ปัจจุบันคนไทยสนใจการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนมากขึ้น จะด้วยความเครียดในชีวิตประจำวันหรืออะไรก็ตามที
แต่ได้ทำให้ธุรกิจขายสิทธิวันพักผ่อนแพร่ขยายเข้ามาสู่เมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้จะมีอาการสะดุดจากกรณีบลิสเชอร์อยู่บ้าง แต่การเติบโตของธุรกิจในลักษณะเช่นนี้ก็ไม่ได้หยุดลง
การันตีจากบริษัท ฮอลิเดย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยืนยงมาถึง
8 ปีแล้วก็คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าธุรกิจนี้ยังดำเนินไปได้
ล่าสุด วิเชียร รังนกใต้ ทายาทอีกคนของนายห้างรังนกใต้ที่โด่งดังในอดีตได้เห็นโอกาศของธุรกิจนี้จึงลงมาเล่นแบบเต็มตัว
ตั้งเป็นบริษัท นิวตั้น ฮอลิเดย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อขายความสะดวกในการพักผ่อนเช่นกัน
แต่สินค้าของเขาต่างจากเพื่อนร่วมธุรกิจเดียวกันเพราะที่เขาขายเป็น "กรรมสิทธิ์วันพักผ่อน"
ในขณะที่รายอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นเพียงการขายสิทธิวันพักผ่อนเท่านั้น
สิ่งที่ต่างกันคือ กรณีของสิทธิวันพักผ่อน การซื้อสิทธินั้นสมาชิกจะซื้อบริการที่พักและสามารถเลือกได้ว่าในแต่ละป
ีจะไปพักผ่อนฟรียังที่ใดก็ได้ในเครือข่ายที่มีให้ไว้ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งการซื้อบริการอาจเป็นระยะเวลา
1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี แล้วแต่ความต้องการของลูกค้า
ส่วนการซื้อกรรมสิทธิ์วันพักผ่อนนั้น ลูกค้าหรือสมาชิกที่ซื้อไปจะมีสิทธิขาดในการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พักที่ตนซื้อไว้ในช่วงสัปดาห์ที่ต้องการ
นอกจากนี้ยังสามารถยกสิทธิให้กับผู้อื่นใช้ หรือให้เช่า รวมถึงสามารถเป็นมรดกให้กับบุตรหลานได้
และเนื่องจาก ก.ม.ไทยนั้นยังไม่มีการคุ้มครองในเรื่องกรรมสิทธิ์ในลักษณะเช่นนี้
บริษัทจึงเลี่ยงมาใช้เป็นอายุสัญญา 30 ปีแทน โดยมีการทำสัญญาในลักษณะเดียวกับการเซ้ง
30 ปี ระหว่างบริษัทกับลูกค้านั่นเอง
การซื้อบริการเหล่านี้ลูกค้าต้องจ่ายเงินก้อนไปก่อนแล้วแต่สัญญาที่ทำกัน
อย่างของนิวตั้น ฮอลิเดย์ฯ คิดสัปดาห์ละ 1.4 แสนบาท ซึ่งเป็นเงินก้อนที่ค่อนข้างมากทีเดียว
ดังนั้น สิ่งเดียวที่ทำให้ธุรกิจนี้ดำเนินไปได้คือลูกค้าต้องมีความเชี่อมั่นในตัวบริษัทและผู้บริหารเป็นสำคัญ
วิเชียรได้ยืนยันด้วยเครดิตของตัวเองและย้ำว่า เขาคงไม่เอาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลมาเสี่ยงกับเรื่องนี้เป็นแน่
พูดอีกนัยหนึ่งคืองานนี้ใช้ชื่อเสียงของ "รังนกใต้" ที่สั่งสมมาร่วม
60 ปีเป็นเครื่องการันตีทีเดียว
"จากความสำเร็จของธุรกิจการขายกรรมสิทธิ์วันพักผ่อนในต่างประเทศแถบยุโรปหรือประเทศใกล้เคียงเช่น
มาเลเซีย และสิงคโปร์ก็ดี ทำให้บริษัทมีความมั่นใจว่าจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างน้อย
20% ในแต่ละปี" วิเชียรกล่าว
กลุ่มรังนกใต้หายไปไหน?
