หลังจากสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ได้พิถีพิถันกับการคัดเลือกผู้มาดำเนินการโครงการจุฬาไฮเทค
สแควร์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องการจัดผลประโยชน์จากที่ดินของจุฬามานานหลายปี
จนพูดได้ว่าผ่านยุคทองไปอย่างน่าเสียดาย แต่ในที่สุดก็ได้บริษัทสยามเทคโนซิตี้
เป็นผู้ก่อสร้างและได้เปิดตัวบริษัทบริหารการขาย คือบริษัทเชสเตอร์ตันไทย
และบริษัทไทยชิมิสึเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2539
คราวนั้น ทางผู้บริหารของบริษัทเชสเตอร์ตันกระหยิ่มยิ้มย่องนักหนาว่าได้งานช้าง
มาประเดิมปีหนูทองแต่แล้วเมื่อประมาณกลางปี 2539 ปรากฏว่าการก่อสร้างที่กำลังดำเนินไปได้ถึงชั้นที่
13 ของอาคารออฟฟิศบิลดิ้ง และที่อยู่อาศัย ซึ่งมีความสูงทั้งหมด 39 ชั้นได้หยุดชะงักลง
เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมๆ กับการถอนตัวออกจากงานชิ้นนี้ของบริษัทเชสเตอร์ตัน
และข่าวเรียกร้องค่าก่อสร้างของบริษัทไทยชิมิสึ
ข่าวลือ เรื่องช้างล้มก็เลยเกิดขึ้น!
สำหรับบริษัทสยามเทคโนซิติ้นั้นเป็นบริษัทที่ร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ
นำโดยธนาคารกสิกรไทย บงล.ศรีมิตร บงล.นวธนกิจ บงล.เอกธนกิจ บริษัทไจโดจากประเทศญี่ปุ่นในสัดส่วน
55% และ 45%
บริษัทไจโดนั้นก็เป็นองค์กรที่ใหญ่มากทีเดียวของญี่ปุ่น คือเป็นองค์กรในลักษณะรัฐวิสาหกิจ
มีไอ.อี.ซี.เอฟ ถือหุ้น 35% ที่เหลือก็ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นที่รวมตัวกันเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ
สยามเทคโนซิตี้ มีอิวาโมโต้ จากประเทศญี่ปุ่นเป็นกรรมการผู้จัดการ มีเกียรติกำจร
พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งมาจากสายงานของธนาคารกสิกรไทย เป็นรองกรรมการผู้จัดการ และงานพัฒนาออฟฟิศบิลดิ้งและที่อยู่อาศัย
มูลค่า 7,500 ล้านบาทนี้เป็นงานชิ้นแรกของเขา
แหล่งข่าวจากบริษัทสยามเทคโนซิตี้ ได้เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ว่าสาเหตุที่โครงการก่อสร้างหยุดไปเพราะว่า การขายไม่คืบหน้าเท่าที่ควรทั้งที่โครงการอยู่ในทำเลที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯแห่งหนึ่ง
และจากความตั้งใจของเจ้าของโครงการ ที่ต้องการจะทำให้เป็นอาคารสำนักงานที่ทันสมัยเต็มรูปแบบด้วยระบบอินเทลลิเจนท์สมบูรณ์แบบ
เป็นสาเหตุให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูง ราคาขายจึงค่อนข้างสูง ในขณะที่ปัจจุบันพื้นที่ของออฟิศบิลดิ้งกำลังอยู่ในภาวะของการล้นตลาด
ลูกค้ามีโครงการต่างๆ ให้เลือกมากมายในย่านทำเลที่ดีเช่นกัน
ดังนั้นสิ่งที่คณะกรรมการของสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ และผู้บริหารของบริษัทสยามเทคโนซิตี้จำเป็นต้องรีบจัดการก็คือต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการใหม่
เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการตลาดมากขึ้น เช่นในส่วนของที่อยู่อาศัย ซึ่งแบบเดิมอาจจะเป็นห้องที่มีพื้นที่ขายกว้างเกินไปทำให้ขายยาก
โดยเฉพาะในเรื่องของศูนย์ประชุมนั้นทางคณะกรรมการบริหารของจุฬาฯเอง ยังยืนยันที่จะให้เป็นอาคารสำนักงานที่ทันสมัยเช่นเดิม
แต่มีการปรับปรุงรูปแบบบางอย่างขึ้นซึ่งในส่วนนี้ทำให้ล่าช้ายิ่งขึ้น เพราะแบบของห้องประชุมนั้น
ต้องรออนุมัติจากคณะกรรมการของสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯอนุมัติด้วย ซึ่งมาจากหลายหน่วยงานโดยมีประธานคณะกรรมการก็คือ
ไพโรจน์ ล่ำซำ ซึ่งมากจากคณะกรรมการของธนาคารกสิกรไทย
แหล่งข่าวกล่าวว่านอกจากการปรับรูปแบบของโครงการแล้ว อาจจะมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่อีกด้วย
เพราะโครงการนี้ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในขณะที่ ขณะนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถือหุ้นทางฝ่ายไทยบางบริษัทอาจจะมีปัญหาเรื่องการเงิน
ดังนั้นกำหนดที่วางไว้เดิมว่าโครงการนี้ต้องเสร็จสิ้นประมาณปลายปี 2540
คงต้องเลื่อนไปแน่นอน
จุฬาไฮเทคสแควร์ ตั้งอยู่บนถนนพญาไทตัดกับถนนพระราม 4 บนพื้นที่ 21 ไร่
ตัวโครงการนี้ประกอบไปด้วย อาคารที่พักอาศัย 39 ชั้น 4 ชั้นล่างเป็นพลาซ่า
พื้นที่ 7,000 ตารางเมตร ชั้นที่ 6-37 เป็นที่พักอาศัยแบ่งเป็น 500 ยูนิต
หรือ 60,000 ตารางเมตรส่วนโครงการศูนย์ประชุมมีพื้นที่ประมาณ 20,000 ตร.ม.
ส่วนที่ 3 คืออาคารสำนักงานสูง 40 ชั้น มีพื้นที่รวม 30,000 ตร.ม. พื้นที่ออฟฟิศประมาณ
120,000 ตารางเมตร
บริษัทสยามเทคโนซิตี้เคยตั้งความหวังไว้ว่าจะขอยื่นประมูลโครงการพัฒนาที่ดินในเฟสต่อๆ
ไปในที่ดินของจุฬาฯ ซึ่งตามแผนของสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ นั้นจะนำเอาที่ดินอีกประมาณ
80 ไร่ตรงข้ามตลาดสามย่านมาเปิดประมูลในปีนี้
เมื่อโครงการแรกต้องชะงักยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างนี้ทั้งบริษัทสยามเทคโนซิตี้
และทางจุฬาฯ คงต้องรอไปก่อนแน่นอน