|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2549
|
|
16 ประเทศเอเชีย ฝันจะสร้างตลาดร่วมเอเชียและเงินสกุลเดียว แต่ฝันนี้ฤาจะไกลเกินเอื้อม
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit : EAS) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ชาติที่เข้าประชุมประกอบด้วยชาติ "ASEAN+3" อันได้แก่ 10 ชาติสมาชิก สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ ASEAN ซึ่งรวมถึงไทย บวกกับจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ร่วมด้วยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย และวาระการประชุมคือ การสร้างตลาดร่วมเอเชีย ซึ่งจะนำไปสู่การใช้เงินสกุลเดียวของเอเชียในอนาคต
ความคิดที่จะรวมเอเชียเป็นหนึ่งเดียว หรือ "สหภาพเอเชีย" คล้ายกับที่ยุโรปรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป (European Union : EU) นั้น มีการพูดถึงกันมานานหลายปีแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ 16 ชาติเอเชียได้มาประชุมสุดยอดระดับผู้นำประเทศ โดยมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนที่จะหารือกันถึงการรวมเอเชียให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไม่เพียงแต่ทางด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงด้านการเมืองด้วย ไม่เพียงแต่จะหาทางลดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างกันและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ แต่ยังจะเพิ่มความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในด้านอื่นๆ เช่น พลังงาน การต่อต้านการ ก่อการร้าย และการปราบไข้หวัดนก
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เพิ่งเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้เริ่มติดตามจับตาอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในเอเชียแล้ว ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานให้แก่การที่เอเชียจะรวมกันใช้เงินสกุลเดียวในอนาคต
Haruhiko Kuroda ประธาน ADB ไม่เห็นด้วยที่มีผู้เห็นว่า อย่างมากที่สุดที่เอเชียตะวันออกจะหวังได้ก็คือ การรวมตัวกันเป็นเขตการค้าเสรี แบบเดียวกับเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือ (NAFTA) เท่านั้น แต่ Kuroda เห็นว่า เอเชียตะวันออกสามารถตั้งเป้าระยะยาว ที่จะสร้างสหภาพการเงินเอเชียซึ่งใช้เงินสกุลเดียวได้
เขาชี้ว่า การค้าระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเอเชียได้เพิ่มขึ้น อย่างมาก ทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าภายในภูมิภาคมีความใกล้ชิดและลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ควรจะมีการประสานกันด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากความผันผวนของค่าเงินแม้เพียงประเทศเดียวในเอเชีย ก็อาจส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภูมิภาคได้
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของเอเชียน่าจะมีอย่างมหาศาล เพียงประเทศ ASEAN+3 ก็มีประชากรรวมกันถึงหนึ่งในสามของประชากรโลก และมี GDP รวมกันถึงหนึ่งในสี่ของโลก รวมทั้งมีปริมาณสำรองเงินตราต่างประเทศรวมกันถึงครึ่งหนึ่งของโลก ชาติสมาชิกบางชาติของเอเชีย ตะวันออกยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อยู่จัดว่าในระดับสูงที่สุดในโลก การรวมตัวกันยังจะทำให้เอเชียตะวันออกมีความแข็ง แกร่งมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้แทบไม่มีใครเชื่อว่า เอเชียจะสามารถเลียนแบบการรวมตัวกันของ EU ได้ ผู้ที่ไม่คิดว่าเอเชียจะรวมตัวกันได้ชี้ว่า เอเชียไม่มีอะไรเหมือนยุโรปเลย ในขณะที่ชาติสมาชิก EU ทุกชาติต่างยึดในค่านิยมที่สำคัญด้านการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกัน ได้แก่ ประชาธิปไตย ตลาดเสรี และระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้า
ตรงกันข้าม ชาติเอเชียที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งแรกนี้ กลับมีทั้งประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็งอย่างออสเตรเลียและญี่ปุ่น ประเทศคอมมิวนิสต์ผสมทุนนิยมอย่างจีนและเวียดนาม ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ยังยุ่งเหยิงอย่างกัมพูชาและอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศที่ยังล้าหลังโดยมีการปกครองแบบเผด็จการทหาร อย่างพม่า