สำหรับกลุ่มรังนกใต้เองนั้นจะว่าไปแล้วช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ชื่อของกลุ่มฯค่อนข้างเงียบหายไปจากสารบบของหน้าธุรกิจเมืองไทยจนเด็กรุ่นหลังๆ
ไม่ใคร่มีใครรู้จักกันเท่าไรนัก
จากอดีตที่เคยโด่งดังของห้างรักนกใต้ไม่ว่าจะเป็นสาขาเยาวราช บางลำพู วังบูรพา
หรือโคลีเซี่ยม แต่เมื่อ วิชัย รังนกใต้ ผู้ก่อตั้งห้างฯเริ่มมองเห็นว่าธุรกิจเดิมนี้มีการแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกขณะ
เขาจึงเริ่มหันไปขยายธุรกิจด้านอุตสาหกรรมทำให้บริษัทนิวตั้น กรุ๊ป จึงถือกำเนิดขึ้นมาในปี
2524 ซึ่งมีบริษัทในเครือเป็นโรงงานสิ่งทอ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานกระดาษ
และโรงงานพลาสติก ในขณะเดียวกันก็ได้ลดบทบาทกิจการของห้างลงเป็นลำดับ
และเมื่อกิจการด้านอุตสาหกรรมมีความมั่นคงและอยู่ตัวดีแล้ว วิชัยผู้เป็นพ่อจึงค่อยๆ
วางมือลงเพื่อให้ลูกๆ เข้ามารับช่วงธุรกิจแทน วิเชียรซึ่งเป็นลูกคนเล็กก็ได้เข้ามาช่วยกิจการของครอบครัวด้วยเช่นกันหลังจากจบปริญญาตรี
คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มจากตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการห้างสรรพสินค้ารังนกใต้
ระหว่างปี 2518-2522 และโยกมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการบริษัท นิสสิน การ์เม้นท์
ระหว่างปี 2522-2525
หลังจากนั้นวิชัยผู้พ่อเริ่มหันมาจับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกทางหนึ่งเริ่มจากโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ
ซึ่งวิเชียรก็ได้เข้าไปช่วยอยู่ 2 โครงการ คือโครงการบางมด พลาซ่าช่วงปี
2525-2530 และโครงการปิ่นเกล้าวิลล่าในปี 2530-2535 ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการด้วยกันทั้งสองบริษัท
"เนื่องจากโครงการซื้อ และจัดสรรบ้านมีเรื่องจุกจิกมาก คุณพ่อจึงหันมาสะสมที่ดิน
เป็น Land Lord มันจะง่ายกว่า ช่วงหลังจึงเน้นซื้อขายที่ดินผมก็ช่วยคุณพ่อมาตลอด"
วิเชียรกล่าว
กำเนิดนิวตั้น ฮอลิเดย์ฯ
ในยามว่างจากการช่วยบริหารงานของบิดา วิเชียรมักจะไปท่องเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัว
ทำให้เขาได้เจอข้อจำกัดของการเที่ยวแบบทัวร์หมู่คณะเนื่องจากไม่อิสระด้วยปัจจัยหลายประการ
ส่วนการท่องเที่ยวด้วยตัวเองก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะในเรื่องที่พัก การซื้อสิทธิวันพักผ่อนจึงเริ่มเข้ามาอยู่ในความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
ประกอบกับเมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว เขาได้มาพบกับนเรนทร์ เตชะวรวงศา ซึ่งทำธุรกิจด้านนี้อยู่ด้วยจากการออกงานสังคมต่างๆ
จึงทราบแนวทางของนเรนทร์ที่ขายสิทธิ์วันพักผ่อนแบบสมาชิก (Membership)
"แต่ผมไปเห็นแนวทางของขายกรรมสิทธิ์วันพักผ่อน (Ownership) ของต่างประเทศเลยมาแนะนำคุณนเรนทร์ว่าน่าจะมาทำจุดนี้
