Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2540
ตลาดหุ้นไทย ปีนี้มีแต่โอกาส!!             
 


   
search resources

Stock Exchange




ดัชนี SET ยังไม่มีวี่แววว่าจะโงหัวขึ้นมาได้หลังจากที่หลุดระดับ 600

ขณะเดียวกันก็ไม่มีผู้ใดที่สามารถให้คำทำนายได้ว่า Bottom อยู่ที่ไหนดูเหมือนว่ายิ่งนานไปยิ่งถลำลึก

นักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศต่างมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ตลาดไทยยังน่าลงทุน

ลองหันมาใช้แนวทางของบัฟเฟตต์มองหาหุ้นสักตัวที่มีพื้นฐานดี มีอนาคตสดใส คุณจะพบว่าตลาดไทยยังมีโอกาสให้ทำกำไรงามๆ อีกมาก

แต่ที่สำคัญ ต้องลงทุนระยะยาว เพราะคราวนี้ซื้อโอกาสและอนาคตจริงๆ

เปิดศักราชปี 1997 ตลาดหุ้นไทยก็ตกอยู่ในภาวะหมีดัชนีรูดลงจากระดับ 800 จนอยู่ที่ระดับ 500 จุด และก็ยังไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้ว่าดัชนีจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อไหร่ ที่ระดับเท่าใด และจะตีกลับขึ้นไปอีกเมื่อไหร่

หากถามถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศต่อตลาดไทยในตอนนี้ยังมีไม่มากนัก เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่างที่นักลงทุนกำลังจับตาดูว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ดังนั้นเม็ดเงินจากต่างชาติที่จะเข้ามาพยุงตลาดไทยในช่วงนี้จึงยังมีไม่มากนัก และตลาดก็คงจะซบเซาต่อไป

ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวในเอเชียจนทำให้อัตราการเติบโตของผลกำไรลดลง นักลงทุนเริ่มหนีหน้าออกจากตลาดหุ้นเอเชีย และเม็ดเงินที่เคยสะพัดอยู่ทั่วเอเชียก็กำลังหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ

ไจลส์ เนวิลล์ (Giles Nevile) ผู้จัดการกองทุนจากชโรเดอร์ แอสเซ็ท แมเนจเม้นต์ ลอนดอน ได้กล่าวถึงการเคลื่นไหวของตลาดหุ้นนิวยอร์กกับตลาดเกิดใหม่ว่านับตั้งแต่ปลายปี 1994 ตลาดเกิดใหม่ค่อนข้างน่าผิดหวัง แต่ในอนาคตเอเชียยังมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปในระยะยาว โดยเนวิลล์ ได้เปรียบเทียบอัตราการเติบโตของรายได้ต่อหัวของประชาชน ในประเทศเอเชียเทียบกับญี่ปุ่นในช่วงปีต่างๆ จะเห็นว่า สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวเท่ากับญี่ปุ่นในช่วงปี 1987 ส่วนไทยเท่ากับญี่ปุ่นเมื่อปี 1960 ขณะที่ปี 1994 ญี่ปุ่นมีรายได้ต่อหัวประมาณ 35,000 เหรียญสหรัฐ

ปัจจุบัน ชโรเดอร์ ได้ลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่เอเชีย ละตินอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10% ของเงินลงทุนทั้งหมดทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชียถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจมาก ซึ่งเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วนักลงทุนสามารถทำกำไรได้มากกว่าการลงทุนในตลาดเกิดใหม่แหล่งอื่นๆ เพราะประเทศในเอเชียมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก

