|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
- "ปูนซิเมนต์ไทย" รับเป็นกุนซือให้ "รพ.รามาธิบดี" พัฒนาระบบสร้างคน
- ไขก๊อก 2 แผน ยกเครื่องค่าตอบแทนกับพัฒนาองค์กร (Organization Development)
- คณบดียอมรับ แพทย์รัฐกระเป๋าแห้งกว่าแพทย์เอกชนถึง 10 เท่า
- "จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน" โมเดลเกื้อกูลน้ำใจแบบไทยๆ ถ่ายโอนโนว์ฮาว แบ่งปันการเรียนรู้ แล้วสร้างการเติบโตไปพร้อมกัน
การสาวเท้าเข้าไปเป็นที่ปรึกษาของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ทางด้านการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลให้กับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
น่าสนใจทั้งในแง่ของปูนซิเมนต์ไทยเอง และสถานภาพของรามาธิบดีที่ต้องคงความเชื่อมั่นของมาตรฐานการให้บริการ และถนอมรักษาแพทย์ซึ่งเป็นสินทรัพย์หลักของธุรกิจโรงพยาบาลเอาไว้ ท่ามกลางภาวะแข่งขันรุนแรงระอุเดือด
ปูนซิเมนต์ไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการสร้าง "คนดี คนเก่ง" ประดับธุรกิจ จนกลายเป็นโมเดลการสร้างคนกึ่งสำเร็จรูปและพร้อมใช้งาน (ready to work hard) ที่ใครๆ ก็อยากได้
รายชื่อองค์กรเต็งหนึ่งที่เคยผ่านการรับคำปรึกษาจากปูนใหญ่มาแล้ว อย่างเช่น สำนักงานทรัพ์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมการแพทย์ ไทยออยล์ เทเวศร์ประกันภัย บางจาก และโอสถสภา ล้วนแล้วแต่การันตีคุณภาพยิ่งกว่าคับแก้วของปูนซิเมนต์ไทยได้เป็นอย่างดี
ขณะที่รามาธิบดีก็เป็นโรงพยาบาลของรัฐแถวหน้า ที่มีบทบาทสำคัญในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนมาหลายยุคหลายสมัย แต่จากหลายปัจจัยทางการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ค่าตอบแทนของแพทย์โรงพยาบาลรัฐ ที่น้อยกว่าอัตราจ้างแพทย์เอกชนทั่วไปรวม 10 เท่า กลายเป็นปัญหาที่รามาธิบดีพยายามหันกลับมาทบทวนอย่างจริงจัง ก่อนที่จะลุกลามใหญ่โตจนยากจะเยียวยา
การจับมือกันไว้แล้วไปด้วยกันของสองธุรกิจใหญ่แถวหน้า จึงเป็นแบบอย่างที่ดีของการเกื้อกูลกัน และมีน้ำใจแบบคนไทย เป็นการนำเอาแผนปฏิบัติสู่ความเป็นเลิศขององค์กรหนึ่งมาถ่ายเทให้กับองค์กรหนึ่ง ถือเป็นโจทย์ท้าทายของปูนซิเมนต์ในการสร้างมิติใหม่ให้กับธุรกิจโรงพยาบาล และเป็นพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรไปอีกขั้นของรามาธิบดี เพื่อสลัดจุดอ่อนที่แล้วๆ มา
กานต์ ตระกูลฮุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บทบาทของ HR ในการเข้าไปวางระบบให้กับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จะมุ่งการศึกษาวิเคราะห์ วางแผนพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบให้มีความทันสมัย และทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก
ซึ่งบทบาทของปูนซิเมนต์ไทยที่ผ่านมา จากการสร้างโนว์ฮาวการจัดการเรื่องคนป้อนให้กับธุรกิจในเครือ ระยะหลังบริษัทพยายามที่จะถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ที่สะสมมาให้กับองค์กรต่างๆ ในสังคม ทั้งในรูปของการฝึกอบรม เปิดให้ดูงาน และเป็นที่ปรึกษาภายในให้กับองค์กรชั้นนำหลายแห่ง เพียงแต่ว่ายังไม่มีนโยบายเด่นชัดในการแยกตัวออกมาเป็นบริษัทรับเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรภายนอก
สำหรับความร่วมมือกับรามาธิบดีครั้งนี้ สำนักงานการบุคคลกลางจะเป็นที่ปรึกษาดูแลใน 2 โครงการหลักคือ 1. การบริหารค่าตอบแทนให้กับบุคลากรแพทย์ และ 2. การวิเคราะห์เพื่อพัฒนาองค์กร ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2549
ศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แผนพัฒนาบุคลากรครั้งนี้เป้าหมายหลักเพื่อต้องการดูถึงความต้องการ (need) ของคนทำงานแต่ละระดับ ว่ามีความพึงพอใจต่องานที่ทำมากน้อยเพียงไร? ทำอย่างไรถึงจะรักษาบุคลากรทางด้านการแพทย์เอาไว้ได้ และทุกคนมีกำลังใจทำงานร่วมกันพัฒนาองค์กร (Organization Development) เพื่อไปสร้างมาตรฐานที่ดีในการให้บริการกับประชาชน
"เราต้องการยกระดับมาตรฐานของรามาธิบดี ก็ต้องไปมองกลับว่าทำอย่างไรคนถึงจะแสดงศักยภาพในการทำงานออกมาเต็มที่ ทำอย่างไรเราถึงจะใช้ศาสตร์ทางด้านการจัดการเข้ามาช่วยทำให้คนอยากทำงาน แล้วแสดงฝีมือออกมา ที่ผ่านมาค่าตอบแทนหมอของภาครัฐน้อยกว่าภาคเอกชนถึง 10 เท่า ทำให้คนขาดแรงจูงใจ ถึงเวลาที่เราตระหนักปัญหาและมองว่าจะปล่อยไปอีกไม่ได้ จะกลายเป็นปัญหาสมองไหลที่คุมยากในระยะอันใกล้"
ทางด้านรองศาสตราจารย์พงษ์ศักดิ์ โค้วสถิตย์ รองคณบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวเสริมว่า อัตราการลาออกของแพทย์และพยาบาลของรามาธิบดีเฉลี่ยปีละ 5% ซึ่งถือว่าสูงมากระดับหนึ่งสำหรับวงการแพทย์ เพราะกว่าจะเรียนจบและฝึกฝนจนเป็นงานต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้นการหันมาใส่ใจอย่างจริงจังต่อคนทุกคนถือเป็นแนวทางที่ดี และลดภาวะสมองไหลไปหาภาคเอกชน ซึ่งจะสะท้อนกลับไปหาภาพลักษณ์ที่ดีในการให้บริการในอนาคตอันใกล้
"ไม่ถือว่าเป็นวิกฤตเรื่องคน แต่เป็นปัญหาโดยภาพรวมทั้งระบบมากกว่า สิ่งที่เราพยายามทำเป็นการป้องกันก่อนที่ปัญหาจะเกิดลุกลามมากกว่า"
มนูญ สรรค์คุณากร ผู้อำนวยการสำนักงานการบุคคลกลาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวคิดในการเข้าไปช่วยพัฒนาคนของรามาธิบดีว่า ต้องไปมองทั้งระบบฐานรากวัฒนธรรมองค์กร การเชื่อมโยงแต่ละสายงานว่าสอดคล้องกันเพียงไร? และสร้างทัศนคติให้ทุกคนมีความรักและผูกพัน (trust) กับองค์กร
ซึ่งการเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับรามาธิบดี ถือเป็นโจทย์ที่ยากแต่ท้าทายสำหรับปูนซิเมนต์ไทย เพราะหมอถือเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะเฉพาะ แต่หากทำได้สำเร็จก็จะถือเป็นอีกโมเดลการเรียนรู้ของปูนซิเมนต์ไทย ในธุรกิจที่แตกต่างไปจากประสบการณ์เดิมของเครือ "ถือว่าเป็นการเรียนรู้ เติบโตและลองผิดลองถูกไปด้วยกัน"
ในช่วงรอยต่อของการสร้างองค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จคือ การสร้างคนให้เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ เป็นคนเก่งและดี ภายใต้การดูแลให้ความเป็นอยู่ที่ดี และพัฒนาอยู่เสมออย่างต่อเนื่อง
โรงพยาบาลรามาธิบดีมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ แต่จากข้อจำกัดหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอก นำไปสู่การเขย่ากระบอกเงินเดือนขนานใหญ่หวังลดภาวะสมองไหล ภายใต้การกำกับดูแลของปูนซิเมนต์ไทย องค์กรแถวหน้าที่เชื่อมั่นในคุณค่าของคน
ดังนั้นจึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่า ความร่วมแรงร่วมใจของทั้งสองธุรกิจ ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงไร?
|
|
|
|
|