|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
รางวัล "ASIAN Young Manager Award" ปีนี้ ตกมาอยู่ในมือ "สาระ ล่ำซำ" กรรมการผู้จัดการ เมืองไทยประกันชีวิต ผู้บริหาร "ยังเตอร์ก" ในแวดวงธุรกิจประกันชีวิตโดยไม่ได้คาดหมาย อาจสำคัญในแง่ "สัญลักษณ์" การผนึกกำลังกันระหว่างเพื่อนบ้านละแวกอาเซียน เพื่อสร้างกำแพงขวางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลทะลักเข้ามาจนตั้งตัวไม่ทัน แต่ที่ควรคำนึงถึงไม่แพ้กันก็คือ บุคลากรคนรุ่นใหม่ไฟแรงหรือ "แม่ทัพ" ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีพละกำลังพอจะนำทัพลงสนามรบ เกือบจะเรียกว่า หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร...
สาระ ล่ำซำ ถือเป็นผู้บริหารรุ่นหนุ่ม ภาคเอกชนไทยรายแรกที่ได้รับมอบหมายตำแหน่งสำคัญนี้ จากการประชุมผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยในระดับภูมิภาคเอเซียน ซึ่งถ้ามองให้ลึกจะพบว่า ความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ดูจะมีความหมายยิ่งกว่ารางวัลที่ได้รับมาหลายเท่าตัว
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ผู้นำในธุรกิจประกันชีวิตรุ่นหนุ่มในแวดวงนี้มีไม่มากรายนักที่เป็นผู้นำทัพออกรบด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในประเทศแถบอาเซียนที่พื้นที่ทุกตารางนิ้วถูกปกคลุมไปด้วยทัพใหญ่จากตะวันตกและชาติผิวเหลืองที่พร้อมด้วยทุน เทคโนโลยีและมันสมองชั้นนำ
หัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญสำหรับเจ้าของรางวัลนี้จึงหนีไม่พ้น ความท้าทายเกี่ยวกับ การเลาะตะเข็บพรมแดนการค้าให้เปิดกว้างในระดับทวิภาคีหรือ %FTA ที่ว่ากันว่า หลายประเทศย่านนี้ผ่านช่วงรอยต่อมาอย่างโชกโชน ในขณะที่ธุรกิจแม่พันธ์ชาติตะวันตกเข้ามาฝังตัวอยู่เต็มไปหมด
ที่สำคัญคือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในภาคการเงิน ได้ส่งแรงกระเพื่อมมาที่ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เห็นได้ชัดจาก รูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป ในขณะที่บุคลากรชั้นหัวกระทิ ถูกยื้อยุดดึงตัว และขาดแคลน
" วันนี้เราไม่ได้แข่งกับแค่ธุรกิจประกันชีวิตเท่านั้น" สาระบอกถึงแนวโน้มที่เริ่มเห็นเด่นชัดจากสถานการณ์การแข่งขัน โดยเฉพาะภายหลังแผนแม่บทการเงินบังคับใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การรวมกันของภาคการเงินในรูป "ยูนิเวอร์แซล แบงกิ้ง"
ผลที่ตามมาจากแผนแม่บทการเงินก็คือ ประกันชีวิตกลายมาเป็นทั้งพันธมิตรและคู่แข่งของแบงก์แม่แบบช่วยไม่ได้ ดูได้จากสินค้าประกันชีวิตที่แข่งกับทั้งเงินฝากและหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
" เราจึงต้องคิดให้ไกลกว่ากรอบ เราจึงต้องเป็นมากกว่าประกันชีวิต นี่คือคำถาม ถ้าเราติดอยู่ในกรอบประกันชีวิต เราจะสู้รบกับแบงก์ไม่ได้ ก็ต้องกลับไปคิดดู"