สำหรับตลาดไทย ดักลาส แครนส์ (Douglas Cairns) Chief Investment Officer นครธนชโรเดอร์ ได้ให้ทัศนะในฐานะที่ต้องรับผิดชอบการลงทุนในตลาดไทยโดยตรงว่า นับตั้งแต่ปี 1993 อัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับตลาดรวมเอเชียทั้งหมดติดลบมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อปีที่แล้วผลตอบแทนติดลบ 35% ขณะที่ผลตอบแทนตลาดรวมเอเชียเพิ่มขึ้น 12% ซึ่งแครนส์ คาดว่าสถานการณ์เช่นนี้จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้ โดยผลตอบแทนของตลาดไทยจะติดลบ 16% เหตุผลที่ทำให้เชื่อเช่นนั้นก็คือ ภาวะทางเศรษฐกิจ "ในปี 1996 อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่เลวนักอยู่ที่ระดับ 5.9% ส่วนอัตราการเติบโตของจีดีพีต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ระดับ 6.9% การที่เศรษฐกิจของไทยโตอยู่ในระดับที่สูงมาตั้งแต่ปี 1989 เป็นผลให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทะยานสูงขึ้นเมื่อเทียบกับจีดีพี และเป็นประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงที่สุดในภูมิภาค โดยปี 1996 อยู่ที่ระดับ -7.9%"

ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นประเด็นที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญและเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน ทว่า ในความเห็นของแครนส์ มองว่าปัญหานี้มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพราะการตัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลจะส่งผลดีต่อการส่งออกให้เติบโตขึ้น ซึ่งแครนส์คาดว่า ในปีนี้ อัตราการเติบโตของการส่งออกอยู่ที่ระดับ 7.1% ส่วนปี 1998 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 12% ส่วนการนำเข้าคาดว่าปีนี้จะอยู่ประมาณ 9.1% ปี 1998 ประมาณ 14.3% ดังนั้นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้คาดว่าจะอยู่ประมาณ 7.2% ของจีดีพี ซึ่งถือว่ามีการปรับตัวดีขึ้น

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 4.3% และในปี 1998 จะขยับขึ้นเล็กน้อย 4.8% แต่ทว่าอัตราดอกเบี้ย แครนส์มองว่าขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้มากนัก เพราะไทยยังใช้นโยบายผูกสกุลเงินบาทติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐมาก (currency peg) จะทำให้ไทยยังต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ไทยยังต้องรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยไว้สูงจนถึงภายในปีนี้ และปัจจัยที่สำคัญที่อาจจะทำให้อัตราปรับลดลงได้ ก็คือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ปรับตัวดีขึ้น

ส่วนประเด็นการลดค่าเงินบาท ซึ่งขณะนี้เป็นเหมือนพายุที่กระหน่ำตลาดหุ้นไทยไม่เว้นในแต่ละวันนั้น แครนส์ให้ความเห็นว่า "เราเชื่อมั่นว่าไทยจะยังไม่ลดค่าเงินบาท และเราก็เชื่อในเงินสำรองต่างประเทศของไทยจำนวน 39 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะมีภัยจากหนี้ต่างประเทศจำนวน 29 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้พยายามอย่างหนักที่จะต่อสู้ไม่ให้มีการลดค่าเงินบาทเหมือนอย่างที่ทุกคนกลัว และผมก็คิดว่าจะประสบความสำเร็จ"

แมทธิว ดอบส์ (Mathew Dobbs) ผู้บริหารกองทุนอีกคนหนึ่งของชโรเดอร์ อินเวสเม้นต์ แมเนจเม้นต์ สิงคโปร์ รับผิดชอบในตำแหน่ง Regional Managing Director ซึ่งเขาได้เห็นพัฒนาการวิวัฒนาการการเติบโตของเอเชียมาตั้งแต่ปี 1985 ได้ให้เหตุผลสนับสนุนถึงความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยและเอเชียยังคงสามารถพยุงความเติบโตเอาไว้ได้ และสามารถดึงดูดนักลงทุนฯ ไว้ได้ระดับหนึ่ง

"ตลาดเอเชีย สิ่งสำคัญที่ดึงดูดใจนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเข้ามาลงทุนก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งหมายถึงความแข็งแกร่งที่มีมายาวนานของเอเชีย มีความสามารถในการพยุงอัตราการเติบโตไว้ได้ และตลาดหุ้นมีการพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เอเชียประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจมาโดยตลอด และในปี 1997 ชโรเดอร์ ได้ประมาณการว่าเอเชียจะยังคงมีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจของเอเชียชะลอตัว แต่แม้จะชะลอลง ตัวเลขที่ออกมาจะยังเป็นที่น่าประทับใจซึ่งคาดว่าไทยจะเติบโตขึ้นประมาณ 6% ลดลงจากระดับเฉลี่ย 14 ปีที่อยู่ในระดับ 8.1% (1981-1995)" ขณะที่แครนส์ วิเคราะห์ว่าปี 1997 จีดีพีของไทยจะโตขึ้นประมาณ 6.7%

