คนประเภท "ขวางโลก" กล่าวว่า บนอินเตอร์เน็ตนั้นเต็มไปด้วย "นักขาย"
มิใช่ "ผู้ซื้อ"
ที่ว่าอินเตอร์เน็ตเป็นร้านค้าทางดิจิตอล เอาเข้าจริงก็ยังไม่เป็นธุรกิจสักเท่าไร
เพราะผู้ที่ท่องเที่ยวไปบนอินเตอร์เน็ตนิยมบริโภคของฟรีกันทั้งนั้น
คำกล่าวนี้อาจจะถูกต้องเมื่อสักสามปีที่แล้ว ทว่าในทุกวันนี้ผู้ซื้อบนอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมากมาย
เนื่องจากความสะดวกในการท่องเที่ยวดูสินค้าบนเครือข่าย และการจ่ายเงินผ่านรหัสบัตรเครดิต
โดยเฉพาะการขายหนังสือบนอินเตอร์เน็ตนับว่ามาแรงทีเดียว มีข้อดีคือ ผู้ขายไม่ต้องลงทุนตั้งร้านในแหล่งชุมชนซึ่งค่าที่ดินมีราคาแพง
แต่สามารถนำรูปลักษณ์ของหนังสือมาเก็บในรูปดิจิตอล ดีไซน์เป็นโฮมเพจสวยงามเพื่อแนะนำหนังสือ
ทำให้ผู้ซื้อสามารถพิจารณาหนังสือนับหมื่นนับแสนเล่มในจอคอมพิวเตอร์ซึ่งตั้งอยู่ในออฟฟิศ
หรือที่บ้าน เป็นการประหยัดเวลา มิต้องไปเดินกวาดสายตาอยู่ตามร้านหนังสือ
อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามว่า การขายหนังสือบนอินเตอร์เน็ต จะทำให้ร้านหนังสือกระทบกระเทือนบ้างไหม?
"กรรณะ กองศักดา" หนึ่งในทีมผู้บริหารของศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับหน้าที่ผู้จัดการด้านขายส่งให้ความเห็นว่า
"ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น ถึงอย่างไรร้านหนังสือก็ยังมีมนต์เสน่ห์อยู่อีกมาก"
ศูนย์หนังสือจุฬา ภายใต้การนำของผู้จัดการคือ "อุไรวรรณ กรวิทยาศิลป"
ถือได้ว่าเป็นร้านหนังสือแห่งแรกของไทย ที่เปิดโฮเพจขายหนังสือขึ้นบนอินเตอร์เน็ต
เป็นโฮมเพจในลักษณะมัลติมีเดียคือ มีทั้งอักขระ ภาพ และเสียง หากจะซื้อซีดีสักแผ่น
ก็สามารถคลิกเมาส์ฟังเสียงเป็นตัวอย่างได้ ใครอยากจะเข้าไปท่องเที่ยว CU
CYBER BOOK SHOP ก็กดคีย์บอร์ดไปได้ที่ WWW.cubook.com
นี่เป็นการชิงความเป็นผู้นำอีกครั้งหนึ่ง แม้บุคลิกของศูนย์หนังสือจุฬาจะไม่ก้าวร้าวในแบบรุกรบฉับไว
แต่ก็นับว่าเป็นผู้นำด้านกิจกรรมรายหนึ่ง ที่สำคัญคือการทำงานอย่างทุ่มเทชนิดที่แหล่งข่าวในศูนย์หนังสือบอกกับ
"ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "มองตาพนักงานของเราสิ คุณจะเห็นว่า
พวกเขาง่วงนอน" นี่คงจะเป็นการเช็กสต็อกกันยันสว่างนั่นเอง !
