ตลาดน้ำเมาปีระกาขันไม่ออก กฎเหล็กภาครัฐก้างตำคอชิ้นใหญ่ ทุบสถิติตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมเดี้ยง "เหล้าไทย-นำเข้า" มูลค่า 68.2 ล้านลัง หืดขึ้นคอแทบไม่โต ค่ายเบียร์ช็อก 2 ปีซ้อนตลาดทรงตัว "อาร์ทีดี" ส่อเค้าแย่หนักหดตัว ทิ้งปมยกเว้นปรับภาษีสรรพสามิตเบียร์-เหล้าขาว เอื้อเจ้าสัวน้ำเมาไทย คลื่นใต้น้ำสองหน่วยงานศูนย์วิจัยปัญหาสุรา-กรมสรรพสามิต รอวันปะทุระลอกใหม่
นายอวยชัย ตันทโอภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดเหล้าไทยและนำเข้าในปี 2548 จากตัวเลขในเชิงปริมาณ 68.2 ล้านลัง การเติบโตน้อยมาก ยกตัวอย่าง ตลาดสุราขาว 48 ล้านลัง หรือคิดเป็น 71% ของตลาดรวม สภาพตลาดทรงตัวหรือมีหดตัวลงเล็กน้อย ส่วนสุราสี 12 ล้านลัง หรือคิดเป็น 18% ของตลาดรวมโต 8-10% ซึ่งหากแบ่งเป็นตลาดสุราสีไทย (แม่โขง แสงโสม มังกรทอง) โต 10-12% แอดมิกซ์ 2.5 ล้านลัง หรือคิดเป็นสัดส่วน 4% ของตลาดรวม หดตัวลง 8-10%
ทั้งนี้ เป็นเพราะมาตรการของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต 2 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย กลุ่มเหล้าสี แม่โขง แสงโสม และมังกรทอง และกลุ่มเหล้า นำเข้าอีโคโนมี่-เซกันดารี่ อาทิ โกลเด้นท์ไนท์ ฮันเดรด ไปเปอร์ส ฯลฯ และล่าสุดภาครัฐได้ร่างกฎกระทรวงกำหนดเวลาในการขายสุราสำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตขายสุราประเภทที่ 3-4 หรือร้านสะดวกซื้อและร้านค้าปลีกรายย่อย โดยจำกัดเวลาจำหน่ายจากเดิม 17.00 น.-02.00 น. มาเป็นเวลา 17.00 น.-24.00 น.
นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีมาตรการห้ามผู้ประกอบการทำสื่อโฆษณาในเชิงพาณิชย์ทุกรูปแบบ โดยสามารถทำได้เฉพาะ ณ จุดขายเท่านั้น รวมทั้งการรณรงค์จากองค์กรอิสระหรือ สสส. ที่มีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ อย่าง ปีใหม่ สงกรานต์ และวันเข้าพรรษา และมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2546-2547 ไม่ว่าจะเป็นห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ก่อน 4 ทุ่ม พร้อมกับการควบคุมเนื้อหาสาระในการผลิตโฆษณา โดยให้ทำได้เฉพาะภาพลักษณ์องค์กรหรือส่งเสริมสังคม
"มาตรการที่ภาครัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าผู้ผลิตทุกรายได้รับผลกระทบ อย่างการรณรงค์แน่นอนว่าจะต้องมีผลกระทบด้านยอดขาย หรือกระทั่งการจำกัดเวลาสถานบันเทิง เหล้านอกราคาสูงจะได้รับผลกระทบมากกว่า ขณะที่พฤติกรรมการดื่มเหล้าที่บ้านคงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือได้รับผลกระทบมากนัก หลังจากมาตรการภาครัฐจำกัดเวลาจำหน่ายร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าปลีก"
ช็อกตลาดเบียร์ไม่โต 2 ปีซ้อน
