หน้าร้อนอย่างนี้ดูเหมือนไอศกรีมจะเป็นที่พึ่งของคนส่วนใหญ่ไปโดยปริยายา
บรรดาไอศกรีมยี่ห้อต่างๆ จึงระดมยิงโฆษณาบนหน้านิตยสารชั้นนำและหน้าจอโทรทัศน์อย่างดุเดือดร้อนแรงไม่แพ้อากาศทีเดียว
แม้ว่าการแข่งขันเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้ แต่เฉลิมชัย ธีระกุลกรรมการผู้จัดการใหม่หมาดๆ
ก็ยังมองว่าเป็นสิ่งท้าทายที่อยากทำให้เป้าหมายของบริษัทสำเร็จให้จงได้
เฉลิมชัยเข้ามาดูแลไอศกรีมฮาเกน-ดาสเมื่อต้นปีนี้ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ
บริษัทเอชดี ดิสทริบิวเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด การเข้ามาของเขาเสมือนเป็นการรับช่วงบริหารงานต่อจาก
ประเวศวุฒิ ไรวา ประธานกรรมการ ที่บุกเบิกตั้งบริษัทมาตั้งแต่ต้นและกล่าวว่าถึงเวลาที่ต้องหามืออาชีพเข้ามาสานงานและบุกขยายต่อไป
แม้เฉลิมชัยจะกล่าวว่าไม่มีคำสั่งพิเศษจากผู้บริหารระดับสูงเมื่อเข้ารับตำแหน่งนี้
แต่โดยหน้าที่ของเขาแล้วในฐานะผู้บริหารก็ต้องรับผิดชอบผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทเป็นธรรมดาทั้งในแง่ยอดขายและผลกำไร
และเพื่อจะให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นสิ่งที่ต้องทำก็มีมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนเรื่องการวางแผนการตลาด
การขาย หรือการขนส่ง ฯลฯ
เป้าหมายที่เขาตั้งให้กับตัวเองและบริษัทคือยอดขายในปีนี้ประมาณ 100 ล้านบาท
หรือโตขึ้น 25-30% จากปีที่แล้ว ซึ่งเฉลิมชัยยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่สูงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
และเมื่อเทียบกับการเติบโตของตลาดไอศกรีมโดยรวมที่โตประมาณ 15% ต่อปี ด้วยมูลค่าตลาด
3,600 ล้านบาท หรือในตลาดพรีเมียมที่โตประมาณ 15-20% ด้วยมูลค่าตลาด 700
ล้านบาท
อย่างไรก็ตามดูเหมือนเฉลิมชัยไม่ค่อยกังวลใจเท่าไรนัก เพราะไอศกรีมตลาดพรีเมียมอย่างฮาเกน-ดาส
ที่เน้นคุณภาพเป็นหลัก แม้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่แผลงฤทธิ์เอากับธุรกิจอื่นแต่แทบจะไม่กระทบต่อสินค้าตัวนี้เลย
"จะมีบ้างก็เป็นด้านการลงทุนใหญ่ๆ โตๆ ทางด้านการเงินการลงทุนขยายร้าน
เราก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ" เขากล่าว
นอกจากการระวังในเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายและการลงทุนแล้ว งานสำคัญของเฉลิมชัยอีกประการ
คือการพยายามสร้างวัฒนธรรมในองค์กร ให้เป็นวัฒนธรรมเฉพาะของฮาเกน-ดาสในประเทศไทย
เนื่องจากยังเป็นบริษัทใหม่ระบบต่างๆ อาจจะไม่ลงตัวเท่าที่ควร และบุคลากรยังเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวด้วยกันทั้งนั้น
การพัฒนาปรับปรุงต่างๆ จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ลำบากนัก สำหรับเฉลิมชัยด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างโชกโชน
เฉลิมชัยพะยี่ห้อ "มืออาชีพ+ชอบงานท้าทาย"
ก่อนหน้าที่เฉลิมชัยจะมายืนอยู่จุดนี้ได้นั้น เขาเริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากต่างประเทศเป็นหลักนับตั้งแต่จบมัธยมต้นจากอัสสัมชัญบางรักแล้วก็ไปต่อไฮสกูลที่
แคนซัส ณ Mourhill Prep. School และปริญญาตรีทางด้าน Economic Business Admin.