และผมก็เลยผลักดันมาด้วยตนเองจนตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา" วิเชียรกล่าว
นิวตั้น ฮอลิเดย์ฯ ก่อตั้งเมื่อปลายปี'39 และจดทะเบียนต้นปี'40 แต่มาได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเอาเมื่อเดือนมีนาคมนี้เอง
และหลังจากที่ทดลองตลาดออกไปเพียงอาทิตย์เดียวในต้นเดือนพฤษภาคมก็มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาถึง
20 ราย ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ายอดลูกค้าสำหรับปีนี้ไว้ที่ 1,000 รายและมั่นใจว่ายอดจะพุ่งเป็น
5,000 รายภายใน 5 ปี
โดยนอกจากจะดำเนินธุรกิจด้วยตัวเองแล้ว นิวตั้น ฮอลิเดย์ฯได้จับมือกับทางฮอลิเดย์
อินเตอร์ฯของนเรนทร์ตกลงเป็นคู่ค้ากันเพื่อความก้าวหน้าทางธุรกิจ และทั้งนเรนทร์และวิเชียรก็ได้เข้าไปถือหุ้นของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อเป็นแลกเปลี่ยนโนว์ฮาวต่างๆ
"นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการแต่งตั้งจาก บ.ฮอลิเดย์ อินเตอร์เนชั่นแนล
(ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นตัวแทนด้านการตลาดในระบบ Holiday Ownership ซึ่งทำให้บริษัทได้รับการสนับสนุนในนระบบและขั้นตอนการบริการทุกประเภท
ผ่านคลับฮอลิเดย์และเครือข่ายสากลอินเตอร์วอลประเทศสหรัฐฯอีกด้วย" วิเชียรกล่าว
เครือข่ายดังกล่าวมีที่พักผ่อนท่องเที่ยวอยู่กว่า 1,800 แห่งใน 80 ประเทศทั่วโลก
ซึ่งวิเชียรคาดว่าจะเป็นที่พึงพอใจของลูกค้าในการที่มีทางเลือกค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตามกับปัญหาห้องพักเต็มนั้น ทางฝ่ายขายให้หลักการไว้ว่า
"หลักการของอินเตอร์วอลบอกไว้ว่า ถ้าคุณจะเจาะจงที่พักก็ต้องยืดหยุ่นเรื่องเวลานิดหนึ่งคือมีช่วงเวลาที่ต้องการจะไปหรือไปได้ให้เขา
3 ทางเลือก หรืออีกทางถ้าคุณว่างช่วงเดียวทั้งปี ก็กรุณาอย่าเจาะจงที่พักแต่จะเลือกได้ก็เฉพาะเมืองที่จะไปเท่านั้น
ถ้าเป็นลักษณะนี้อินเตอร์วอลยืนยันว่าลูกค้าจะได้ถึง 96%" หนึ่งในทีมขายอธิบาย
ในช่วงเริ่มต้นนิวตั้นฮอลิเดย์ฯได้จัดโครงการที่อันดามันบีช สวีท คอนโดมิเนียม
ในภูเก็ตไว้รองรับลูกค้า และในอนาคตอันใกล้เตรียมขยายพื้นที่ให้บริการไปยังจังหวัดเชียงใหม่
เพชรบุรี กาญจนบุรี และนครราชสีมาต่อไป
ในภาวะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบัน การที่นิวตั้นฮอลิเดย์ฯเข้ามาทำธุรกิจนี้
วิเชียรหวังว่าจะเป็นการช่วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกทางหนึ่ง โดยการนำโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและได้มาตรฐานตามที่บริษัทตั้งไว้มาจัดสรรกรรมสิทธิ์ให้กับลูกค้าของบริษัท
โดยทางบริษัทเป็นผู้ดำเนินการและประสานงานจัดสรรให้กับลูกค้า ซึ่งการเปิดตัวในช่วงที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นขาลง
ย่อมช่วยให้บริษัทสามารถเลือกหาสถานที่พักได้ในราคาที่ถูกกว่าปกติจึงเป็นการช่วยลดต้นทุนของบริษัทลงได้ส่วนหนึ่งด้วย