|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ก้องเกียรติ" เปิดร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับ 2 หลัง "ทนง" ขุนคลังไฟเขียวในหลักการ เตรียมส่งให้ปลัดกระทรวงการคลังตรวจทานปรับปรุงแก้ไขก่อนทำเฮียริ่งกลางเดือน ม.ค.ปีหน้า เน้น 7 เรื่องหลัก เพิ่มนักลงทุนสถาบันในตลาดทุนเป้าหมาย 5 ปี 40%, สร้างนักลงทุนรายย่อยในตลาดตราสารหนี้, เพิ่มความแข็งแกร่งผู้เกี่ยวข้องตลาดทุน "บจ.-บล.-บลจ.", ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแก้ไขกฎระเบียบให้ทันสมัย
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทยตลาดทุนไทย ได้ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายวัน" ถึงร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2549-2553 ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการจากนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2548 สภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะนำร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับดังกล่าวให้แก่นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาให้ปรับปรุงและแก้ไขอีกครั้ง ก่อนจะเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงประมาณกลางเดือนมกราคม ปี 2549
นายก้องเกียรติกล่าวต่อไปว่า สำหรับรายละเอียดในร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 แบ่งการพัฒนาออกเป็น 7 เรื่องประกอบด้วย ประการแรก การเร่งสร้างนักลงทุนสถาบันให้มีสัดส่วนที่มากขึ้นในตลาดทุน โดยปัจจุบันสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันอยู่ที่ประมาณ 25% โดยตั้งเป้าจะเพิ่มให้เป็น 40% ใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 75% จะลดลงเหลือประมาณ 60%
ทั้งนี้ เพื่อให้ราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียน สะท้อนกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดหลักทรัพย์ให้มากขึ้น และจะเป็นเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ หรือ พี/อี เรโช ตลาดทุนไทยสามารถปรับขึ้นได้ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันจะลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นและพี/อีของหุ้นแต่ละกลุ่มหรือบริษัทสามารถปรับขึ้นได้ตามพื้นฐานที่แท้จริง ขณะที่นักลงทุนไทยมักจะลงทุนในหุ้นที่พี/อีอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว
ประการที่สอง การเร่งสร้างนักลงทุนรายย่อยในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนสถาบันเป็นกลุ่มหลักที่ซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมาตรการในการเพิ่มจำนวนนักลงทุนรายย่อยอาจจะต้องมีการเพิ่มกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อ ให้สอดคล้องกับตลาดรองมากขึ้น เช่นในประเทศจีนเปิดโอกาสให้ตราสารหนี้สามารถเปลี่ยนมือกันได้โดยไม่มีการเก็บภาษีส่วนต่าง
นอกจากนี้ ตลาดทุนควรจะเข้าไปมีบทบาทกับเศรษฐกิจมากขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 67% เป็น100% ในอนาคต ขณะที่ตราสารหนี้จากระดับ 48% เป็น 80% ของจีดีพีประเทศ
ประการที่สาม นวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ เช่น ตลาดอนุพันธ์ ที่จะเปิดให้มีการซื้อขายครั้งแรกในช่วงเดือนเมษายน 2549 โดยธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงของนักลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในขาลง หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์จะมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต
ประการที่สี่ การเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ ในอนาคตภายหลังมีการเปิดการค้าเสรีทางการเงินขึ้น โดยอาจจะต้องมีการเพิ่มทุน ควบรวมกิจการ หรือระดมทุน เป็นต้น
ประการที่ห้า การสนับสนุนบรรษัทภิบาลให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.), บริษัทหลักทรัพย์ (บล.), บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มากขึ้น โดยอาจจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือกฎเกณฑ์ในเรื่องต่างๆ เช่น กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจะต้องผ่านการอบรมทดสอบกับมาตรฐานบรรษัทภิบาล
ประการที่หก การขยายความรู้ ความเข้าใจในการลงทุนที่ถูกต้องกับนักลงทุนในต่างจังหวัดมากขึ้น แม้ว่าจุดศูนย์รวมของการลงทุนจะกระจุกตัวในกรุงเทพฯและจังหวัดขนาดใหญ่เป็นหลัก
ประการที่เจ็ด การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่งจะต้องมีการหารือและประสานงานในการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยน แปลงกฎเกณฑ์กฎระเบียบบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดทุนยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม การที่จะพัฒนาตลาดทุนไทย จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่ายงานทุกฝ่ายเพื่อประสานการทำงานให้สอดคล้องกัน
สำหรับเป้าการเพิ่มมูลค่าตลาดรวมของตลาดทุนไทยตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ คลังได้มอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล โดยตั้งเป้ามาร์เกตแคปไว้ที่ 10 ล้านล้านบาท ในช่วงเวลา 5 ปี หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากปัจจุบันอยู่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างมาก
|
|
|
|
|