นายปัญญา ผ่องธัญญา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้น ไทเกอร์ และเชียร์ เปิดเผยว่า ปีนี้ตลาดเบียร์ไม่มีอัตราการเติบโต โดยมีมูลค่าเท่ากับปีที่ผ่านมาคือ 82,000 ล้านบาท หรือ 1,625 ล้านลิตร นับว่าตลาดเบียร์ในปี 2547 และ 2548 ไม่มีอัตราการเติบโตมา 2 ปีซ้อน โดยสภาพเบียร์เซกเมนต์พรีเมียร์ คิดเป็นสัดส่วน 9% ของตลาดรวมหดตัว 3% จากการถอนตัวเบียร์คาร์ลสเบอร์ก และการเติบโต ที่ลดลงของแบรนด์อื่น ขณะที่เบียร์เซกเมนต์สแตนดาร์ดมีการเติบโต 3% จากการเข้ามาของเบียร์ไทเกอร์ และบลูไอซ์ ส่วนเซกเมนต์อีโคโนมี่มีการเติบโตคงที่ โดยลีโอเติบโตถึง 35% และมีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดเบียร์อีโคโนมี่ โดยเบียร์ช้างมี ส่วนแบ่งลดลงจาก 75% เหลือเพียง 61%
มาตรการที่ภาครัฐออกมาล่าสุด คือ การจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยให้สามารถจำหน่ายได้ถึง 24.00 น. ในช่องทางร้านค้าสะดวกซื้อ และร้านค้าปลีกรายย่อย เบียร์จะเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ เพราะช่องทางจำหน่ายเบียร์ส่วนใหญ่จะเป็นออฟพรีมิสหรือร้านสะดวกซื้อ, ร้านค้าปลีกรายย่อย และโมเดิร์นเทรด 70-80% ส่วนอีก 20-30% เป็นออนพรีมิสหรือตามสถาบันเทิง ผับ บาร์
อาร์ทีดีดิ่งลงเหวตลาดหดตัว
นายสมพงษ์ โชคพิบูลการ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท บาคาร์ดี้ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ทำตลาดเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์พร้อมดื่มตราบาคาร์ดี้ เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม (อาร์ทีดี) ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ นับตั้งแต่ปี 2544 กระทั่งปัจจุบันตลาดหดตัวลง ซึ่งจากเมื่อปี 2544 บาคาร์ดี้เป็นผู้ประกอบการรายแรกที่เปิดตัวสินค้าลงสู่ตลาด มูลค่าตลาดปีแรกพุ่งถึง 400 ล้านบาท ปี 2545 เพิ่มเป็น 1,500 ล้านบาท จากการมีผู้เล่นในตลาดถึง 10 ราย และปี 2546 ตลาดหดตัวลงเหลือ 1,200 ล้านบาท และปี 2547 เหลือ 1,000 ล้านบาท สำหรับปีนี้คาดว่ามูลค่าตลาดจะเหลือ 850 ล้านบาท หรือหดตัวลงถึง 15%
ทั้งนี้ การที่ตลาดรวมอาร์ทีดี ลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น เพราะผู้ประกอบการที่เข้ามาทำตลาดไม่สามารถแข่งขันในตลาดและผลิตสินค้าที่ไม่สามารถรองรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งโอกาสในการดื่มเครื่องดื่มอาร์ทีดี ยังมีน้อยกว่าเครื่องดื่มประเภทเหล้าวิสกี้ หรือเบียร์ ที่ผู้บริโภคให้ความนิยมมากกว่า รวมทั้งปัจจัยด้านราคาเมื่อเทียบกับเบียร์ เหล้าวิสกี้ ซึ่งอาร์ทีดีมีราคาที่แพงกว่า
ปิดท้ายปี 48 ทิ้งปมที่น่าสนใจ
ปมประการแรก เอื้อประโยชน์ เจ้าสัวน้ำเมาไทย "เจริญ สิริวัฒนภักดี" ปรับภาษีเหล้าแต่ไม่ปรับภาษีเบียร์และเหล้าขาว มวยระหว่างศูนย์วิจัยปัญหาสุรานำโดย นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กับนายอุทิศ ธรรมวาทิน อธิบดีกรมสรรพสามิต
ฝ่ายศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ได้ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า การที่กรมสรรพสามิตปรับโครงสร้างภาษีขึ้นเฉพาะแต่เหล้าสี อาทิ แม่โขง แสงโสม มังกร ฯลฯ รวมทั้งกลุ่มเหล้านำเข้าระดับอีโคโนมี่-เซกันดารี่ อาทิ โกลเด้นท์ไนท์ ฮันเดรด ไปเปอร์ส ฯลฯ จึงมีแนวโน้มว่าผู้ดื่มจะหันไปดื่มเครื่องดื่มกลุ่มเบียร์และเหล้าขาวเพิ่มขึ้น เนื่องจากทั้งสองกลุ่มไม่ได้ถูกปรับโครงสร้างภาษี เพราะภาครัฐปกป้องผลประโยชน์ผู้ประกอบการ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ในประเทศ
แนวทางในการลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยให้ได้ประสิทธิภาพ ภาครัฐควรจะปรับโครงสร้างภาษีกลุ่มเหล้าขาวเพราะปัจจุบันเป็นตลาดที่ใหญ่มาก รวมทั้งกลุ่มเบียร์ซึ่งเป็นตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน และเป็นเครื่องดื่มอันดับแรกที่เยาวชนเริ่มทดลองดื่ม โดยในช่วง 14 ปีที่ผ่านมามีผู้ดื่มหน้าใหม่เข้ามาดื่มเบียร์เพิ่มขึ้น 4 เท่า
"หากจะมีการปรับโครงสร้างภาษีทั้งสองกลุ่ม ก็ควรจะขึ้นทั้งเหล้าขาวและเบียร์ไม่ใช่กลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง เพราะจากผลวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ราคามีผลต่อพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยหากมีการขึ้นเหล้าขาวและเหล้าสี ผู้ดื่มจะหันไปดื่มเบียร์ทันที ส่วนหากมีการขึ้นเบียร์อย่างเดียวผู้ดื่มก็จะหันไปดื่มเหล้าขาวแทน"
ฝ่ายนายอุทิศ ธรรมวาทิน อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้นำตัวเลขตั้งแต่ปี 2539-2548 ย้ำผลของการปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าไม่มีผลต่อการลดปริมาณการดื่ม โดยพบว่าในปีที่มีการปรับโครงสร้างภาษีสุราเพิ่มขึ้น สภาพตลาดกลับโตอย่างต่อเนื่อง อย่างปี 2545 เพิ่มเป็น 22,290 ล้านบาท โต 185.42% และปี 2546 เพิ่มเป็น 25,576 ล้านบาท โต 15.19% และปี 2547 เพิ่มเป็น 26,181 ล้านบาท โต 1.97% และ ปี 2548 จาก 28,619 ล้านบาท โต 9.31%
"การปรับโครงสร้างภาษีเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีส่วนทำให้คนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ล้วนส่งผลให้คนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น อาทิ ด้านเศรษฐกิจ โดยพบว่าในปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนดื่มเหล้าน้อยลง ขณะที่สภาพเศรษฐกิจดีคนก็ดื่มมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยด้านต่างๆ ได้แก่ ประชากรที่เพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามา การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการแข่งขันด้านราคา"
แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการน้ำเมาหลายค่าย ต่างลงความเห็นพ้องต้องกัน คงเป็นเรื่องมาตรการของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยฝากข้อคิดทิ้งทวนปีระกาว่า ไม่ว่าภาครัฐจะสรรหามาตรการใหม่ๆ เพื่อลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในที่สุดพฤติกรรมของผู้ดื่ม ก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าตุนไว้ที่บ้าน หรือหันมาจัดงานปาร์ตี้ที่บ้าน ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ปริมาณการดื่มเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่จะทำให้คนไทยลดปริมาณการดื่มได้ ภาครัฐควรจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าที่จะเป็นปลายเหตุ ด้วยการปลุกจิตสำนึกดื่มอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม
|