ที่โทมัส มัวร์คอลเลจแห่งมหาวิทยาลัยที่รัฐแคนตั๊กกี้ จากนั้นจึงทำปริญญาโทต่อทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศในรัฐฟลอริด้า
กลับมาเมืองไทยเริ่มงานครั้งแรกที่บริษัท P&G สมัยแรกๆ ตั้งแต่ P&G
เข้ามาเทกโอเวอร์ริชาร์ดเอลลิส โดยเข้ามาทำเป็นตำแหน่ง Management Trainee
และมีโอกาสได้ไปเทรนที่สิงคโปร์รวม 3 เดือน ตำแหน่งสุดท้ายทำงานด้าน sale
promotion manager ดูแลทุกสินค้าของ P&G
หลังจากที่อยู่ได้ 6 ปี ก็ออกมาอยู่ที่ดีทแฮล์ม ในตำแหน่งดีพาร์ทเม้นท์
แมเนเจอร์ ดูแลแผนกสินค้าอุปโภคบริโภค (CPD) ที่นั่นจะเป็นดิสทริบิวเตอร์ดูแลสินค้า
3 รายการได้แก่ สินค้าประเภทโลชั่น และครีมต่างๆ เช่น นีเวีย, คิมเบอร์ลี่-คล๊าค
ตอนนั้นยังไม่ดึงไปทำเอง ดูแลผ้าอ้อมเด็ก กระดาษทิชชูเดลซี่และสก็อตต์ที่เทกโอเวอร์มาได้
สินค้าอีกประเภทคือ วอเนอร์-แลมเบิท ดูสินค้าลิสเตอร์รีน และหลังจากที่ทำดีทแฮล์มได้เพียงปีเดียว
เฉลิมชัยก็เปลี่ยนงานเนื่องจากได้สิ่งที่ท้าทายมากกว่าที่ดูราเซลล์
บริษัท ดูราเซลล์ (ประเทศไทย) ซึ่งจำหน่ายถ่านและแบตเตอรี่ ที่นี่เฉลิมชัยอยู่ถึง
3 ปีเศษ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด และที่นี่เขาก็ได้มีโอกาสสร้างผลงานด้วยการก่อตั้งบ.ดูราเซลล์
(ประเทศไทย) ขึ้นมาเมื่อประมาณปี'36 ตามนโยบายของบริษัทแม่เพื่อดึงงานทุกอย่างมาทำเอง
"เพราะตั้งแต่แรกเราให้อินช์เคปเป็นคนขายให้เรา แต่ตัวผมเองเป็นคนวางแผนในแง่การตลาดและฝ่ายขาย
ผมดึงมาทำเองปีสุดท้าย ซึ่งตอนนั้นดูราเซลล์มีผมคนเดียว พอมาขายเองเราก็ต้องหาออฟฟิศเอง
จ้างคนใหม่หมด จัดระบบบริหารงานภายใน แต่พอเริ่มและขายได้สัก 7-8 เดือน ทางเมืองนอกก็มีข่าวมาว่ายิลเล็ตเทกโอเวอร์ไป
ผมจึงมองหาที่ใหม่เพราะไม่อยากทำงานกับบริษัทใหญ่ซึ่งเคยทำมาแล้วอีก"
เฉลิมชัยกล่าว
แชร์ 12% ต้องทำให้ได้
เมื่อไม่อยู่ที่เก่า และกำลังมองหาที่ใหม่ประกอบกับความเป็นมืออาชีพที่พิสูจน์มาพอสมควร
เขาจึงได้งานใหม่ที่ท้าทายสมใจโดยผ่านทางเฮดฮันเตอร์ที่เข้ามาช่วยติดต่อให้
ซึ่งเป้าหมายที่เขาต้องรับผิดชอบไม่ว่าเรื่องยอดขาดและการปรับวัฒนธรรมองค์กรนั้น
สรุปแล้วคือการให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วน 12% จากเดิมอยู่ที่ 10%
นั่นเอง
ทั้งนี้การจะไปถึงจุดนั้นได้ก็มีสิ่งที่ต้องทำระหว่างทางมากพอสมควร งานที่ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วอย่างการออกไปซุ่มให้ลูกค้าลองชิมไอศกรีมเพื่อหารสชาติที่เหมาะสมกับคนไทยก็ยังทำต่อไป
ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่จะนำไปยื่นขออนุญาตจากองค์การอาหารและยา ติดฉลาก "อย."
