|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2549
|
|
ผู้ใช้ชื่อแฝงในเว็บบอร์ดว่า Invisible_hand ซึ่งเป็นผู้ดูแลเว็บกระทิงเขียว ห้อง "กระทิงคุณค่า" (พูดคุยกันเรื่องการลงทุนที่ไม่ใช่การเก็งกำไรระยะสั้น) ได้ให้ทัศนะเชิงเศรษฐศาสตร์และกลั่นจากประสบการณ์การลงทุน แนะนำหลักการลงทุนตลอดปี 2549 เอาไว้ ผู้อ่านสามารถตั้งคำถามเพิ่มเติมหรือโต้แย้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ด้านล่างของหน้าเว็บเช่นเคย
ที่อยู่เว็บ
bbznet.com/scripts3/view.php?user=greenbull&
board=8&id=2595
"มุมมองสำหรับปี 2549"
Invisible_hand มองว่าปัจจัยหลักต่อภาวะการลงทุนในปี 2549 คือเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน ทั้งสองอย่างจะไปด้วยกัน คือหากเศรษฐกิจโลกดี ราคาน้ำมันก็จะแพง แต่หากเศรษฐกิจโลกไม่ดี ราคาน้ำมันจะลดลง
ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกดี ก็หมายความว่าการส่งออกของไทยดีซึ่งก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย แต่ก็จะทำให้น้ำมันแพงขึ้น ราคา commodity ขั้นพื้นฐานคือ แร่เหล็ก แร่ธาตุอื่นๆ จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง และจะทำให้การบริโภคลดลง
ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี การส่งออกแย่ลง แต่ราคาน้ำมันก็จะลดลง และจะทำให้การบริโภคดีขึ้นได้
ยากที่จะทำนายว่าเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร แต่อาจจะเดาได้ว่าเศรษฐกิจโลก จะยังดีอยู่เพราะประเทศจีนยังไปไม่ถึงภาวะที่มีการจ้างแรงงานเต็มที่ (full employment) เนื่องจากยังมีแรงงานส่วนเกินในภาคชนบทอีกมาก เศรษฐกิจโลกน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากแรงขับดันของประเทศจีน
เศรษฐกิจไทยน่าจะโตราว 4-5% และดัชนีตลาดหุ้นคงจะไม่ได้ขึ้นไกลๆ นักลงทุนจะต้องเลือกหุ้นที่เติบโตสูงกว่าระบบเศรษฐกิจ และในภาวะเงินเฟ้อที่ค่อนข้างจะสูงอย่างนี้ จะต้องเลือกหุ้นที่สามารถผลักภาระต้นทุนในกับผู้บริโภคได้อีกด้วย
ผลประกอบการของหลายบริษัทจดทะเบียนในปี 48 ที่ผ่านไปกำไรลดลง หลายบริษัทพลิกจากกำไรเป็นขาดทุน เพราะไม่สามารถปรับราคาขายตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นในภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน แร่ธาตุ ยังแพงอย่างนี้ บริษัทเหล่านี้ไม่น่าสนใจนักเพราะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าบริษัทเหล่านี้จะกลับมาทำกำไรได้ดีในปีนี้
ดังนั้น คำขวัญหลักของ "Invisible_hand" ในการลงทุนปี 2549 นี้คือ "ต้องโตเร็วกว่าเศรษฐกิจและผลักภาระต้นทุนได้"
"Invisible_hand" เชื่อว่ากลุ่มธุรกิจที่จะรักษาความสามารถในการทำกำไรและมีการเติบโตของกำไรให้เห็นในปีนี้ได้จะมีดังนี้
1. กลุ่มค้าปลีก
2. กลุ่มโรงพยาบาล
3. กลุ่มโรงแรม
4. กลุ่มร้านอาหาร
5. กลุ่มธุรกิจที่มีรายได้จากการให้เช่า เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงงาน อาคารสำนักงาน
6. กลุ่มประกัน (บางบริษัทโดยเฉพาะบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่และบริษัทประกันชีวิต)
7. หุ้นสาธารณูปโภคบางตัว เช่น ทางด่วน หรือโรงไฟฟ้า ก็น่าจะรักษาผลกำไรได้ในระดับหนึ่งแม้ว่ากำไรจะไม่เติบโตนัก
อย่างไรก็ตาม หากดูในแง่ valuation แล้ว จะเห็นได้ว่าราคาหุ้นของหุ้นบางตัวใน 1-7 กลุ่มดังกล่าว ได้ปรับขึ้นมาพอสมควรสะท้อนความน่าสนใจในการลงทุนและความแข็งแกร่งของกิจการแล้วและมี P/E สูงเกินไปแล้ว แต่หากเมื่อใดราคาลงโดยที่ปัจจัยต่างๆ ไม่กระเทือนมากนักก็น่าสนใจเข้าซื้อ
ส่วนกลุ่มที่ควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุนคือ
1. หุ้นที่กำลังจะใช้ผลขาดทุนสะสมทางภาษีหมด และจะต้องเริ่มเสียภาษีในปีนี้
2. หุ้นที่เป็นผู้ผลิตที่ลูกค้ามีขนาดใหญ่กว่าตนเองมากๆ ซึ่งหุ้นเหล่านี้อาจจะมีอำนาจต่อรองต่ำ
3. หุ้นที่ราคาวัตถุดิบมีความผันผวนมากๆ และมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้หลายๆ อย่าง เช่น โรคระบาด ภัยแล้ง
4. หุ้นที่มีข่าวว่าจะเป็นหุ้น turn around เพราะ Invisible_hand เองเชื่อว่าหุ้น turn around จริงๆ ได้ฟื้นกันหมดตั้งแต่ปี 2544-2546 แล้ว
5. Sector ที่มีการ IPO (นำหุ้นใหม่เข้าตลาดฯ) มากๆ ในปีนั้นๆ มักจะเป็นกลุ่มที่ underperform ไม่น่าเข้าลงทุนในปีต่อๆ ไป เพราะในทางเศรษฐศาสตร์อธิบายได้ว่าเมื่อมี capital หรือทุน เข้าไปใน sector ใดมากๆ ก็จะทำให้เกิด excess capital หรือเงินทุนส่วนเกิน ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของ capital ทั้งระบบลดลง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2547 หุ้น IPO เป็นอสังหาฯ และวัสดุก่อสร้างเยอะมาก ปี 2548 ต้นปีหุ้น IPO เป็น ยานยนต์ เยอะมาก
การเลือกหุ้นให้ถูกตัวก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อทำผลตอบแทนได้ดีกว่าการฝากเงินในระยะยาว แต่ต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ต้องคิดเร็วทำเร็วกว่าคนอื่นอย่างน้อย 1 ก้าวเสมอ หากทำอะไรพร้อมคนอื่น รู้พร้อมคนอื่น หรือคิดเหมือนกับที่ตลาดคิด โอกาสขาดทุนจะมากกว่ากำไร
|
|
|
|
|