เหตุผลที่ทำให้ดอบส์เชื่อเช่นนั้นก็เพราะประเทศในเอเชียมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบและเปิดเสรีทั้งในเรื่องของการปฏิรูปภาษี, ภาษีศุลกากร กฎระเบียบของภาคการเงินตลอด จนถึงการให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจของรัฐบาลและมีนโยบายทางการคลังที่รอบคอบ นอกจากนี้ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในหมวดพลังงาน โทรคมนาคม และโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้จากปัจจุบันในตลาดหุ้นมาเลเซียประมาณ 40% ของมูลค่าตลาดรวมเป็นมูลค่าที่มาจากบริษัทที่มีการแปรรูปด้วยวิธีการนำเข้าจดทะเบียนในตลาด ขณะที่อินโดนีเซียมีสัดส่วนประมาณ 5%

เนื่องจากเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีอัตราเงินออมสูงมาก จึงทำให้ดอบส์เชื่อว่าเอเชียจะยังคงรักษาความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจไว้ได้ แม้ว่าจะมีปัญหาช่องว่างระหว่างการลงทุนและการออมอย่างเช่นไทย ที่มีปัญหาแต่ต้นเหตุมาจากการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาล และมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินออมภายในประเทศไม่เพียงพอกับการลงทุน

"ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเอเชียมีพัฒนาการการเติบโตอย่างรวดเร็วมากจะเห็นได้จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น และมาร์เก็ตแคปที่โตขึ้นทุกขณะ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะทำเงินและสูญเสียเงินจำนวนมากในเวลาเดียวกัน"

สำหรับอัตราการเติบโตของผลกำไรในตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 1996 ที่ผ่านมา ได้สร้างความผิดหวังแก่นักลงทุนเป็นอันมาก เพราะอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลงมากกว่า 20% และในปี 1997 แครนส์ วิเคราะห์ว่าหมวดธนาคาร และเงินทุนหลักทรัพย์จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้อัตราการเติบโตต่ำลงมากซึ่งเชื่อว่าจะต่ำกว่า 10% เช่นเดียวกับหมวดอสังหาริมทรัพย์ ที่ประสบกับปัญหาสินค้าล้นตลาดจนส่งผลให้เกิดปัญหาการชำระหนี้และกระแสเงินสด และลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่จนรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยแก้ไข ซึ่งจากปัญหานี้ทำให้หุ้นในหมวดนี้มีกำไรลดลงถึง 40% และมีอัตราการเติบโตติดลบ แต่เมื่อมองภาพรวมของทั้งตลาดในปี 1997 นี้ผลกำไรทั้งตลาดจะลดลงติดลบ 5% แต่ในปี 1998 จะฟื้นตัวขึ้นประมาณ 15%

"เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นไทย หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วจะเห็นว่าในปีนี้ตลาดหุ้นไทยได้ลงมาต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยพีอีตลาดจะอยู่ที่ระดับ 12.5 เท่าในปีหน้าหากตลาดโต 15% ก็เป็นเรื่องที่ดีขึ้นและน่าสนใจ หากถามถึงความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศในตอนนี้มีไม่มากนัก เราเชื่อว่าในระยะสั้นตลาดไทยจะยังมีความเสี่ยงคือ ตลาดมีความผันผวน ขณะที่ในระยะยาวเรามองเห็นโอกาส"

สำหรับหุ้นที่ชโรเดอร์มอง เพื่อการลงทุน นั้นจะเป็นหุ้นหลักๆ ที่มีพื้นฐานดีมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอีก 2-3 ปีข้างหน้า มีระบบการบริหารงานที่มีคุณภาพ มีสาขา หรือเครือข่ายภายในประเทศที่แข็งแรง และที่สำคัญ คือสามารถพยุงตัวเองได้ภาวะที่เศรษฐกิจมีปัญหา นอกจากนี้ยังมีหุ้นที่มิใช่หุ้นหลัก แต่จะเป็นหุ้นที่มีศักยภาพที่จะฟื้นตัวหลังจากที่ได้รับความบอบช้ำจากเศรษฐกิจถดถอย และเป็นหุ้นที่มีการปรับเปลี่ยนหรือ restructure ตนเองให้สามารถอยู่รอดได้ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ แต่ key factor ที่ชโรเดอร์ถือเป็นเป้าหมายในการลงทุนก็คือความสม่ำเสมอของผลประกอบการ (consistency of performance)


