ภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2548 มีอัตราการเติบโตลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าตัวเลขที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งปีจะมีประมาณ 71,000 ยูนิต เพิ่มจากปี 2547 ที่มีจำนวน 69,050 ยูนิต หรือมีอัตราการเติบโตประมาณ 14% และคาดว่าในปี 2549 ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีประมาณ 75,000-80,000 ยูนิต ในกรณีที่จีดีพีเติบโตอยู่ที่ระดับ 5-6% แต่หากจีดีพีโตต่ำกว่า 4% เชื่อว่าตัวเลขที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจะเท่ากับปีนี้
อย่างไรก็ตาม นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2549 ว่า เป็นปีที่มีการเติบโตสูงสุด (พีก) ของช่วงวัฏจักรอสังหาฯ โดยจะมียอดจดทะเบียนประมาณ 83,000 หน่วยหลังจากนั้นจะเริ่มทยอยลดลง ในขณะที่นายชายนิด โง้วศิริมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กลับมีมุมมองที่ส่วนทาง "พี่ใหญ่" จากค่ายศุภาลัยว่า อสังหาฯยังมีเวลาอีก 2 ปีนับจากปีหน้ากว่าจะถึงจุดพีกสุด คือในปี 2550 โดยจะมียอดจดทะเบียนประมาณ 1 แสนยูนิต
ส่วนแนวโน้มปี 2549 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้ หรือเป็นปี คู่แฝดปี 2548 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยของธนาคาร กสิกรไทยได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ว่า ปี 2549 จะมีทั้งปัจจัยลบและปัจจัยบวกที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ กล่าวคือ ในด้านปัจจัยบวก การประมาณการตัวเลข GDP ที่ เพิ่มขึ้นจาก 4.5% เป็น 4.5-5.0% ในปี 2549 รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันที่จะลดลงในปีหน้า มาอยู่ที่ 55-56 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล แนวโน้ม อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงจาก 4.4% เป็น 3.7-4.0% นอกจากนี้ ดัชนีรายได้ส่วนบุคคลเมื่อปรับ ด้วยผลของอัตราเงินเฟ้อและการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ย มีแนวโน้มทรงตัว จาก 125.6 ในปี 2547 เป็น 129.9 และ 129.3 ในปี 2548 และ 2549 ตามลำดับ
ด้านปัจจัยลบ ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย ในช่วงขาขึ้น (ประมาณ 1% ในปี 49) อัตราดอกเบี้ย MLR อาจจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 6.50-6.75% ณ สิ้นปี 2548 และค่อยๆ ขยับขึ้นไปจนถึงประมาณ 8.50% ภายในปี 2550 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 1% จะทำให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ลดลงประมาณ 8% กรณีที่เป็นการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านจากปัจจัยข้างต้นทำให้เชื่อได้ว่าธุรกิจ สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 12% ในปี 2549 ซึ่งในปีนี้ประมาณ 14%
แต่ในเรื่องของกำลังซื้อนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฟันธงว่า แนวโน้มปรับตัวลดลงช่วงปี 2548-2550 ก่อนปรับตัวดีขึ้นในปี 2551 เนื่อง จากระดับรายได้ที่สะท้อนกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค อาจมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2548 ไปจนถึงระยะปี 2549-2550 เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาระรายจ่ายผู้บริโภคและต้นทุนการเงินในการซื้อที่อยู่อาศัยจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่ทิศทางดังกล่าวน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2551 ที่ผลของอัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันน่าจะคลายตัวลงแล้ว พร้อมๆ กับอัตราดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้นไปอยู่ในระดับที่เริ่มมีเสถียรภาพ หรือระดับที่เป็นกลาง ทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของภาคครัวเรือนกลับมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัยแม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า แต่ก็เป็นระดับที่สูงกว่าในปีฐาน คือปี 2545 จึงอาจไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคขาดกำลังซื้อที่อยู่อาศัย แต่ระดับกำลังซื้อที่ลดลงอาจทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญความยากลำบากในการตัดสินใจเลือกอย่างเหมาะสมระหว่างการใช้จ่ายเพื่อสินค้าในด้านอื่นๆ กับการซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งการรักษาระดับการออมเพื่อความมั่นคงของชีวิตในอนาคตข้างหน้า
หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างและจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลลดลง 54.9% ในปี 2541 และ 56.7% ในปี 2542 หลังจากนั้นก็กลับมาเติบโตอย่างมากถึง 50.8% ในปี 2546 และเติบโตในอัตราที่ลดลงมาอยู่ที่ 23.1% ในปี 2547 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีเชื่อว่าธุรกิจจะยังคงเติบโตประมาณ 10% ในปี 2548 และ 2549 ต่อไป
อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบที่จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม คือ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น, ราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการซื้อของประชาชนและความสามารถในการชำระหนี้ลดลง การเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและราคาที่อยู่อาศัย เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของภาคอสังหาฯ
ผลประกอบการ บจ.ดัชนีชี้วัดอสังหาฯ
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจอสังหาฯ สามารถพิจารณาได้จากในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2548 มีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและจดทะเบียนใน เขตกรุงเทพฯและปริมณฑลรวม 53,476 ยูนิต เพิ่มขึ้น 13.82% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสร้างโดยผู้ประกอบการ 39,339 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 51.79% โตลดลง 3.47% สร้างเอง 26,348 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 34.69% โต 32.68% คอนโดมิเนียม 10,268 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 13.52% โต 21.67%
ปี 2546 ตลาดที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยผู้ประกอบการจะมียอดขายรวมประมาณ 79,798.85 ล้านบาท ตลาดที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มียอดขาย ถึง 55,841.21 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนทางตลาด สูงถึง 69.98% ของยอดขายที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยผู้ประกอบการ ในปี 2547 ตลาดที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยผู้ประกอบการมียอดขายรวมประมาณ 87,685.87 ล้านบาท (เติบโต 9.88% จากปี 2546) ตลาดที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มียอดขายถึง 59,775.22 ล้านบาท (เติบโต 7.04% จากปี 2546) คิดเป็นสัดส่วนทางตลาดสูงถึง 68.17% ของยอดขายที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยผู้ประกอบการ
จากตัวเลขข้างต้น คาดว่า ณ สิ้นปี 2548 ตลาดที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยผู้ประกอบการจะมียอดขายรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท เติบโต ประมาณ 14% จากปี 2547 ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยที่สร้าง โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมียอดขายประมาณ 75,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 25% จากปี 2547 คิดเป็นสัดส่วนทางตลาดประมาณ 75% ของยอดขายที่อยู่อาศัย ที่สร้างโดยผู้ประกอบการ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการเติบโตของภาคอสังหาฯ ยังมีแนวโน้มที่ดี
แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยคาดว่า ณ สิ้นปี 2548 ตลาดรวมมีจำนวน 1,195,067 ล้านบาท อัตราการเติบโต 14.03% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นธนาคารภาครัฐ สัดส่วนทางตลาด 49.24% อัตราการเติบโต 18.15% จากปีก่อน ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วนทางตลาด 50.22% อัตราการเติบโต 10.23% จากปีก่อน จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง หรือชะลอการตัดสินใจออกไป ทำให้เชื่อว่าปี 2549 สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะมีอัตราการเติบโตที่ลดลงอยู่ที่ระดับ 12% แนะทางรอดผู้ประกอบการ
แม้ว่าความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนจะยังมีจำนวนมาก แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการคือ การปรับขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างในประเทศ ซึ่งทางออกของผู้ประกอบการบางรายคือการสั่งวัสดุบางอย่างจากต่างประเทศที่ไทยได้ลงนามในเอฟทีเอ นอกจากนี้ ราคาวัสดุและค่าก่อสร้างปรับขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นได้ แต่กลับต้องตรึงราคาเอาไว้เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งหรือครองส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ได้
นอกจากนี้ การรักษาอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการในปี 2549 ยังทำได้ยาก เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในปี 2548 จะเห็นได้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการอยู่ที่ประมาณ 30-34% อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยว ชาญด้านอสังหาฯ หลายรายต่างเชื่อว่าปี 2549 จะเป็นปีคู่แฝดของปีนี้ และตลาดบ้านระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และเมื่อเป็นที่ต้องการสูงผู้ประกอบการก็จะลงมาเล่นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือดแน่นอน
ผู้ประกอบการเดินหน้าสร้างรายได้
แม้ว่าปี 2549 จะมีปัจจัยลบหลายประการที่ผู้ประกอบการต้องหาทางรอดให้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยบวกอยู่ ทำให้ผู้ประกอบการ ยังต้องเดินหน้าเปิดโครงการใหม่เพื่อสร้างรายได้ ต่อไป
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2549 ของผู้ประกอบการ อาทิ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) วางแผนปีหน้า เปิด 6 โครงการ มูลค่า 7,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการย่านสุวรรณภูมิ 2 โครงการ และโครงการย่านใจกลาง เมืองอีก 4 โครงการ โดยในจำนวน 6 โครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการบ้านเดี่ยว 4 โครงการและโครงการคอนโดมิเนียมอีก 2 โครงการ โดยตั้งเป้ารายได้ปีหน้าที่ 8,000 ล้านบาท จาก ปีนี้ที่คาดว่ารายได้จะปิดที่ 7,500 ล้านบาท ทั้งนี้ศุภาลัยยังมีที่ดินรอการพัฒนาอีก 1,000 ไร่ โดย คาดว่าจะสามารถรองรับการพัฒนาไปได้อีก 3 ปี
บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) วางแผนเปิดโครงการใหม่ 7 โครงการ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท สำหรับโครงการที่จะเปิด ใหม่ มีทั้งบ้านเดี่ยว, บ้านแฝด และคอนโดมิเนียม ได้แก่ โครงการชวนชื่น ศรีนครินทร์ โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนโครงการชวนชื่น วงแหวน-ปิ่นเกล้า จะใช้งบในการลงทุน ประมาณ 635 ล้านบาท และโครงการสิรินเฮ้าส์ บางนา 2 จะใช้งบในการลงทุนกว่า 350 ล้านบาท
ส่วนไตรมาส 2 นั้นจะเปิด 1 โครงการ ชื่อโครงการว่า เพรสซิเด้นซ์ พาร์ค 5 ชวนชื่นซิตี้ ซึ่งจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ไตรมาส 3 นั้นเปิดอีก 3 โครงการด้วยกัน คือ โครงการกรีนพาร์ค ชวนชื่นซิตี้ ซึ่งจะใช้งบในการ ดำเนินการกว่า 530 ล้านบาท โครงการชวนชื่น เพชรเกษม จะใช้งบในการดำเนินการกว่า 1,750 ล้านบาท และโครงการสิรินเพลส-สุวรรณภูมิ ใช้งบทั้งสิ้นกว่า 800 ล้านบาท โดยโครงการ ที่เปิดดังกล่าวจะจับกลุ่มลูกค้าในระดับล่างถึงระดับกลางในราคาประมาณ 2-3 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ปี 2549 จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยรายได้ในปีนี้ประมาณ 2,300 ล้านบาท
บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าปีหน้าเปิดไม่ต่ำกว่า 4 โครงการ มูลค่า 4,000 ล้านบาท ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ โดยจะเน้นไปที่โครงการทาวน์เฮาส์ ซึ่งเป้าหมายรายได้ปีหน้าโต 10-15% จากที่คาดว่าทั้งปีจะมีรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท
บริษัท ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) เปิด 4 โครงการ มูลค่า 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยว 2-3 ชั้น ซ.รามคำแหง 150 มูลค่าโครงการ 200 ล้านบาท, โครงการทาวน์เฮาส์ 3 ชั้นย่านรามคำแหง มูลค่า 200 ล้านบาท, โครงการโฮมออฟฟิศ 3-4 ชั้น ย่านหัวหมาก มูลค่า 900 ล้านบาท และโครงการ ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นย่านฝั่งธนบุรี มูลค่า 700 ล้านบาท โดยธารารมณ์ตั้งเป้ารายได้ปี 2549 จำนวน 2,300 ล้านบาท ปัจจุบันธารารมณ์มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 8 โครงการ มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท
บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดโครงการใหม่ 8-9 โครงการ มูลค่า 4,500 ล้านบาท เน้นบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ได้แก่ โครงการปริญญดา พระราม 2 เฟส 1, ปริญลักษณ์ อินทรารักษ์, ปริญลักษณ์ วงแหวนสาทร และคอนโดมิเนียม 9 ชั้น เปิดในช่วงไตรมาส 1/49 โครงการปริญญดา พุทธมณฑล สาย 2 เปิด ในไตรมาส 2 ส่วนอีก 3 โครงการ ได้แก่ ปริญลักษณ์ เอ็กซ์คลูซีฟ, ปริญลักษณ์ เอกชัย และปริญลักษณ์ เพชรเกษม เปิดในไตรมาส 3 โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 3,000 ล้านบาท จาก ที่ปีนี้ตั้งไว้ที่ 2,200-2,300 ล้านบาท
บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 15% หรือมียอดขายประมาณ 8,000 ล้านบาท จากปี 2548 ที่ตั้งเป้าว่าจะมียอดขายที่ 7,000 ล้านบาท โดยรายได้ในปี 48 จะมาจากยอด ขายบ้านเดี่ยวใน 15 โครงการ 6,000 ล้านบาท และยอดขายคอนโดมิเนียม เมโทร พาร์ค ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดขายในช่วงปลายปีนี้
สำหรับยอดขายในปี 2549 ที่ตั้งไว้ 8,000 ล้านบาท จะมาจากการขายโครงการเดิมและโครงการใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวไม่ต่ำกว่า 5 โครงการ โดยจะมีราคาขายเฉลี่ยประมาณ 4 ล้านบาท และคาดว่าจะมียอดรับรู้รายได้ประมาณ 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดสต๊อกบ้านเดี่ยวรอโอนจากปี 48 ประมาณ 1,400 ล้านบาท และจากคอนโดมิเนียม 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากยอดโอนในโครงการใหม่และเก่าที่ขายในปี 2549
บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มีแผนที่จะลงทุนพัฒนาโครงการในปีหน้าคิวทั้งหมด 9 โครงการ โครงการละ 2,000 ล้านบาท รวมมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท โดยจะเปิด ในแบรนด์ พฤกษ์ภิรมย์ เลียบถนนราชพฤกษ์ 2 โครงการ, แบรนด์ลัดดารมย์ รัตนาธิเบศร์, บางแค, พระราม 5 และลัดดารมย์ อีรีแกรนท์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และแบรนด์วรารมย์ พหลโยธิน และที่เชียงใหม่ 2 โครงการ ทั้งนี้ โครงการแบรนด์ลัดดารมย์ ซึ่งเป็นบ้านระดับ 7-12 ล้านบาท จะมีสัดส่วนการเปิดโครงการมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จะมีโครงการที่ปิดการขาย 2 โครงการจาก 14 โครงการ คือ แบรนด์พฤกษ์ภิรมย์ รีเจ้นท์ เกษตร-นวมินทร์ และวรารมย์ ประชาอุทิศ
ส่วนผลประกอบการในปี 48 ยอดรับรู้รายได้เฉพาะการขายบ้านจะเติบโตขึ้น 10% (ไม่นับรวมชะอำ ลองบีช คอนโดมิเนียม) เมื่อเทียบกับในปี 47 ประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่หากรวมทั้งธุรกิจบริการและให้เช่าแล้ว จะมีรายได้ ทั้งปีเติบโต 14% เทียบกับปีที่ผ่านมา 7,191.73 ล้านบาท ขณะที่ในปี 49 คาดว่ายอดขายบ้านเมื่อ รวมกับยอดรับรู้รายได้ แบรนด์คาซ่า จะเติบโตถึง 30% ซึ่งตามแผนของคาซ่าคาดว่าปีหน้าจะมียอดรับรู้รายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท
บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 4 โครงการ รวมมูลค่าโครงการ 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งโครงการในรูปแบบทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยว พร้อมทั้งวางงบประมาณในการซื้อที่ดินอีก 700-800 ล้านบาท ปัจจุบันมีสินค้าอยู่ระหว่างก่อสร้าง 300-400 ยูนิต มีบ้านสร้างเสร็จ พร้อมโอน 200 ยูนิต ราคาขายเฉลี่ย 2.5-3 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทพยายามจะรักษาต้นทุน โดยได้สร้างระบบสาธารณูปโภคและถมดิน เพื่อ ให้ได้ต้นทุนเดิมไปจนถึงปี 2550
บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มีโครงการซื้อที่ดินมาเพื่อเปิดใหม่ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ในปี 2549 อีก 2-3 โครงการ รวมมูลค่า 5,000 ล้านบาท เมื่อรวมโครงการใหม่ และเก่าที่ต้องขายต่อเนื่อง จะมีสินค้าที่จะขายในปี 2549 กว่า 10,000 ล้านบาท การเปิดตัวโครงการยังคงคอนเซ็ปต์ "Big City" จะเน้นทำเลการลงทุนในเมือง และแนวทาง ในการเลือกซื้อที่ดินยังคงต้องอิงโครงข่ายคมนาคม, ได้ตั้งงบประมาณซื้อที่ดินใหม่ในปี 2549 ไว้ 1,500 ล้านบาท
โดยโครงการที่จะเปิดใหม่ในช่วงปี 2549 จะเน้นทาวน์เฮาส์ ซึ่งเป็นสินค้าที่เอพีมีความถนัดที่สุด ขณะเดียวกัน จะมีการขึ้นโครงการแนว สูง ประเภทคอนโดมิเนียมด้วยเช่นกัน ส่วนโครงการประเภทบ้านเดี่ยวยังไม่มีนโยบายขึ้นโครงการใหม่ ทั้งนี้ สินค้าที่เปิดใหม่ 80-90% เป็นทาวน์เฮาส์ ส่วนคอนโดฯ 10-20%
บริษัท กรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด (มหาชน) (เคแลนด์) ได้วางแนวทางการพัฒนาของบริษัทในช่วง 3 ปีจากนี้ไปจะเน้น 3 แนวทาง หลัก ได้แก่ 1.การลงทุนเอง โดยรายได้จะมาจากการพัฒนาโครงการในแนวราบที่เปิดขายในปัจจุบัน และมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มอีกใน 2 ทำเล รวมมูลค่า 10,000 ล้านบาท ได้แก่ โครงการบ้านเดี่ยว แบรนด์ "ราชพฤกษ์" พระราม 2 เนื้อที่ 450 ไร่ จำนวน 1,000 ยูนิต มูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท, โครงการทาวน์เฮาส์แบรนด์ "สราญรมย์" ย่านภาษีเจริญ เนื้อที่ 80 ไร่ จำนวน 600 ยูนิต มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท
2.ร่วมทุนกับพันธมิตรซึ่งเป็นกลุ่มทุนจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาเคแลนด์ได้ร่วมทุนกับบริษัทเซ็นเตอร์พอยท์ พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทในเครือเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ กลุ่มทุนสิงคโปร์ ใน โครงการร่วมทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยย่านพระรามที่ 3 มูลค่าโครงการ 10,000 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการพัฒนาในนามบริษัท ริเวอร์ไซด์ โฮมส์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยถือหุ้นฝ่าย ละ 49%
3.การนำธุรกิจประเภทให้เช่าที่สร้าง รายได้ระยะยาว ก่อนนำเข้าสู่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายหน่วยลงทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยคาดว่าน่าจะเป็นการลงทุนในเฟส 2 ของโครงการที่พัฒนาขึ้นย่านพระรามที่ 3 ในส่วนที่เป็น โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และสำนักงานให้เช่า
คงต้องมาติดตามกันว่า อีกไม่ถึง 4 วัน จะก้าวข้ามสู่เทศกาลเฉลิมฉลองวันสิ้นปี 48 ปีระกา และเริ่มเข้าสู่วันใหม่ ปี 2549 (ปีจอ) ปีที่ทุกคนคาดหวังให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ผู้บริโภคมีกำลังใจและกำลังเงินในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งผลบวกดังกล่าวจะกลายเป็นผลให้เกิด การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
|