แม้แผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย จะผ่านการพิจารณาร่างมาแล้วหลายรอบหลายคราจากทั้งฝ่ายรัฐคือกระทรวงคมนาคม
และภาคเอกชนผู้มีส่วนเข้าไปร่วมในการร่างแผน แต่ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
ประเด็นที่ขบไม่แตกว่าควรผลักดันให้มีการเปิดแผนแม่บทเสรีขึ้นใช้เป็นรูปธรรมซักทีนั้น
เป็นเพราะรัฐมัวกังวลกับการมีแผนฯ มากจนเกินไปหรือไม่ แทนที่จะมุ่งไปที่เนื้อหาสาระเรื่องความต้องการพัฒนากิจการโทรคมนาคมโดยเปิดเสรีธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมของไทย
ไม่ให้มีการผูกขาดแค่หน่วยงานรัฐอีกต่อไป
ขณะที่ความต้องการของภาคเอกชนฟากที่ทำโทรศัพท์มือถือมุ่งหวังให้มีการเปิดประมูลขยายการติดตั้งโทรศัพท์อีกเป็นจำนวน
6 ล้านเลขหมาย โดยนำเสนอข่าวสาร และข้อมูลเพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐ เร่งเปิดประมูล
โดยมองว่ากระทรวงคมนาคมยุคนี้วางโครงการแผนแม่บทฯ เพื่อเอื้อกับกลุ่มเอกชนที่ต้องการมีโทรศัพท์มือถือคลื่นใหม่ในมือ
ขณะที่ดิเรก เจริญผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเคยเป็นผู้บริหารขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมาก่อน
ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้เปิดการประมูลตอนนี้ เพราะต้องการทราบข้อมูลที่แท้จริงก่อนว่า
โทรศัพท์ 4.1 ล้านเลขหมายที่ทำการติดตั้งโดยบริษัท เทเลคอมเอเชีย จำกัด และบริษัท
ไทย เทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด หรือทีเอ และทีทีแอนด์ทีนั้นจำหน่ายออกไปหมดแล้วหรือยัง
อีกประเด็นก็คือ หากมีการเปิดเสรีด้านโทรคมนาคมสัญญาสัมปทานที่หน่วยงานรัฐทำไว้กับเอกชนรายเดิมๆ
ทั้งหลายจะมีปัญหายุ่งยากอย่างไรบ้าง หากปมของทั้งสองเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ตก
นโยบายจากกระทรวงคมนาคมให้ทำการเปิดประมูลโทรศัพท์จำนวนใหม่ก็คงยังไม่เกิดขึ้น
ที่มาที่ไปของแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคมเกิดขึ้นในสมัยที่วิชิต สุรพงษ์ชัย
เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเมื่อมีการปรับรัฐบาลใหม่ กระทรวงคมนาคมก็ได้สมบัติ
อุทัยสาง มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโควตาคนนอก โดยเมื่อเข้ามา สิ่งที่สมบัติดำเนินการก็คือปรับปรุงแผนแม่บทฉบับเดิมของวิชิต
แน่นอนว่าเป็นเพราะสมบัติยังคงข้องใจและไม่เห็นด้วยกับแผนของวิชิตในหลายเรื่องหลายประเด็น
อย่างเรื่องแผนระยะสั้นในการขยายการติดตั้งโทรศัพท์ทางไกลชนบท ซึ่งก็น่าจะอยู่ในแผนพัฒนาฯของประเทศอยู่แล้ว
ไม่จำเป็นต้องจับไปใส่ในแผนแม่บทระยะสั้น เพราะอาจทำให้การดำเนินการล่าช้าเพราะต้องรอแผนหลัก
สมบัติจัดการปรับเปลี่ยนแผนเดิมประการแรกก็คือ การเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ
เป็นคณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในนาม กสช. พร้อมกับเพิ่มตำแหน่งกรรมการเข้าไปอีก
2 คนคือให้ปลัดกระทรวงคมนาคม และอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
ต่อมาก็คือ ยกเลิกการตัดแบ่ง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และการสื่อสารแห่งประเทศไทย
ที่จะถูกผ่าออกเป็นหน่วยละ 2 ส่วน ด้วยเหตุผลใหญ่เพราะได้รับการคัดค้านจากพนักงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง
ทศท. และ กสท.