เสียงสะท้อนจากโบรกเกอร์ไทย

จากภาวะตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ที่กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำสุดขีด ทั้งดัชนีและปริมาณการซื้อขายลดลงอย่างมาก ซึ่งหากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงดัชนีหุ้นดังกล่าวในรอบระยะ 1 ปีที่ผ่านมาพบว่าดัชนีได้ปรับตัวลดลงมากกว่า 50% แล้ว ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีมูลค่าเพียงประมาณ 3,800 ล้านบาทต่อวัน หรือลดลงประมาณ 29% เมื่อเทียบจากปีก่อน แล้วอะไรคือปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเลวร้ายเช่นนี้ ในมุมมองของนักวิเคราะห์ที่มีความใกล้ชิดกับตลาดมากที่สุด

จากการสัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์หลายๆ ท่านของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คำตอบที่ปรากฏออกมาต่างมองว่า ความตกต่ำอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันเกิดจากภาวะฟองสบู่แตก (bubble burst) หรือการที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้น หรือราคาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล และเกินกว่าที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สามารถรองรับไว้ได้มากจนในที่สุดเมื่อความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจถูกกระทบกระเทือน ราคาของสินทรัพย์ที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นเหล่านั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่องแก่ผู้ที่ลงทุนรวมไปถึงสถาบันการเงินที่ได้ปล่อยกู้เงิน เพื่อซื้อสินทรัพย์เหล่านั้นต้องประสบปัญหาคุณภาพของหนี้สินหรือสินทรัพย์ เช่น หุ้น มีการปรับตัวลงของราคาอย่างรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง และความวิตกกังวลต่อแนวโน้มของธุรกิจและเศรษฐกิจ

แล้วราคาหุ้นจะตกต่ำไปอีกถึงไหน? คำถามง่ายๆ ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ซึ่งจากการที่ "ผู้จัดการรายเดือน" ได้สัมภาษณ์บรรดานักวิเคราะห์ไทยหลายๆ ค่ายต่างให้คำตอบในแนวทางเดียวกันว่า

"ขณะนี้นักวิเคราะห์ไม่ว่าใครที่ไหนก็ไม่กล้าคาดการณ์ว่าราคาหุ้นลงมาต่ำสุดหรือยัง เพราะเราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่กระทบราคาหุ้นจะตอบสนองไปเพียงพอแล้วหรือไม่ รวมทั้งเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไหร่"

เพราะสภาวะเศรษฐกิจคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นซบเซา ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน คือ มีผลการดำเนินงานลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันบางบริษัทขาดทุนและต้องขอเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งความเสียหายก็ตกแก่นักลงทุน

แล้วคำถามต่อมา คือ ถ้านักลงทุนจะเข้าไปเล่นหุ้นจะเข้าไปเล่นได้หรือไม่ ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างก็ให้คำตอบว่าถ้าเป็นนักลงทุนระยะยาวแล้วสามารถเข้าไปเล่นได้ แต่ถ้าเป็นนักลงทุนในระยะสั้นไม่ควรจะเข้าไปเล่นเพราะอาจจะเจ็บตัว เพราะตราบใดที่สภาพคล่องในตลาดติดขัด กลยุทธ์การลงทุนระยะสั้นจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

"ควรจะเข้าไปลงทุนตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เพราะปัจจุบันราคาหุ้นหลายๆ ตัวปรับลงมามากแล้ว ดูได้จาก book value หรือ p/e ratio ถือว่าต่ำสุดในรอบหลายๆ ปี ซึ่งแน่นอนปีนี้จะไม่เห็นผลตอบแทนที่จะกลับมาในรูปเงินปันผลหรือ capital gain ในอัตราสูงเหมือนในอดีต แต่พวกเราเชื่อว่าปีหน้าหรืออีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ก็จะดีตามไปด้วย"

