ตัวเลขปริมาณบัตรและการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของแบงก์ชาติ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่มจำนวนขึ้นชนิดที่คาดไม่ถึง ทั้งๆที่มีกฎเกณฑ์คุมเข้มเพดานการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เกินกว่า 18% ปริมาณและยอดการรูดจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นกลับสะท้อนให้เห็นว่า การตีกรอบไม่ได้ทำให้ธุรกิจชะลอตัว แต่ในอีกมุมหนึ่งสินเชื่อบุคคลที่เพิ่งจะถูกคุมให้อยู่ในกฎเพดานคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ก็ไม่ได้ลดลง แถมนับวันยังเติบโตไม่สิ้นสุด
เพียงเดือนเดียวจากกันยายน-ตุลาคม ปริมาณบัตรเครดิตทั้งระบบก็ไต่ขึ้นมาที่ 166,492 บัตร จาก 9,496,628 บัตรในเดือนกันยายน มาเป็น 9,663,120 บัตรในเดือนตุลาคม ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในเดือนกันยายนอยู่ที่ 51,841 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 55,007 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,166 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ก็น่าจะบอกได้ถึงกฎเกณฑ์การควบคุมโดยกำหนดเพดานการคิดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการ ไม่ว่าแบงก์หรือนอนแบงก์(สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์)สะดุ้งสะเทือนแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกิจกรรมส่งเสริมการขายยังมีอยู่เป็นปกติ ไม่ได้น้อยแต่กลับร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
สนามรบที่ฟาดฟันกันอย่างดุเดือด มีตั้งแต่สาขาแบงก์ต่างประเทศ โดยมีแชมป์เก่าซิตี้แบงก์ ที่พยายามเร่งการใช้จ่ายผ่านลูกเล่นรูดบัตรตามวงเงินที่กำหนด แล้วลูกค้าจะได้รับเงินคืน พ่วงกับการลุ้นรางวัลจากคะแนนสะสม
HSBC แบงก์ สาขาแบงก์นอก อาจจะเป็นน้องใหม่ที่กระโดดเข้ามาจับตลาดนี้ในเวลาไม่นานนัก แต่กิจกรรมโปรโมชั่นแต่ละครั้งก็ทำให้เจ้าถิ่นในตลาดต้องเหลียวหลังกลับมามอง
แบงก์จากอังกฤษถึงกับทุ่มเงินสำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเพื่อยิงตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแผนส่งเสริมการขายที่ยิงถี่ยิบแทบจะทุกสัปดาห์ก็ทำให้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรขยายตัวมากขึ้น
HSBC ก็เหมือนกับค่ายอื่นๆ คือ โปรโมชั่นด้วยการ สะสมแต้มชิงรางวัล ลุ้รางวัล และคืนเงินสำหรับวงเงินที่ใช้จ่ายไปแล้ว เพื่อเร่งการใช้จ่ายให้มากที่สุด
ขณะที่เคทีซี เจ้าของตำแหน่งแชมป์เมื่อปีก่อน ก็ยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เคทีซีดึงแคมเปญ "ใช้ชีวิตที่น่าอิจฉากับเคทีซี" ฉลองก้าวสู่ปีที่ 10 ที่จะจัดไปจนถึง 31 ม.ค.2550
นอกจากนั้นยังมีแบงก์ใหญ่ทั้งกรุงเทพ แบงก์กรุงศรีอยุธยา แบงก์ไทยพาณิชย์ ที่ประกาศสงครามเต็มตัวจนล่าสุดหลายรายถึงกับล้มแชมป์เก่าเคทีซี ด้วยจำนวนผู้ถือบัตร 1.4 ล้านราย ขณะที่แบงก์เล็กที่เริ่มจะหันมาจับตลาดนี้อย่างไทยธนาคารก็ปลุกตลาดด้วยแคมเปญรางวัลใหญ่อย่างคอนโดเพื่อดึงความสนใจให้คนหันมาถือบัตรและใช้จ่ายให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การคุมเข้มด้วยการคุมเพดานการคิดดอกเบี้ยลูกค้าไม่ให้สูงกว่า 18% ในช่วง 1-2 ปีย้อนหลังก็ทำให้ ทั้งแบงก์และนอนแบงก์แทบทุกแห่งหันมาขยายตลาดสินเชื่อบุคคล ที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์คุมเข้มตายตัว
แต่ที่เบ่งบานและบูมสุดๆคงเป็นธุรกิจให้บริการสินเชื่อเงินสดของกลุ่มนอนแบงก์ที่เลือกเจาะตลาดระดับฐานราก รายได้ระดับ 4,000-7,000 บาทต่อเดือน
ก่อนหน้าที่แบงก์ชาติจะออกกฎคุมเพดานการดอกเบี้ยไม่ให้เกิน 28% สำหรับสินเชื่อบุคคล ธุรกิจนอนแบงก์ส่วนใหญ่จังอาศัยจังหวะนี้ช่วงชิงตลาดล่างโดยใช้แคมเปญเข้าถึงแหล่งเงินอย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันก็อนุมัติรวดเร็วชนิดยังไม่ทันได้หายใจหายคอ
แต่ปัญหาคือ เงินที่ได้มาง่ายก็ทำให้นอนแบงก์เหล่านี้ คิดค่าธรรมเนียม ค่าปรับและดอกเบี้ยตามอำเภอใจ จนแทบไม่ต่างจากดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ ขณะที่การตามทวงหนี้ก็มีลักษณะไม่ต่างจากการขู่กรรโชก
กรณีของลูกหนี้ อีซี่ บายน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เลือกจะไปจบในกระบวนการฟ้องร้องเป็นคดีความ จนในที่สุด "อีซี่ บาย" ก็ยอมล่าถอยไปเอง โดยยกประโยชน์ให้กับลูกหนี้ทั้งประวัติดีและไม่ดี จ่ายดอกเบี้ยตามเกณฑ์ใหม่ก่อนเวลาบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2549
แค่นี้ก็บอกได้ว่า กฎเกณฑ์ควบคุมไม่ให้หนี้สินภาคครัวเรือนของทางการแทบจะไม่มีผลใดใดกับธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อเงินสด
แต่ที่กำลังจะมีผลกับผู้ถือบัตรและผู้ใช้บริการสินเชื่อบุคคล ก็คือ ภาระที่จะพอกพูนขึ้นแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวถ้ายังเพลิดเพลินกับการจับจ่ายใช้สอยแบบไม่บันยะบันยัง...
|