นอกจากนี้ยังมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่อง ดินแดน และความเสี่ยงที่จะมีความขัดแย้งทางทหารในบางส่วนของเอเชีย รวมถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างญี่ปุ่นกับชาติเพื่อนบ้าน เกี่ยวกับการที่นายกรัฐมนตรี Junichiro Koizumi แห่งญี่ปุ่น มักเดินทางไปเยี่ยมคารวะศาลเจ้า Yasukuni ซึ่งเป็นสุสานทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองอยู่เนืองๆ
ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ชาติที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดครั้งนี้มีความแตกต่างทางด้านรายได้ประชาชาติอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ชาติสมาชิกที่ร่ำรวยที่สุดใน EU มีความร่ำรวยมากกว่าชาติสมาชิกที่ยากจนที่สุดเพียง 10 เท่า (เปรียบเทียบจากอำนาจ ซื้อ) แต่ชาติที่ร่ำรวยที่สุดของเอเชียตะวันออกในวันนี้ รวยกว่าชาติที่ยากจนที่สุดในอัตราส่วนถึง 100 ต่อ 1 ทำให้ยากที่จะคิดว่า กลุ่มประเทศที่มีระดับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดินเช่นนี้ จะสามารถจัดตั้งตลาดร่วมขึ้นได้ในเวลาอันใกล้
และเมื่อมีความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจมากขนาดนี้ ประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นก็คือ การเคลื่อนย้ายอพยพของแรงงาน หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของญี่ปุ่นถึงกับวิเคราะห์อย่างสุดโต่งว่า การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งนี้เป็นเพียงอุบายอันชาญฉลาดของจีน ที่จะทำให้ญี่ปุ่นต้องเปิดรับการเคลื่อนย้ายอพยพของแรงงานจากจีนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะให้ความเห็นเป็นกลางๆ สำหรับการรวมเอเชียตะวันออก Simon Tay จากสถาบัน Singaapore Institute of International Affairs ชี้ว่า อย่างดีที่สุดในขณะนี้กลุ่มประเทศ EAS น่าจะเปรียบได้กับกลุ่มประเทศร่ำรวย G8 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มอย่างหลวมๆ ของชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ซึ่งจะร่วมประชุมกันเป็นประจำเพื่อหารือถึงปัญหาที่วิตกร่วมกัน แต่ไม่มีการรวมตัวกันไปมากกว่านี้
Denis Hew จาก Institute of Southeast Asian Studies ในสิงคโปร์ชี้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นแรงขับดันให้เอเชียตะวันออกเข้าใกล้ความเป็นหนึ่งเดียวกันมี 2 ปัจจัยคือ การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งทำให้เกิดเครือข่าย ฐานการผลิตขึ้นในภูมิภาค และจีนเพิ่งเข้ามาเป็นปัจจัยใหม่ในความจริงดังกล่าว โดยชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ส่วนใหญ่จะถูกส่งออกไปยังจีน เพื่อที่จะส่งออกอีกครั้งไปยังประเทศตะวันตก
Stephen Leong แห่ง Institute of Strategic and International Studies ในกรุงกัวลาลัมเปอร์เสริมว่า ขณะนี้ในภูมิภาคเอเชีย กำลังมีกลไกที่พื้นฐานที่สุดของการที่จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเกิดขึ้น โดยเอเชียมีการประชุมรัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งเท่ากับกำลังวางโครงสร้างที่จะรองรับการรวมตัวกัน และนักวิเคราะห์ผู้นี้คิดว่า เราน่าจะกำลังได้เห็น "ประชาคมเอเชียตะวันออก" ในทางปฏิบัติ
Eisuke Sakakibara อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังญี่ปุ่นชี้ว่า การค้าระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออก ได้เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีมานี้หรือกว่านั้น โดยที่คนอื่นๆ ที่อยู่นอกภูมิภาคอาจไม่ทันสังเกตเห็น ตัวเลขจาก ADB ระบุว่า การค้าภายในเอเชียตะวันออกในปี 2003 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 54 ของการค้าทั้งหมดของภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นระดับที่เกือบจะเท่ากับการค้าภายในชาติสมาชิก EU ด้วยกัน (ร้อยละ 64) และสูงกว่าปริมาณการค้าที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มประเทศ NAFTA (ร้อยละ 46)
ADB ยังชี้ด้วยว่า ตัวเลขร้อยละ 54 นั้น ยังเท่ากับที่ประเทศ EU ทำได้ ในขณะที่ลงนามในสนธิสัญญารวมยุโรปที่เรียกว่า Maastricht Treaty ในปี 1992 Sakakibara สรุปว่า ในด้านเศรษฐกิจขณะนี้อาจถือได้ว่า เอเชียตะวันออกได้บรรลุการรวมตัวกันในระดับเดียวกับยุโรปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในด้านการเมือง Sakakibara เองยอมรับว่า เอเชียยังตามหลังยุโรปอยู่อีกมาก แต่นั่นเป็นเพราะกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเอเชีย เป็นสิ่งที่ได้รับแรงผลักดันจากตลาด ไม่ใช่จากการนำของผู้นำทางการเมือง ซึ่งตรงข้ามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงหลังปี 1945 โดยสิ้นเชิง