กรณีการคุ้มครองหน่วยงานรัฐอย่างทศท.และกสท. ซึ่งวิชิตต้องการให้คุ้มครอง
5 ปี แต่สมบัติขอเปลี่ยนเป็น 3 ปีเพราะเห็นว่าระยะ 5 ปีนั้นนานเกินไปที่จะให้หน่วยงานทั้งสองปรับปรุงตัวเองเพื่อรองรับการเปิดเสรี
และจะเป็นการได้เปรียบเอกชนรายอื่นมากเกินไป หากต้องเข้าไปแข่งขันในการดำเนินโครงการด้านโทรคมนาคม
ส่วนกิจการไปรษณีย์ของกสท.นั้น เนื่องจากเป็นกิจการที่ดำเนินการโดยไม่มีกำไร
และต้องถูกตัดแบ่งออกมาจากกสท. จึงควรให้ กสช.ให้เงินช่วยเหลือกิจการนี้เป็นจำนวน
1,000 ล้านบาท โดยอยู่ในระยะที่ได้รับการดูแลเป็นเวลา 5 ปี
ประเด็นเรื่องสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับเอกชนทั้งหลายนั้น จะต้องมีแนวทางและมาตรฐานเพื่อให้ทุกสัญญามีความเป็นธรรมทัดเทียมกันหมด
เรื่องสุดท้ายที่สำคัญก็คือโครงการขยายการติดตั้งโทรศัพท์ 6 ล้านเลขหมายตามแผนพัฒนาฯ
ฉบับที่ 8 ให้ทศท.เป็นผู้ดำเนินการเอง 1 ล้านเลขหมาย ส่วนที่เหลืออีก 5 ล้านเลขหมายนั้นให้ทำการประมูลแบบ
BTO หรือ BUILT TRANSFER OPERATE และใช้ระบบโซน เอกชน 1 รายที่เสนอผลตอบแทนสูงสุดก็จะได้ไป
1 โซน
แผนฉบับร่างของสมบัติถูกเสนอไปที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2538
กว่าที่จะมีการพิจารณาจากทางครม.แล้วส่งเรื่องกลับมาให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาทบทวน
ให้ดูเรียบร้อย และผ่านการกลั่นกรองจากปลัดกระทรวงคมนาคมอีกครั้งก็คือเดือนสิงหาคม
2539
นับได้ว่าเป็นแผนแม่บทที่มีระยะเวลาเดินทางยาวนานมาก ซึ่งคงไม่จบลงเพียงแค่นั้น
เพราะเมื่อมาถึงยุคของดิเรก รัฐมนตรีคนนอกสังกัดพรรคชาติพัฒนา ก็มีการนำแผนแม่บทกลับมารื้อดูใหม่อีกครั้ง
ตามเหตุผลเรื่องเลขหมายที่ยังคั่งค้างอยู่ของเอกชนทั้งสองราย และสัญญาสัมปทานกับเอกชนรายเดิมที่ยังหาข้อยุติไม่ได้
แม้ดูเหมือนว่าหลายคนที่เคยเกี่ยวข้องกับการเข้าไปขัดเกลาแผนแม่บทฯ ฉบับใหม่นี้ยาหอมว่าเห็นด้วยกับตัวรายละเอียด
แต่ก็ยังมีข้อติติงออกมาว่าทำไมถึงได้ล่าช้า เพราะบางเรื่องสามารถดำเนินการได้ไปก่อน
ขณะที่ความต้องการของรัฐมนตรีดิเรกคือ การประมูลโทรศัพท์ชุดใหม่ไม่ควรใช้แบบ
BTO เพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยากด้านสัญญากับเอกชนหากมีการเปิดเสรีขึ้น
หน่วยงานรัฐอย่างทศท. และกสท.ก็ควรรวมเป็นองค์กรเดียวกัน เพื่อเข้าไปแข่งขันกับเอกชนอย่างเต็มที่
แม้จะดูเหมือนว่าได้เปรียบภาคเอกชนอยู่บ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะได้เปรียบเอกชนทุกเรื่อง
เพราะต้องเข้าสู่ระบบการแข่งขันแบบเสรีโดยไม่มีใครโอบอุ้มอีก
สิ่งนี้กลายเป็นเรื่องที่ถูกคัดค้านจากพนักงานรัฐวิสาหกิจของทั้งทศท. และ
กสท. เหมือนว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งหน่วยงานของรัฐไปเสียอีก เพราะไม่เป็นการคุ้มครองหน่วยงานเดิม
ข้อวิตกตรงนี้ส่งผลต่อการดำเนินการผลักดันแผนแม่บทฯ ที่ต้องล่าช้าไปอีก
แม้ว่าจะมีหลายอย่างที่ฝ่ายกระทรวงคมนาคมสามารถดำเนินไปก่อนได้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการ
กสช. ขึ้นมาเป็นตัวกลางหลักในการควบคุมดูแลกิจการด้านโทรคมนาคม การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านโทรคมนาคม
3 ฉบับ การแปรรูป ทศท. และกสท. การประมูลขยายการติดตั้งโทรศัพท์ โดยเน้นถึงเลขหมายโทรศัพท์ต่อประชากรว่าควรเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่
แต่กลับไม่มีการดำเนินการเลย อีกทั้งเป็นเรื่องที่คิดกันมาอย่างน้อย 25
ปี ก่อนร่างแผนของวิชิตจะออกมาเสียอีก
จึงกลายเป็นว่าตัวแผนแม่บทฯ แท้จริงแล้วควรมีหรือ
ด้วยเหตุผลว่าหากไม่มีแผนแม่บทฯ การดำเนินการเปิดเสรีด้านกิจการโทรคมนาคมก็สามารถทำได้
และการมีแผนแม่บทฯ ก็ส่งผลให้ส่วนอื่นๆ ที่ควรเร่งดำเนินการไปก่อนชะงักงัน
ส่วนทางผู้ยึดมั่นในแผนแม่บทฯว่า หากไม่มีแผนหลักเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศก็ไม่เป็นไปตามครรลองที่ควรเป็น
เพราะจะหาทิศทางที่แท้จริงไม่ได้
แผนแม่บทในช่วงของดิเรกจึงเป็นการเผชิญการบีบคั้นอย่างมาก เพราะระยะเวลาที่กิจการโทรคมนาคมสมควรเดินต่อไปข้างหน้าที่ไกลกว่านี้กำลังรอสัญญาณที่ชัดเจน
จากยุควิชิตที่มีการรวบรวมให้เป็นมาตรฐาน ยุคสมบัติที่นำมาขัดเกลาให้ได้ดังใจของคนหลายคน
จึงเป็นจุดของการตั้งคำถามที่แผนแม่บทฯ ควรจะมีอยู่ต่อไปหรือยกเลิกไปเสียที
ไม่อย่างนั้นรัฐก็ต้องเปิดประมูลโทรศัพท์ 6 ล้านเลขหมาย ปัญหาเรื่องการยุบทิ้งแผนแม่บทฯจะได้สงบลงไปได้