สาระบอกว่า ในฐานะเจ้าของรางวัลที่ถือว่ามีบทบาทต่อภาคธุรกิจประกันชีวิตระดับภูมิภาคอาเซียน ได้ชี้แจงกับประเทศสมาชิกว่า อุตสาหกรรมประกันชีวิตอาเซียนขาดแคลนบุคคลากร คนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ที่ต่อไปจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับสินค้าใหม่ๆอย่าง ยูนิต ลิงค์ และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่แทรกการลงทุนรวมไว้ด้วย
นักคณิตศาสตร์ประกันภัยในประเทศปัจจุบันนอกจากจะหาตัวจับยากแล้ว หลายบริษัทยังเก็บรักษาและหวงแหนยิ่งกว่าไข่ในหิน เพราะคนกลุ่มนี้ถือเป็นมันสมองที่แทบจะเรียกว่า คิดค้นนวัตกรรมใหม่ บริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน การจัดการทรัพย์สินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนั้น
เมื่อขาดแคลน บางบริษัทจึงต้องทุ่มเงินส่วนหนึ่งส่งพนักงานไปศึกษาต่อต่างประเทศ และทุนการศึกษากับสถาบันการศึกษาหรือแม้แต่ประสานงานกับสถานศึกษาโดยตรง ขณะที่ธุรกิจสายพันธ์ต่างประเทศและที่ร่วมทุนกับต่างชาติจะอาศัยการนำเข้าจากบริษัทแม่ต่างประเทศ ว่ากันว่า ค่าตัวระดับสูงๆไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
ที่มองข้ามไปไม่ได้ และสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การดึงคนในภาคการเงินด้วยค่าตัวแพงระยับ โดยเฉพาะฝ่ายลงทุนบริหารพอร์ตลงทุนประกันชีวิตมักจะถูกช่วงชิงไปยังภาคการเงินอื่น เช่น ธนาคารและธุรกิจจัดการลงทุน
" ทุกวันนี้พอธุรกิจวางโครงสร้างทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย แต่ก็มักจะเจอปัญหาเดียวกันคือ ไม่มีคนมารองรับหรือทำงานในส่วนนั้นได้ " สาระ บอกว่า ธุรกิจเจ้าถิ่นไทยแท้ส่วนใหญ่พร้อมด้านเงินทุน กล้าที่จะลงทุน แต่ประเด็นคือ ไม่มีกลไกของคนที่มีทักษะระดับสูงมารองรับจุดนี้
สัญญาณดังกล่าว จึงอธิบายได้กระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลมากระทบ นอกจากจะทำให้เผชิญโจทย์ที่ท้าทาย และต้องเร่งรับมือให้ทันอย่างรวดเร็วแล้ว แม่ทัพคนรุ่นใหม่ในระดับภูมิภาคที่เหลืออยู่เพียงหยิบมือเดียว ก็ต้องผลิตป้อนให้ทัน เพื่อตั้งรับกองทัพนักรบจากทั่วทุกสารทิศ
เพราะไม่ว่านักรบที่หลั่งไหลมาจากทิศทางไหน มีเงินทุน เทคโนโลยี บุคลากรหัวกระทิ เหนือชั้นเพียงใด ในท้ายที่สุดก็ต้องเผชิญหน้ากันในฐานะ "ศัตรู" นั่นก็เพราะโลกาภิวัตน์ไม่มีเส้นแบ่งระหว่าง "พันธมิตร" หรือ "ศัตรู" ที่ชัดเจน
ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่ ในอาเซียนก็กำลังถูกมองเป็นขนมหวาน ที่ค่ายยักษ์ใหญ่ ใครต่อใครต่างก็หมายตาจะเข้ามาขยายอาณาบริเวณให้มากที่สุด...
ในเชิงสัญลักษณ์ "ASIAN Young Manager Award" จึงไม่ได้บอกเพียงว่า ตลาดอาเซียนขาดคนมีฝีมือรุ่นใหม่ๆจนเข้าขั้นเกือบวิกฤต แต่ที่สังเกตเห็นมากไปกว่านั้นก็คือ ทุกตารางนิ้วของธุรกิจประกันชีวิตในย่านนี้กำลังถูกไล่ตะครุบจากนักล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ...
|
|
|
|
|