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้นำชาติต่างๆ ในยุโรปต่างมีปณิธานแน่วแน่ ที่จะต้องทำให้ยุโรปมีความผูกพันใกล้ชิดให้แน่นแฟ้นมากขึ้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสงคราม โลกในอนาคต แต่เอเชียตะวันออกไม่มีสถานการณ์ที่ทำให้ต้องตั้งปณิธานเช่นนั้น
เอเชียใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นจากการทำข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งได้กลายเป็นสะพาน นำไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองภายในภูมิภาค ญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ ต่างได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือ (Treaty of Amity and Cooperation) กับ ASEAN ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จัดการกับปัญหา ความขัดแย้งที่มีต่อกันด้วยสันติวิธี และหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ส่วนที่ประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ก็ถูกใช้เป็นกลไกของ ASEAN กับจีน ที่จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน เพื่อหาทางออกที่นุ่มนวลให้แก่ปัญหาความมั่นคงในทะเลจีนใต้ที่ทั้งสองฝ่ายกำลัง ขัดแย้งกัน
กลไกการแก้ปัญหาผ่านการหารือกันในเวทีต่างๆ เหล่านี้ ได้นำเจ้าหน้าที่รัฐบาล นักธุรกิจ และนักวิชาการมาพบกัน เพื่อหาทางออกอย่างสันติให้แก่ปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาค ASEAN+3 ซึ่งเป็นกลไกที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว กำลังดำเนินการ โครงการต่างๆ ถึง 48 โครงการ ซึ่งล้วนช่วย ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองและการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ
ส่วนเวทีหารือที่เป็นความคิดริเริ่มใหม่ที่เรียกว่า Chiang Mai Initiative เป็นเวทีที่นายธนาคารกลางของชาติสมาชิก ASEAN+3 ใช้หารือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติการณ์การเงินแบบเดียวกับที่เคยสั่นสะเทือนภูมิภาคเอเชียในปี 1997 นอกจากนี้ยังมี Asian Bond Fund ซึ่งริเริ่มโดย ADB ซึ่งกำลังพยายามอย่างเงียบๆ ที่จะช่วยรักษาสภาพคล่องและเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ของเอเชีย
Masahiro Kawai หัวหน้าสำนักงานเพื่อการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของเอเชียและที่ปรึกษาพิเศษของประธาน ADB ชี้ว่า แม้ขณะนี้ความฝันที่จะใช้เงินสกุลเดียวในเอเชียจะยังอยู่อีกไกล แต่การที่มีความฝันนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุน และการทำธุรกิจข้ามพรมแดนระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชีย เนื่องจากการมีอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประมาณการค้าระหว่าง ASEAN กับจีน จะพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 20 ต่อปีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่พร้อมกันนั้นก็มีความวิตกถึงอำนาจที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากของจีน โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อรู้แน่ว่า สหรัฐฯ ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก็เร่งผลักดันให้เชิญออสเตรเลียและอินเดียเข้าร่วม เพื่อมาคานอำนาจกับจีน
หนึ่งในนักธุรกิจที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม EAS คือ Tony Fernandes CEO ของ AirAsia สายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นแบรนด์สายการบินระดับ ASEAN เพียงสายการบินเดียวที่มีอยู่ ให้คะแนน ASEAN ที่สามารถช่วยรักษาความมีสันติภาพในภูมิภาค แต่เขายังต้องการมาตรการต่างๆ อีกมากจาก ASEAN ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจของเขา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ จูงใจทางภาษีสำหรับการลงทุนข้ามพรมแดนภายใน ASEAN การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในอุตสาหกรรม การบิน เป็นต้น สายการบินของเขายังคงไม่ได้รับสิทธิ์การลงจอดแบบเต็มรูปแบบจากสิงคโปร์ จนเที่ยวบินหลายเที่ยวของเขาต้องลงจอดที่สนามบินในมาเลเซียแทน ซึ่งก็ต้องพบปัญหายุ่งยากในการใช้รถขนผู้โดยสารข้ามพรมแดนระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซียอีก
บางทีก่อนที่จะทำให้ฝันอันยิ่งใหญ่ของการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวกลายเป็นจริง เอเชียตะวันออกอาจจะต้องแก้ปัญหาเล็กๆ หยุมหยิม อย่างที่นักธุรกิจเจ้าของสายการบินต้นทุนต่ำดังกล่าวกำลังเผชิญอยู่ ให้หมดไปเสียก่อน
แปลและเรียบเรียงจาก
นิวสวีค 12 ธันวาคม 2548
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
|
|
|
|
|