การเป็นพนักงานของศูนย์หนังสือจุฬานั้นจะต้องมีคุณภาพ ทันสมัยและสุภาพเรียบร้อย
ตอนนี้พวกเขาได้รับการอบรมเรื่องเน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์กันเป็นอย่างดี
ที่ต้องมีคุณภาพก็เนื่องจากจะว่าไปแล้วศูนย์หนังสือถูกสอดส่องโดยประชากรในจุฬา
ทั้งอาจารย์และนิสิตแค่หนังสือที่วางขายมีรอยยับยู่ยี่ อาจารย์บางท่านก็จะท้วงติงว่า
"ทำไมเอาหนังสืออย่างนี้มาวางขาย เสียชื่อจุฬาหมด"
เบื้องหลัง CU CYBER BOOK SHOP ที่น่าประทับใจคือ แฟนๆ ของศูนย์หนังสือจุฬา
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระดมส่งอี-เมล์มายังศูนย์หนังสือ เรียกร้องให้ดีไซน์ร้านหนังสือขึ้นบนอินเตอร์เน็ต
ทั้งยังคอยแนะนำวิธีการสร้างไซเบอร์บุ๊คอย่างเร่าร้อน ทางศูนย์หนังสือเห็นว่า
ต้องสนองตอบความต้องการของลูกค้า จึงระดมทีมงานที่ประกอบด้วยอาจารย์ในจุฬาสร้างไซเบอร์บุ๊คขึ้นมา
โดยใช้เวลาพัฒนาอยู่ถึงสองปี
นับว่าคุ้มค่า เพราะเปิดบริการเมื่อวันที่ 2 เมษายนปีนี้ ผ่านไปเพียงครึ่งเดือน
มีนักอ่านแวะเวียนเข้าไปใช้บริการถึงประมาณ 10,000 ครั้ง (ผู้ใช้บริการคนหนึ่งอาจเข้าไปดูไซเบอร์บุ๊คหลายครั้ง)
"ขอให้ถือเสียว่า เป็นการให้บริการลูกค้าดีกว่า เราไม่ได้คิดที่จะให้ไซเบอร์บุ๊คกำไรในเชิงธุรกิจ
นอกจากนี้การเปิดไซเบอร์บุ๊คขึ้นมา ก็เพื่อเผยแพร่หนังสือไทยไปบนอินเตอร์เน็ต"
กรรณะกล่าว
ปัจจุบันศูนย์หนังสือจุฬา มีรายได้จากการค้าประมาณ 70% และค้าส่ง 30% เมื่อปีที่แล้วมีรายได้ประมาณสองร้อยล้านบาท
แม้ไม่หวังทำกำไรจากการขายทางอินเตอร์เน็ต แต่ก็ไม่แน่นัก มันอาจเป็นขุมทองใหญ่ในวันข้างหน้า
นี่เป็นเหตุให้ธุรกิจร้านหนังสือในเครือซีเอ็ดและดอกหญ้าจำต้องขยับตัวไปสู่โลกดิจิตอลเช่นเดียวกัน
โดยอาจเปิดไซเบอร์บุ๊คขึ้นในเวลาไม่นานนี้
ในต่างประเทศ โฮมเพจอเมซอน (WWW.amazon.com) เป็นร้านหนังสือบนอินเตอร์เน็ตแห่งแรก
และถือได้ว่าใหญ่ที่สุดในโลก มีหนังสือให้เลือกซื้อไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านรายการ
ทั้งหนังสือใหม่เก่า และหายาก สามารถทำยอดขายในปีที่แล้วกว่า 400 ล้านบาท
มีการคาดคะเนกันว่า ร้านประเภทไซเบอร์บุ๊คนั้นอาจกระทบกระเทือนร้านหนังสือในแบบเดิม
นอกจากนี้ หลายบริษัทกำลังเตรียมขายหนังสือแบบออนไลน์คือผู้ซื้อมีเครื่องฮาร์ดแวร์ขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ค
สามารถดาวน์โหลดเนื้อหาหนังสือทั้งหมดจากโฮมเพจต่างๆ แล้วอ่านดูทางหน้าจอได้ทั้งเล่มทีเดียว
เมื่อเป็นเช่นนี้ มิเพียงกระทบร้านหนังสือ แน่นอนว่า ต้องกระเทือนไปถึงสายส่งด้วย
แต่ก็ยังมีข้อสงสัยกันอยู่ว่าระหว่างการอ่านหนังสือหน้าจอภาพกับการพลิกหนังสืออ่านไปทีละหน้า
อะไรจะสอดคล้องกับอารมณ์มนุษย์มากกว่ากัน
ร้านหนังสือในปัจจุบันก็ได้แต่ปลอบใจกันว่า คงไม่กระเทือนจากไซเบอร์บุ๊ค
เพราะคนยังชอบเดินดูตามชั้นหนังสือ ซึ่งอาจได้ปรายตามองสาวๆ หรือหนอนหนังสือสีสวยงามอีกต่างหาก
แต่จะให้ดีทำไซเบอร์บุ๊คแบบจุฬา ก็นับว่าเป็นการหยั่งรากไปในโลกดิจิตอล เป็นการส่งเสริมการขายสำหรับร้านหนังสือ
