Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2549
แอบมองระบบการศึกษาของสเปน             
โดย ธนิต แก้วสม
 


   
search resources

Education




ระดับการพัฒนาประเทศกับระบบการศึกษาของประเทศ น่าจะเป็นสองสิ่งที่ควรไปคู่กัน นั่นก็คือ หากเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ควรจะมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูง สำหรับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ดูเผินๆ เหมือนว่าทุกประเทศจะมีระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานที่อยู่ในระดับเดียวกัน อาจเป็นเพราะภาพของความเป็น "สหภาพ" ทำให้มองเป็นเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละประเทศยังมีระบบการศึกษาที่แตกต่างกันอยู่มาก ความแตกต่างนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของโครงสร้าง หากแต่เป็นความต่างกัน ในด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ ข้อเขียนนี้มีข้อมูลยืนยัน ตามที่ปรากฏในรายงานของยูเนสโก้ เกี่ยวกับดัชนีการพัฒนาด้านการศึกษาประจำปี 2004 ของทุกประเทศทั่วโลก (ดีที่สุดจะได้อันดับหนึ่ง) พบว่าอันดับของประเทศในยุโรปนั้นกระจายพอสมควร ไม่ได้อยู่เกาะกลุ่มกัน อาทิ เบลเยียม อันดับ 8 อังกฤษ อันดับ 13 อิตาลี อันดับ 18 สวีเดน อันดับ 14 นอร์เวย์อันดับ 1 ฮอลแลนด์อันดับ 3 กรีก อันดับ 21 สเปนอันดับ 26 โปรตุเกส อันดับ 34

เห็นข้อมูลแล้วก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไม ตัวเลขมันถึงต่างกันขนาดนั้น หรือว่าข้อมูลนี้ขาดความถูกต้องเชื่อถือไม่ได้อย่างนั้นหรือ ประเด็นนี้ก็ถือว่ายกเครดิตให้กับยูเนสโก้ จึง ขอข้ามไปก่อน แล้วลองมาดูตามสภาพที่เป็นจริง จากข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้ไปค้นคว้ามาก็พบว่ามีความต่างกันจริงๆ โดยเฉพาะในระบบการศึกษาพื้นฐานและจำนวนงบประมาณที่รัฐบาลแต่ละประเทศทุ่มให้กับการศึกษา ส่วนในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้แตกต่างกันมากเนื่อง จากว่ามีความพยายามและมีความร่วมมือที่ปรับให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมาโดยตลอด อีกทั้งระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางวัฒนธรรมประเพณี และค่านิยมของแต่ละประเทศอยู่มาก

กลับมาดูที่ประเทศสเปน เห็นดัชนีตัวเลขแล้วน่าตกใจพอสมควร ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการศึกษาได้ให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้มีอันดับต่ำขนาดนั้นเป็นเพราะระดับความล้มเหลวในการศึกษา หรือที่เรียกว่า Fracaso escolar ในสังคมสเปนนั้นมีสูงมาก 1 ใน 4 ของเด็กสเปนประสบปัญหานี้ คือเรียนไม่ได้ ไม่อยากเรียน สอบตกซ้ำซาก ทำให้เรียนไม่จบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับ ส่วนปัจจัยอื่นก็เป็นเรื่องของจำนวนนักเรียนต่อห้องมากเกินไป ครูไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ใส่ใจการสอน สื่อการสอนไม่เพียงพอ ฯลฯ

แต่สำหรับ Marta Eugenia หนึ่งในนักเรียนอัจฉริยะหรือเรียกกันว่า Super dotado ที่เพิ่งเขียนหนังสือ Stop fracaso escolar เธอบอกว่าปัญหาความล้มเหลวทางการศึกษานั้นไม่ได้เป็นเพราะเด็กสเปนไม่ฉลาด แต่เป็นเพราะระบบการเรียนไม่เอื้อให้กับเด็กฉลาด เช่น หากชอบแสดงความคิดสร้างสรรค์ ก็จะถูกหาว่าทำตัวโอเวอร์เกินหน้าคนอื่น หรือหากทำตัวอยากรู้อยากเห็นมากๆ ก็จะโดนกล่าวหาว่าเป็นโรคประสาท ทำให้ตัวเธอเองรู้สึกเบื่อ บางที ก็อยากจะสอบให้ตกทุกวิชา เธอก็เลยตัดสินใจไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปี จนในปัจจุบันเธอได้ทำงานวิจัยในโครงการ Spientec (www.spientec.com) เป็นโครงการค้นหาวิธีการการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ (ในสเปนจะรู้จักกันในชื่อ superdotados สำหรับเด็กที่มีไอคิวสูงกว่า 130 ในปัจจุบันแต่ละโรงเรียนจะหาวิธีคัดเด็กเหล่านี้ออกมาเพื่อให้การศึกษาแบบพิเศษเฉพาะ)

ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ปัญหา ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนในระดับอุดมศึกษานั้นจากที่เคยได้สัมผัสมาโดยตรงถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเลยทีเดียว ในด้านโอกาสทางการศึกษา เปิดกว้างมาก ถ้าอยากเรียนและมี "ปัญญา ที่จะเรียน" ก็จะสามารถเรียนได้ไปถึงระดับ สูงสุด เพราะทุนการศึกษาที่นี่จะมีลักษณะสองแบบคือทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษา และ ทุนเรียนดี นั่นก็คือ หากนักศึกษาคนใดรายได้ของครอบครัวไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด (วัดจากใบเสียภาษี) ก็จะได้เรียนฟรีทุกคน ส่วนคนเรียนเก่งก็จะมีทุนให้อีกแบบหนึ่ง ในด้านสถานที่เรียน ทั่วประเทศมีมากกว่า 70 มหาวิทยาลัย และไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนในเมืองหลวง เพราะมาตรฐานของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนั้นใกล้เคียงกัน จึงทำให้เกิดมีโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัย หรือ Seneca ที่ส่งเสริมให้นักศึกษาย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยอื่นได้ในประเทศ แห่งละหนึ่งเทอมหรือสองเทอมแถมยังมีเงินสนับสนุนให้ด้วย ในด้านความยืดหยุ่น คือเปิดโอกาสการศึกษาให้กับทุกวัย ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับที่นี่หากจะมีเพื่อนร่วมชั้นวัยสี่สิบหรือห้าสิบปี และยังไม่มีการยึดติดเรื่องของเวลา ใครสะดวกจะจบเมื่อไหร่ก็ไม่มีปัญหาเรียนไปได้เรื่อยๆ

แต่ปัญหาใหญ่ของนักศึกษาสเปนคือ ความอ่อนแอในภาษาต่างประเทศ คำว่าภาษาต่างประเทศนี้หมายเอาภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพราะภาษาอื่น อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี หรือโปรตุเกส นักศึกษาสเปนจะเชี่ยวชาญอยู่มาก แต่ภาษาอังกฤษเป็นปัญหาอยู่มาก ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤติก็ว่าได้

ภาษาอังกฤษนับเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่ที่ทำให้นักศึกษาและมหาวิทยาลัยของสเปนไม่สามารถพัฒนาไปสู่ระดับแนวหน้าของโลกได้

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้กำลังได้รับการแก้ไขแล้วโดยโครงการ European Higher Education Area ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำการปรับโครงสร้างการศึกษาและโครงสร้างหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาของทุกประเทศในยุโรปให้เหมือนกันหมด เพื่อจะให้ยุโรปมีพื้นที่การศึกษาเป็นหนึ่งเดียวที่มีมาตรฐานและคุณภาพเท่าเทียม กัน และให้เป็นโซนการศึกษาที่ทั้งนักศึกษา ครูอาจารย์หรือนักวิจัย สามารถโยกย้ายการเรียนการสอนได้อย่างอิสระ ชอบประเทศไหนก็ไปเรียนที่นั่น แน่นอนที่สุดโครงการนี้นอกจะเอื้อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือทางวิชาการแล้ว การฝึกทักษะภาษาต่างประเทศก็จะเป็นแบบก้าวกระโดด โครงการนี้มีกำหนดเริ่มดำเนินการในปี 2006 นั้นก็หมายความว่าภายใน 5-7 ปีต่อจากนั้น นักศึกษาในยุโรปส่วนใหญ่ก็จะมีความชำนาญภาษาต่างประเทศอย่างน้อยสองถึงสามภาษา

จะเห็นได้ว่าปัญหาของระบบการศึกษาที่เป็นปัญหาหนักและเป็นปัญหาหลัก นั้นอยู่ที่ระบบการศึกษาด้านพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีปัจจัยเรื่องของสังคม ค่านิยม หรือธรรมเนียมปฏิบัติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นโจทย์ที่แต่ละประเทศต้องหาสูตรที่เหมาะสมให้กับสังคมนั้นๆ ลอกเลียนแบบกันได้ยาก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us