นที่กว่า 40 เมืองใน 17 ประเทศทั่วโลก โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม จากการขยายการลงทุนในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ของดิ แอสคอทท์ ในไทย ด้วยจำนวนกว่า 1,300 ยูนิตใน 6 โครงการ ภายใต้แบรนด์ ดิ แอสคอทท์ และซัมเมอร์เซท ซึ่งการลงทุนในครั้งล่าสุดนี้เท่ากับว่าเป็นการลงทุนครั้งแรกภายใต้แบรนด์ ซิทาดินส์ ในไทย โดยมีเป้าหมายเปิดให้บริการเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ 5 แห่ง จำนวน 500 ยูนิต ภายในปี 2553 โดยโครงการแรกของซิทาดินส์เป็นเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ 79 ยูนิต ย่านสุขุมวิท 16 ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในครึ่งปีหลังของปี 49 โดยจะอยู่ภายใต้สัญญาการบริหารของ แอสคอทท์ เป็นเวลา 10 ปี หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย
"เจริญ"ร้องรัฐแก้กฎหมาย
หลังจากร่วมลงทุนกับกลุ่มแคปปิตอล แลนด์ ได้เพียงไม่นาน บริษัทร่วมทุนระหว่าง ที.ซี.ซี กับกลุ่มแคปปิตอลแลนด์ ภายใต้ชื่อ ที.ซี.ซี.แลนด์ ก็เริ่มวางนโยบายการดำเนินงานกันอย่างเร่งด่วน โครงการที่ 2 ของ ที.ซี.ซี.แลนด์ จึงเกิดขึ้นภายใต้ชื่อ ดิ เอ็มไพร์ เพลส ซึ่งเป็นคอนโดมิเดียมสไตล์ชิคาโกร่วมสมัย บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มูลค่าโครงการ 4,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อในตลาด ซึ่ง เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ บริษัท ที.ซี.ซี.แคปปิตอล แลนด์ มองเห็นโอกาสในการขยายตัวของตลาดอสังหาฯ ในปีหน้าที่คาดว่าจะโตถึง 10%
อย่างไรก็ตาม ฐานลูกค้าของ ที.ซี.ซี.แลนด์ ในวันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่เพียงฐานลูกค้าในประเทศเท่านั้น เพราะการร่วมทุนกับกลุ่มแคปปิตอล แลนด์ ทำให้ฐานลูกค้าของ ที.ซี.ซี.แลนด์กระจายวงกว้างไปถึงกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าของแคปปิตอลแลนด์ และเพื่อสร้างโอกาสในการลงทุน เจริญ จึงเรียกร้องให้ภาครัฐยืดสัญญาเช่าที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการให้มีระยะเวลายาวนานขึ้นจาก 15-30 ปีเป็น 90 ปี เช่นเดียวกับสัญญาเช่าที่ดินในสิงคโปร์และฮ่องกง โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย
สอดคล้องกับแผนการลงทุนของกลุ่มแคปปิตอล แลนด์ ที่สนใจนำธุรกิจไฟแนนซ์ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือเข้ามารุกตลาดสินเชื่อบ้านในไทย รองรับแผนการดำเนินงานของบริษัทที่มีเป้าหมายพัฒนาโครงการใหม่ 6 แห่งในปีหน้า ด้วยมูลค่าการลงทุน 1,200-1,300 ล้านบาทต่อโครงการ หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการอาคารสูง 4 แห่ง และโครงการแนวราบ 2 แห่ง
อย่างไรก็ตาม จากการชะลอตัวของตลาดระดับบนทำให้บริษัทหันมาให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยระดับกลางมากขึ้น จากนโยบายเดิมที่เน้นตลาดกลาง-บน โดยมีแผนพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวระดับราคา 5-6 ล้านบาทต่อยูนิต เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำตลาดในปี 2551
|
|
|
|
|