อย่างไรก็ตามความหวังที่จะเข้าไปลงทุนแล้วได้กำไรกลับมาแบบง่ายๆ นั้นคงจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มยอดฮิตอย่างแบงก์ ไฟแนนซ์ เพราะหุ้น 2 กลุ่มนี้ดูจะมีปัญหาที่สุด อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

"ในกลุ่มแบงก์มีหลายๆ แบงก์ที่ราคาได้ปรับตัวลงมามากแล้ว และสามารถเข้าไปลงทุนได้ นอกจากนี้กลุ่มที่น่าลงทุน ได้แก่พลังงาน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มบันเทิง"

BBL เป็นหุ้นที่ได้รับการแนะนำมากที่สุด ส่วนกลุ่มพลังงานแม้ว่าราคายังแพงอยู่แต่หุ้นที่น่าลงทุน ได้แก่ COCO. PTTEP. LANNA ส่วนกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าลงทุนมี KRP. HANA แต่นักวิเคราะห์มองกลุ่มนี้ว่า ยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะสภาพคล่องไม่ค่อยมี

"ถึงแม้ว่าสภาพตลาดหุ้นจะไม่ดี แต่การลงทุนก็ยังมีอยู่ ถ้าเราเลือกลงทุนให้ถูกต้อง ดังนั้นถ้าจะลงทุนจะต้องดูแนวโน้มอุตสาหกรรมว่าดีหรือไม่แล้วค่อยมาดูหุ้นว่าเป็นอย่างไร"

อย่างไรก็ตามหากเปรียบความน่าสนใจของตลาดไทยกับตลาดอื่นๆ ในเอเชีย นักวิเคราะห์ต่างเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยยังเป็นตลาดที่น่าลงทุนไม่แพ้ตลาดหุ้นอื่นๆ แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะไม่ได้เป็นดาวเด่นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะว่าดาวเด่นได้ไปอยู่ที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของ 2 ประเทศนี้ยังอยู่ในอัตราที่สูง แต่ถ้าเทียบตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นมาเลเซียและสิงคโปร์ซึ่งกำลังประสบกับภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกัน โดยมาเลเซียเองในปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มประสบปัญหา แม้ว่าในอดีตมาเลเซียจะเป็นตลาดหุ้นที่ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศได้มาก ส่วนตลาดสิงคโปร์ ปัจจุบันก็มีปัญหาเรื่องการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมัน รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง

ปัจจัยที่ไทยมีความได้เปรียบเหนือมาเลเซีย และสิงคโปร์ ก็คือเรื่อง curency peg เพราะเงินบาทไทยแม้จะผูกติดอยู่กับดอลลาร์สหรัฐแต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าทั้งสองประเทศ ดังนั้น เมื่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวหรือแข็งตัวค่าเงินบาทจะได้รับกระทบน้อยกว่าค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ และริงกิตมาเลเซีย

"ดังนั้นถ้าเทียบกับ 2 ตลาดนี้ตลาดหุ้นบ้านเราจะได้เปรียบตรงที่ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงมาลึกแล้วจึงมีความน่าสนใจกว่า แต่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวก็ยังเป็นคำถามที่ต้องมานั่งคิดดูว่า ในภาวะที่มีการชะลอตัวเหมือนๆ กันและใครจะฟื้นตัวได้เร็วกว่ากัน"

เห็นทีปีนี้คงจะเป็นปีที่ต้องทยอยเก็บเพื่อรอผลตอบแทนในวัน(ปี)หน้าเผื่อฟ้าจะใสมากกว่านี้ และหากท่านใดที่ต้องการจะฝึกฝนกลยุทธ์การลงทุนที่เฉียบคมมากกว่านี้เพื่อเอาชนะตลาด ลองหาอ่านหนังสือแกะรอยเซียนหุ้นวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เขาสามารถทำกำไรจากการเล่นหุ้นจนกลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับในอเมริกา เพราะปรัชญาการลงทุนของเขาคือ ซื้อธุรกิจในอนาคต มิใช่เก็งกำไรตัวเลขของหุ้นบนกระดาน….

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us