ดีกว่าไม่คิดปรับปรุงอะไรเลย ซึ่งเป็นความประมาทอย่างหนึ่ง
ในอเมริกาเครือข่ายร้านหนังสือกว่า 1,000 แห่ง เช่น "บารนส์ แอนด์
โนเบิล" ก็เริ่มเปิดร้านหนังสือบนอินเตอร์เน็ต เพราะเรื่องอย่างนี้จะปล่อยให้อเมซอนกินรวบอยู่ฝ่ายเดียว
ก็ไม่ประเสริฐนัก
สำหรับ ซียู ไซเบอร์บุ๊ค สามารถใช้บริการโดยสมัครเป็นสมาชิกในสนนราคา 300
บาท สั่งซื้อหนังสือได้ แต่ยังไม่อาจจ่ายเงินได้ในแบบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากธนาคารต่างๆ
ในประเทศไทยยังไม่สามารถให้บริการในด้านนี้
แบงก์ไทยน่าจะเบิ่งตาดูโลกกันบ้างว่า เขาไปถึงไหนกันแล้ว
"เราไปคุยมาหลายธนาคาร เขาต่างบอกว่า กำลังพัฒนาอยู่ เราก็แปลกใจอยู่เหมือนกัน
ดังนั้น เราจะรอให้ธนาคารพร้อมก่อน แล้วค่อยทำไซเบอร์บุ๊คก็คงไม่ได้ เราจึงต้องใช้ทีมมอเตอร์ไซค์ไปเก็บเงิน
จะจ่ายเป็นเงินสด หรือจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็ได้ เพราะพนักงานของเราจะติดเครื่องรูดบัตรไปด้วย"
กรรณะ กล่าว
บริการส่งหนังสือและเก็บเงินถึงบ้านนี้ ศูนย์หนังสือคิดค่าบริการครั้งละ
50 บาท ผู้ซื้อจะได้รับส่วนลด 10% ส่วนบุคคลทั่วไปที่เข้าไปในซียู ไซเบอร์
บุ๊ค ก็คงได้แต่ดูปกหนังสือไปพลางๆ ก่อน ยังไม่สามารถที่จะซื้อหนังสือได้
สมาชิกของศูนย์หนังสือจุฬาซึ่งมีอยู่ประมาณสองหมื่นคน เสียค่าสมาชิก 50
บาท ได้ส่วนลดในการซื้อหนังสือ 10% ไม่ถือว่าเป็นสมาชิกของซียู ไซเบอร์บุ๊ค
การทำไซเบอร์บุ๊ค นับว่าเป็นงานที่ไม่มีสิ้นสุด ต้องพัฒนาปรับปรุงโฮมเพจกันไปเรื่อยๆ
และให้เป็นไปตามความต้องการของบรรดานักอ่าน กรรณะจึงยืนยันว่า การลงทุนตรงนี้
หากคิดถึงดอกผลในเชิงกำไรแล้ว ก็ไม่คุ้มค่าแน่นอน
ยิ่งต้องอาศัยพนักงานส่งเอกสารนำหนังสือแค่เล่มเดียวไปส่งและเก็บเงิน ก็คงทำให้ศูนย์หนังสือขาดทุนจากบริการนี้ด้วยซ้ำ
หวังจะได้กำไรก็ต้องให้ธนาคารต่างๆ พัฒนา ELECTRONICS MONEY ให้เข้าขั้นเหมือนในต่างประเทศ
ซึ่งจะทำให้ศูนย์หนังสือสามารถลดต้นทุนในการจัดส่งและเก็บเงินได้ เพราะการโอนเงินทางรหัสบัตรเครดิตหน้าจอคอมพิวเตอร์
และส่งหนังสือทางไปรษณีย์ ทำให้ลดต้นทุนด้านพนักงานได้มาก
พร้อมๆ กับการก้าวไปไกลสู่ยุคดิจิตอล ทางศูนย์หนังสือยังเปิดบริการที่น่าสนใจขึ้นมารูปแบบหนึ่งคือ
"บ้านเด็ก" อยู่ที่ชั้น 2 สาขาสยามสแควร์ โดยจัดบรรยากาศแบบเป็นกันเอง
บริการหนังสืออ่านฟรี ให้แก่เด็กที่เข้ามาหลบมุมในบ้านนี้
หนังสือนั้นได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั้งยังมีกิจกรรมอยู่เป็นประจำเพื่อส่งเสริมการอ่าน
ปรากฏว่ากิจกรรมบ้านเด็กได้รับความสนใจจากผู้ปกครองเด็กเป็นจำนวนมาก ยามมาซื้อหนังสือ
ก็จะปล่อยให้ลูกไปอ่านหนังสืออยู่ในบ้านเด็ก แต่ก็ยังมีบางรายเข้าใจผิดโทรศัพท์มาถามว่า
"ศูนย์หนังสือจุฬา รับเลี้ยงเด็กด้วยหรือคะ"
ไม่ว่าจะเป็น ไซเบอร์ บุ๊ค ช้อปหรือบ้านเด็ก ล้วนเป็นการลงทุนที่ทำให้นักอ่านใกล้ชิดและผูกพันกับศูนย์หนังสือจุฬามากยิ่งขึ้น
นี่เป็นการริเริ่มที่สะเทือนวงการของ "หน่วยงานตัวอย่าง" ที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดแห่งหนึ่งของจุฬา