เพื่อสั่งเข้ามาขายได้ จากนั้นก็มาถึงเรื่องการคิดแบบเมนูเพื่อให้ดูน่ารับประทาน
ซึ่งจุดสำคัญอยู่ที่ส่วนประกอบที่ต้องให้เข้ากับคนไทยด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันเชฟ 4 คนเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสวยงามบนจานไอศกรีมที่ทำมาให้เห็นกันอยู่
ซึ่งเขาเหล่านี้มีหน้าที่คิดเมนูใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลาและต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี
โดยแนวคิดสำหรับปีนี้ของฮาเกน-ดาสคือ "คุณชอบทานฮาเกน-ดาสในเวลาไหน"
สื่อผ่านทางลูกค้าวีไอพี 3 รายที่มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้
ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นไม่จำกัดอยู่เพียง 7 ร้านและ 220 จุดขายเท่านั้น
การสร้างร้านขนาดเล็กแบบ KIOSK อีก 4-5 ร้านก็จะตามมา แม้ยังไม่ยืนยันว่าจะลงที่ไหน
แต่จะเป็นในเขตกรุงเทพฯเท่านั้นเพราะปัจจุบันความเป็นกรุงเทพฯก็ขยายออกไปทุกที
"จุดจำหน่ายประมาณ 220 จุดแห่งตามสรรพสินค้าดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ตามร้านอาหาร
และก็โรงแรมใหญ่ๆ ทั่วไป แต่มีหลายแห่งที่เรายังไม่เข้าไปอย่างไฮเปอร์มาร์ท
คงต้องขยายต่อแต่ต้องดูสถานที่เป็นปัจจัยเหลัก เพราะเราก็มีเงื่อนไขว่าเราต้องไปตั้งตู้และมีปลั๊กไฟของเราเอง"
เฉลิมชัยกล่าว
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะวางจุดขาย สร้างแบบคีออสหรือสร้างเป็นร้านเต็มรูปแบบ
องค์ประกอบสำคัญที่ต้องพิจารณาคือทำเลที่ตั้งซึ่งต้องอยู่ในเขตที่มีผู้คนมากพอสมควรและตรงกับกลุ่มเป้าหมายคือ
ระดับ B ขึ้นไปเป็นหลักในระยะแรก
เฉลิมชัยเชื่อว่าในปัจจุบันคนไทยเริ่มรู้จักตลาดไอศกรีมพรีเมียมมากขึ้นและที่ผ่านมาตลาดพรีเมียมดูจะโตสูงกว่าตลาดรวมด้วยซ้ำ
เพราะว่าไอศกรีมกลุ่มนี้เพิ่งเข้ามาทำตลาดได้ไม่นาน และคนที่อยู่ในเมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่ก็ต้องการคุณภาพของสินค้าที่ดี
อย่างฮาเกน-ดาสที่มาจากธรรมชาติ 100% และรักษาอุณหภูมิที่ -26 C ตลอดเวลาตั้งแต่อเมริกามาถึงเมืองไทย
รวมถึงคุณสมบัติที่ไม่มีช่องอากาศในเนื้อไอศกรีมทำให้น้ำหนักคงที่ตลอด สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ฮาเกน-ดาสเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ
"สิ่งนี้คือที่จะต้องสื่อออกไปให้ลูกค้าได้รับรู้ แทนที่จะมาเน้นเรื่องราคาที่แพง
เพราะสินค้าเดี๋ยวนี้พรีเมียมเยอะแยะเลยไม่ว่าจะเป็นแชมพูหรือโลชั่นก็แพงๆ
ทั้งนั้น" เฉลิมชัยกล่าว
ทั้งนี้เพื่อให้ตรงกับคอนเซ็ปต์ของสินค้าระดับพรีเมียมอย่าง ฮาเกน-ดาสนั่นเอง
ซึ่งตรงจุดนี้เฉลิมชัยก็ยังมีเกร็ดเล็กๆ อีกว่าอันที่จริงไอศกรีมฮาเกน-ดาสต้องอยู่ในตลาดซุปเปอร์พรีเมียม
แต่เนื่องจากที่ผ่านมาเมืองไทยยังไม่ได้แยกย่อยขนาดนั้นจึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับไอศกรีมพรีเมียมทั่วไป
จุดนี้จึงต้องทำความเข้าใจกันต่อไปด้วยเช่นกัน